Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ.อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ นำเสนอการจัดรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี จังหวัดชายแดนภาคใต้

.อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ 

ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ 

อ.จะนะ จ.สงขลา

 

 

จากการที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเริ่มในปีการศึกษา 2552 นี้ โดยมีมติให้ฟรีใน 5 รายการ ประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน ค่าตำราเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน 2 ชุดต่อคนต่อปี และกิจกรรมพิเศษ

 

การที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ที่ห้องประชุมโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2552 โดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียน สำนักพิมพ์ ผู้ผลิตชุดนักเรียน ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้ประกอบการภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นประมาณ 300 คนเป็นนมิตหมายที่ดีมาก

 

มีผู้เสนอแนะมากมายเช่น นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้จัดทำเป็นคูปองเพื่อการศึกษา เป็นการคืนอำนาจให้พ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนเป็นผู้บอกว่าต้องการอะไร ไม่ใช่จัดสรรไปจากส่วนกลาง โดยนักเรียนทุกคนมีสิทธิได้รับคูปอง แต่ไม่จำเป็นต้องใช้คูปองครบ คูปองแลกเป็นเงินไม่ได้ แต่ใช้แลกเป็นวัสดุอุปกรณ์การเรียนกับสื่อ นอกจากนี้ ให้ระบุชัดเจนในแผนงานถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มโอกาส ใส่เหตุผลเรื่องการแข่งขัน การมีส่วนร่วม และธรรมาภิบาล ไม่เช่นนั้นจะเป็นประชานิยม หรือสวัสดิการมากเกินไป

 

นายสมพงษ์ ยังกล่าวว่า ไม่อยากให้แจกหนังสือครบทั้ง 8 กลุ่มสาระ เพราะจะเป็นการดึงเด็กเข้าห้องเรียน ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน และถ้ารวมหนังสือเรียน 8 เล่ม สมุด 8 เล่ม เด็กจะแบกหนักเกินไป และไม่ควรพิมพ์หนังสือที่จะเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ในอีก 1-2 ปี เพราะจะสูญเงิน 100 ล้านบาท ที่ใช้ได้ครั้งเดียว ส่วนอุปกรณ์การเรียนเป็นจุดอ่อนที่สุด ที่อาจเกิดการทุจริตได้ ต้องให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติให้ดี นอกจากนี้ ควรมีฐานข้อมูลเด็กที่มีคุณภาพเพื่อติดตามช่วยเหลือได้ มีระบบสร้างแรงจูงใจ ยกย่องผู้มีจิตสาธารณะสละสิทธิ์ให้โรงเรียนอื่น มีระบบตรวจสอบทุจริตเข้มแข็ง เปิดเว็บไซต์ ตู้ ปณ.รับร้องเรียน


นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอให้มีการทำความเข้าใจกับสังคมในการใช้จ่ายด้านต่างๆ และให้พิจารณาการกระจายงบประมาณเท่ากันทั่วประเทศ เพราะคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ต่างๆ จะไม่เท่ากัน ให้แบ่งงบประมาณในเมืองให้ชนบทมากกว่าดีกว่าหรือไม่ อยากให้ดูบทเรียนโครงการนมฟรี เมื่อ 10 ปีก่อน เพียงฟรีรายการเดียวยังวุ่นวาย ดังนั้น แม้เป็นความตั้งใจดี แต่ต้องควบคุม และให้ดูนักเรียนในระบบอื่นอีกไม่น้อย เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนพระสงฆ์ เป็นต้น

 

นายสุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า ควรส่งเสริมให้เกิดการแสดงน้ำใจ ของคนที่มีอยู่แล้วสละสิทธิ์ให้คนที่ด้อยกว่า ทั้งนี้เห็นด้วยกับการคูปอง และเชื่อว่าจะเกิดตลาดมืด และการตกเขียว อย่างแน่นอน แต่จะต้องหาวิธีการป้องกัน

 

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ เรื่องระบบฐานข้อมูลนักเรียน การขอให้การสละสิทธิ์เป็นรายบุคคล ไม่ใช่ให้โรงเรียนตัดสินใจแทน อยากให้ดูพฤติกรรมความตั้งใจเรียนของเด็ก อยากให้พิจารณาเรื่องชุดพละของนักเรียนหญิง รองเท้านักเรียนในชนบท กระเป๋านักเรียน

 

จากความคิดเห็นดังกล่าวหากเป็นไปได้ควรจัดให้มีการประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยก่อนที่จะดำเนินโครงการนี้อย่างเร่งด่วนเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซี่งมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งหลักสูตรสถานศึกษาที่นี่นั้นมีความแตกต่างจากส่วนกลาง หลักสูตรสถานศึกษาที่นี่ ได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความต้องการของท้องถิ่น โดยเชื่อมโยงกับหลักศาสนา วิชาสามัญและวิชาชีพ หลักการดังกล่าว ได้นำมาใช้เป็นฐานความคิดหลักในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้แบบบูรณาการ มีความรู้ทั้งศาสนาและสามัญ 

 

ดังนั้นในรายละเอียดของจำนวนห้ารายการที่รัฐจะให้บริการฟรีต่อผู้เรียนระหว่างส่วนกลางกับจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นย่อมแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นชุดนักเรียนสำหรับมุสลิมชายต้องใส่กางเกงขายาว ผู้หญิง กระโปง และเสื้อแขนยาวพร้อมผ้าคลุมผม หนังสือแบบเรียนโดยเฉพาะวิชาภาษาไทยที่ใช้สอนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับปฐมวัยและช่วงชั้นที่๑ จะมีการการบูรณาการระหว่างภาษาไทยกับมลายูถิ่นหรือแม้กระทั่งภาษาอาหรับ วิชาสังคม ศาสนาและวัฒนธรรมก็แตกต่างกัน บางโรงเรียนมีการบูรณาการกันระหว่างวิชาศาสนากับทุกสาระวิชา

 

จริงอยู่ในแง่หลักสูตรแกนกลาง ซึ่ง หมายถึง หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มีรายละเอียดแสดงให้เห็นกรอบทิศทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถนำไปใช้จัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยรวมทั้งสำหรับการจัดการศึกษาทุกกลุ่ม เช่น การศึกษาพิเศษ การศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ เป็นต้น โดยมีมาตรฐานการเรียนรู้เป็นข้อกำหนดคุณภาพของผู้เรียนทั่วประเทศแต่อย่าลืมว่าใน พ...การศึกษาไทยได้กำหนดให้ทุกสถานศึกษาจะต้องมีหลักสูตรของแต่ละสถานศึกษาเองซึ่งหลักสูตรสถานศึกษา หมายถึง หลักสูตรระดับท้องถิ่นซึ่งสถานศึกษานำข้อมูลสภาพที่เป็นปัญหาหรือความต้องการในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพังประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มาจัดทำสาระของหลักสูตร และจัดการเรียนรู้โดยยึดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นกรอบหรือแนวทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา



หลังจากนั้นมีการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งเป็น ข้อกำหนดคุณภาพผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมของแต่ละกลุ่มเพื่อใช้เป็นจุดมุ่งหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ซึ่งกำหนดเป็น มาตรฐานการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

สิ่งเหล่านนี้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีความต้องการและมีความคาดหวังว่าคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียนเมื่อจบหลักสูตร ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา และจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐานและสามารถบูรณาการกับภาษาและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ด้วย

 

คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าการจัดการศึกษาของรัฐหรือเอกชนโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งมีนักเรียนร้อยละ ๙o ในระดับมัธยมศึกษาศึกษาอยู่มีสองหลักสูตรที่นักเรียนต้องเรียนคือหลักสูตรศาสนาและสามัญเป็นการศึกษาที่สร้างคุณภาพชีวิตและสังคมบูรณาการอย่างสมดุลระหว่างปัญญาธรรม คุณธรรม และ วัฒนธรรม มีการเรียนสี่ภาษากล่าวคือไทย มลายู อาหรับและอังกฤษ เพื่อสร้างให้ผู้เรียนมี คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลก บางสถานศึกษาจัดการศึกษาที่เป็นการศึกษาตลอดชีวิต มุ่งสร้างพื้นฐานที่ดีในวัยเด็ก ปลูกฝังความเป็นสมาชิก ที่ดีของสังคมตั้งแต่วัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยให้สังคมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้ตรงตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน

 

ดังนั้นการจัดทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า นักเรียน ผู้ปกครอง โต๊ะครู คณะกรรมการอิสลาม ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ประกอบการภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่สนใจทั่วไป จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net