นายกฯ วอนทูตเร่งช่วยสร้างความเชื่อมั่น

"นายกอภิสิทธิ์" ถึงเมืองซูริค หารือเอกอัครราชทูตประจำภาคพื้นยุโรป โชว์ประสบความเสร็จในการให้รัฐสภาผ่านข้อตกลงสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน และชี้แจงการจัดอาเซียนอีกครั้งช่วงเดือนเมษา พร้อมเรียกร้องให้เอกอัครราชทูตทำประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ ถึงสถานการณ์การเมือง และการดำเนินงานของรัฐบาล

(30 ม.ค.) สำนักโฆษกรายงานข่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูต ประจำภาคพื้นยุโรป ณ Grand Meeting Room ณ โรงแรม Radisson นครซูริค ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมประจำปี World Economic Forum ครั้งที่ 39 สมาพันธรัฐสวิส

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารงานโดยได้รับคะแนนสูงสุดจากรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รัฐบาลยังประสบความเสร็จ ในการให้รัฐสภาผ่านข้อตกลงสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน จำนวน 39 ฉบับสำหรับ 2 ฉบับที่เหลือได้ให้คณะกรรมาธิการพิจารณาต่อไป คาดว่าจะสำเร็จในเร็วๆ นี้

 

นอกจากนี้ รัฐสภายังได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552ซึ่งจะทำให้ฝ่ายบริหารสามารถเบิกจ่ายตามวงเงินงบประมาณ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที ทั้งนี้ นับว่าเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของคนไทย ที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม โดยผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมประชุมพร้อมกันแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา จำเป็นต้อง จัดขึ้นอีกครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งผู้นำประเทศคู่เจรจาบางประเทศก็ยินดีที่จะเดินทางมาร่วมประชุมในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เช่นกัน แสดงให้เห็นว่า นานาชาติให้ความเชื่อมั่นการบริหารงานของไทย

 

สำหรับการปฏิรูปการเมืองนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะให้มีการปฏิรูปทางการเมือง โดยได้มีการพูดคุยกับพรรคฝ่ายค้าน แต่จำเป็นต้องมีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านก่อน เพื่อที่ประสานงานกันต่อไปนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงมาตรการทางเศรษฐกิจว่า วิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบและสร้างความยากลำบากต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจึงได้มีมาตรการจัดสรรเงินให้เปล่าจำนวน 2,000 บาท แก่ผู้มีรายได้เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและเป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ แรงงาน นักเรียนและผู้ปกครอง คาดว่าจะให้ผลทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3ในไตรมาสที่ 4 จะได้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมทั้ง คณะกรรมาการร่วมภาครัฐ-เอกชน เพื่อกำหนดมาตรการในส่งเสริมเศรษฐกิจระยะยาวต่อไปโดยจะให้มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานวินัยทางการคลัง

 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกร้องให้เอกอัครราชทูตทำประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ ถึงสถานการณ์การเมือง และการดำเนินงานของรัฐบาล เฝ้าระวังอย่าให้เกิดการกีดการกีดกันทางการค้า โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย พร้อมทั้งจัดทำประชาสัมพันธ์ ชี้แจ้งข้อเท็จจริงในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของในกรณีโรฮิงญา ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินตามกฎหมายทุกประการ แต่ก็อาจยังมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีที่จะร่วมมือกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมทั้ง UNHCR เพื่อหาทางออกที่ดีทีสุด สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว สำหรับสถานการณ์ภาคใต้นั้น รัฐบาลไม่ได้วัดความถี่ของการเกิดเหตุ แต่จะสร้างความเข้าใจ ความสามัคคี และมีแนวคิดที่จะยกเลิกกฎหมายพิเศษบางฉบับที่ไม่จำเป็น รวมทั้งเร่งรัดเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้มีการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา

 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า การทำงานแบบบูรณการของเอกอัครราชทูต ทั้งการเผยแพร่ข้อมูล สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและดึงดูดนักลงทุน เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในกลางปีหน้าได้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท