Skip to main content
sharethis

เนี่ยอู้เซ็ง นักเขียนชื่อดังที่เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของวงการนิยายกำลังภายในจีนร่วมกับกิมย้งและโกวเล้ง ซึ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักจากเรื่อง "นางพญาผมขาว" เสียชีวิตแล้วที่บ้านพักในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 85 ปี

 

 

 

หนังสือพิมพ์ชิงเต่าเดลี ฮ่องกง รายงานเมื่อวันอังคาร (27 ม.ค.) ว่า เนี่ยอู้เซ็ง นักเขียนชื่อดังที่เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของวงการนิยายกำลังภายในจีนร่วมกับกิมย้งและโกวเล้ง ซึ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักจากเรื่อง "นางพญาผมขาว" เสียชีวิตแล้วที่บ้านพักในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 85 ปี

 

ขณะที่หนังสือพิมพ์หมิงเป้ารายงานว่า เนี่ยอู้เซ็ง ซึ่งภาษาจีนกลางออกเสียงว่า "เหลียงอวี่เซิง" นั้นป่วยกระเสาะกระแสะมาหลายปีแล้ว หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะเมื่อปี 2547 และเกิดอาการเส้นเลือดในสมองอุดตันขณะเยือนฮ่องกงเมื่อปี 2550

 

เนี่ยอู้เซ็ง มีชื่อจริงว่า "ตั้ง บุ้นทง" ซึ่งภาษาจีนกลางออกเสียงเป็น "เฉิน เหวินทง" มีงานเขียนนิยายกำลังภายในเรื่องแรกชื่อ "มังกรถล่มพยัคฆ์กลางกรุง" ในปี พ.ศ. 2497 (1954) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนเนี่ยอู้เซ็งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างสรรค์นิยายกำลังภายในยุคใหม่ โดยงานของเนี่ยอู้เซ็งมักจะเปิดเรื่องด้วยโคลงกลอนหรือลำนำที่ไพเราะ ตัวละครมีความรู้ด้านวรรณคดี ขณะที่พล็อตเรื่องก็จะผสมผสานเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กับเรื่องแต่งเข้าไว้ด้วยกัน

 

จากนิยายกำลังภายในภายใต้นามปากกา เนี่ยอู้เซ็ง เรื่องแรกจนถึงปี พ.ศ. 2527 (1984) เนี่ยอู้เซ็ง มีผลงานตลอด 30 ปีนี้ รวมทั้งสิ้น 35 เรื่องด้วยกัน สร้างตัวละครมากกว่าร้อยตัว และได้รับการยกย่องสร้างสรรค์ตัวละครหญิงได้ดีที่สุดในเรื่องนางพญาผมขาว สำหรับผลงานชิ้นสุดท้าย คือ เรื่อง "เฟิงเตา" หลังจากนั้นก็ได้หันไปทุ่มเทเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์

 

ผลงานที่โดดเด่น ที่เป็นที่รู้จักของเนี่ยอู้เซ็ง ได้แก่ นางพญาผมขาว เจ็ดกระบี่ขุนเขาเทียนซาน รอยแหนเงาจอมยุทธ์ กระบี่กู้บัลลังก์ และจักรพรรดิหญิงยอดวีรบุรุษ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระนางบูเช็กเทียน ฮ่องเต้หญิงองค์เดียวของจีน ทั้งนี้ งานของเขาที่มีฉบับแปลเป็นไทยเกือบ 10 เรื่อง

 

 

 

 

อัตชีวประวัติ

 

เนี่ยอู้เซ็ง หรือในเสียงอ่านภาษาจีนกลางว่า เหลียง อี่ว์เซิง เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2467(1924) มีชื่อเดิม คือ ตั้ง บุ้นทง หรือในเสียงอ่านจีนกลางคือ เฉิน เหวินทงบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอเหมิงซานของดินแดนชนชาติจ้วงในเขตปกครองตัวเองกว่างซี หรือกวางสี เป็นครอบครัวบัณฑิตที่มีชื่อเสียงและมีฐานะดี เนี่ยอู้เซ็ง เติบโตท่ามกลางธรรมชาติภูเขาสวยงาม ทั้งยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากมายจากผู้ทรงความรู้ที่อพยพมาจากนครกวางเจา ซึ่งสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เอื้ออำนวยแก่การอ่านหนังสือเขียนบทกวี

 

เนี่ยอู้เซ็ง หลงใหลการอ่านนิยายกำลังภายในชนิดลืมกินลืมนอน กระทั่งเติบใหญ่เข้าสู่สังคม ก็ยังรักการอ่านและวิจารณ์นิยายกำลังภายในกอปรด้วยความรู้มหาศาลด้านประวัติศาสตร์วรรณกรรมภูมิหลังเหล่านี้เอง ได้สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งในการสร้างสรรค์นิยายกำลังภายในแก่จอมยุทธ์นักเขียนท่านนี้

 

หลังสงครามต่อต้านญี่ปุ่นสิ้นสุดลง เนี่ยอู้เซ็ง เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเนี่ยน้ำ นครกวางเจา สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ หลังจบการศึกษา ด้วยจิตใจรักด้านประวัติศาสตร์, วรรณกรรม และโคลงกลอนกวีโบราณ จึงได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ "ต้ากงเป้า" ของฮ่องกง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่หนุนลัทธิการเมืองฝ่ายซ้าย ในปี พ.ศ.2492 (1949) ก็ได้สิทธิพำนักถาวรในฮ่องกงต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่นครซิดนีย์

 

เนี่ยอู้เซ็ง มีนามปากกาหลายชื่อ เช่น เหลียง ฮุ่ยหรู, เฝิง อวี๋หนิง (*เสียงอ่านจีนกลาง) เป็นต้น โดยมีผลงานเขียนทั้งปกิณกะ บทวิจารณ์วรรณกรรม และบันทึกประวัติศาสตร์วรรณกรรม นอกจากนี้ยังเคยเขียนบทวิจารณ์หมากรุกจีน ภายใต้นามปากกา "เฉินหลู่" (*เสียงอ่านจีนกลาง) ซึ่งงานเขียนวิจารณ์หมากรุกจีนที่มีอรรถรสอ่านแล้วยังตื่นเต้นยิ่งกว่าลุ้นเชียร์ที่ขอบสนามเสียอีก

 

เนี่ยอู้เซ็ง ป่วยเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ และได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2549 ในงานเลี้ยงที่ฮ่องกงและเป็นลมกลางงาน หลังจากนั้นก็ได้พักรักษาสุขภาพ ที่โรงพยาบาลนครซิดนีย์ จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยวัย 85 ปี

 


 

 

ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก, ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

ที่มาของภาพ: http://www.niyayjeen.th.gs/web-n/iyayjeen/auther/index.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net