เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ หวั่นนโยบาย ปชป.เหลว ชี้ทางออกรัฐต้องกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม

 

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ออกแถลงการณ์แนะนโยบาย "ธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน" จะสำเร็จได้ต้องยึดหลักกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และหน้าที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิในการอยู่อาศัยและทำมาหากินของเกษตรกรและคนจน พร้อมเสนอ "แผนแม่บทนโยบายการจัดหาที่ดิน" โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตามหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" แก้ปัญหาที่ดินและความยากจนอย่างยั่งยืน
29 ม.ค.52 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ เครือข่ายปฏิรูปทีดินภาคอีสานและเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์ เรื่อง "นโยบายของรัฐบาลกรณีการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรที่ยากจนในรูปของธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน"
 
แถลงการณ์ระบุถึงท่าทีและข้อเรียกร้องต่อนโยบายจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร ตามที่คณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)
 
เรื่อง นโยบายของรัฐบาลกรณีการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรที่ยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน
และโฉนดชุมชน
 
นับจากคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 โดยนโยบายเศรษฐกิจ ด้านเกษตรเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน รัฐบาลได้มีนโยบาย "จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร" นั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศ อันประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์, เครือข่ายปฏิรูปทีดินภาคอีสานและเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมา ขอแถลงท่าทีและข้อเรียกร้องต่อนโยบายดังกล่าว ดังต่อไปนี้
 
1.เราเห็นว่า ความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินที่ผ่านมา เกิดจากนโยบายของรัฐที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมในสังคม แต่มุ่งเน้นการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้กับเอกชนและเกษตรกร จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนไร้ที่ดินได้
 
2.เราเห็นว่า นโยบายการจัดการที่ดินของรัฐที่ไม่มีมาตรการจำกัดการถือครองที่ดิน ไม่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ไม่มีการเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สิน ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและมีการทำประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่ ป้องกันการผูกขาดที่ดินรวมทั้งนโยบายเกษตรกระแสหลัก คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ที่ดินคนจนต้องสูญเสียที่ดินและไร้ที่ดินทำกิน
 
3.เราเห็นว่า ความผิดพลาดของนโยบายการปฏิรูปที่ดินของรัฐที่ผ่านมา เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์กฎหมายปฏิรูปที่ดิน ปี 2518 ที่ต้องการให้รัฐใช้อำนาจและมาตรการต่างๆ นำที่ดินที่ถือครองโดยเอกชนมากระจายให้กับคนจนไร้ที่ดิน แต่รัฐบาลหลายคณะที่ผ่านมากลับบิดเบือนการปฏิรูปที่ดินโดยการเอาการจัดสรรเอาที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อจัดให้กับเอกชนที่เป็นพวกพ้องบริวารของตน
 
4.ประการสำคัญ การจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมา ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง กระบวนการจัดการที่ดินที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยคนจนไร้ที่ดินและไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีช่องทางในการกำหนดนโยบายและไม่สามารถเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการบริการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรมได้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินก็ยังผูกขาดรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาครัฐ ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น ขาดการตรวจสอบ และกรณีพิพาทความขัดแย้งเรื่องที่ดินจำนวนมาก
 
5.เราเห็นว่า นโยบายจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจน "ในรูปของธนาคารที่ดินและรูปของโฉนดชุมชน" ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฯ จะประสบความสำเร็จได้ รัฐบาลจะต้องยึดหลักและแนวทางดังนี้
 
5.1 รัฐบาลต้องตระหนักว่า ที่ดินเป็นทรัพยากรของสังคมและปัจจัยผลิตที่สำคัญที่จะต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมต่อประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องจัดที่ดินให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยมีที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
 
5.2 รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิในการอยู่อาศัยและทำมาหากินของเกษตรกรและคนจน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมข้อเท็จจริงเป็นหลัก จัดปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสังคมท้องถิ่น เพื่อป้องกันการกว้านซื้อที่ดินเพื่อกักตุนเก็งกำไร โดยไม่ใช้ประโยชน์ เพราะการปล่อยที่ดินให้ทิ้งร้างว่างเปล่า คือ ตัวชี้วัดความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดินของประเทศที่ผ่านมา
 
6.เราขอเรียกร้องต่อกรณีนโยบายการจัดการที่ดิน "ในรูปของธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน" รัฐบาล จะต้องกำหนดเป็น "แผนแม่บทการปฏิรูปที่ดินโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนทั้งระบบ เพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจะต้องยึดหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ดังต่อไป
 
- มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมฯ
 
- มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองฯ
 
- มาตรา 83 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
- มาตรา 85 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
(2) ว่าด้วยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร
 
7.เราเห็นว่า การดำเนินการการปฏิรูปที่ดินโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จะสัมฤทธิ์ผลในเชิงปฏิบัติโดยเร็วตามแนวทางดังกล่าวนั้น รัฐบาลจะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง รวมทั้งจะต้องนำนโยบายรัฐบาลด้านอื่นๆ มาสนับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น การสร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในระดับฐานราก โดยการจัดตั้ง"กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง" และจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้จากวงเงินที่เคยจัดสรรให้เดิม เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรรวม เป็นต้น
 
ประการสุดท้าย เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาโดยเร็ว เราขอเสนอแนวทางรูปธรรมนำร่องการปฏิรูปที่ดินโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้
 
1.กรณีที่ดินของรัฐที่รัฐไม่ใช้ประโยชน์ และพบว่าชาวบ้านได้ครอบครองทำกินอยู่แล้ว ให้รัฐนำที่ดินกรณีดังกล่าวมาจัดให้ชาวบ้าน โดยให้รับรองสิทธิการทำประโยชน์แก่ชุมชนในลักษณะโฉนดชุมชน
 
2.กรณีที่ดินของรัฐที่นำไปให้เอกชนสัมปทานเช่าที่ เช่น กรณีสวนปาล์ม และเหมืองแร่ ให้รัฐแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบสถานะของที่ดินว่า สัญญาการเช่าที่ดินสัมปทานเหล่านี้ชอบด้วยกฎหมาย หรือรัฐเสียประโยชน์ หรือ หมดสัญญา หรือ ทำสัญญาเกินจริง หรือ มีการบุกรุกพื้นที่เกินสัญญา หรือไม่ เพื่อดำเนินการทำการยกเลิกสัญญาเช่าเหล่านั้น และนำที่ดินเหล่านี้มาจัดสรรให้กับชาวบ้านต่อไป
 
3.กรณีที่ดินเอกชนกว้านซื้อไว้เก็งกำไรและไม่ทำประโยชน์ ซึ่งมีชาวบ้านร้องเรียนว่า น่าจะออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตรวจสอบสถานะที่ดินเหล่านั้นว่าออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือทิ้งร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์เกินกฎหมายกำหนด หรือเปล่า หากออกมิชอบหรือทิ้งร้างว่างเปล่า ให้รัฐทำการเพิกถอนหรือเวนคืน แล้วนำที่ดินดังกล่าวมาจัดให้กับชาวบ้านในพื้นที่
 
4.กรณีที่ดินเอกชนที่เป็นหนี้เน่าหรือ เอ็นพีแอล ให้รัฐเร่งเจรจาเช่าซื้อ แล้วนำมาจัดให้กับคนจน
 
5.กรณีป่าไม้และที่ดินในเขตป่า ให้รัฐยุติโครงการทั้งหมดที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเช่นโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ และให้เร่งกันแนวเขตเพื่อรับรองสิทธิ์การทำประโยชน์ในรูปแบบโฉนดชุมชน
 
6.กรณีที่ดินของรัฐ และเอกชนในชุมชนเมือง ให้รัฐเจรจาทำสัญญาเช่าระยะยาว เพื่อรับรองสิทธิให้ชุมชน สามารถเพื่อพัฒนาปรับปรุงชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม หรือ หากอยู่ไม่ได้ขอให้รื้อย้ายในระยะใกล้เคียงไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม เพื่อให้ชุมชนสามารถทำงานในเมืองและพึ่งตนเองได้
 
7.ให้รัฐจัดตั้งกองทุนที่ดิน เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่เป็นโครงการนำร่องโดยเร่งด่วน
 
8.การนำร่องการปฏิรูปที่ดินโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามหลักการข้างต้น รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกันทุกกระบวนการในการปฏิรูปที่ดิน ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐกับตัวแทนประชาชนในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันและมีอำนาจสั่งการได้
 
9.ระหว่างการดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามหลักการข้างต้น ขอให้รัฐยุติการจับกุมดำเนินคดี อพยพ รื้อย้าย จนกว่าการปฏิรูปที่ดินโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตามหลักการข้างต้นแล้วเสร็จ กรณีที่ได้จับกุมดำเนินคดีไปแล้วให้ดำเนินการถอนฟ้อง หรือการชะลอการฟ้องจนกว่าจะมีนโยบายมารองรับ
 
เราเห็นว่า นโยบายการจัดหาที่ดิน ในรูปของธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชนของรัฐบาล หากนำมาทำเป็นแผนแม่บทตามข้อเสนอข้างต้นแล้ว ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่ดินและความยากจนได้อย่างยั่งยืน
 
แถลง ณ ห้องประชุมสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
 
แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 29 มกราคม 2552
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท