Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระ สะสางคดีลอบฆ่าสามจังหวัดภาคใต้ สร้างความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมไทย


 


แถลงการณ์ดังกล่าว อ้างถึง จากเหตุการณ์การสังหารนายอับดุลการิม ยูโซ๊ะ อิหม่ามวัย 42 ปี ประจำมัสยิดบ้านกาหยี   เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552 เหตุเกิดขึ้นที่หน้ามัสยิดบ้านกาหยี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ในเวลากลางวัน ระหว่างที่นายอับดุลการิมจะเดินขึ้นไปละหมาดวันศุกร์ตามปกติ 


 


ทั้งนี้ นายอับดุลการิม ยูโซ๊ะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 30 เดือนตุลาคม พ.ศ.2551 ครบกำหนด  3 เดือนที่ศาลจังหวัดปัตตานีตัดสินว่านายอับดุลการิม ยูโซ๊ะไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาว่าครอบครองอาวุธสงครามซึ่งการพิจารณาคดีใช้เวลากว่า 1 ปี โดยนายอับดุลการิมถูกควบคุมตัวในเรือนจำตลอดการพิจารณาคดีและไม่ได้รับสิทธิในปล่อยตัวชั่วคราว หรือสิทธิในการประกันตัว


 


แถลงการณ์ระบุว่า เหตุการณ์การลอบสังหารผู้นำทางศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายกรณีเป็นการกระทำที่อุกอาจด้วยอาวุธสงครามในลักษณะที่ไม่เกรงกลัวต่อกฏหมายบ้านเมือง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่บุคคลที่ต้องสงสัยจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ รวมทั้งผู้ที่ถูกดำเนินคดีแต่ศาลได้มีคำพิพากษาปล่อยตัวอย่างเช่นกรณีของนายอับดุลการิม ยูโซ้ะ เป็นต้น 


 


พฤติกรรมของการสังหารและเป้าหมายที่มีต่อผู้ที่รัฐสสงสัยนั้นทำให้ชาวบ้านมักเชื่อว่าน่าจะเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่  ในขณะเดียวกันทางการก็มักจะอ้างว่าเป็นการฆ่าตัดตอนเพื่อสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ  โดยที่ไม่มีข้อยุติและยังคงเป็นประเด็นกังขาสร้างความแตกแยกและกลายเป็นเงื่อนไขในการโจมตีกล่าวหารัฐตลอดมา


 


ปัจจุบันมีคดีฆ่ารายวันเกิดขึ้นจำนวนมากตามสถิติที่รายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ใต้ ปรากฎว่าระหว่างเดือนมกราคมพ.ศ. 2550-ธันวาคม พ.ศ. 2551 สรุปว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงจำนวน 1,837 ครั้ง มีจำนวนผู้บาดเจ็บ 3, 933 คน  มีจำนวนผู้เสียชีวิต  976 คน โดยในรายละเอียดระบุว่า  16 รายถูกสังหารด้วยปืนยาว ปืนขนาดใหญ่  39 รายถูกสังหารด้วยปืนสั้น  53 ราย  เกิดจากการวิสามัญฆาตกรรม และ 745 รายถูกลอบสังหารโดยอาวุธปืนอื่นที่ไม่สามารถระบุได้  และยังไม่มีการตรวจสอบปลอกกระสุนปืนและอาวุธปืนที่เป็นระบบและโปร่งใส  อีกทั้งสถานการณ์ทำให้การชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายและการผ่าชันสูตรตามหลักการทางนิติเวชไม่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะนำหลักฐานเกี่ยวกับอาวุธปืน กระสุนปืน วิถีกระสุนและลักษณะบาดแผล มาประกอบการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำอาชญกรและผู้มีส่วนร่วมบงการมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา


           


บุคคลที่เสียชีวิตด้วยการลอบสังหารหลายรายเป็นทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัด  หลายรายเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำการเมืองท้องถิ่น  ผู้ที่มีประวัติใกล้ชิดกับหน่วยงานความมั่นคงฯ   ผู้เคยถูกเชิญตัวตามหมายพรก. ฉุกเฉิน หรือผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานรัฐ   หลายรายเป็นผู้ที่มีหมายจับหรือมีข่าวลือว่ามีหมายจับหรือมีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำ หลายรายเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงและได้รับการตัดสินคดียกฟ้องออกมาใช้ชีวิตปกตินอกเรือนจำ จากข้อมูลที่น่าเชื่อถือระบุว่ามีผู้ที่ศาลตัดสินยกฟ้องถูกลอบสังหารไปมากกว่า 11 ราย จากจำนวนผู้ที่ถูกยกฟ้องในช่วงปีพ.ศ. 2549 รวมทั้งสิ้น 15 ราย ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าผู้ที่ถูกสังหารเหล่านั้น ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม (Extra-judicial Killing)


 


ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบโดยเฉพาะการฆ่าสังหารรายวันมีความอ่อนไหวต่อภาพรวมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัด จึงขอเสนอแนวทางให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระ สะสางคดีลอบฆ่าสามจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะการจัดให้มี "คณะกรรมการอิสระเพื่อการตรวจสอบ ศึกษา วิเคราะห์ การกำหนดนโยบายการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน"  เป็นแนวทางที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศที่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมจะเป็นบันไดก้าวไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง  ทั้งให้ปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างจริงจังตามกระบวนการยุติธรรม และหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ก็จะต้องลงโทษอย่างจริงจังทั้งทางวินัยและทางอาญา


 


ประการต่อมา รัฐมีพันธหน้าที่ในการปกป้องสิทธิในชีวิตของประชาชน "ทุกคน"  จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและ/หรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวข้องกับการการลอบสังหารที่เกิดขึ้น โดยมีการรายงานการดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้สาธารณะชนได้รับทราบถึงการดำเนินคดีทางอาญาโดยรัฐ เพื่อสร้างมาตรฐานการการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้  ซึ่งจะทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการกำหนดนโยบายและระบุถึงสภาพปัญหาที่สำคัญๆ ได้


อีกประการหนึ่ง ให้กระทรวงยุติธรรมริเริ่มการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้น  ซึ่งเป็นหนทางที่จะยุติการที่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล (Ending Impunity)  เช่น  ระบบการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนด้วย  ส่งเสริมให้มีพนักงานอัยการสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพในการคัดกรองคดี  ส่งเสริมให้มีการนำนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนและสาธารณะชนโดยให้มีความเป็นมืออาชีพ  มีประสิทธิภาพ และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพื่อให้การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ (โดยเฉพาะคดีฆ่าสังหาร) มีผลการดำเนินคดีที่โปร่งใส เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


 


ประการสุดท้าย ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น มาตรา 150 กรณีการไต่สวนการตาย  การชันสูตรพลิกศพ  และการผ่าศพพิสูจน์ ตามหลักการตามกฎหมายและหลักความเชื่อทางศาสนาที่ถูกต้อง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยดำเนินการคลี่คลายปัญหาความไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมและต่อการอำนวยความยุติธรรมต่อรัฐให้มีน้อยลง จนเป็นความไว้วางใจและมั่นใจในระบบยุติธรรมในที่สุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net