โต้ถ้อยแถลง "ธง แจ่มศรี" : บทเสนออีกแนวทางวิเคราะห์สังคมการเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทความขนาดยาวตอบโต้ "ถ้อยแถลงของ ธง แจ่มศรี" ซึ่งได้ตบหน้าผู้ "วางปืนอาก้าเปลี่ยนมาถือมือตบ" มาก่อนหน้านี้ว่า เป็นการวิเคราะห์สังคมที่ผิดพลาด โดยเฉพาะประเด็น 2 กลุ่มทุนใหญ่เงื่อนปมสำคัญของสังคมไทย

 

ชื่อเดิม: ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับแนวทางความคิดการเมืองในถ้อยแถลงของ "ธง แจ่มศรี"
โดย  :  หน่วยศึกษาค้นคว้าสังคมไทย
 
 
 
ความขัดแย้งเรื่องการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยของ พคท.เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของขบวนการปฏิวัติในที่สุด ข้อถกเถียงดังกล่าวยืดเยื้อและดูไม่สิ้นสุด ประกายไฟแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งด้วย "ถ้อยแถลงของ ธง แจ่มศรี" ซึ่งถือเป็นการตบหน้าผู้ที่อ้างตัวสหายนำบางคน ซึ่งปัจจุบัน "วางปืนอาก้าเปลี่ยนมาถือมือตบ"  บทความขนาดยาวชิ้นนี้ถือเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการตอบโต้ข้อเขียนชิ้นดังกล่าวซึ่งนอกจากความเผ็ดร้อนรุนแรงแต่ยังแฝงสาระที่น่าสนใจเรียนรู้
(อ่านถ้อยแถลงของธง แจ่งศรี ได้ที่ลิงค์ในตอนท้าย - ประชาไท)
 
 
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ธง แจ่มศรี ได้ใช้ในนามส่วนตัวออก "ถ้อยแถลงเนื่องในโอกาสก่อตั้งพรรครอบ 66 ปี" โดยกล่าวถึงเรื่องของการจัดตั้งและแนวทางการเมืองของพรรคในปัจจุบัน และทิศทางต่อไป  สำหรับข้อคิดเห็นที่เสนอในเอกสารนี้จะไม่กล่าวถึงปัญหาการจัดตั้ง จะเสนอแต่แนวคิดทางการเมืองในถ้อยแถลงของ ธง แจ่มศรี เท่านั้น
 
แนวทางการเมืองที่เสนอมาใน "ถ้อยแถลง" แม้ ธง แจ่มศรี จะออกตัวว่าเป็นการ "ใช้ฐานะส่วนตัวแจ้งให้มิตรสหายทราบถึงแนวความคิด และทิศทางที่ควรจะเป็นของเราต่อไป" หลังจากที่ได้ประกาศในตอนต้นของเอกสารแล้วว่า คณะกรรมการบริหารกลางชุดปัจจุบัน "ได้สูญเสียบทบาทขององค์การนำไปแล้วโดยสิ้นเชิง" ส่วนตัวเขาซึ่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ ก็เหลือเพียงแต่ชื่อ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าตนเองได้สูญสิ้นบทบาทการนำโดยสิ้นเชิงหรือไม่ และพรรคได้ยุบสลายไปหมดหรือยังคงอยู่ ในภาวะที่ยังกำกวมเช่นนี้ การออก "ถ้อยแถลง..." เพื่อแจ้งเรื่องแนวทางการเมืองของพรรคจึงหมายความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากต้องการให้เป็นคำชี้แนะและเป็นแนวทางให้มิตรสหายที่ยังเชื่อถือและติดตามพรรคนำไปปฏิวัติต่อไป จึงเห็นว่า เป็นภาระอันเร่งด่วน ที่จะต้องวิเคราะห์วิจารณ์ความถูกผิดของแนวทางการเมืองที่เสนอใน "ถ้อยแถลง" นี้ อย่างจริงจังและรับผิดชอบ โดยเริ่มต้นจากความเป็นจริง และด้วยจุดยืนและทรรศนะที่ถูกต้อง จึงขอเสนอความคิดเห็นต่างๆ เพื่อพิจารณาศึกษา ดังนี้
 
ข้อที่ 1ในย่อหน้าที่ 4 ของ "ถ้อยแถลง..." ได้กล่าวว่า "ปมประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันครั้งใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน กล่าวโดยสรุปก็สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นชนชั้นปกครอง 2 กลุ่ม ขอเรียกสั้นๆ ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนเก่า (อนุรักษ์นิยม) กับกลุ่มทุนใหม่ (เสรีนิยม)....." ต่อจากนั้นก็ได้บรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ต่อมาที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งคู่นี้ ซึ่งตรงกับความเป็นจริงบ้าง ไม่ตรงบ้าง ตามทรรศนะและข้อมูลที่ผู้เขียนเอกสารดังกล่าวได้มา
 
เราเห็นว่าข้อสรุปวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันนี้ มีความไม่ถูกต้องหลายประการ คือ
 
. การกล่าวหาว่าในสังคมไทยปัจจุบัน มีความขัดแย้งสำคัญคู่หนึ่ง คือความขัดแย้งของกลุ่มนายทุนใหญ่ผูกขาด 2 กลุ่ม ที่เป็นชนชั้นปกครองดำรงอยู่นั้น มีความถูกต้องเป็นจริงแต่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ความขัดแย้งของ 2 กลุ่มนี้ ไม่ใช่ "ปมประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกกันครั้งใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน" เพราะชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาดทั้งสองกลุ่มดังกล่าว ล้วนมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับประชาชนชนชั้นและชั้นชนต่างๆ ล้วนดำรงอยู่ด้วยการกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบประชาชน  ทั้ง 2 กลุ่ม จึงล้วนมีความขัดแย้งกับประชาชน ซึ่งก็คือ ความขัดแย้งพื้นฐานสำคัญของสังคมไทยปัจจุบันนี้และต่อไป อย่างไรก็ตาม ระดับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดแต่ละกลุ่มกับประชาชน ก็ไม่ใช่จะเท่าเทียมเสมอกัน จะต้องวิเคราะห์รูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวโดยทั่วไป กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่เป็นผู้กุมกลไกอำนาจรัฐที่แท้จริงหรือเหนือกว่ากลุ่มอื่น มักจะใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือมากดขี่ขูดรีดปล้นชิงผลประโยชน์และทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติได้มากกว่า รุนแรงกว่า ดังเช่น กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณ และหุ่นเชิดที่กุมอำนาจรัฐ ได้ทำการปล้นชิงสมบัติของชาติและประชาชนอย่างขนานใหญ่ ด้วยวิธีการที่แยบยลทั้งลับและเปิดที่เรียกว่าคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ ซึ่งมีข้อมูลเท็จจริงที่น่าเชื่อถือมากมาย ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่กุมอำนาจรัฐกลุ่มนี้ จึงมีความรุนแรงมากกว่ากับกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดกลุ่มอื่นๆ จึงเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในช่วงระยะนี้ กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณจึงเป็นเป้าหมายหลักหรือคู่ขัดแย้งหลักที่ประชาชนต้องโจมตีคัดค้านในปัจจุบัน เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติไม่ให้ถูกทำลายย่อยยับไปกว่านี้ ส่วนความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดอื่นๆ ที่ไม่ได้กุมกลไกอำนาจรัฐหรือกุมอำนาจรัฐอยู่ในระดับที่แน่นอนระดับหนึ่งก็ยังดำรงอยู่ แต่เนื่องจากมีความรุนแรงน้อยกว่า จึงเป็นความขัดแย้งรองในช่วงระยะนี้
 
ในเรื่องความขัดแย้งหลัก และความขัดแย้งรอง มีปัญหาที่เราจะต้องทำความแจ่มชัดว่า การที่ประชาชนต่อสู้กับคู่ขัดแย้งตัวหลักของประชาชนเป็นสำคัญในขณะนี้ก็เพื่อต่อต้านผู้ที่กำลังปล้นชาติกินเมืองที่ร้ายกาจที่สุด เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยเร่งด่วน และในการต่อสู้ ขบวนประชาชนจะต้องขยายแนวร่วมให้กว้าง ก็อาจจะมีผู้ที่ต้องการต่อต้านคู่ขัดแย้งตัวหลัก แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องความขัดแย้งรอง หรือยังสนับสนุนคู่ขัดแย้งตัวรองมาเข้าร่วมด้วย  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ประชาชนเราได้รวมศูนย์กำลังโจมตีคู่ขัดแย้งตัวหลักซึ่งมีกำลังเหนือกว่ามากให้ได้ผล หาใช่เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่คู่ขัดแย้งตัวรองไม่
 
ปัญหาอาจมีต่อไปอีกว่า ผลการต่อสู้โจมตีคู่ขัดแย้งหลัก จะกลายเป็นประโยชน์แก่คู่ขัดแย้งตัวรองหรือไม่? ถ้ามองในแง่ที่ระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่เป็นคู่ขัดแย้งตัวหลัก และกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่เป็นคู่ขัดแย้งตัวรอง(ของประชาชน) ก็ขัดแย้งกันเองค่อนข้างรุนแรง การที่ประชาชนทำลายคู่ขัดแย้งตัวหลัก ก็อาจเป็นประโยชน์แก่คู่ขัดแย้งตัวรองได้ แต่ถ้าเรามองให้กว้างและยาวออกไปจะพบว่าผลการต่อสู้ไม่น่าเป็นเช่นว่านั้นถ้าการต่อสู้กับคู่ขัดแย้งหลัก ประชาชนสามารถโจมตีทำลายระบอบอันชั่วร้ายของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดตัวร้ายกาจที่สุดในขณะนั้น(คู่ขัดแย้งตัวหลัก)ที่กระทำต่อประชาชนและประเทศชาติ เช่นการผูกขาดอำนาจ การคอรัปชั่นโกงกินเยี่ยงมหาโจร เป็นต้น อย่างได้ผลก็จะเป็นการบั่นทอนระบอบการกดขี่ขูดรีดอย่างมีพลัง ก็จะทำให้กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่เป็นชนชั้นปกครองกลุ่มต่อไปไม่อาจทำการกดขี่ขูดรีดเอาเปรียบประชาชนได้อย่างสะดวกอีกต่อไป และที่สำคัญผ่านการต่อสู้ประชาชนมีความตื่นตัวสูงขึ้น และกว้างขึ้น ขบวนของประชาชนได้รับการหล่อหลอมให้แข็งแกร่งขึ้น ก็จะกลายเป็นกำลังมหาศาลที่ทำลายชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาดทุกกลุ่ม และอำนาจอิทธิพลทั้งปวงที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบประชาชนต่อไปอย่างไม่มีใครต้านทานและทำลายได้
 
นักต่อสู้ที่ยืนอยู่กับผลประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง จะต้องมองเห็นความขัดแย้งพื้นฐานและความขัดแย้งหลักของสังคมในทุกระยะอย่างแจ่มชัด จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเอารัดเอาเปรียบและการปล้นชิงผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติของชนชั้นที่ผูกขาดอำนาจทางกำลังทรัพย์ และอำนาจการปกครองนับวันรุนแรงขึ้น ประชาชนมีแต่ต้องสามัคคีกันต่อสู้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน ที่สำคัญไม่ว่าเวลาใด นักต่อสู้เพื่อประชาชนจะต้องไม่ถูกปรากฏการณ์ของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่เป็นชนชั้นปกครองที่แย่งชิงผลประโยชน์กันทำให้สับสน จนมองไม่เห็นว่า ใครเป็นผู้ที่กำลังปล้นชาติปล้นประชาชนที่ร้ายกาจที่สุด โดยเฉพาะองค์กรที่นำการต่อสู้ของประชาชน ถ้าไม่เริ่มต้นที่ผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน มาวิเคราะห์ความขัดแย้งพื้นฐาน และความขัดแย้งหลักของสังคมจากความเป็นจริง ก็จะหลงทิศผิดทาง กำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ผิดพลาด สูญเสียบทบาทที่เป็นกองหน้าของการต่อสู้ของประชาชน และง่ายที่จะละทิ้งประชาชน กลายเป็นหางเครื่องของศัตรูทางชนชั้นไป
 
. จากข้อสรุปที่ว่า ความขัดแย้งหลักของสังคมขณะนี้ คือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่เป็นชนชั้นปกครองสองกลุ่ม ประชาชนไม่เกี่ยว ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดๆ ต่อการต่อสู้ของประชาชนวงการต่างๆ ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการคอร์รัปชั่นโกงกิน และการผูกขาดอำนาจรัฐมากดขี่เอารัดเอาเปรียบประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณ และรัฐบาลที่เป็นตัวแทนว่า เกิดจากกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับกลุ่มทักษิณ "ใช้อิทธิพลมาระดมลูกน้องลูกสมุนมาก่อกวนขัดขวางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ" ซึ่งข้อความนี้ปรากฏอยู่ในย่อหน้าที่ 4 ของ "ถ้อยแถลง..." ทัศนคติของธง แจ่มศรี ที่มีต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนที่คัดค้านรัฐบาลทักษิณ และหุ่นเชิดเช่นนี้ นอกจากแสดงว่า เขามองไม่เห็นความขัดแย้งที่แหลมคมของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณกับประชาชน ไม่ได้มองปัญหาโดยเริ่มต้นจากความเป็นจริงและผลประโยชน์ของประชาชน ยังเป็นการดูถูกประชาชนที่บริสุทธิ์ที่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ซ้ำร้ายกว่านี้ ยังปรากฏว่า มีผู้กล่าวหาคนที่เห็นด้วยกับประชาชนที่ต่อสู้คัดค้านกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณว่าเป็นพวกสนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยม เป็นสมุนรับใช้ศักดินาไปทั้งหมด!
 
กล่าวโดยสรุป การวิเคราะห์ว่าความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นปกครอง เป็นความขัดแย้งหลักของสังคมปัจจุบัน โดยมองไม่เห็นความสำคัญและความรุนแรงของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนเลยนั้น ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นการวิเคราะห์ที่มีปัญหาเกี่ยวกับจุดยืนและทรรศนะที่เริ่มต้นจากความเป็นจริง และผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
 
ข้อที่ 2ในย่อหน้าที่ 6 ของ "ถ้อยแถลง..." อ้างว่า ได้ใช้ทัศนะวัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์จำแนกแยกแยะการต่อสู้ขัดแย้งกันของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดชนชั้นปกครอง 2 กลุ่มว่า "โดยเนื้อแท้ก็คือการต่อสู้ขัดแย้งกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน กับระบอบอำมาตยาธิปไตยของศักดินานั่นเอง"
 
ข้อวิเคราะห์นี้เท่ากับเป็นการสรุปว่า กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณที่กุมอำนาจรัฐอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่ง คือ ตัวแทนระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อสรุปอีกตอนหนึ่งในย่อหน้าที่ 4 ของเอกสารเดียวกันว่า "ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นชนชั้นปกครองสองกลุ่ม ขอเรียกสั้นๆ ว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนเก่า(อนุรักษ์นิยม) กับกลุ่มทุนใหม่(เสรีนิยม)....."
 
การสรุปว่า กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณเป็นกลุ่มทุนใหม่(เสรีนิยม) และเป็นตัวแทนระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนนั้น น่าจะมีปัญหาทั้งทางความเป็นจริง และทางทฤษฎี  กล่าวคือ
 
ในทางความเป็นจริง กลุ่มทุนทักษิณไม่ได้มาจากการเป็นนายทุนชาติ ที่สะสมทุนจากการเข้าสู้กระบวนการพัฒนาพลังการผลิตแบบทุนนิยมของประเทศ หากเป็นกลุ่มทุนที่อาศัยอำนาจรัฐสร้างระบบกลไกการผูกขาดขึ้น เช่น การสัมปทานโทรศัพท์มือถือ การสัมปทานดาวเทียม เป็นต้น ในสมัยที่ยังไม่ได้เข้ายึดกุมอำนาจรัฐ เขาก็ได้ใช้วิธีสินบนใต้โต๊ะให้ได้มาซึ่งการสัมปทานจากรัฐ ต่อมาเมื่อได้กุมอำนาจรัฐแล้ว ก็ได้ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่การผูกขาดธุรกิจด้านต่างๆ โดยการดำเนินวิธีการที่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีกำไร อาทิ ปตท. เมื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ กลุ่มทุนทักษิณก็ได้ใช้อภิสิทธิ์เข้าถือหุ้นจำนวนมาก ได้กำไรมหาศาลจนทุกวันนี้ หรือการใช้วิธีการที่เรียกว่า การคอร์รัปชั่นทางนโยบาย คือการใช้อำนาจทางรัฐบาล และรัฐสภา กำหนดนโยบายและกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนและพวกพ้อง เช่น การแก้กฎหมายการจ่ายภาษีของโทรศัพท์มือถือ จากการจ่ายค่าสัมปทานเป็นการจ่ายภาษีสรรพสามิต หรือกรณีการซื้อขายที่ดินรัชดาที่อื้อฉาว เป็นต้น นอกจากนั้น กลุ่มทุนทักษิณยังอาศัยวิธีการทางเงินเป็นเครื่องมือทำการเก็งกำไรและเพิ่มพูนทุน เช่น การปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การหลบเลี่ยงภาษี การค้าเงินตรา และการฟอกเงิน ระยะหลังนี้ กลุ่มทุนทักษิณยังได้ทำธุรกิจที่ดินเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าเขาได้ถือครองที่ดินมากมายแค่ไหน
 
กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงระยะประมาณ 10 ปี เขาสามารถสะสมทุนได้นับแสนๆ ล้านบาท ซึ่งย่อมไม่ใช่วิถีทางการผลิตและการค้าแบบทุนนิยมเสรีจะทำได้ และเมื่อพิเคราะห์จากลักษณะธุรกิจ และกระบวนการได้มาซึ่งเงินทุนของเขา จะเห็นว่าไม่ใช่วิถีการพัฒนาพลังการผลิตของทุนนิยมเสรี ตรงข้ามเป็นการทำลาย ขัดขวางการพัฒนาพลังการผลิตที่ก้าวหน้าของทุนนิยมแห่งชาติ เพราะเขาใช้ระบบผูกขาดมากีดกันทุนที่เล็กกว่า ใช้การปล้นชิงทรัพยากรของชาติ และทรัพย์สินของประชาชนมาสะสมทุน เป็นนักฉวยโอกาสที่หากำไรกับการค้าเทคโนโลยี หากไม่ใช่พัฒนาเทคโนโลยี จากข้อเท็จจริงต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้เราเห็นได้ชัดว่า กลุ่มทุนทักษิณไม่ใช่ทุนนิยมเสรี หากเป็นทุนนิยมผูกขาด
 
ในทางทฤษฎีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มทุนทักษิณเป็นกลุ่มทุนใหม่ จึงเป็นทุนนิยมเสรี ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักทฤษฎี การจะวิเคราะห์ลักษณะทางชนชั้นของกลุ่มทุนใด จะต้องวิเคราะห์จากกระบวนการพัฒนา และฐานะบทบาททางการผลิตของกลุ่มทุนนั้น ไม่ใช่ดูว่าใครเกิดก่อน เกิดหลัง กลุ่มทุนทักษิณแม้จะเกิดทีหลัง ก็ไม่ใช่ตัวแทนพลังใหม่ที่ก้าวหน้า เพราะเขาไม่ใช่กลุ่มทุนที่เติบโตขึ้นจากการส่งเสริมพัฒนาพลังการผลิตในระบบแข่งขันเสรี หากได้ใช้วิธีการผูกขาด ใช้อำนาจรัฐ สมคบจักรวรรดินิยมและสมุน ปล้นชิงชาติและประชาชนอย่างตะกละตะกรามแบบนายทุนใหญ่ผูกขาดที่ชั่วร้าย แม้จะผูกขาดไม่นาน (ร่วม 10 ปี) ก็ปล้นชาติและประชาชนเป็นแสนๆ ล้านบาท
 
ดังนั้น สรุปได้ว่า กลุ่มทุนทักษิณไม่ใช่ทุนนิยมเสรี ที่มีลักษณะก้าวหน้า แต่เป็นทุนนิยมผูกขาดที่ชั่วร้าย
 
ทางการเมือง กลุ่มทุนทักษิณได้เข้าสู่อำนาจรัฐ โดยอาศัยระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือ คือ การเลือกตั้ง การมีรัฐสภา และรัฐธรรมนูญ ฯลฯ แต่สิ่งที่ทักษิณใช้นั้น เป็นเพียงรูปแบบ ในทางเป็นจริง เขาได้ละทิ้งเนื้อหาของระบอบนี้โดยสิ้นเชิง
 
ทักษิณได้ใช้วิธีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่สกปรกในการเลือกตั้งผู้แทน ใช้อิทธิพลเงินซื้อเอาพรรคเล็กพรรคน้อยมานยุบรวมกับพรรคของตน จนสามารถกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทน ไม่เพียงแค่นั้น ยังซื้อวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ ติดสินบนศาล แทรกแซงองค์กรอิสระ ทำลายระบบ "ตรวจสอบและถ่วงดุล" อันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เขาได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในทางบริหารและนิติบัญญัติ ต่อประชาชนกลุ่มทักษิณใช้นโยบายประชานิยมมอมเมาผู้ยากไร้ที่บริสุทธิ์เพื่อสร้างฐานเสียง ปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้รับรู้ข่าวสารข้อมูลที่เป็นจริง ต่อผู้ที่ต่อต้านไม่ยอมขึ้นต่อเขา ก็ใช้วิธีอุ้มฆ่า ฆ่าทิ้ง ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง  ดังนั้น ในทางเป็นจริง การปกครองในยุคทักษิณ จึงไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม หากเป็นการเผด็จการโดยกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่สำคัญคือตัวทักษิณเอง และโดยทางตรรกะ เมื่อเราได้วิเคราะห์กันแล้วว่า กลุ่มทุนทักษิณไม่ใช่ทุนนิยมเสรี หากเป็นทุนนิยมผูกขาดที่ชั่วร้าย ระบอบการปกครองภายใต้การนำของพวกเขาจึงเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมเสรีที่แท้จริงไม่ได้ จะเป็นได้ก็แต่เพียงเผด็จการทางรัฐสภาของอำนาจรัฐกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่ชั่วร้ายเท่านั้น
 
ข้อที่ 3ในย่อหน้าที่ 8 ของ "ถ้อยแถลง..." ได้ใช้ประเด็นปัญหาว่า เราสมควรจะสนับสนุนรัฐสภาของชนชั้นนายทุนหรือไม่ มานำสู่การชี้นำทรรศนะ และท่าทีต่อทุนนิยมที่ควรจะมี...
 
จากข้อความที่ค่อนข้างวกวนของย่อหน้านี้ ดูผิวเผินสิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับการตอกย้ำคือ นำสู่การชี้นำทรรศนะ และท่าทีต่อทุนนิยมที่ควรจะมี...
 
จากข้อความที่ค่อนข้างวกวนของย่อหน้านี้ ดูผิวเผินสิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับการตอกย้ำคือ เราไม่อาจปฏิเสธทุนนิยม เพราะมันเป็นความจริงที่ดำรงอยู่แล้ว แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงโดยทบทวนสิ่งที่เอกสารนี้ได้กล่าวย้ำมาตั้งแต่ต้น ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า ความหมายไม่ได้อยู่เพียงแค่นี้ ที่สำคัญ ผู้เขียน "ถ้อยแถลง..." ต้องการกล่าวหาว่า การคัดค้านระบอบทักษิณ ต่อต้านการปกครองของกลุ่มทุนผูกขาดทักษิณ เป็นการปฏิเสธทุนนิยม ขัดขวางการพัฒนาสังคมไทยไปสู่ทุนนิยม เป็นการฝืนกฎภววิสัยแห่งการพัฒนาของสังคม ทำให้ประเทศชาติถอยหลังเข้าคลอง (เพราะเอกสารได้ยืนยันมาตลอดว่า กลุ่มทุนทักษิณคือทุนนิยมเสรีที่ก้าวหน้า คือผู้ธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน) หรือถ้าหากจะให้พูดอย่างไม่เกรงใจ ก็คงจะบอกว่า พวกคัดค้านทักษิณไม่ว่าใคร คือพวกที่สนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดอนุรักษ์ คือพวกที่รับใช้ศักดินา
 
นอกจากนั้น ข้อความตอนท้ายของย่อหน้าเดียวกันนี้ ยังได้กล่าวว่า "การดำรงอยู่ของทุนนิยมก็เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ ก็ยิ่งเรียกร้องให้เราต้องพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ ซึ่งก็คือต้องคำนึงถึงจุดอ่อนจุดแข็งของชนชั้นปกครอง..." ซึ่งข้อความนี้ คงจะหมายความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากบอกประชาชนว่า เมื่อเราไม่อาจปฏิเสธทุนนิยม ก็ไม่ควรคัดค้านกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณและบริวาร เพราะพวกเขาเป็นตัวแทนทุนนิยมที่ก้าวหน้า ดังนั้น จึงต้องยุติการคัดค้าน และหันมายอมรับข้อดีข้ออ่อนของชนชั้นปกครองกลุ่มนี้.....
 
ความเห็นของเราต่อประเด็นต่างๆ ที่เสนอในย่อหน้าที่ 8 ของ "ถ้อยแถลง..." ดังกล่าวนี้คือ
 
ประการที่ 1การที่ประชาชนเราต่อสู้คัดค้านระบอบทักษิณ ไม่ใช่เป็นเพราะทักษิณเป็นทุนนิยม หากเป็นเพราะกลุ่มทักษิณได้ใช้อำนาจรัฐทำการปล้นชิงทรัพย์สมบัติของชาติและประชาชนอย่างมหาศาล และอย่างละโมบไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ประเทศชาติเกิดวิกฤติรอบด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างร้ายแรงที่สุด ซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้ ได้ถูกเปิดโปงออกสู่สังคมมากขึ้นทุกวันๆ ทำให้ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยวงการต่างๆ ตระหนักว่า จะทนให้กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณปกครองต่อไปอีกไม่ได้แล้ว จึงลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านกลุ่มทุนผูกขาดทักษิณและอำนาจรัฐของมันอย่างเป็นไปเอง และกว้างขวาง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากมีชนชั้นกลางที่เป็นนายทุนน้อยจำนวนมาก ยังมีข้าราชการตำรวจ ทหารที่รักความถูกต้อง รักชาติ รักประชาธิปไตย ครู อาจารย์ นักวิชาการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักกฎหมาย นักบวช ผู้ปฏิบัติธรรมจากศาสนาต่างๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ศิลปิน กระทั่งชาวไทยในต่างประเทศ ผู้ใช้แรงงานจากพนักงานรัฐวิสาหกิจ กรรมกร เกษตรกร ฯลฯ และชนชั้นนายทุนชาติอีกไม่น้อยที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ จากส่วนประกอบของขบวนประชาชนนี้ ก็เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า ประชาชนไม่ได้ต่อสู้เพราะต้องการคัดค้านทุนนิยมเสรีที่แท้จริง (ซึ่งความเป็นจริงทักษิณก็ไม่ใช่ทุนนิยมเสรีที่แท้จริงดังที่ได้ชี้แจงมาข้างต้นแล้ว) หากเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ทั้งหมดนี้เป็นความจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้ มีแต่คนที่ปิดหูปิดตาตนเอง หรือถูกบิดเบนสายตาด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ และคนที่ต้องการพิทักษ์รักษาอำนาจของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณ ที่ไม่ยอมรับความจริง ซ้ำยังบิดเบนใส่ร้ายผู้รักชาติรักประชาธิปไตยที่ต่อสู้คัดค้านกลุ่มทุนทักษิณต่างๆ นานา ว่าต้องการทำลายระบอบทุนนิยมเพื่อประโยชน์ของพวกอนุรักษ์นิยม เป็นพวกที่ไม่ยอมรับความเป็นจริง ฝืนกฎภววิสัยแห่งการพัฒนาสังคม เป็นพวกถอยหลังเข้าคลองที่ขัดขวางการก้าวหน้าของสังคม  เราจึงอยากจะถามว่า ระหว่างประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย กับผู้ออก "ถ้อยแถลง..." นี้ ใครกันแน่ ที่ไม่ยอมพิจารณาความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในทุกวันนี้? ใครกันแน่ ที่ไม่สามารถจำแนกแยกแยะความเท็จความจริง และความถูกผิดได้ เพราะถูกครอบงำด้วยทรรศนะการวิเคราะห์ที่ผิดๆ และข้อมูลที่บิดเบือนจนสูญเสียจุดยืนทางชนชั้น กลายเป็นเครื่องมือของสมุนที่รับใช้ผู้ที่ปล้นชาติปล้นประชาชน ทำลายความเจริญรุ่งเรืองของชาติในที่สุด
 
ประการที่ 2ในย่อหน้านี้ ได้อ้างกฎภววิสัยแห่งการพัฒนาของสังคมสื่อให้เห็นว่า สังคมไทยจะต้องพัฒนาไปสู่ทุนนิยมเต็มที่อย่างแน่นอน ดังนั้น ประชาชนไทยเราจึงไม่เพียงแต่ไม่ควรปฏิเสธทุนนิยม ยังต้องร่วมส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นทุนนิยม ดังข้อความในตอนท้ายของย่อหน้านี้ "...ฝ่ายประชาชนเราจากนี้ไปกำหนดขั้นตอนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าไปข้างหน้าอย่างมีจังหวะก้าวและสอดคล้องกับความเป็นจริงทางภววิสัย นี่คือทิศทางที่จะต้องเป็นไป" (ซึ่งความเป็นจริงทางภววิสัยก็คือ กฎภววิสัยแห่งการพัฒนาของสังคมนั่นเอง) สำหรับประเด็นนี้ มีปัญหาทางทฤษฎี และความเป็นจริง ที่อยากเสนอให้ช่วยกันขบคิด
 
 1) ต่อจากนี้ไป สังคมไทยจะต้องพัฒนาไปสู่สังคมทุนนิยมที่สมบูรณ์เต็มที่อย่างแน่นอนหรือ? จะพัฒนาไปสู่สังคมรูปแบบอื่นโดยไม่ต้องผ่านสังคมทุนนิยมที่สมบูรณ์ไม่ได้หรือ?
 
2) จากสภาพเป็นจริงของชนชั้นนายทุนไทย และฐานะของไทยกับทุนนิยมโลก (เหล่าจักรวรรดินิยม) ในยุคโลกาภิวัฒน์ สังคมไทยจะพัฒนาเป็นทุนนิยมที่สมบูรณ์เต็มที่และอิสระได้หรือไม่?
 
3) การที่ผู้ออก "ถ้อยแถลง..." อ้างกฎภววิสัยแห่งการพัฒนาสังคมของทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มายืนยันว่า สังคมไทยต้องพัฒนาไปสู่ทุนนิยมอย่างแน่นอนนั้น เป็นการใช้ทฤษฎีนี้อย่างกลไกหรือไม่?
 
4) ตามเงื่อนไขที่เป็นจริงทางประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน มันเป็นทิศทางที่ถูกต้องหรือ ที่ประชาชนไทยจักต้องต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสังคมทุนนิยมก่อน จึงจะสามารถก้าวไปสู่สังคมในอุดมการณ์ที่ดีงามกว่า?
 
ข้อที่ 4ในย่อหน้าที่ 10 ของ "ถ้อยแถลง..." ได้ยกเอาคำสอนของเลนิน เกี่ยวกับท่าทีของชาวพรรคต่อรัฐสภาชนชั้นนายทุน แต่ก็ไม่ได้ระบุว่า ท่านเลนินได้กล่าวข้อความนี้ในบริบทอะไร คือ ในสถานการณ์ใด มีจุดประสงค์อย่างไร  อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญประการหนึ่งที่เราต้องการความกระจ่างคือ การที่ธง แจ่มศรี ยกคำสอนนี้มาใน "ถ้อยแถลง..." นี้ เพื่อประสงค์อะไร? เพื่อที่จะชี้นำให้ชาวพรรคใช้การต่อสู้บนเวทีรัฐสภาชนชั้นนายทุนเป็นยุทธศาสตร์ หรือเป็นยุทธวิธีต่อไป  ถ้าเป็นยุทธวิธี ก็มีปัญหาว่าในทางความเป็นจริงจะทำได้หรือไม่? ในสภาพที่การเลือกตั้ง ส.ส.ทุกวันนี้ต้องใช้เงินรายละหลายสิบล้าน หรือร้อยล้านบาท ขึ้นไป หรือมิฉะนั้น ก็ต้องขายตัวให้พรรคนายทุนใหญ่ นอกจากนั้น ในบรรยากาศการเมืองน้ำเน่าของสภาที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาด สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เป็นอิสระ เสียงมากลากไป แม้นเราจะเข้าสู่สภาได้สักคน 2 คน จะทำอะไรได้ จะใช้เวทีรัฐสภามาให้การศึกษามวลชน และต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริงได้มากน้อยแค่ไหน? จริงอยู่ ประชาชนเรายังไม่สามารถโค่นล้มระบอบรัฐสภาของชนชั้นนายทุน แต่เราก็สามารถติดตามไม่ให้กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดใช้กลไกรัฐนี้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์มากไป เช่น การออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เมื่อพบเห็นความไม่ชอบมาพากลของสภา ก็ต้องเปิดโปง โจมตี ต่อต้าน ทำเช่นนี้จึงจะให้การศึกษาแก่มวลชนได้กว้างขวางและได้ผล  ที่สำคัญคือ นักต่อสู้ของประชาชนจะต้องไม่ถูกความคิดที่ว่า เรายังไม่มีกำลังทำลายสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า หรือมันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้ว แม้จะเป็นสิ่งชั่วร้ายไม่เป็นธรรม มาทำให้งอมืองอเท้า ไม่กล้าสู้กับสิ่งนั้น เราไม่ปฏิเสธว่า ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาด การเข้าไปต่อสู้อยู่ในเวทีรัฐสภาก็เป็นยุทธวิธีหนึ่ง แต่ไม่ใช่วิธีเดียว และจะต้องมีเงื่อนไขที่เป็นไปได้ด้วย
 
แต่ถ้าหาก "ถ้อยแถลง..." ของธง แจ่มศรี มีความหมายต้องการชี้นำให้การต่อสู้ทางรัฐสภาชนชั้นนายทุนเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคต่อไป นั่นก็คือให้พรรคเดินแนวทางการต่อสู้ทางรัฐสภาเป็นหลัก ส่วนแนวทางการต่อสู้อื่นๆ เป็นรองหรือต้องถูกละทิ้งหมด ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวพันกับแนวทางความคิดการเมืองของพรรค เกี่ยวพันกับลักษณะของพรรค และอนาคตของพรรค ซึ่งใครก็ตามไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดง่ายๆ อย่างไม่รับผิดชอบ และถ้าหากต้องการให้มิตรสหายไปเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาประชาธิปไตย ก็ผิดพลาดมากยิ่งขึ้น
 
ข้อที่ 5ย่อหน้าสุดท้ายของ "ถ้อยแถลง..." เป็นการเสนอภาระหน้าที่ต่อไป
 
การเสนอภาระหน้าที่ในระยะใด มีความหมายสำคัญ เพราะเป็นหน้าที่ที่สมาชิกต้องนำไปปฏิบัติในระยะนั้น และยังเป็นการแสดงทิศทางของพรรคต่อสาธารณะด้วย ฉะนั้น การกำหนดภาระหน้าที่จึงต้องทำอย่างรอบคอบ และที่สำคัญต้องมาจากการนำรวมหมู่ ต้องเริ่มต้นจากจุดยืนของชนชั้น และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง และใช้ทรรศนะวัตถุนิยมวิภาษมาวิเคราะห์สถานการณ์ คือ การมองปัญหาอย่างรอบด้านไม่หยุดนิ่ง แยกหนึ่งเป็นสอง สันทัดในการวิเคราะห์ปัญหาจากปรากฏการณ์ไปสู่ธาตุแท้ และจะต้องให้ภาระหน้าที่ในแต่ละระยะสอดคล้อง หรือไม่ขัดต่อแนวทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีและภาระหน้าที่ระยะยาวของพรรค ดังนั้น การเสนอภาระหน้าที่เป็นคำขวัญลอยๆ อย่างเป็นไปตามกระแสการเมือง หรือพูดตามพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่กำลังขัดแย้งผลประโยชน์กันในขณะนั้น ไม่ได้เป็นอันขาด
 
จึงขอให้ช่วยกันพิจารณาว่า ภาระหน้าที่ที่เสนอใน "ถ้อยแถลง..." นี้ ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะในข้อที่ว่า "คัดค้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ" และ "คัดค้านการใช้อำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญ"  โดยพิจารณาว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน คำขวัญ 2 ข้อนี้ เป็นประโยชน์แก่ใคร และการนำเอาคำขวัญ 2 ข้อนี้มากำหนดเป็นภาระหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนนั้น เหมาะสม ถูกต้องหรือไม่อย่างไร
 
 
หน่วยศึกษาค้นคว้าสังคมไทย
ธันวาคม 2551
 
 
หมายเหตุ :
ใคร่ขอให้ผู้ที่ได้อ่าน "ข้อคิดเห็นบางประการ..." ฉบับนี้ โปรดช่วยเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม และคำวิจารณ์ในความผิดพลาดบกพร่องของเอกสารนี้ด้วย เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน และการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
 
 
 
 
 
 
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท