Skip to main content
sharethis

34 องค์กรแรงงาน ร่วมมือจัดตั้ง "ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์แรงงาน" ช่วยคนตกงาน ด้านกฎหมาย-สิทธิประโยชน์ 21 แห่ง ครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรม หลังพบแนวโน้มปี 52 จะมีคนงานถูกเลิกจ้างกว่า 2 ล้าน ซัดมาตรการเอาเงินประกันสังคมมาซื้อข้าวแจกคนงาน 5 กก.ไม่แก้ปัญหา

 

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2551  ที่โรงแรมบางกอกพาเลช เครือข่าย องค์กรเพื่อผู้ใช้แรงงานกว่า 34 องค์กร นำโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงาน เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งในด้านกฎหมายและสิทธิประโยชน์ผ่านทางศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กว่า 21 ศูนย์ทั่วประเทศ

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกขณะนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยเป็นอย่างมาก โรงงานปิดกิจการไปแล้ว 597 แห่ง แรงงาน ถูกเลิกจ้างไปแล้ว 50,000 คนและคาดว่าในปี 52 จะมีแรงงานจะถูกเลิกจ้างเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน ดังนั้น คสรท. และเครือข่ายองค์กรผู้ใช้แรงงาน 34 องค์กร จึงได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จำนวน 21 ศูนย์ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือให้แรงงานได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน สิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคม โดยศูนย์ดังกล่าวจะมีผู้ให้คำแนะนำและตรวจสอบว่าสถานประกอบการสมควรเลิกจ้างหรือจะดำเนินมาตรการปิดงานชั่วคราวตามกฎหมายแรงงานมาตรา 75 หรือไม่ หลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบอีกครั้ง

"การร้องเรียนของลูกจ้างคนเดียว อาจไม่ได้รับความสนใจจากกระทรวงแรงงาน เราจึงจะช่วยเป็นกลไกในการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้แรงงานได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด" วิไลวรรณกล่าว

ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นต้นตอใหญ่ของการว่างงานนั้นก็เป็นเพียงนโยบายเท่านั้น รูปธรรมยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเครือข่ายองค์กรแรงงานจะต้องร่วมเก็บข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าแรงงานได้เข้าถึงบริการของรัฐ หรือมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาหรือไม่ และสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่

วิไลวรรณยังระบุถึงนโยบายของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่จะนำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท ซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตนจำนวน 9.3 ล้านคน คนละ 1 ถุง หรือ 5 กิโลกรัม ในโครงการบรรเทาความเดือนร้อนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจว่า ที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทยที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาของคนงานได้ ทราบมาว่าในวันที่มีมติมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 8 คนจาก 15 คน และมีคน เห็นด้วย 5 คน การลงนามของกระทรวงแรงงานเป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่ชอบมาพากล ขณะที่แรงงานไม่ได้ต้องการในส่วนนี้เลยและมองว่า นี่อาจเป็นช่องทางหนึ่งในการทำให้คนบางกลุ่มสามารถเข้าไปหาประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม ความไม่โปร่งใส อาจมีเรื่องทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเรื่องนี้น่าจะส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความก่อนที่จะนำเงินประกันสังคมออกมา

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 52 นี้เครือข่ายองค์กรแรงงานจะเดินหน้าสนับสนุนให้มีการตั้งสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 19 สหภาพ ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และ จะตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานในการให้ข่าวสาร ความรู้ในด้านกฎหมายแก่แรงงานที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง รวมถึงการช่วยเหลือแรงงงานที่ว่างงานและถูกปลดให้สามารถกลับเข้าทำงานในสหภาพที่ตนเข้าร่วมได้ โดยศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จะทำหน้าที่เสมือนกระจกที่สะท้อนการทำงานไปยังกระทรวงแรงงานและรัฐบาล

นายยงยุทธ เม่นตะเภา   ประธานสมาพันธ์ยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาและปี 52 นี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบรถยนต์มีปัญหาอย่างหนัก และมีนายจ้างหลายแห่งฉวยโอกาสลดการทำงานและการปรับลดโบนัส รวมทั้งมีการใช้มาตรา 75 ซึ่งมีพนักงานรับเหมาช่วงหรือซับคอนแทคได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะถูกเอาเปรียบและมัดมือฉกจากนายจ้างอีกทั้งพวกเขาไม่สามารถที่จะเข้าสหภาพแรงงานได้จึงส่งผลให้มีการชุมนุมเรียกร้องและปิดเส้นทางจราจรในที่สุด ดังนั้นรัฐบาลควรจะดูแลและช่วยเหลือแรงงานอย่างจริงจัง

นางสุจิน รุ่งสว่าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบกว่า 23 ล้านคนได้รับผลกระทบจากดังกล่าว เพราะไม่มีออร์เดอร์ ไม่มีงานทำส่งผลให้ขาดรายได้ ซึ่งปัจจุบันการช่วยเหลือของรัฐยังไม่ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ ดังนั้นรัฐจึงควรควบคุมราคาสินค้าในตลาดเพราะสามารถที่จะช่วยเหลือได้ทั่วถึงกว่าการที่รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานในระบบโดยการให้เงินจำนวน 2000 บาท   ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการอยู่ให้นานครบเทอม 4 ปี ก็สมควรที่จะดูแลแรงงานให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จะมีครบเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย 02-654-7688 สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย 02-225-2166 สหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย 02-427-6967 สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต 081-570-3287 สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย 02-709-1792 สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย 02-709-1792 กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก 038-337-523 กลุ่มผู้ใช้แรงงานย่ายอยุธยาและไกล้เคียง 081-586-4232 เครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ 02-915-0488 เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ 02-171-5135 เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net