Gay Pride กับความเป็นวัฒนธรรมเชียงใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกย์ไพรด์เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกทางสังคมของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมในกระแสเพศ ดังนั้นในฐานะพลเมืองเขาย่อมสามารถแสดงออกได้ทั้งตัวตนและวิถีเพศของพวกเขาได้อย่างเสรี ตราบที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น

กระแสน้ำที่ไหลเวียนและส่งผ่านจากแหล่งหนึ่งไปยังแหล่งหนึ่งย่อมนำความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำให้ปรากฎ ทั้งยังมิเกิดการเน่าเสียอันเกิดจากการหยุดไหลเวียน เช่นเดียวกับวัฒนธรรมในทุกแอ่งที่มิได้ขังตัวเองบนฐานของความเป็นอนิจจลักษณะของสรรพสิ่งที่ต้องไหลเวียนเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างความอิ่มเอิบให้กับอนุชนคนรุ่นหลัง ตลอดจนดำรงอยู่ซึ่งชีวิตที่มิเฉาตาย สิ่งที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมทุกวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาที่ช่วยส่งผ่านและข้ามวัฒนธรรมซึ่งกันและกันอย่างมิรู้จบ

ความหมายของการดำรงอยู่คือการทำให้วัฒนธรรมวัฒนะไปกับผู้คนที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมนั้น มิใช่การรักษ์วัฒนธรรมอย่างมุ่งจะที่จะแช่แข็งโดยมิได้คำนึงถึงการมีชีวิตของวัฒนธรรมนั้นๆ เพราะวัฒนธรรมคือชีวิต ชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ และพัฒนา ตราบใดที่ชีวิตหยุดนิ่ง มิเพียงแต่ก้าวเดินแต่ยังส่งผลถึงความถดถอยอย่างมิเห็นคุณค่าใหม่ที่จะช่วยรังสรรค์สังคมให้ดีงาม และที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไหนๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสร้างทางสังคมที่มีลักษณะของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในที่สุด ดังนั้นเวลาเรากล่าวว่าวัฒนธรรมแต่ละท้องที่หรือท้องถิ่นมีลักษณะเฉพาะนั้น หาได้เป็นเช่นนั้นจริง เพราะวัฒนะธรรมไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ ที่จะระบุว่าเป็นของใครหรือมาจากไหนอย่างจริงแท้ สิ่งเหล่านี้ล้วนวิวัฒนมาตลอดของการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมนั้นๆ

วัฒนธรรมเชียงใหม่ ความเป็นวัฒนธรรมเชียงใหม่ สิ่งเหล่านี้ควรค่าแก่การตั้งคำถามนักว่ามันคืออะไร มาจากไหน เป็นของใคร หรือใครเป็นเจ้าของ (รัฐประชาชาติมักอ้างความเป็นเจ้าของอย่างมิเข้าใจแก่นแท้) และเพื่อใคร

เราต้องตระหนักว่าวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลายและหลากแหล่ง มิได้จำกัดเฉพาะสถาบันรัฐและทุนเท่านั้นที่มักจะแสดงตนเป็นเจ้าภาพในการจัดการวัฒนธรรมที่พยายามจัดวัฒนธรรมใส่กล่องแล้วเร่ขายเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งหอยเบี้ยอันน้อยนิด และสมอ้างอย่างเลื่อนลอยว่าเศรษฐกิจเชียงใหม่เติบโตได้ด้วยการท่องเที่ยว (วัฒนธรรมเป็นสินค้าหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยว)

ประชาชนที่เป็นพลเมืองล้วนแล้วแต่ตระหนักถึงความเป็นพลเมืองเหนือที่มีศักดิ์ศรีและสิทธิที่จะดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมคนเมือง หรือวัฒนธรรมเชียงใหม่ (ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอันเดียวกัน) ตามวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่จริงอย่างมิเสแสร้งหรือมุ่งประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นวัฒนธรรมของทุนหรืออำนาจกับวัฒนธรรมของพลเมืองหรือชาวบ้าน ย่อมมิใช่วัฒนธรรมชุดเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามในฐานะพลเมืองเหนือมองว่าถ้าจะเปรียบเชียงใหม่ปัจจุบันกับเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าเชียงใหม่ปัจจุบันย่อมมิใช่เชียงใหม่เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา นี่แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนและไหลเวียนเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เราย่อมปฏิเสธมิได้ที่จะสะกดและขวางกั้นมิให้วัฒนธรรมอื่นเข้ามาสมสู่วัฒนธรรมเชียงใหม่เพราะเช่นนั้นการเกิดใหม่ของวัฒนธรรมย่อมมิบังเกิด

แน่นอนว่าวัฒนธรรมเชียงใหม่ในปัจจุบันกับวัฒนธรรมเชียงใหม่เมื่อ 100 ปีก่อนก็เป็นวัฒนธรรมคนละชุดกัน ดังนั้นน่าจะเป็นการดีว่าการรักษ์วัฒนธรรมเชียงใหม่ในทางสร้างสรรค์นั้น ควรจะเริ่มตั้งแต่การเปิดกว้างทางความคิดที่มองเห็นความเป็นจริงที่มีอนิจจลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมประกอบเป็นฐานความคิดนั้นๆ มิใช่เพียงแต่การป้องปรามอย่างไร้ทิศทางและหลักคิด เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้น แม้แต่ความคิดก็จะกลายเป็นกำแพงสูงใหญ่และหนาทึบของการสร้างสรรค์และจรรโลงวัฒนธรรม

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรแบ่งปันความภูมิอกภูมิใจของใครบางคนกับวัฒนธรรมเชียงใหม่ให้กับผู้คนที่หลากหลาย จากหลากแหล่งที่พร้อมจะแบ่งปันและเรียนรู้ซึ่งวัฒนธรรมของกันและกัน สังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลายย่อมง่ายต่อการเรียนรู้ที่หลายหลากจากหลายประเด็นของสังคม และคำถามใหญ่คือเราจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรม เพศ ความคิด วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ศาสนา การเมือง และประวัติศาสตร์ อย่างมีความสุขได้อย่างไร อย่าลืมว่าสังคมเปลี่ยน กาลเวลาเปลี่ยน วีถีชีวิตเปลี่ยน แต่ถ้าเรายังจมจ่อมอยู่กับจินตนาการทางวัฒนธรรมเดิมๆ ที่รังแต่จะสร้างความขัดแย้งทั้งจากการภายในจิตใจและการดำรงอยู่ เราย่อมอยู่อย่างเจ็บปวดและแปลกแยก สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือทุกชีวิตก็มีวัฒนธรรมบุคคลของแต่ละคนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวัฒนธรรมในอุดมคติที่หวังเพื่อจะให้อยู่อย่างเดิม สิ่งสำคัญยิ่งคือการไม่มีอยู่จริงของวัฒนธรรมที่ดีและวัฒนธรรมที่ไม่ดี แต่เรากลับให้คุณค่าง่ายๆ แบบสองขั้วคือดีกับไม่ดี และนี่ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเปิดพื้นที่ใหม่ทางวัฒนธรรมที่ไม่กว้างพอที่ยอมรับความจริงที่หลากหลาย

เกย์ไพรด์ (Gay Pride) เป็นตัวอย่างหนึ่งของความหลากหลายบนพื้นที่ทางสังคมที่ดำรงอยู่จริงของกลุ่มเกย์ หรือคนรักเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหญิงรักหญิงหรือชายรักชาย ก็เรียกว่าเกย์ได้ทั้งนั้น เกย์ กับคำว่า Pride (ความภูมิใจ) แน่นอนมนุษย์ทุกผู้ทุกนามย่อมภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเองและภูมิใจในวิถีชีวิตของตน ถึงแม้ว่าความจริงสังคมอาจจะมีข้อมูลที่ไม่ได้สนับสนุนภาพลักษณ์ของความเป็นคนรักเพศเดียวกันมากนัก แต่อย่าลืมว่ามีคนกลุ่มนี้มีอยู่จริงในสังคม และคนเหล่านี้ก็อยู่ในทุกสาขาอาชีพ เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง และญาติเรา เขาเหล่านี้ก็มีความตระหนักทางวัฒนธรรมไม่แพ้เราท่านทั้งหลาย

ปัญหาที่เรากังวลกันในเชิงวัฒนธรรมนั่นคือ ถ้าเอ่ยถึงคำว่า เกย์ไพรด์ ก็จะมีบางท่านที่ติดภาพเก่าๆ ว่าเกย์ไพรด์มักจะปรากฏออกมาในภาพที่ไม่สุภาพ ยั่วยวน (ผมไม่เชื่อว่าขบวนเกย์ไพรด์ประเภทแต่งตัวนุ่งน้อยห่มน้อยจะก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นเพราะถ้าเป็นเช่นนั้นผมคิดว่าอาจจะต้องตรวจสอบสภาพจิตของผู้นั้นสักเล็กน้อย) ขบวนเกย์ไพรด์ในแต่ละประเทศ (มักจะจัดในกลุ่มประเทศตะวันตกบางประเทศ) มีลักษณะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าต้องการนำเสนอประเด็นอะไร บางครั้งเราอาจจะเห็นบางประเทศแต่งตัวแบบนุ่งน้อยห่มน้อย นั่นก็เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอที่ต้องการสร้างความสนใจ (มิได้ต้องการกระตุ้นความต้องการทางเพศอย่างที่เข้าใจ)

คนที่เข้าใจเกย์ไพรด์ ย่อมรับรู้ว่าอะไรคือหัวใจสำคัญของงาน และนั่นคือเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารกับสาธารณชน เพราะถ้าพูดถึงการยั่วยวนทางเพศเห็นทีไม่ต้องรอให้มีเกย์ไพรด์ คนทั้งหลายก็ย่อมแสวงหาการยั่วยวนทางเพศแบบต่างๆ อย่างมากมาย

เกย์ไพรด์เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกทางสังคมของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมในกระแสเพศ ดังนั้นในฐานะพลเมืองเขาย่อมสามารถแสดงออกได้ทั้งตัวตนและวิถีเพศของพวกเขาได้อย่างเสรี ตราบที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น และนั่นก็รวมไปถึงหญิงชายรักต่างเพศเขาก็มีสิทธิดุจเดียวกัน

เกย์ไพรด์เป็นการเปิดเผยตัว (Coming out) ทางสังคมอย่างหนึ่งของบุคคลเหล่านี้ เพราะหมายถึงการเปิดพื้นที่ทางสังคมซึ่งเป็นทั้งพื้นที่เชิงกายภาพและพื้นที่เชิงอุดมคติ (อุดมคติทางเพศ) หรือพื้นที่ทางความคิดที่เป็นรูปธรรมที่สังคมได้แบ่งปันให้กับตัวตนที่ไม่เปิดเผยของใครบางคน ดังนั้นคนที่เข้าใจเรื่องการเปิดเผยตัวตนของความเป็นคนรักเพศเดียวกันย่อมเข้าใจดีว่าหมายถึงอะไร และนั่นมิใช่เพียงการเปิดเผยในระดับบุคคลเท่านั้นแต่เป็นการเปิดเผยที่มีคุณค่ามากในเชิงสังคม

เกย์ไพรด์น่าจะเป็นภาพสะท้อนของการวิวัฒนเชิงวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่บนกระแสธารและความหลากหลายทางสังคม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมจะได้เรียนรู้อะไรที่มากไปกว่าโป๊ ไม่โป๊ ยั่วยวน ไม่ยั่วยวน สุภาพ หรือไม่สุภาพ หรือดี ไม่ดีเพราะสิ่งเรานี้เราต่างหากที่ไปให้คุณค่ากับมัน ฉะนั้นนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ไปพ้นจากทรรศนะที่ฉาบฉวย ที่รังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมมากขึ้น

ท้ายที่สุดผู้เขียนอยากจบลงด้วยบทภาวนาของตัวเองในทุกครั้งที่มีโอกาสขอพร "ขอให้โลกนี้จงบังเกิดสันติภาพที่เริ่มจากทุกๆ ฝ่ายเข้าใจความมีอยู่จริงของความความหลากหลายในทุกประเด็น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท