ภัควดี: รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน: โบลิเวียได้ไปแล้ว ชาวสยามหน้าหมองโปรดรอไปก่อน

วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ชาวโบลิเวียผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งประมาณ 3.8 ล้านคนออกไปลงประชามติ "รับ" หรือ "ไม่รับ" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลเอ็กซิทโพลล์ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการรับรองด้วยเสียงสนับสนุนท่วมท้นถึง 61.97% โดยเสียง "ไม่รับ" อยู่ที่ 36.52%

วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ชาวโบลิเวียผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งประมาณ 3.8 ล้านคนออกไปลงประชามติ "รับ" หรือ "ไม่รับ" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลเอ็กซิทโพลล์ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการรับรองด้วยเสียงสนับสนุนท่วมท้นถึง 61.97% โดยเสียง "ไม่รับ" อยู่ที่ 36.52% บัตรเสียอยู่ที่ 1.51% รัฐธรรมนูญชนะเสียงประชามติใน 6 รัฐจากทั้งหมด 9 รัฐ นอกจากลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีช่องอีกช่องหนึ่งให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงกาเลือกว่า รัฐควรจำกัดสิทธิ์การซื้อที่ดินไว้ที่เพดาน 5,000 เฮกตาร์หรือ 10,000 เฮกตาร์ด้วย (1 เฮกตาร์ = 6.25 ไร่ กล่าวคือให้เลือกเพดานระหว่าง 31,250 ไร่ หรือ 62,500 ไร่)

 

ประวัติศาสตร์และการแบ่งแยก

โบลิเวียไม่ได้น้อยหน้าประเทศไทยมากนักในด้านร่างๆ ฉีกๆ รัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ ค.ศ.1826-2004 โบลิเวียมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 16 ฉบับและมีการปฏิรูปแก้ไขอีก 6 ครั้ง รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโบลิเวียนั้นร่างโดยวีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราชแก่ดินแดนละตินอเมริกา นั่นคือ นายพลซีโมน โบลิวาร์ ซึ่งสัญญาว่าจะสร้าง "รัฐธรรมนูญที่เสรีนิยมที่สุดในโลก" แต่ต่อให้รัฐธรรมนูญก้าวหน้าแค่ไหน ถ้าบังคับใช้ไม่เป็นผล ความก้าวหน้าก็ไม่เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ของโบลิเวียเองก็มีแนวโน้มคล้าย ๆ สยามประเทศเรา กล่าวคือ ยิ่งฉีกแล้วร่างใหม่คราใด ก็ยิ่งถอยหลังลงคลองไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ของโบลิเวียจึงมีลักษณะกีดกันด้านเชื้อชาติและชนชั้น พลเมืองโบลิเวียที่ทรงสิทธิ์เต็มขั้นมักจำกัดไว้เฉพาะชาวเมืองที่มีการศึกษา ผิวขาวและฐานะดี ในขณะที่ชาวพื้นเมืองถูกกีดกันจากศูนย์กลางอำนาจเรื่อยมา

 

แต่ในช่วงสิบปีหลังมานี้ หลังจากชาวพื้นเมืองรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อต่อสู้ทางการเมือง เสียงเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดความเสมอภาคในสังคมมากขึ้นก็ดังขึ้นเรื่อยๆ ชาวพื้นเมืองต้องการให้รัฐธรรมนูญรับรองการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการวางนโยบายด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การจัดสรรทรัพยากรของรัฐและนโยบายพัฒนาประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ นอกจากร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ยังต้องมีการบังคับใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างเข้มแข็งจริงจังอีกด้วย

 

ความมุ่งหวังของขบวนการชาวพื้นเมืองมาปรากฏเป็นจริง เมื่อประชาชนรากหญ้าจับมือกันดันเอโว โมราเลสขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2006 ระหว่างรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี มีสองประเด็นสำคัญที่โมราเลสสัญญากับประชาชนผู้สนับสนุนคือ การโอนแหล่งทรัพยากรพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ กลับมาเป็นของรัฐและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในประเด็นแรกนั้น ประธานาธิบดีโมราเลสเดินหน้าไปแล้วพอสมควร ส่วนในประเด็นหลัง โมราเลสกล่าวกระตุ้นประชาชนในการปราศรัยเสมอมาว่า ความเปลี่ยนแปลงในประเทศโบลิเวียต้อง "มีการรับรองด้วยรัฐธรรมนูญ" (กล่าวคือ ไม่ใช่ประชานิยมที่แจกๆ ๆ เพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองเฉพาะหน้า)

 

หลังจากรับตำแหน่งได้ราวครึ่งปี ประธานาธิบดีโมราเลสก็จัดการให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 การยกร่างดำเนินมาราวปีครึ่ง จนกระทั่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาโดยถูกฝ่ายตรงข้ามคว่ำบาตร กระนั้นก็ตาม สภาคองเกรสของโบลิเวียลงมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการลงประชามติในวันที่ 21 ตุลาคมศกก่อน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดมาถึงจุดยุติในการเปิดให้ประชาชนลงประชามติเมื่อวันที่ 25 มกราคมปีนี้ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น

 

 

 

 

 

 

 

แต่เส้นทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช่ว่าจะเป็นไปโดยราบรื่น หนทางเต็มไปด้วยขวากหนามและความรุนแรง ทั้งการปะทะกันระหว่างฝ่ายต้านและฝ่ายสนับสนุนตามท้องถนน การชุมนุมประท้วงทางการเมือง การบาดเจ็บล้มตายกันทั้งสองฝ่ายก็มีให้เห็น ฝ่ายขวาของโบลิเวียจับมือกันเป็น "พันธมิตรฯ" ต่อต้านทั้งรัฐบาลและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยใช้ "สีชมพู" เป็นสัญลักษณ์รณรงค์ให้ประชาชนกาในช่อง "NO" หรือ "ไม่รับ" ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและรัฐธรรมนูญใหม่มีความหลากสีสันมากกว่า โดยมีทั้งสีน้ำเงินของพรรคการเมือง "ขบวนการสู่สังคมนิยม" (Movimiento al Socialismo หรือ MAS) สีรุ้ง 7 สีที่เรียกกันว่า ธง Wiphala อันเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการชนพื้นเมืองที่มีหลายชนชาติ และสีเขียวนีออนที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง "ขบวนการไร้ความกลัว" (Movimiento Sin Miedo หรือ Fearless Movement Party) ซึ่งสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สีใด ๆ เช่น กลุ่มเด็กวัยรุ่นฮิปฮอปการเมือง กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่อาศัยเสียงเพลงโฟล์กซอง ธงชาติปาเลสไตน์กับใบปลิวโจมตีอิสราเอล เป็นสัญลักษณ์สนับสนุนรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ (โมราเลสเพิ่งขับทูตอิสราเอลออกจากประเทศเพื่อประท้วงการโจมตีฉนวนกาซา) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวเหมือง สมาชิกสภาละแวกบ้าน กลุ่มสตรี ฯลฯ สีสันอันหลากหลายราวนกแก้วมาคอว์นี้ล้วนแต่รณรงค์ให้ประชาชนกาในช่อง "Sí" หรือ "รับ" รวมทั้งเตือนผู้ลงคะแนนว่า อย่าลืมกาช่องเพดานจำกัดการซื้อที่ดินที่ "5,000 เฮกตาร์" ด้วย

 

ท่ามกลางการปะทะกันอย่างดุเดือดบนท้องถนน สมรภูมิอีกแห่งหนึ่งที่ดุเดือดไม่แพ้กันคือ สื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์กระแสหลักเกือบทั้งหมดในโบลิเวียพร้อมใจกันโจมตีร่างรัฐธรรมนูญและพรรครัฐบาล ถึงขนาดบิดเบือนข้อมูลหลาย ๆ อย่าง อาทิเช่น ไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ El Diario พาดหัวตัวโตว่า "โบลิเวียจะกลับไปสู่ยุคป่าเถื่อนด้วยระบบยุติธรรมชุมชน" ทั้งนี้เพียงเพราะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้การรับรองระบบยุติธรรมชุมชน (Community Justice) ที่เป็นจารีตประเพณีและปฏิบัติกันมายาวนานในชุมชนชาวพื้นเมืองทั่วประเทศ หรือกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะอนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ เป็นต้น

 

แต่ขบวนการประชาชนที่มีการจัดตั้งอย่างเข้มแข็งในโบลิเวียทำให้ประชาชนรากหญ้าไม่หวั่นไหวหรือถูกสื่อปั่นหัวง่าย ๆ เหมือนดังที่เอ็ดวิน โชเฟอร์ขับแท็กซี่ในกรุงลาปาซกล่าวว่า ต่อให้สื่อมวลชนเกือบทั้งหมดในโบลิเวียต่อต้านโมราเลสและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ "แต่ใครสนว่าสื่อจะพูดยังไง? พวกสื่อก็แค่คนส่วนน้อย แต่พวกเราสิ พวกเราประชาชนชาวโบลิเวียคือคนส่วนใหญ่"

 

เพื่อตอบโต้การโจมตีของสื่อ ประธานาธิบดีโมราเลสจึงประกาศออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ที่เป็นของรัฐในชื่อ Cambio หรือ Change ซึ่งวางแผงฉบับปฐมฤกษ์ในวันที่ 22 มกราคม โมราเลสกล่าวว่า "หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่นี้....จะไม่เหยียดหยามใคร แต่จะให้ข้อมูลและให้การศึกษาแก่เราทุกคน"

 

มีอะไรในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?

แน่นอน จากประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ย่อมเป็นกระจกสะท้อนการเมืองในโบลิเวีย มันมีทั้งความหวัง ความขัดแย้งและข้อบกพร่องอันเกิดจากความแตกแยกทางการเมือง มีทั้งข้อดีที่น่าชมเชยและข้อเสียที่ควรวิพากษ์วิจารณ์

 

ในด้านดีนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองสิทธิแก่ชาวพื้นเมืองที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งสิทธิในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและภาษา ตลอดจนสิทธิในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การดูแลสุขภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ยังขยายบทบาทของรัฐในการจัดการเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ

 

- สิทธิของชาวพื้นเมือง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประเทศโบลิเวียเป็นรัฐหลากหลายชนชาติ เพื่อสะท้อนความหลากหลายของเชื้อชาติพื้นเมืองดั้งเดิมและชาวโบลิเวียเชื้อสายอัฟริกัน กำหนดให้ภาษาสเปนและภาษาพื้นเมืองทั้ง 36 ภาษาเป็นภาษาราชการ รับรองความเป็นอิสระในการปกครองชุมชนของตัวเองแก่กลุ่มชาวพื้นเมืองทั่วประเทศ โดยดำเนินตามกรอบสิทธิของชาวพื้นเมืองตามคำประกาศของสหประชาชาติ ชาวพื้นเมืองมีสิทธิในการเขียนบทบัญญัติทางกฎหมายของตนเอง ตราบที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีสิทธิในการจัดระบบความยุติธรรมตามจารีตประเพณี และมีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกันที่นั่งในวุฒิสภาบางส่วนให้แก่วุฒิสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากชุมชนชาวพื้นเมืองด้วย

 

- ด้านศาสนา ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าระบุว่า ศาสนาโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติของโบลิเวีย เพียงแต่รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการปฏิบัติของศาสนาและความเชื่ออื่น ส่วนในรัฐธรรมนูญใหม่ระบุว่า "รัฐเคารพและรับรองเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อ....รัฐเป็นอิสระจากศาสนา" นี่คือการแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน

 

- ความรับผิดชอบของรัฐ รัฐธรรมนูญกำหนดให้พลเมืองมีสิทธิในการเข้าถึงน้ำ อาหาร การศึกษา การดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคและบำนาญหลังเกษียณ รัฐมีหน้าที่จัดหาสิ่งเหล่านี้แก่พลเมือง โดยถือเป็นสิทธิมนุษยชน รัฐไม่มีอำนาจในการแปรรูปบริการเหล่านี้ รัฐธรรมนูญยังรับรองสิทธิในการเข้าถึงยาและส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้าน

 

- สิทธิของแรงงาน รับรองสิทธิในการนัดหยุดงานและก่อตั้งสหภาพแรงงาน คุ้มครองความมั่นคงในการมีงานทำ รวมทั้งสนับสนุนสถานประกอบการที่แรงงานเข้าไปกอบกู้ (Recuperated Workplaces) ในกรณีที่กิจการเอกชนนั้นล้มละลายหรือปิดกิจการ "แบบไม่ชอบธรรม" ตราบที่การกอบกู้ของแรงงานเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ของชุมชน

- ด้านการทหาร โบลิเวียเจริญรอยตามเอกวาดอร์ด้วยการห้ามมิให้มีฐานทัพต่างชาติในดินแดนของตน (แน่นอน นี่มุ่งเป้าไปที่ฐานทัพสหรัฐฯ ในโบลิเวีย)

 

ในส่วนข้อด้อยของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วิพากษ์วิจารณ์กันนั้น มีอาทิเช่น ไม่มีการรับรองทางกฎหมายแก่การทำแท้งและการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน นี่สะท้อนถึงความพยายามที่จะประนีประนอมกับฝ่ายศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก

 

ในส่วนของการปฏิรูปที่ดิน ถึงแม้จะมีการลงประชามติเกี่ยวกับเพดานในการซื้อที่ดิน แต่นี่จะเป็นกฎหมายที่ใช้กับการซื้อที่ดินครั้งใหม่เท่านั้น รัฐธรรมนูญยังไม่ได้ทลายการครอบครองที่ดินเดิม รัฐยังไม่มีอำนาจเข้าไปจัดสรรที่ดินที่มีการผลิต แต่มีอำนาจในการปฏิรูปที่ดินที่ไม่มีการผลิตเท่านั้น การปฏิรูปที่ดินแบบอ่อน ๆ เช่นนี้สะท้อนถึงการประนีประนอมกับฝ่ายขวา ซึ่งเป็นกลุ่มคนร่ำรวยจำนวนน้อยที่ถือครองที่ดินไว้มหาศาล

 

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้ประชาชนลงมติยังสะท้อนถึงการประนีประนอมกับฝ่ายค้าน ในร่างเดิมนั้น โมราเลสจะมีโอกาสลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพิ่มอีกสองสมัยติดต่อกัน แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โมราเลสจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีติดต่อกันได้อีกเพียงสมัยเดียวเท่านั้น ซึ่งการเลือกตั้งครั้งหน้ากำหนดไว้ในเดือนธันวาคมปีนี้

 

ความอ่อนเปลี้ยของฝ่ายขวาและการเฉลิมฉลองของ "ฝ่ายเลี้ยวซ้าย"

ถึงแม้สื่อมวลชนพยายามประโคมว่า การลงประชามติรับรัฐธรรมนูญใหม่จะซ้ำเติมความแตกแยกในประเทศ แต่ผลของการลงประชามติครั้งนี้ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความอ่อนแอของฝ่ายขวา ถึงแม้ฝ่ายขวาที่ร่ำรวยและกลุ่มชนชั้นกลางจะทำทุกอย่าง นับตั้งแต่ความรุนแรงบนสื่อมวลชนไปจนถึงท้องถนน แต่พวกเขาก็ไม่สามารถโยกคลอนความตั้งใจของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีวาระทางการเมืองที่ชัดเจนพอที่จะไปต่อกรช่วงชิงความนิยมมาจากพรรครัฐบาล ยิ่งกว่านั้น การใช้ความรุนแรงกลับกลายเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาสู่ตัวเอง แม้แต่นายมานเฟรด เรเยส วีญา อดีตผู้ว่าราชการเมืองโกชาบัมบาและคู่ปรับของโมราเลส ก็ยังยอมรับในเรื่องนี้ การใช้ความรุนแรงของฝ่ายขวาในรัฐปันโดเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คนและบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายขวาสูญเสียความชอบธรรมแม้แต่ในหมู่ฐานเสียงของตัวเอง

 

แน่นอน ชัยชนะของประชาชนรากหญ้าครั้งนี้มีการฉลองกันอย่างคึกคักในคืนวันอาทิตย์ โมราเลสออกมายืนที่หน้ามุขทำเนียบประธานาธิบดีและกล่าวแก่ฝูงชนว่า "นี่คือจุดเริ่มต้นของโบลิเวียใหม่ นี่คือจุดเริ่มต้นที่เราจะก้าวไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง" ประชาชนจำนวนมากออกมาจุดพลุและร้องรำทำเพลงรอบฐานรูปปั้นของนายพลซีโมน โบลิวาร์ ผู้ปลดปล่อยละตินอเมริกาจากความเป็นอาณานิคม

 

การเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งสำคัญของโบลิเวียไม่ได้มาด้วยโชคช่วยหรือฟ้าประทาน เราจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศนี้ได้ ก็ต้องทำความเข้าใจบทบาทของขบวนการสังคมและองค์กรจัดตั้งระดับรากหญ้าของชาวพื้นเมืองยากจนทั้งหลาย

 

อีกทั้งนี่เป็นบทพิสูจน์ในโลกของความเป็นจริงอีกครั้งว่า ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงย่อมวางรากฐานอยู่บนประชาชนรากหญ้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประชาชนผู้ยากจนเท่านั้นคือผู้ยึดมั่นในระบอบ

 

ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในระบอบประชาธิปไตยไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษา แต่ประชาชนจะบรรลุพลังทางการเมืองเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ต้องอาศัยการจัดตั้งองค์กรของตัวเองและการต่อสู้ทางชนชั้นเท่านั้น

 

 

…………………………………………..

 

ข้อมูลประกอบการเขียน:

Benjamin Dangl, "¿Sí o No? Bolivians Mobilize for National Vote on New Constitution, http://upsidedownworld.org/main/content/view/1670/1/, Sunday, 18 January 2009.

 

---------, "Spilling Ink Instead of Blood: Bolivia Poised to Vote on New Constitution," http://upsidedownworld.org/main/content/view/1677/1/, Thursday, 22 January 2009.

 

----------, "Bolivia: After Rallies for New Constitution, Morales Nationalizes Oil Company, http://upsidedownworld.org/main/content/view/1680/1/, Saturday, 24 January 2009.

 

---------, "Bolivia Looking Forward: New Constitution Passed, Celebrations Hit the Streets," http://upsidedownworld.org/main/content/view/1683/1/, Monday, 26 January 2009.

 

Benjamin Dangl and April Howard, "From Bolivia"s Streets: What Voters Think About the New Constitution," http://upsidedownworld.org/main/content/view/1682/1/, Sunday, 25 January 2009.

 

Alex van Schaick, "Bolivia's New Constitution," http://nacla.org/, Jan 21 2009.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท