Skip to main content
sharethis

 

สืบเนื่องจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเศรษฐกิจ ด้านเกษตรเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน ที่ว่า

 

"คุ้มครองและรักษาพื้นที่ ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร"

 

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2552 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จัดการเสวนา "ขบวนคนจนไร้ที่ดินกับแนวทางการปฏิรูปที่ดินโดยองค์กรชุมชน" ณ ห้องประชุมสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ เพื่อร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเกี่ยวกับการจัดการที่ดินโดย "โฉนดชุมชนและธนาคารที่ดิน" ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และให้ข้อเสนอถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่นำสู่การปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม

 

นายปรีชา จันทร์ภักดี แกนนำเครือข่ายองค์กรพันธมิตรภาคประชาชน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่านโยบายด้านที่ดิน และการเกษตรของรัฐบาลชุดใหม่นี้ ทั้งในเรื่องโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดิน ได้สร้างความคลางแคลงใจให้กับเกษตรกรในผลสัมฤทธิ์ของการแก้ปัญหา เพราะเกรงว่าจะเป็นเหมือนดังเช่นนโยบายต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุในต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวกันในวันนี้

 

นอกจากนี้นายปรีชายังได้กล่าวว่า ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการเกษตร ซึ่งคำตอบที่ว่าจะทำให้เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินได้หรือไม่จะมีผลต่อกำลังใจในการผลิต หากรัฐมีความชอบธรรมและความเข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้

 

 

 

"ที่ดินกระจุกตัว" ปัญหาเก่าที่ยังไม่ได้แก้

 

 

นอกจากนั้นการประกาศป่าอนุรักษ์และการพิสูจน์สิทธ์ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรใช้พื้นที่อย่างเข้มข้นมากขึ้นเพราะนโยบายรัฐไม่เปิดโอกาสให้เกษตรได้พักฟื้นผืนดิน เมื่อรวมกับการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจ อาทิเช่น ข้าวโพด ยางพารา การเกษตรแบบผสมผสานหรือการปลูกพืชหมุนเวียนจึงถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว แต่ชุมชนต้องขาดความมั่นคงทางอาหารและเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น เมื่อราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นพื้นที่ทางการเกษตรก็ถูกขายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้เกษตรกรไร้ที่ดินกลายเป็นแรงงานรับจ้าง

 

นายประยงค์ กล่าวถึงการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินที่สอดคลองกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยว่า ประชาชนผู้เดือดร้อนจะต้องมีการเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการกับรัฐบาล เพื่อกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการให้ชัดเจน นอกจากนั้น รูปธรรมในของการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบโดยองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ต่างๆ นั้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ สามารถเจรจาเพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่องได้เลย

 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ ในการลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและนายทุน และทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร รายได้ บรรเทาความยากจน นอกจากนั้นยังเป็นหลักประกันว่าพื้นที่ป่าไม้ไม่ถูกบุกรุกทำลายเพิ่มและที่ดินไม่หลุดมือจากเกษตรกรไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น

 

 

ปฏิรูปที่ดิน สปก. โดยกลุ่มคนไร้ที่ดิน จ.สุราษฏร์ฯ

 

"การปฏิรูปที่ดินของสุราษฏร์ธานีไม่ใช่การแก้ปัญหาความยากจน แต่เป็นการรับรองสิทธิให้กับผู้ถือครองที่ดิน ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้บุกรุกเดิม ไม่ว่าผู้ถือครองรายเล็กรายใหญ่จะได้รับการรับรองสิทธิ์" นายบุญยฤทธิ์ ภิรมย์ เกษตรกรจาก อ.บางพระแสง จ.สุราษฎร์ธานี สหพันธ์เกษตรภาคใต้กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับ

 

นายบุญยฤทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้กลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดิน ชุมชนสันติพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ของบริษัทสหพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2550 ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้มีการตรวจสอบรวมกับคณะกรรมการระดับอำเภอพบว่าบริษัทฯ ได้บุกรุกเข้าไปในเขตป่าถาวรและเขตพื้นที่ปฏิรูปโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์

 

แต่ต่อมาปี 2551 ชาวบ้านกลับได้รับหมายศาลแพ่ง ฟ้องร้องเกือบ 10 ล้านบาท ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าถาวรและพื้นที่ นส.3 จำนวน 10 ฉบับของเอกชน ทั้งที่แต่เดิมไม่ปรากฏพบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามข้อมูลการถือครองที่ดินในพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะจะสะท้อนว่าอะไรผิดอะไรถูกและย้อนกลับมาสู่เจ้าหน้าที่รัฐ 

 

"บริษัทเขาไม่ใช้ผู้บุกรุกแต่เค้าใช้ผู้ถือครองรายใหญ่ แต่ประชาชนเขาเรียกผู้บกรุก" นายบุญยฤทธิ์กล่าว

 

 

"บ้านทับเขือ-ปลักหมู" ตัวอย่างอธิปไตยชุมชนและธรรมนูญชุมชน

 

นางปราณี แท่นมาก เกษตรกรชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า ชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมูได้เข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกินนับตั้งแต่ปี 2509 แต่ต่อมามีปัญหาเรื่องสิทธิที่ดิน เนื่องที่ดินทำกินถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ทำให้ชาวบ้าน จำนวน 60 ครอบครัว ถูกจับและขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง เป็นที่มาให้กลุ่มชาวบ้านมีการรวมกลุ่มบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชน มีการออกธรรมนูญชุมชน ซึ่งครอบคลุมทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อสร้างอธิปไตยและพลังอำนาจของชุมชน

 

ธรรมนูญชุมชน กำหนดให้คนในชุมชนร่วมกันดูแลจัดการทรัพยากร การทำการผลิตที่พึ่งตนเอง การปลูกพืชหลายระดับในพื้นที่ทำกิน มีกติกาขององค์กร คือการให้สมาชิกมาตัดสินใจร่วมกัน มีการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น มโนราห์ โดยมีวัตถุประสงค์ของชุมชนและเป้าหมายของชุมชน คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอยู่ร่วมอย่างสมดุลและยั่งยืนกับป่า ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร สนองตอบนโยบายรัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจน

 

รูปแบบการดำเนินงาน คือ การจัดทำแนวเขตพื้นที่ สมาชิกรับผิดชอบสอดส่องดูแลพื้นที่ป่าในเขตใกล้เคียงของตนเอง จัดทำแผนที่ทรัพยากร แผนที่ชุมชน มีข้อห้ามการใช้ยาฆ่าหญ้า การช็อตปลา ส่งเสริมการปลูกพืชหลายระดับ การผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้อง การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ พัฒนาพันธุกรรม ส่งเสริมการผลิตแปลงรวม เช่น ผัก สัตว์ การใช้แรงงานร่วมกัน (ซอแรง) การจัดเวทีการศึกษาภายในและเข้าร่วมเวทีเครือข่าย และการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่างๆในชุมชน

 

จากการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งขององค์กรชุมชน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าเข้ามาคุกคามในชุมชนเหมือนดังอดีต แต่สถานะปัจจุบันก็ยังเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ และมีชาวบ้านถูกคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากกรมอุทยานรวมกันจำนวนหลายสิบล้านบาท 

 

 

ธรรมนูญชุมชน การรวมตัวสร้างศักยภาพของชุมชน

 

"คนจนจะต้องรวมตัวกัน เพื่อต่อสู้ เพื่ออนาคตร่วมกัน" นายบุญ แซ่จุง เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด กล่าว

 

นายบุญกล่าวว่า เดิมการผลิตและการตลาดยางของพี่น้องภาคใต้ เป็นการผลิตที่ไม่มีความรู้เรื่องยางเลย เป็นเพียงผู้ทำการผลิตวัตถุดิบ จึงกลายเป็นเพียงทาสแรงงาน ดังนั้น จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรจึงจะปฏิรูปที่ดินเพื่อปลดปล่อยให้ความยั่งยืนขององค์กรชุมชนเกิดขึ้น ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการปฏิรูปวิถีการผลิต

 

จากที่ผ่านมาภาครัฐเทิดทูนแต่สิทธิสองแบบ สิทธิของรัฐ และสิทธิเอกชน แต่สิทธิชุมชนไม่เคยมีเลย แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 จะกำหนดไว้ในเรื่องสิทธิชุมชน แต่ชุมชนไม่เคยมีสิทธิอย่างแท้จริง และนอกจากสิทธิแล้วชุมชนยังต้องอาศัยการรวมตัวเพื่อให้มีอำนาจในการจัดการ พร้อมกับสร้างศักยภาพของคนและชุมชน โดยลงลึกถึงเรื่องวิถีคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรม เพื่อการรวมคนสร้างสังคมชุมชนอย่างรอบด้าน

 

การกำหนดธรรมนูญชุมชนและการสร้างระบบสิทธิขึ้นใหม่อย่างโฉนดชุมชน คือความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับทรัพยากร ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชน ที่ไม่ใช่บุคคลไปบุกรุกแต่เป็นการดูแลควบคุมกันเองโดยสังคมชุมชน

 

"นี่คือการรุกขึ้นมาหาทางออกกับสังคม เมื่อปัจเจกมัต่อสู้ไม่ไหว" นายบุญกล่าว

 

นายบุญกล่าวให้ข้อมูลต่อมาว่า ปัจจุบันแผนการจัดการของชุมชน ได้รับการรับรองแล้วจากผู้ใหญ่บ้าน อบต. และล่าสุดนายอำเภอปะเหลียนได้เซ็นรับรองไปแล้ว โดยที่ไม่กลัวว่าจะผิดกฎหมาย

 

"สำหรับการถูกฟ้องร้องคดีแพ่งของชาวบ้าน เราถูกฟ้องมาจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ล่าสุดเราได้มีการยื่นเรื่องไปให้ผู้ว่าฯ พัทลุง ตรัง เพื่อให้ถอนฟ้องชาวบ้าน แต่ผู้ว่าฯ ได้มีการแทงเรื่องไปที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ แต่ข้างบนกลับมีคำสั่งมาอีกว่าให้ยกเลิกข้อตกลงในพื้นที่ทั้งหมด และให้ดำเนินคดีกับชาวบ้านอย่างเด็ดขาด นี่คือความเจ็บปวดของพี่น้องจากความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐ" นายบุญบอกเล่าความรู้สึก

 

 

โฉนดชุมชนกับการปฏิรูปที่ดินของเอกชน

 

นายสุแก้ว ฟุงฟู เกษตรกรจาก จ.ลำพูน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวให้ข้อมูลว่าการปฏิรูปที่ดินของกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินภาคเหนือ มีทั้งหมด 13 พื้นที่ ใน 2จังหวัด คือ เชียงใหม่และลำพูน จำนวน 4,500 ครอบครัว สามารถแบ่งการปฏิรูปที่ดินเอกชนออกเป็น 3 แบบ คือ การปฏิรูปที่ดินเอกชน NPL การปฏิรูปที่ดินซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ และการปฏิรูปที่ดินเก็งกำไรและปล่อยรกร้างว่างเปล่า 

 

นายสุแก้วกล่าวต่อมาว่า พี่น้องที่เข้าไปปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ด้วยการเข้ายึดที่ดินเพื่อทำประโยชน์เพราะพี่น้องไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งหากมองกับผลกระทบที่ถูกฟ้องดำเนินคดีจริงๆ แล้วไม่มีใครอยากทำ แต่ต้องการที่ดินทำกินไว้ให้ลูกหลานจึงต้องทำ ทั้งนี้ปัจจุบันมีชาวบ้าน 7-8 หมู่บ้านในจังหวัดลำพูนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่า 

 

"แม้แต่ศาลยังถามว่าไปปฏิรูปที่ดินได้ครอบครัวละ 1 ไร่ 2 งาน นี่มันคุมกันเหรอกับคดีที่โดน 43 คดี ไปคำนวนเรื่องมูลค่ามันไม่คุ้มหรอก แต่เราไม่มีที่ทำกิน ก็อยากจะเอาที่ปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่าตรงนี้ไว้ให้กับลูกหลานในวันข้างหน้า" นายสุแก้วกล่าว

 

ด้านนายดิเรก กองเงิน เกษตรกรชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ สมาชิกสหพันธ์ภาคเหนือ

กล่าวว่าชุมชนบ้านโป่งได้เข้ายึดที่ดินเอกชนจากนายทุนที่ปล่อยทิ้งร้าง จำนวน 500 ไร่ จัดสรรให้ชาวบ้าน 70 ครอบครัว โดยแบ่งประเภทการจัดสรรออกเป็น 1.ที่ดินสาธารณะประโยชน์ เช่น ถนน โรงเรียน แหล่งน้ำ 2.ที่ดินทำกิน 3.ที่อยู่อาศัย โดยวิธีการแบ่งมีการจับฉลากเพื่อให้เกิดการยอมรับในกฎกติกา เมื่อได้มาแล้ว มีข้อตกลงว่าต้องทำประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ห้ามโอนที่ดินให้คนอื่นนอกชุมชน มีการบริหารจัดการร่วมกันเป็นระบบกลุ่ม มีการประชุมสมาชิกประจำทุกเดือน โดยอำนาจการตัดสินใจจะกระจายให้ทุกคนมีส่วนร่วม ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นต้องมาถกเถียงในที่ประชุม

 

"จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่ดินรกร้างว่างเปล่ามีแล้วในมาตรา 6 แต่รัฐไม่ยึด ประชาชนเลยยึดให้รัฐดูเป็นตัวอย่าง" นายดิเรกกล่าว 
 

 

 

ช่องว่างการถือครองที่ดิน ภาวะความไม่ยุติธรรมที่มีในสังคมไทย

 

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวให้ข้อมูลช่องว่าการถือครองที่ดินว่า จากข้อมูลงานวิจัยล่าสุดปี 2550 ในพื้นที่กรุงเทพฯ 927,074 ไร่ 1 งาน 18 ตร.วา มีโฉนดที่ดินทั้งหมด 1.9 ล้านฉบับ มีผู้ถือครอง 1.4 ล้านราย นิติบุคคลและบุคคลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดถือครองที่ดิน 14,776 ไร่ 1 งาน 39.7 ตร.วา นิติบุคคลและบุคคลที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุดถือครองที่ดิน 0.1 ตารางวา โดยสัดส่วนผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรก กับผู้ที่ถือครองที่ดิน 50 อันดับสุดท้าย ต่างกันถึง 291,607.50 เท่า

 

ตัวอย่างใน ตำบลหนึ่งของ จ.ฉะเชิงเทรา สัดส่วนผู้ที่ถือครองที่ดิน 10 อันดับแรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุด กับ 10 อันดับสุดท้าย ต่างกัน 400 เท่า ส่วนในเขต จ.ชลบุรี สัดส่วนผู้ที่ถือครองที่ดิน 19 อันดับแรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุด กับ 19 อันดับสุดท้าย ต่างกัน 4 หมื่นเท่า

 

"ช่องว่างความแตกต่างระหว่างการถือครองที่ดินมันห่างกันมหาศาลมาก ตรงนี้คือตัวอย่างความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน และผมคิดว่านี่คือประเด็นใหญ่มากๆ ที่สังคมไทยสูญหายไปแล้วเรื่องความเป็นธรรม ไม่เคยพูดกันอีกเลยหลังจากที่เราพัฒนาทุนนิยมกันอย่างมหาศาล" ประธาน กป.อพช.กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมในการถือครองทรัพยากรที่ดินของประเทศไทย

 

นายไพโรจน์กล่าวต่อมาว่าการที่มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าการแก้การจัดเก็บภาษีที่ดิน ด้วยเหตุผลของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และความหวังเกรงที่ว่าจะทำให้ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางเดือดร้อน แต่ปัญหาคือการไม่พูดถึงความเดือดร้อนของชนชั้นล่างของสังคมไทย ซึ่งสามารถสรุปสาเหตุได้เป็น 2 ประเด็นคือ

 

1.ไม่มีการปฏิรูปจริงๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่เคยมีการปฏิรูปที่ดินในสังคมไทย กฎหมายปฏิรูปที่ดินปี 2518 ที่มีการนำมาใช้จนปัจจุบัน ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมีที่ส่งผลในการปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริงในสังคมไทย เพราะการปฏิรูปคือการกระจายการถือครองที่ดิน และมีการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ส่วนที่ทำมาคือการเอาที่ดินของรัฐมาจัดสรรให้กับคนเท่านั้นเอง 2.ไม่เคยมีมาตรการใดๆ ในการหยุดยั้งการเก็งกำไรในที่ดินและการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้มาตรการภาษีโรงเรือนในเพื่อจัดเก็บในส่วนภาษีที่ดินในปัจจุบันใช้ตัวเลขกลางตั้งแต่เมื่อปี 2521

 

นายไพโรจน์ กล่าวต่อมาว่าแนวทางการแก้ปัญหาต้องกลับมาสู่การปฏิรูปที่ดิน โดยเอาที่ดินที่อยู่ในมือของเอกชนที่ถือครองเป็นจำนวนมากโดยไม่ใช้ประโยชน์มาจัดสรร และขณะนี้ที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดสรรโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ไม่เหลือแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของที่ดิน สปก.กว่า29 ล้านไร่ที่มีการแจกจ่ายสู่ประชาชนไปแล้ว ต้องมีการสำรวจว่าปัจจุบันอยู่ในมือใคร ถ้าไม่อยู่ในมือเกษตรกรก็ต้องมีการคืนให้กับหลวง

 

 

ชี้มาตรการ "จัดเก็บภาษี" หัวใจสำคัญคือ "ความเป็นธรรม"

 

ส่วนเรื่องระบบภาษี นายไพโรจน์กล่าวว่าจะต้องมีการเดินหน้าอย่างจริงจัง เพราะช่องว่างที่เกิดขึ้นทำให้เป็นภาพของคนที่ถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากมีความมั่นคั่ง และได้ประโยชน์จาการถือครองมาจนเกินไป ซึ่งมันควรจะกลับคืนมาเป็นประโยชน์ให้สังคมในรูปของภาษี

 

"ส่วนตัวผลสนับสนุนให้รัฐบาลนี้เดินหน้าเรื่องภาษีอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ให้เป็นมาตรฐานในเบื้องต้น จะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงไม่รู้ แต่ต้องเดินหน้าครับ" นาไพโรจน์กล่าว พร้อมเสริมว่าการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามผลักดันมานาน แต่ติดอยู่ตรงที่ไม่มีความมุ่งมั่นทางการเมืองจากนักการเมือง

 

ในการจัดเก็บภาษีถือเป็นรายได้ของรัฐ ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมามีการคำนวณเรื่องภาษีที่ดิน หากมีการเก็บในกรุงเทพฯ เพียงแค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท สามารถเอาไปใส่ให้กองทุนเรียนฟรีหรือ ใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ ทั้งนี้ มี 2 อย่างคู่กัน คือ ความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ขณะเดียวกันถ้าได้เงินมาจากการเก็บภาษีก็จะสามารถนำไปสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญคือเรื่อง "ความเป็นธรรม"

 

"ความไม่เป็นธรรมต้องเป็นประเด็นนำ ไม่ใช่เรื่องรายได้เป็นประเด็นนำ" ประธาน กป.อพช.กล่าวเน้นย้ำ

 

 

ฟันธง "ธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน" สามารถดำเนินการได้เลย

 

เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชนว่า นายไพโรจน์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 2 เรื่องสามารถดำเนินการได้ทันที โดยในส่วนของธนาคารที่ดินสามารถใช้กองทุนปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย ด้วยการจัดสรรเงินงบประมาณเข้าไปได้เลย และนำเงินไปใช้กับพื้นที่ที่ประชาชนบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ให้เป็นพื้นที่นำร่องในการทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ส่วนโฉนดชุมชนนั้น มีตัวอย่างที่ชุมชนสามารถจัดการด้วยตนเองทำให้เกิดเป็นโฉนดชุมชนได้ โดยสิ่งที่ชุมชนปฏิบัติการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และพื้นที่ที่ทำอยู่นั้นจะเป็นพื้นที่นำร่องในการที่จะขยายต่อไปในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ต้องลงแรงที่ผลักดันในเรื่องเหล่านี้ก่อน ซึ่งการดำเนินการสามารถพูดได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ส่วนการปฏิรูปที่ดินเป็นสิ่งที่ต้องคิดกันต่อไป เพราะต้องใช้หลายมาตรการควบคู่กันในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดิน

 

นายไพโรจน์กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปที่ดินที่ผ่านมา จนทำให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินปี 2518 ต้องใช้พลังของมวลชนในการกดดัน แต่กว่า 24 ปีที่ผ่านมากลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการร่างกฎหมายและการดำเนินการต่างๆ อาศัยพลังของรัฐเป็นหลัก ดังนั้นการปฏิรูปไปข้างหน้าจึงไม่อาจอาศัยเฉพาะพลังของรัฐบาลแต่ต้องอาศัยพลังของมวลชนด้วย นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีตัวอย่างที่ริเริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่แสดงถึงการดำเนินงานที่เป็นไปได้จริงในการเปลี่ยนแปลงสู่การปฏิรูปที่ดิน

 

 

ที่ดินกระจุกตัว ผลของการปฏิรูปที่ดินแบบ "เทกระจาด"

 

"ถ้าเราสามารถจัดการกับเรื่องการปฏิรูปที่ดินได้อย่างแท้จริง ผมเชื่อว่ามันจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรมและความมั่นคงกับคนตัวเล็กๆ ในสังคม เพราะฉะนั้นการพูดเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก" รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว

 

รศ.สมชายกล่าวต่อมาถึงนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่ผ่านมาของรัฐว่า กฎหมายปฏิรูปที่ดินปี 2518 มีจุดประสงค์เพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน ต้องการให้เกษตรกรได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินได้ แต่การปฏิรูปที่ดินในสังคมไทยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2518-2551ตัวเลขของ สปก.ระบุว่ามีการแจกที่ดินของรัฐ (พื้นที่ป่า) ให้เกษตรกรไปแล้วประมาณ 29.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ที่ นำมาแจกจ่าย เหลืออีกประมาณ 5 แสนไร่ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่ สปก.ซื้อและรับบริจาคมา

 

นอกจากนี้การแจกจ่ายที่ดินที่ผ่านมากมีการถกเถียงกันในเรื่องของรูปแบบ โดยในสมัยนายกชวน หลีกภัย การแจกจ่ายที่ดินเป็นในลักษณะ ชิงทุนที่ทุกคนไม่ว่ารวยจนต่างมีสิทธิ์ ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นแบบแจกให้กับคนยากคนจน ซึ่งตอนหลัง สปก.ก็มีการออกระเบียบเช่น ต้องไม่มีที่ทำกินหรือไม่มีรายได้เพียงพอ

 

เห็นได้ว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปที่ดินไม่ได้ไปถึงที่ดินในการถือครองของเอกชน เพราะเป็นเพียงการดึงเอาที่ป่ามาตัดแจก ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่ามีคนจำนวนหนึ่งอย่างเช่นนักการเมืองถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่ถือครองที่ดินจำนวนน้อย ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานคนละ 2 ไร่ (จากการคำนวณของนายประยงค์)

 

ท่ามกลางการเอาพื้นที่ป่ามาแจกจ่ายเกษตรกร สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาควบคู่กันคือ การเปลี่ยนแปลงของตัวเลขคนไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ที่ดินทำกินไม่พอเพียง ซึ่งแม้ตัวเลขจะไม่แน่ชัด แต่รศ.สมชายเชื่อว่าตัวเลขคนที่มีปัญหาในเรื่อที่ดินทำกิน น่าจะขยายตัวขึ้น สอดคลองกับอัตราการกระจายรายได้ในสังคมไทยที่เลวลง ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนห่างกันมากขึ้น และในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินของตนเองไปภายใต้ระบบกลไกทางการตลาด

 

ขณะเดียวกันก็พบว่ายิ่งมีการเปิดเผยข้อมูลมากเท่าไหร่ ข้อมูลการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในคนบางกลุ่มก็ขยายมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ มีคนส่วนน้อยที่ถือครองที่ดินจำนวนมากและคาดว่าจะมีจำนวนการถือครองจะมากขึ้น เพราะมีการขยายตัวกว้านซื้อที่ดินมากขึ้น ยกตัวอย่างเชียงใหม่ที่มีการกว้านซื้อที่ดินทั้งในส่วนตัวเมืองและนอกเมือง ซึ่งการถือครองที่ดินน่าจะกระจุกตัวมากขึ้นในกลุ่มคนที่มีฐานะ หรือเป็นชนชั้นนำของสังคม

 

"ถ้าจะพูดโดยตรงไปตรงมา ผมคิดว่าการปฏิรูปที่ดินในเมืองไทยที่เกิดขึ้นมันเหมือนงานเทกระจาด คือหมายความว่าคุณเอาที่ดินแจกให้ชาวบ้านไป โดยไม่ได้สนใจว่าชาวบ้านจะสามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงบนที่ดินที่ได้รับแจกได้อย่างไร" รศ.สมชายกล่าว

 

 

แนวทางการปฏิรูปที่เป็นจริง ต้องกระจาย และมั่นคง

 

ประเด็นต่อมาในเรื่องแนวทางการปฏิรูปที่ดิน รศ.สมชายกล่าวว่าต้องเริ่มต้นจากการมองว่า "ที่ดิน" เป็นทรัพยากรที่ "จำเป็น" ต่อสังคมในการผลิตซึ่งมีอยู่อย่าง "จำกัด" เพราะฉะนั้นการใช้มาตรการเพื่อทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อพูดถึงการปฏิรูปที่ดิน การเอาที่ดินของรัฐมาแจกจ่ายเท่านั้นถือเป็นการปฏิรูปแบบปลายแถว แต่ต้องทำให้เกิดการกระจายที่ดินจากเอกชนที่ถือครองเกินความจำเป็น

 

นอกจากนี้ควรต้องมีการจำแนกแยกแยะการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละด้าน เช่น เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม แต่ละประเภทมีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน และใครที่ถือครองที่ดินเกินความจำเป็นก็ควรจะแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนเกินนั้นเพราะการถือครองที่ดินคือการถือครองทรัพยากรจำเป็นที่มีอยู่อย่างจำกัด มาตรการภาษีที่ดินต้องเกิดขึ้น เพื่อช่วยในการกระจายการถือครองที่ดิน แต่ปัจจุบันภาษีที่ดินไทยต่ำมา ไม่ทำให้คนที่ถือครองที่ดินเป็นพันไร่ต้องรู้สึกกังวลกับการต้องจ่ายภาษี

 

รศ.สมชายกล่าวถึงเรื่องการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินว่า มี 2 ด้าน ด้านแรก คือ การลดแรงกดดันจากภายนอกที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เกษตรกรถือครองอยู่ เช่น การเก็งราคาที่ดิน ที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่าต้องขายที่ดิน ต้องมีการออกกฎหมายจำกัดห้าม เพื่อป้องกันการถูกดึงเข้าสู่ระบบกลไกลตลาด ในขณะเดียวกันภายในภาคเกษตรเองก็ต้องทำให้เกิดความเข้มแข็ง ต้องคิดถึงอะไรที่มากกว่าการผลักดันให้ไปสัมพันธ์กับระบบตลาดซึ่งหลายพื้นที่ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถทำให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากได้ แต่กลับทำให้ยากจนมากขึ้นขึ้น เช่น เกษตรทางเลือก เกษตรธรรมชาติ เกษตรพึ่งตนเอง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง

 

นอกจากนั้น ควรทำให้ชุมชุนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น การทำเกษตรกรรมบางอย่างไม่สามารถปล่อยให้เกษตรกรไปบุกเบิกอะไรต่อมิอะไรได้เอง แต่ต้องอาศัยพลังของชุมชน ซึ่งอำนาจหรือการจัดการของชุมชนนี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ทังนี้ที่ผ่านมาการจัดการที่ดินเป็นเรื่องของรัฐและเอกชน ในขณะเดียวกันก็ละเลยความสามารถในการจัดการของชุมชนไป สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องถูกนำมาขบคิดกันให้มากขึ้น

 

การปฏิรูปที่ดินไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยอาศัยกฎหมายปฏิรูปที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว แต่สัมพันธ์กับกฎหมายอีกหลายๆ เรื่อง ทั้งภาษีที่ดิน การกำหนดโซนนิ่งการทำประโยชน์แต่ละประเภท และการจำกัดการถือครองที่ที่ดินให้เหมาะสมและตามความจำเป็น เมื่อพูดถึงการปฏิรูปที่ดินที่จะทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและความมั่นคงในการถือครองที่ดินต้องอาศัยการมองปัญหาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน

 

"ทั้งหมดแล้วมันคือการทำให้คนตัวเล็กๆ ของสังคมมีชีวิตอยู่ได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม บนทรัพยากรที่จำกัดของสังคม" รศ.สมชายกล่าว

 

 

แขวะนโยบาย ป.ช.ป.ไม่คืบหน้า แถมย้ำ "ปฏิรูปที่ดิน" จะไม่เกิดขึ้นโดยการผลักดันของรัฐ

 

ส่วนความเป็นไปได้ของการปฏิรูปที่ดิน รศ.สมชายกล่าวว่าจากนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบันยังไม่มีอะไรไปไกลเกินกว่าการแจกที่ป่าให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ดิน อาจจะมีการพูดถึงการเก็บภาษีที่ดิน แต่โดยถ้อยคำของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี การเก็บภาษียังอยู่แค่ที่การเก็บภาษีที่ดินลงร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ผ่านการยอมรับของนักการเมือง นอกจากนี้การเก็บภาษีที่ดินและการเรียกคืน ริบคืนที่ดินรกร้างว่าเปล่าปัจจุบันมีอยู่แล้วในมาตรา 6 ของประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ไม่ถูกใช้บังคับอย่างแท้จริง และยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะฝากความหวังไว้ได้

 

เรื่องการปฏิรูปที่ดินสำคัญมาก ถ้าต้องการให้เกิดการกระจายและการถือครอง มันจะกระทบส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ถือเป็นนโยบายที่ยากมากกว่าหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศไว้อย่างเช่นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ นอกจากนี้ในซีกรัฐบาลเองก็มีเสียงคัดค้านอกมา เมื่อนายกฯ และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.กระทรวงการคลัง มีแนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก ทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.หรือนายพิเชษฐ์ พันธ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่พรรคประชาธิปัตย์ ต่างออกมาท้วงติง

 

อย่างไรก็ตามหากจะมีการดำเนินการต่อไป รศ.สมชาย กล่าวถึงข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนี้ 1.ประกาศเป้าหมายของการปฏิรูปที่ดินให้ชัดเจนว่าจะมุ่งกระจายและสร้างความมานคงในการถือครองที่ดิน สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกร และคนตัวเล็กๆ ในสังคมไทย โดยประกาศเป็นวาระที่รัฐบาลจะผลักดัน 2.ถ้าจะมีการเก็บภาษีที่ดินต้องทำข้อมูลการถือครองที่ดินอย่างเป็นระบบ แล้วเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เช่น ข้อมูลของ 100 ตระกูลแรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในเมืองไทย 3.กำหนดกรอบระยะเวลาและกระบวนการทำงานที่ชัดเจน รวมทั้งระบุผู้รับผิดชอบ

 

รศ.สมชายแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องการปฏิรูปที่ดินจะไม่เกิดขึ้นโดยการผลักดันของรัฐบาล ไม่ควรฝากความหวังไว้กับเทวดา หรือว่าใครก็ตาม แต่เป็นวาระสำคัญของสังคมไทยที่ทุกคนต้องร่วมกันผลักดัน และฝากความหวังไว้กับคนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

 

นอกจานั้น ยังกล่าวถึงข้อมูลของนายไพโรจน์ที่ว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินในกรุงเทพฯ ถือครองโดยบุคคลและนิติบุคคล 50 อันดับแรกด้วยว่า ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลางทั่วไปก็เป็นกลุ่มคนที่ถูกเอาเปรียบด้วยเช่นกัน โดยยกตัวอย่างว่าในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งสะสมที่ดิน แต่ชนชั้นกลางต้องหาเงินผ่อนที่ดินกันเดือนละเป็นหมื่น ผ่อนกันตั้งแต่อายุ 25-60 ปี กว่าจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่อาศัยแค่ 50 ตารางวา

 

"การปฏิรูปที่ดินไม่ใช่เรื่องของคนยากคนจนแต่เพียงอย่างเดียว ต้องทำให้เห็นเป็นปัญหาร่วมของชนชั้นกลางด้วย" รศ.สมชายกล่าว พร้อมเสริมว่าในการผลักดันการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ได้รับการสนับสนุน จะต้องแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มใหญ่ก็ได้ประโยชน์ด้วย

 

 

นายประยงค์ ดอกลำใย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการที่ดินว่า ประเทศไทยเนื้อที่ประมาณ 321 ล้านไร่ โดยเป็นที่ดินที่ประชาชนครอบครอง 130 ล้านไร่ ซึ่งถ้ามีการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม ประชากร 65 ล้านคน (หารตามหลักเลขคณิต) จะมีที่ดิน คนละประมาณ 2 ไร่ แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น โดยงานวิจัย "นโยบายเศรษฐกิจที่ดินของไทยในศตวรรษใหม่" ของปรีชา วทัญญู ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเศรษฐกิจที่ดิน กรมพัฒนาที่ดินซึ่งจัดทำในปี 2544 ระบุว่า "ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของคนส่วนน้อย"

 

กล่าวคือร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศเป็นเจ้าของผู้ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ที่เหลือร้อยละ 90 เป็นผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ไร่เท่านั้น และคนไทยอีกประมาณ 811,871 ครอบครัวยังไม่มีที่ดินเป็นของตนเองส่วนเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ต้องเช่าที่ดินทำกินมีจำนวน 1- 1.5 ล้านครอบครัว ในขณะที่ที่ดินจำนวน 30 ล้านไร่ ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 127,000 ล้านบาทต่อปี

 

ในส่วนการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินนั้น นายประยงค์กล่าวว่า ส่วนใหญ่อยู่ในมือนักการเมืองและนักธุรกิจ โดยตัวอย่างบัญชีทรัพย์สินการครอบครองที่ดินของนักการเมืองไทย อาทิ นายบรรหาร ศิลปะอาชา และครอบครัว มีที่ดิน 243 แปลง เนื้อที่ 2,000 ไร่ มูลค่า 2,100 ล้านบาท ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร (ผู้ว่าราชการ จ.กรุงเทพ)และคู่สมรส มีที่ดิน 41 แปลง เนื้อที่ 72 ไร่ มูลค่า 600 ล้านบาท นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และคู่สมรส มีที่ดิน 18 แปลง เนื้อที่ 178 ไร่ มูลค่า 121.1 ล้านบาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มี 50 แปลง 950 ไร่ มูลค่า 79.4 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลทรัพย์สินของนักธุรกิจมักไม่ได้รับการเปิดเผยเนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

 

นายประยงค์กล่าวถึงสภาพปัญหาที่ดินในประเทศไทยว่า ขณะนี้ที่ดินถูกปล่อยไว้ไม่ทำประโยชน์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นที่ดินที่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่ารอขายเก็งกำไร อีกส่วนเป็นหนี้ NPL อยู่ในธนาคาร ขณะที่เกษตรกรอย่างน้อย 4.8 ล้านครอบครัวมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ และคนจนจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในที่ดินโดยผิดกฎหมาย โดยคนเหล่านี้ได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่า ประมาณ 10 ล้านคน ในที่ราชพัสดุ และที่ดินนายทุน

 

จากผลของการสำรวจพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ตามมติครม.30 มิ.ย.41 ตามนโยบายปลูกป่า 22 ล้านไร่ ตั้งแต่ปี 41 - 48 ซึ่งกำหนดให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ย้อนหลังถึง 30 ปี ทำให้มีคนไม่ผ่านการพิสูจน์สิทธ์กว่าร้อยละ 80 ส่งผลเป็นการบังคับให้คนต้องออกจากป่าและมีการจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกป่าเป็นจำนวนมาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net