Skip to main content
sharethis

ผู้หญิง และการติดเชื้อ

ปัจจุบัน เอดส์เป็นโรคที่ทำให้ผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาตายเป็นอันดับหนึ่ง รวมทั้งผู้หญิงผิวดำในสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญคือ จำนวนผู้หญิงที่ติดเชื้อสูงกว่าผู้ชายด้วยซ้ำไป เราจะตามไปดูสาเหตุที่ผู้หญิงติดเชื้อและมีสถานการณ์ที่ย่ำแย่กว่าผู้ชาย โดยพาไปดูผู้หญิงในพื้นที่ 3 แห่ง

ดาร์ลีน จอห์นสัน เป็นผู้หญิงอเมริกันผิวดำที่อาศัยในย่านฮาเล็มในปี 1955 และมีสามีติดเฮโรอีน เธอถูกทิ้งให้อยู่กับลูกสองคน หลังจากนั้นจึงได้แต่งงานใหม่และมีลูกอีก 2 คน ในขณะที่เธอจนและไม่สามารหาเงินได้ เธอก็พบว่าทั้งเธอและลูกคนเล็กสองคนติดเอชไอวี ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งผู้คนยังรังเกียจผู้ติดเชื้ออย่างมาก เธอสามารถพึ่งพิงคนในครอบครัวเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถให้การช่วยเหลืออะไรได้มากมายนัก ลูกของเธอบางส่วนถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวอื่น หรือ ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ในขณะที่ลูกคนเล็กสุดตายจากไป

กุยลีน เกิดในที่ราบภาคกลางของเฮติ ชีวิตเธอคล้ายๆ กับคนอับโชคทั่วไป เมื่อยังเป็นวัยรุ่นไม่มีทางเลือกต้องเป็นภรรยาน้อยของชายชาวนาคนหนึ่ง เธอมีลูกสองคนแต่ถูกภรรยาคนแรกบังคับให้เลิกกับสามี ต่อมาจึงไปแต่งงานกับ ออสเนอร์ ช่างซ่อมรถในปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ แล้วจึงได้ย้ายไปอยู่ในสลัม Cite Soleil เธอทราบข่าวว่า ลูกชายซึ่งอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของเธอตายอย่างปัจจุบันทันด่วน และพบว่าสามีก็ตายในเวลาต่อมา ทำให้เธอต้องออกไปหางานทำเป็นคนรับใช้ ขายของข้างถนน จนถึงขายบริการทางเพศ

แล้วเธอได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่เธอต้องเผชิญอยู่นั้นไม่ใช่โชคชะตาที่ทำร้ายเธอ แต่เป็นเพราะเอดส์ เธอพบว่าเลือดเธอเป็นบวก แต่ช่วงเวลานั้น เธอก็ยังคบผู้ชายอีกสองคน คนแรกเดินทางไปโดมินิกันแล้ว ไม่เคยเดินทางกลับมาอีกเลย ส่วนอีกคนนั้นเป็นทหารที่แต่งงานแล้ว แม้ว่าหมอฟาร์เมอร์จะพยายามอธิบายให้เธอฟังถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน กุยลีน ทราบถึงอันตรายนี้ แต่มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเธอว่า จะมีลูกคนต่อไปหรือไม่ หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันอะไรได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เธอยอมที่จะกิน Nevirapin ซึ่งทำให้ลูกของเธอเมื่อคลอดออกมาไม่ติดเชื้อเอชไอวี

ลาต้า ถูกพ่อขายตั้งแต่ยังเด็กด้วยราคา 15,000 รูปีให้กับนายหน้าซึ่งหาเด็กสาวไปให้ซ่องในบอมเบย์ ประเทศอินเดีย เธอถูกข่มขืนจากแมงดาและถูกบังคับให้ขายตัวกับพี่น้องร่วมชะตากรรมอีก 50,000 คน เธอพบว่าเธอไม่สามารถที่จะจ่ายเงินที่พ่อเธอรับไปแล้วคืนได้ ในปี 1990 เธอได้รู้ว่า เธอติดเชื้อเอชไอวี

ดาร์ลีน กุยลีน และ ลาต้า มีความเหมือนกันในบางมุม

หนึ่ง พวกเธอเป็นคนจน ไม่สามารถเข้าถึงบริการการรักษา การศึกษา และมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับการป้องกันและการรักษา

สอง ความยากจนในพื้นที่ เป็น "ตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง" ที่แย่ที่สุดคือทั้งสามคนไม่มีโอกาสได้เลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย

การตัดสินใจที่พวกเธอเหล่านั้นทำลงไป เชื่อมโยงกับความยากจนและการถูกกดขี่ในฐานะผู้หญิง ยิ่งไปกว่านั้น พวกเธอไม่มีทางที่จะหลบหนีความยากจนและเอดส์ ขณะที่ผู้หญิงบางคนได้รับการปกป้องให้รอดพ้นจากการติดเชื้อ แต่ด้วยสถานะและเพศของผู้หญิงบางคน ทำให้พวกเธอตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างยิ่ง ส่งผลให้เกิดการกระจายของเอดส์ในหมู่ผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนา นักมนุษยวิทยา คือ Brooke Schoepf สรุปว่า "ยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดของผู้หญิงนำไปสู่ยุทธศาสตร์แห่งความตาย"

จากตัวอย่างข้างต้น กำลังบอกอะไรกับเรา ในยุทธศาสตร์การป้องกัน ผู้ปฏิบัติงานต้องส่งเสริมการให้ความเป็นจริงเกี่ยวกับการกระจายตัวของโรคให้สาธารณชนได้รับรู้ สอง ยุทธศาสตร์ควรมุ่งเป้าไปที่วัยรุ่นเนื่องจากเป็นวัยเจริญพันธ์ โดยพิจารณาทั้งเรื่องเพศ และปัจจัยทางสังคม สาม การให้การรักษาและป้องกันโรคต้องตอบสนองต่อความเร่งด่วนของเหยื่อ สุดท้ายผู้หญิงซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและอ่อนแอที่สุดต้องได้รับการเสริมสร้างอำนาจ มากกว่าการไปบอกว่า พวกเธอสามารถควบคุมดูแลชีวิตตัวเองได้

"แทนที่จะโทษผู้หญิง ต้องปกป้องผู้หญิง" ดังนั้น มันจึงมีวาระสำคัญที่วงการแพทย์ต้องตระหนักถึงการใช้ความไม่เท่าเทียมกันในระดับท้องถิ่นเพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบที่ผู้หญิงยากจนทั่วโลกเผชิญอยู่จากตัวอย่างในระดับท้องถิ่น

Brooke Schoepf สรุปว่า "ถ้าความยากจน ความไม่มีอำนาจ ความสิ้นหวัง ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาในความพยายามที่จะเข้าใจเอดส์ในบริบทความสัมพันธ์ทางเพศ ก็จะทำให้เอชไอวีเอดส์กระจายตัวต่อไป"

 

รายงานชุด ‘Power & Health’

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net