สระน้ำ .... อภิสิทธิ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

สถาบันวิชาการชาวนา วิเคราะห์ การให้ฟรีอาจกลายเป็นแฟชั่นนักการเมืองไทย คุณภาพประชานิยม คือภาพสะท้อนคุณภาพ สนับสนุนการทำประชานิยมด้วยสระน้ำให้ภาคเกษตร
สถาบันวิชาการชาวนา
 
การประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจหนึ่งแสนกว่าล้านบาทของรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้ทุ่มเทงบประมาณไปกับสิ่งที่เรียกว่าประชานิยม เพื่อหวังผลทั้งในทางการเมือง และการช่วยเหลือชาวบ้าน
 
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนวิธีคิดของนักการเมืองอย่างชัดเจนว่าคิดอะไร ในอีกมุมหนึ่งของความฮือฮา และเสียงตอบรับของคนส่วนใหญ่ที่มีปฏิบัติการของรัฐบาลชุดนี้ พบว่าสิ่งที่สถาบันวิชาการชาวนาได้เคยวิเคราะห์ถึงความจำเป็นของการเข้าถึงแหล่งน้ำ หากย้อนไปเมื่อปีที่ผ่านมา โครงการเมกกะโปรเจกเกือบแสนล้านเพื่อจัดการน้ำสำหรับการเกษตรเคยเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลอดีตนายกฯสมัคร สุนทรเวช  แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านทางการเมือง นายกฯอภิสิทธิ์ เลือกที่จะเน้นประชานิยมในด้านปล่อยเงินลงสู่มือมนุษย์เงินเดือน ชนชั้นกลาง ข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ คงเพราะเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีพลังทางการเมือง มีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจ  ในขณะที่ชาวบ้านจริงได้รับส่วนแบ่งนี้น้อยมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นระบบให้ฟรี น่ากลัวว่าในอนาคตการให้ฟรีจะเป็นแฟชั่นของนักการเมืองไทย แต่การให้ความสำคัญกับการจัดระบบน้ำมีเพียงประมาณ 1 พันล้าน บาท  หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งนับว่าน้อยมาก ไม่รู้ว่าดวงวิญญาณของคุณยายเนียม แห่งม่วงสามสิบจะคิดอย่างไร
           
การเรียนรู้อดีตที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบัน และมุ่งมั่นอนาคตยังมีความจำเป็นที่เราจะละเลยไม่ได้ มีคำถาม คำตอบมากมายที่ถูกตอบผ่านนักวิชาการ แต่ถ้าจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านตอบบ้าง ก็จะได้เห็นอีกมุมมองว่าเขาคิด เขาเชื่ออย่างไร
 
วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540  ทำไมหลายประเทศจึงเกิดกลียุค มีการปล้นจี้ข้าวสาร อาหารกัน ในกรณีอินโดนีเซีย และบางประเทศเกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น แต่ประเทศไทย ชาวบ้านยังอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนมากนัก
 
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 คนในชนบทที่ไปทำงานรับจ้างขายแรงงาน ทำงานบริษัทก็ตกงานไม่ต่างจากประเทศอื่น แต่ในช่วงปี 2540 รัฐบาล พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ ได้ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินบาทในขณะนั้นมีค่า 40 - 60 บาท/เหรียญอเมริกา กลไกของค่าเงินทำให้ข้าวเปลือกสูงถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ขณะนั้นคนที่ตกงานก็เดินทางกลับบ้าน แม้ไม่สามารถหาเงินได้มากจากการเป็นลูกจ้างในระบบทุนนิยม แต่เมื่อกลับบ้านก็ยังพอมีข้าวกิน มีอาหารเลี้ยงท้อง มีครอบครัวที่อบอุ่น และมีข้าวที่พอเหลือขายในราคาที่สูงทีเดียว กล่าวได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ ภาคเมือง คนเมืองได้รับผลกระทบอย่างมาก ในขณะที่ภาคเกษตรกรรม ดูเหมือนว่าจะได้รับอานิสงฆ์จากการที่เงินบาทลอยตัว เพราะผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวมีราคาที่สูงขึ้น
 
แต่..วิกฤตปี 2552 นี้ ภาคชนบทไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรง จะเกิดกลียุคไหม
ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน ในภาวะที่รัฐบาลกล้าประกาศรับจำนำข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิในราคากิโลกรัมละ 16 บาท  มันสำปะหลังราคากิโลกรัมละ 2 - 3 บาท ข้าวโพดได้รับประกันราคา ถ้าประกันยางพารา หอม กระเทียม พริก ผลไม้ และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ยิ่งจะเป็นระบบบัฟเฟอร์ได้อย่างดี เมื่อคนที่ตกงานกลับมาบ้านยังมีอาหารการกินที่สมบูรณ์ ขายข้าวได้ราคาดี ผลผลิตทางการเกษตรราคาดี ได้อยู่กับครอบครัว บางทีอาจสร้างโอกาสบางอย่างให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
 
อะไรที่จะทำให้ภาคชนบทไทยเกิดวิกฤต กลียุคอย่างรุนแรง
ผลิตข้าวไม่ได้ ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีน้ำ โรคระบาด ไม่มีที่ดิน  หรือผลผลิตทางการเกษตรสามารถผลิตออกมาได้แต่มีราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้สินจากการลงทุนทางการเกษตรจนล้มละลาย ขายที่ดิน ขายสวน ขายบ้าน
 
ประชานิยมที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้ไหม
อย่าเพิ่งตอบว่าช่วยได้ไหม ให้ตอบก่อนว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ถ้าเป้าหมายของรัฐบาล คือ กระตุ้นการบริโภค และช่วยเหลือประชาชน ในฐานะคนบ้านนอกซึ่งไม่รู้ทันคนเมือง ขอตอบแบบบ้านนอกว่ามีประสิทธิภาพไหม
 
ถ้าประสิทธิภาพของกระกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ สามารถทำให้คนใช้จ่ายเงินเพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ แค่นี้ไม่พอ ยังต้องมองถึงจำนวนรอบของการกระตุ้นหรือการใช้จ่ายเงินด้วย นั่นหมายความว่าต้องพยายามทำให้เงินอยู่ในมือของคนจน เพราะคนจนจะมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันมากกว่าคนรวย(คนรวยส่วนใหญ่บินไปจ่ายที่สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ) มีโอกาสจับจ่ายกับคนจนด้วยกัน และหมุนเวียนกันมากกว่า ยิ่งจำนวนรอบของการหมุนมากเท่าใด ยิ่งเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม  ซึ่งเมื่อดูโดยภาพรวมจากนโยบายประชานิยมแล้ว พบว่าเม็ดเงินยังอยู่ที่คนเมือง คนชั้นกลางในสังคม ขณะที่คนจน คนบ้านนอกในชนบทยังได้รับส่วนแบ่งไม่มากนัก
 
อะไร คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชนบท และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ต้องทำให้สินค้าทางการเกษตรมีผลผลิตที่มีราคาสูง ได้แก่ การประกันราคาสินค้า และมาตรการทางการค้า ต้องลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพผ่านการจัดการระบบสาธารณูปโภคาอาชีพให้แก่เกษตร ได้แก่ ระบบน้ำ  การสนับสนุนเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการเกษตร
           
ข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมของประชานิยมในมุมมองของชาวนา
  1. ประกันราคาข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด อ้อย หอม กระเทียม และผลิตผลทางในราคาที่สูงขึ้น
  2. สนับสนุนระบบน้ำชลประทาน โดยแบ่งเป็น 3 ขนาด
2.1        ระบบชลประทานระดับครัวเรือน โดยการขุดบ่อขนาดมูลค่า 10,000 บาท ให้กับเกษตรกรทุกครอบครัวที่ต้องการ ครอบครัวละ 1 บ่อ ในที่นาของตนเอง ซึ่งจะใช้พื้นที่รวมทั้งพื้นที่บ่อ และพื้นที่วางดินขากบ่อ ประมาณ 1 ไร่
2.2        ระบบชลประทานชุมชน โดยจัดทำแอ่งน้ำสำหรับชุมชน การจัดระบบปันน้ำจาก แม่น้ำที่ผ่านชุมชน การเพิ่มท่อส่งน้ำ
2.3        ระบบชลประทานขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน การนำน้ำจากแม่น้ำสายสำคัญ เช่น โขง ชี มูล มาใช้ประโยชน์ทางระบบชลประทาน
3. การจัดสรรเครื่องมือทางการเกษตรให้เป็นของส่วนรวมของชุมชน เพื่อลดต้นทุนการเกษตร ได้แก่ รถไถนา รถเกี่ยวข้าว รถนวดข้าว ฯลฯ
4.  การสนับสนุนสัตว์เลี้ยงที่มีความจำเป็นสำหรับการเกษตร และระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ วัว (ชาวนาอีสานยังมีความหวังกับโครงการโคล้านตัว) ควาย ฯลฯ
 
ถ้าจะให้เลือกประชานิยมสำหรับชนบทมา 2 อย่าง จะเลือกอะไร
  1. ระยะเร่งด่วน ให้สนับสนุนให้ชาวบ้านมีเงินเพิ่มขึ้น โดยผ่านระบบประกันพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดในราคาที่สูงขึ้นมากกว่าเดิม ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นวิธีการส่งเงินสู่มือชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านสามารถยืดอกรับเงินได้อย่างมีศักดิ์ศรี
  2. ระยะกลาง ให้ขุดสระน้ำ 1 บ่อ ฟรี ในที่ดินของเกษตรกรเอง ประเทศไทยมีครอบครัวเกษตรกร ประมาณ 8 ล้านครอบครัว x 10,000 บาท เป็นเงิน 80,000 ล้านบาท ในทางปฏิบัติจะมีเกษตรกรบางส่วนที่มีสระน้ำอยู่แล้ว อาจจะมีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่ต้องการ แสดงว่ารัฐจะลงทุนประชานิยมแบบนี้ ประมาณ 48,000 ล้านบาทเท่านั้น
 
ทำไม ระยะกลางจึงเป็นการขุดสระน้ำ
เพราะเชื่อว่าสระน้ำ จะเป็นบัฟเฟอร์ที่สำคัญ เป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจแบบพอเพียงในระดับครัวเรือน  เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุผลดังนี้
-          สำหรับเป็นแหล่งปลา กบ สัตว์น้ำ เพื่อเป็นอาหารโปรตีนของครอบครัว  
-          ดินที่ขุดจากสระ เป็นที่สำหรับเพาะปลูกพืชผักทั้งปี เพราะมีน้ำรดอยู่ใกล้ และยังนำน้ำไปรดต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกเพื่อเศรษฐกิจ เพื่อการสร้างที่อยู่อาศัย
-          สุขภาพดี เพราะได้ออกกำลังกาย ทำงานอยู่กับพืชผัก สดชื่นทั้งปี ได้ปลูก บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ไร้สารพิษ ชีวิตปลอดภัย
-          ครอบครัวอบอุ่น พ่อ แม่ ลูกๆมีกิจกรรมทำร่วมกัน ไม่ว่างงาน
-          ฝึกฝนการเรียนรู้ การทำงานของสมาชิกในครอบครัวทุกระดับ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ฝึกฝนการจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์ด้วย เพราะเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจนเกิดปัญญาเท่านั้นที่จะช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้
-          ลดรายจ่ายในครอบครัว ปัจจุบันในแต่ละวัน ชาวชนบทยังพึ่งพารถพุ่มพวง ซึ่งเป็นรถที่นำอาหารมาเร่ขายในหมู่บ้าน เฉลี่ยแล้วครอบครัวหนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ ครอบครัวละ 50-100 บาท / วัน ถ้ามีสระและมีกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ ก็สามารถลดรายจ่ายลงได้ ซึ่งก็คือรายได้ที่เกิดขึ้นนั่นเอง
-          เป็นน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น วัว ควาย ซึ่งเป็นแรงงาน และปุ๋ยสำหรับการเกษตร
 
ทำไม นักการเมืองจึงควรเลือกประชานิยมสระน้ำ
-          ทำแล้ว เห็นรูปร่างชัดเจน ใหญ่ด้วย สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า
-          ทำง่าย ไม่ยาก ทำเสร็จ เกษตรกรต่อยอดได้ทันที
-          เป็นประชานิยมที่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างนิสัยขี้เกียจ ไม่ใช่การให้ฟรี เป็นประชานิยมที่มีระดับ(class)
-          เกิดอิมแพกกับหลาย ๆ ด้าน ดังที่กล่าวมา
-          ทำแล้ว มันหมุนวัฎจักรการเกษตรได้หลายรอบ และเกิดระบบโซ่ที่เชื่อมโยงอย่างมากมาย
-          หาเสียงได้นาน (เวลาขุดไว้แล้ว จะยั่งยืน ทนทาน ถาวรมาก อยู่ถึงรุ่นลูกหลานเหลน ตราบใดที่ไม่มีใครไปถม ชาวบ้านจะจำได้ บอกต่อได้เลยว่าเป็นสระ...นายกฯ ...อภิสิทธิ์
-          ลอกเลียนแบบได้ยาก (ปกติ เมื่อขุดสระแล้ว 1 บ่อ ในที่นา 1 แห่ง ก็ไม่มีใครที่คิดพิเรนจะไปขุดเพิ่มอีก เพราะมันเสียที่ดินเฉยๆ รับรองว่าถ้าใครขุดแล้ว จะติดใจ ไม่คิดไปขุดเพิ่มแน่นอน)
 
ข้อเสนอต่อการประเมินนโยบายประชานิยม
เชื่อเหลือเกินว่าในอนาคต พรรคการเมืองไทยจะแข่งขันประชานิยม สังคมไทยอาจต้องช่วยกันคิดถึงการสร้างรัฐสวัสดิการมากขึ้น ซึ่งการสร้างรัฐสวัสดิการกับการประชานิมยมน่าจะมีส่วนที่เหมือน ส่วนที่คล้าย และส่วนที่ต่างกันอยู่พอสมควร ในอนาคตจะเกิดภาวะประชานิยมเฟ้อ พร่ำพรื่อ ฟุ่มเฟือย ซึ่งท้ายที่สุดวิธีคิดแบบนี้จะทำลายศักยภาพคนไทย และประเทศไทย แต่ถ้าสามารถสร้างประชารมยมที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ ก็จะเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศเช่นกัน ดังนั้น ต้องมีการประเมินคุณภาพของประชานิยมด้วย โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้
 
1.       การทำให้เงินอยู่ในมือของคนจน และผู้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ
2.       เม็ดเงิน สามารถเกิดการใช้จ่ายในวงจรระบบเศรษฐกิจ
3.       มีจำนวนรอบของการหมุนเวียนที่สูง
4.       เป็นการให้ที่มีข้อแลกเปลี่ยน ผ่านการลงทุน(แรงงาน สมอง ที่ดิน ฯลฯ)ของประชาชน
5.       สามารถนำไปสู่การพึ่งตนเอง เกิดการต่อยอดในกระบวนการผลิต การจัดการต่อไปได้
 
คุณภาพประชานิยม สะท้อนคุณภาพนักการเมืองไทย และราษฎรไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท