Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ออกแถลงการณ์ ระบุการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองต่อ "กลุ่มผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยา" ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมและความยุติธรรม ไม่เร่งผลักดันไปสู่ความตาย หนุนผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว รอการส่งกลับ แนะ "ไทย" ในฐานะเจ้าภาพและประธานฯ นำเรื่องเข้าหารือประชุมอาเซียน

 

30 ม.ค.2552 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ออกแถลงการณ์ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐบาลไทย ต่อกลุ่มผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยาต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมและความยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระบบกฎหมาย และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชน ที่จะไม่ผลักดันบุคคลเหล่านี้ไปสู่ความตาย

 

จากกรณีการดำเนินการของรัฐบาลไทยต่อกลุ่มโรฮิงยาที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกลุ่มผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยาถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ และล่าสุดมีการเผยแพร่ข่าวว่า รัฐบาลไทย โดยอัยการจังหวัดระนองได้นำตัวกลุ่มโรฮิงยาที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดระนองในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อให้มีคำพิพากษาลงโทษและจะผลักดันออกนอกประเทศต่อไป

 

แถลงการณ์ ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอให้รัฐบาลไทยตระหนักว่า การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งรัฐนั้นยังต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม และความยุติธรรมด้วย ไม่ใช้เพียงแค่ความถูกต้องตามตัวอักษรเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระบบกฎหมายและเพื่อให้ประชาชนสามารถเชื่อมั่นได้ว่ากฎหมายนั้นเป็นธรรม ดังนั้นการที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อลงโทษชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม โดยผลักดันพวกเขาสู่ความสิ้นหวังและความตายนั้นย่อมเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมาย

 

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน ที่จะไม่ผลักดันบุคคลเหล่านี้ไปสู่ความตาย โดยเครือข่ายฯ สนับสนุนข้อเสนอของสภาทนายความ ที่เสนอให้ใช้มาตรา 45 แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยการผ่อนผันให้กลุ่มโรฮิงยาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ในระหว่างรอการส่งกลับ

 

พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ปรากฏ และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่อข้อกล่าวหาที่ว่ารักษาการณ์ชายฝั่งได้ปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาที่เดินทางมาประเทศไทยอย่างไร้มนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ปัญหาผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยาเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีต้นตอพื้นฐานมาจากปัญหาประชาธิปไตยและการกดขี่ชนชาติส่วนน้อยในประเทศพม่า รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยาเป็นคนสัญชาติพม่า และผลักดันคนเหล่านี้ออกจากดินแดนพม่าเข้าไปในประเทศบังคลาเทศซึ่งก็ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงยามีสัญชาติบังคลาเทศเช่นกัน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นคนไร้สัญชาติ ไร้รัฐ และที่หนักหนาวสาหัสคือไร้แผ่นดินด้วย ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาในระดับนานาชาติ ที่จะต้องผลักดันให้ประเทศที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพม่าและบังคลาเทศต้องร่วมกันรับผิดชอบ และเพื่อความเป็นธรรมต่อประเทศไทยและประเทศผู้รับอื่นในภูมิภาคนี้ นานาชาติ และองค์การระหว่างประเทศต้องร่วมแบกรับภาระนี้ด้วยเช่นกัน

 

"การปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญประการหนึ่งของอาเซียน ดังนั้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพและประธานอาเซียน ควรนำประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพม่า และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติควรริเริมดำเนินการจัดประชุมหารือกับภาคีที่เกี่ยวข้องคือ อินเดีย บังคลาเทศ และอาเซียนเพื่อหาหนทางแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาวต่อไป" แถลงการณ์ระบุ

 

 

 

 

 

 

แถลงการณ์

 

การบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐบาลไทย ต่อกลุ่มผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยา

ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมและความยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระบบกฎหมาย

และข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศ

และหลักสิทธิมนุษยชน ที่จะไม่ผลักดันบุคคลเหล่านี้ไปสู่ความตาย

 

กรณีการดำเนินการของรัฐบาลไทยต่อกลุ่มโรฮิงยาที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกลุ่มผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยาถูกเปิดเผยสู่สายตาชาวไทยและชาวโลกอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้หากพิจารณาจากนโยบายการจัดการกับปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยาของรัฐไทยตลอดมาพบว่า นโยบายการผลักดันผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงยาออกจากน่านน้ำไทยนั้นมิใช่นโยบายใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นดังที่เป็นข่าวดังเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ การดำเนินนโยบายจับกุมและผลักดันผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงยาออกนอกน่านน้ำ เป็นนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่องกันมาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ให้เหตุผลว่าการดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อมุ่ง "ตัดไฟแต่ต้นลม" และไม่ให้เป็นภาระที่ต้องจัดหาที่คุมขังและงบประมาณในการเลี้ยงดู [1]

 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยยังมองปัญหาการเข้ามาของโรฮิงยาด้วยความรู้สึกหวาดระแวง โดยเกรงว่าชาวมุสลิมโรฮิงยาอาจมีส่วนเกี่ยวพันกับปัญหาภาคใต้ ทั้งที่ทราบดีว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ชาวโรฮิงยาเสี่ยงภัยเดินทางไปประเทศต่างๆ นั้นก็เพื่อหนีการกดขี่และภัยประหัตประหารจากรัฐบาลทหารพม่า ดังนั้น การผลักดันชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ออกนอกราชอาณาจักรหรือส่งกลับเข้าไปในเขตแดนพม่า ย่อมเท่ากับส่งให้บุคคลเหล่านั้นต้องไปเผชิญกับภัยประหัตประหาร ซึ่งขัดกับหลักการไม่ส่งกลับหากบุคคลนั้นจะเผชิญกับความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกาย (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นหลักกฎหมายจารีตประเภณีระหว่างประเทศ อีกทั้งการผลักดันชาวโรงฮิงยากลุ่มนี้ออกสู่ทะเลหลวงนั้น ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะสิ้นหวังและเสี่ยงภัยซึ่งอาจนำบุคคลเหล่านี้ไปสู่ความตายเช่นกัน

 

ล่าสุดสื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวว่า รัฐบาลไทย โดยอัยการจังหวัดระนองได้นำตัวกลุ่มโรฮิงยาที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดระนองในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อให้มีคำพิพากษาลงโทษและผลักดันออกนอกประเทศต่อไป ต่อกรณีดังกล่าว เราขอย้ำเตือนให้รัฐบาลไทยตระหนักด้วยเช่นกันว่า การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งรัฐนั้นยังต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม และความยุติธรรมด้วย มิใช้เพียงแค่ความถูกต้องตามตัวอักษรเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระบบกฎหมายและเพื่อให้ประชาชนสามารถเชื่อมั่นได้ว่ากฎหมายนั้นเป็นธรรม ดังนั้นการที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อลงโทษชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม โดยผลักดันพวกเขาสู่ความสิ้นหวังและความตายนั้นย่อมเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมาย

 

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน ที่จะไม่ผลักดันบุคคลเหล่านี้ไปสู่ความตาย โดยเครือข่ายฯ สนับสนุนข้อเสนอของสภาทนายความ ที่เสนอให้ใช้มาตรา ๕๔ แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ โดยการผ่อนผันให้กลุ่มโรฮิงยาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ในระหว่างรอการส่งกลับ และต่อข้อกล่าวหาที่ว่ารักษาการณ์ชายฝั่งได้ได้ปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาที่เดินทางมาประเทศไทยอย่างไร้มนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ปรากฏ และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

 

ปัญหาผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยาเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีต้นตอพื้นฐานมาจากปัญหาประชาธิปไตยและการกดขี่ชนชาติส่วนน้อยในประเทศพม่า รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยาเป็นคนสัญชาติพม่า และผลักดันคนเหล่านี้ออกจากดินแดนพม่าเข้าไปในประเทศบังคลาเทศซึ่งก็ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงยามีสัญชาติบังคลาเทศเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นคนไร้สัญชาติ ไร้รัฐ และที่หนักหนาวสาหัสคือไร้แผ่นดินด้วย ปัญหาผู้หนีภัยความตายชาวโรฮิงยาจึงเป็นปัญหาในระดับนานาชาติ ที่จะต้องผลักดันให้ประเทศที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่าและบังคลาเทศ ร่วมรับผิดชอบต่อปัญหานี้ และเพื่อความเป็นธรรมต่อประเทศไทยและประเทศผู้รับอื่นในภูมิภาคนี้ นานาชาติ และองค์การระหว่างประเทศต้องร่วมแบกรับภาระนี้ด้วยเช่นกัน

 

การปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญประการหนึ่งของอาเซียน ดังนั้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ประเทศในฐานะเจ้าภาพและประธานอาเซียน ควรนำประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพม่า และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติควรริเริมดำเนินการจัดประชุมหารือกับภาคีที่เกี่ยวข้องคือ อินเดีย บังคลาเทศ และอาเซียนเพื่อหาหนทางแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาวต่อไป

 

 

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

 

---------------------------------------

 

 [1] คมชัดลึก, มุสลิม"โรฮิงยา"ทะลักระนอง ภัยความมั่นคง...ที่ต้องจับตา!, 13 มีนาคม 2550 http://www.komchadluek.net/2008/03/13/x_prv_n001_193793.php?news_id=193793

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net