Skip to main content
sharethis

ชี้ปัญหาที่ดินนับวันยิ่งรุนแรง ที่ดินกระจุกตัวกับคนรวย ส่วนประชากรเกิน 90% มีที่ดินไม่ถึงคนละ 1 ไร่ หวั่นนโยบาย ส.ป.ก.4-01 เอื้อนายทุน-นักการเมืองซ้ำอีหรอบเดิม ชี้ข้อเสนอโฉนดชุมชนจากรัฐบาลไม่ใช่เรื่องใหม่ ชาวบ้านคิดได้ก่อนแล้ว รัฐบาลชูขึ้นมาหวังลดแรงเสียดทาน แนะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการปฏิรูปที่ดิน รัฐจำกัดการถือครองที่ดิน พร้อมปลดหนี้สินเกษตรกร

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.52 มีการจัดงานผ้าป่าข้าวเปลือกและระดมทุนของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) ที่ ศูนย์เกษตรกรสารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งตัวแทนกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ ได้แสดงความเห็นต่อนโยบายรื้อฟื้น ส.ป.ก.4-01 ของรัฐบาล โดยนายมนตรี บัวลอย กล่าวว่า ปัญหาที่ดินซึ่งนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากว่าในสังคมมีคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ถือครองที่ดินตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป ขณะที่คนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มีที่ดินเพียง 1 ไร่หรือน้อยกว่านั้นเท่านั้น รวมทั้งพบว่า ในภาคเกษตรซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 2 ล้านครอบครัว (10 ล้านคน) มีประชากรประมาณ 800,000 ครอบครัว ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และมีเกือบล้านครอบครัว ที่มีที่ดินแต่ไม่เพียงพอ ต้องเช่าที่ดินจากผู้อื่นทำกิน

 

จากการติดตามข่าวเรื่องแจก ส.ป.ก.4-01 พบว่าประชาธิปัตย์ ก็เคยล้มเหลวมาแล้ว และ ส.ป.ก. มักติดอยู่ในมือของกลุ่มใกล้ชิดนักการเมือง ดังนั้น พอประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็คิดจะเอาเรื่องพวกนี้มาทำ ก็เป็นเรื่องของกลุ่มการเมือง เพราะส่วนใหญ่ ส.ส. ภาคใต้เป็นหลัก และ ภาคใต้ คนเป็น ส.. ก็ถือ ส.ป.ก. และใช้ชื่อของชาวบ้าน แต่จริงๆ แล้ว เขาใช้สิทธิต่างๆ เพียงชื่อของชาวบ้าน เป็นแค่เรื่องของนักการเมือง ที่ใช้ประโยชน์จากชาวบ้าน ไม่มีคนคิดทำเพื่อประชาชน จริงๆ ทำแค่พวกพ้องของนักการเมือง

 

โดยหัวคะแนนของนักการเมือง ผู้ใกล้ชิดในภาคใต้ ได้รับประโยชน์ ในโอกาสที่เป็นรัฐบาล และหัวคะแนน และนักการเมือง ภาคเหนือ ก็มีน้อย จะได้ผลประโยชน์จากพรรคประชาธิปัตย์ กรณี กลุ่มเรา ผลักดัน เมื่อปี 2545 โดยกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ กรณีที่ดิน ส.ป.ก. ที่ลำพูน ก็พบว่ามีการออกที่ดิน มีแต่เอื้อให้กลุ่มทุนท้องถิ่น ดังนั้นควรเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส และให้คนไม่มีที่ดินมีส่วนร่วมด้วย

 

 

นายรังสรรค์ แสนสองแคว ให้ความเห็นว่า นโยบาย  ส.ป.ก. ล้มเหลว มาตลอด ตั้งแต่นโยบาย และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ที่ดินไม่ตกอยู่ในมือของเกษตรรายย่อย ไม่ได้ส่งเสริม และพัฒนา เรื่องน้ำ เรื่องไฟฟ้า สาธารณูปโภค ให้เกษตรดิ้นรนเอง แล้วเกษตรกรไม่มีทุน ที่สุดก็ถูกกว้านซื้อไปของนายทุน หรือนักการเมือง

 

ถ้าจะทำเรื่อง ส.ป.ก. ต่อไป ในส่วนของ นกน. ปัญหาแรกต้องสำรวจพื้นที่  ส.ป.ก. ว่าอยู่ในมือใครบ้าง โดยเฉพาะนักการเมืองและนายทุน และพื้นที่ ส.ป.ก. ที่จัดสรร ต้องสำรวจใหม่ ให้ข้อมูล ส.ป.ก.อยู่ในมือเกษตรกร และรื้อที่ ส.ป.ก.เดิม และเปิดเผยข้อมูลใหม่ ใช้ที่ของเอกชน ที่ทิ้งรกร้างว่างเปล่ามาทำ ส.ป.ก. ไม่ใช่เอาพื้นที่ป่าไปจัดสรรอีก เพราะว่าก็ถูกรุกพื้นที่ป่าอีก ตอนนี้ สภาพพื้นที่ป่า ก็โดนรุก โดยแผนการ ส่งเสริมทำการผลิตข้าวโพด กะหล่ำ เพราะฉะนั้น ถ้ามีการจัดสรรพื้นที่  ส.ป.ก. ใช้รัฐจัดการฝ่ายเดียว ก็ล้มเหลว คือ ปัญหาที่จะต้องมีการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่ใช่รัฐจัดสรรให้ ก็จะเข้าอีกรอบเดิม ส.ป.ก.ก็ตกอยู่กับพรรคพวกพ้อง ซึ่งรัฐบาลยุคชวน ก็ต้องยุบสภาเลย ซึ่งเป็นปัญหา ยุคชวน กับหัวคะแนน สมคบกัน เหมือนกับการคอรัปชั่นที่ดินที่ผ่านมา ตั้งแต่กรมที่ดิน เจ้าหน้าที่ดินท้องถิ่น นายหน้าค้าที่ดิน กับบริษัทสถาบันการเงิน อันนี้เป็นการสมคบกันออกเอกสารสิทธิ์ตอนนั้น

 

ที่ผ่านมา น.ก.น. ก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินมาตลอด และข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปที่ดิน โดยเฉพาะข้อเสนอใหม่เรื่องธนาคารและโฉนดชุมชน ที่รัฐบาลยอมรับว่าจะจัดตั้งธนาคารที่ดินและเรื่องโฉนดชุมชน เคยเป็นข้อเสนอของเกษตรกรมาก่อน

 

แต่เกรงว่าการจัดการแบบโฉนดชุมชนของรัฐบาลจะเหมือนกับ ส.ป.ก. คือทำเพื่อที่จะลดแรงเสียดทาน ลดอุณหภูมิ ลดข้อเรียกร้อง ที่สุด จะซ้ำรอย พ.ร.บ. ป่าชุมชน ถ้ารัฐจัดการโฉนดชุมชนแต่ไม่ให้ชุมชนดูแลที่ดิน กลัวว่านโยบายโฉนดชุมชนจะเหมือนกับ ส.ป.ก.

 

เรื่องข้อเสนอเรื่องโฉนดชุมชน เป็นวิธีการแก้ไขปัญหา ไม่ให้ที่ดินหลุดมือเกษตรกร แต่เราก็ไม่ไว้ใจรัฐบาล ซึ่งมีวิธีการจัดการที่ดิน ไม่เหมือนกับ น.ก.น. กลัวว่ารัฐบาลจะทำโฉนดชุมชนจะจัดการเหมือน ส.ป.ก. อีกมากกว่า คือไม่ยอมให้เกษตรเข้าไปมีส่วนร่วม

 

นายรังสรรค์ กล่าวด้วยว่าถ้ารัฐต้องมีการภาษีก้าว รัฐต้องมีมาตรการจำกัดการถือครองที่ดิน และมีมาตรการอื่นๆ คู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การสนับสนุนให้มีการลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการปลูกพืชผสมผสาน การควบคุมกลไกตลาดให้มีความเป็นธรรม รวมทั้งการปลดเปลื้องหนี้สินเกษตรกรด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net