SIU: ความท้าทายวิถีเอเชีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่มา: Leader: ความท้าทายวิถีเอเชีย, http://www.siamintelligence.com/

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายนปีที่ผ่านมา ชายชราชาวสิงคโปร์วัย 82 ปี ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักกันเท่าใดนัก ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลตันต๊อกเส็ง ที่ประเทศสิงคโปร์ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว

ชายผู้นี้มีนามว่า "โจชัว เบนจามิน เจยารีทนัม" (Joshua Benjamin Jeyaretnam) หรือ "เจ.บี.เจ" อดีตหัวหน้าพรรคกรรมกรในสิงคโปร์ และเป็นคนแรกที่ทำลายการผูกขาดทางการเมืองของพรรคกิจประชาชน (People action party) ที่ดำรงเสียงข้างมาก ได้รับการเลือกตั้ง 100% และบริหารประเทศสิงคโปร์นับแต่แยกประเทศออกจากมาเลเซียเมื่อปี พ.ศ. 2508 มาเป็นเวลา 44 ปี

"เจ.บี.เจ" เอาชนะการเลือกตั้งซ่อมในเขตอันซุ่น (Anson) เมื่อปี พ.ศ. 2524 ด้วยคะแนนเสียง 51.9% นับเป็นครั้งแรกที่พรรคกิจประชาชนที่นำโดยนาย "ลีกวนยู" ในขณะนั้น ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ทนายความที่เป็นตัวแทนของเสียงจากชนชั้นล่างเช่นนี้ ถัดจากนั้นมา ในปี พ.ศ. 2527 "เจ.บี.เจ" ยังได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้งด้วยคะแนนเสียง 56.8% ยังนับว่ามากกว่าเดิมอีก ที่สำคัญมี ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านอื่นเข้ามาในสภาด้วยอีกหนึ่งเสียง และนับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน พรรคกิจประชาชนก็ไม่เคยได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 100% เหมือนช่วงการเลือกตั้งก่อนหน้าปี พ.ศ. 2524 อีกเลย

คำปราศรัยฉลองชัยชนะครั้งที่สองของ "เจ.บี.เจ" ที่อันซุ่น ว่า "ประชาชนที่รักของผม พวกคุณทำได้อีกแล้ว พวกคุณต้านทานการรุกของพรรคกิจประชาชนเอาไว้ได้" เปรียบดังคมมีดที่บาดลึกลงไปในจิตใจแกนนำพรรคกิจประชาชน และนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับการชนะการเลือกตั้งของเขา เพียงภายในเวลาสองเดือนหลังการเลือกตั้ง "เจ.บี.เจ" ถูกตั้งข้อหาแจ้งเท็จบัญชีการเงินของพรรคกรรมกร เขาถูกปรับเป็นเงิน 5,000 เหรียญสิงคโปร์ และถูกตัดสินลงโทษให้จำคุกในควีนส์ทาวน์เป็นเวลาสามเดือน (ต่อมาลดเหลือเพียงหนึ่งเดือน) นั่นหมายถึงเขาต้องละเก้าอี้ ส.ส. ในสภา ทั้งยังถูกเพิกถอนสิทธิการเป็นทนายความไปด้วย

โดยอาศัยสถานะที่สิงคโปร์เป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ "เจ.บี.เจ" พยายามอุทธรณ์คำตัดสินของศาลผ่านสภาองคมนตรีในกรุงลอนดอน ภายหลังสภาองคมนตรีได้ตัดสินว่าเขาไม่ผิด โดยระบุว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม แม้ "เจ.บี.เจ" พยายามเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีสิงคโปร์เพื่อยกเลิกความผิดของเขา แต่ประธานาธิบดี และศาลสิงคโปร์ไม่ยอมให้อภัยโทษตามคำขอส่งผลให้ "เจ.บี.เจ" ยังหมดสิทธิ์การลงรับเลือกตั้ง


"เจ.บี.เจ" พยายามขายหนังสือที่เขาแต่งขึ้นเองให้กับคนสิงคโปร์ที่เดินผ่านไปมา
(ภาพจากสารคดี
Discovery Channel)

ต่อมาสมาชิกพรรคกิจประชาชนซึ่งก็รวมถึงนาย "ลีกวนยู" ได้ฟ้องร้อง "เจ.บี.เจ" ในข้อหาหมิ่นประมาทหลายครั้ง เขาต้องใช้เงินไปมากกว่า 1.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสู้คดีรวมไปถึงค่าชดใช้จากการแพ้คดี ในปี พ.ศ. 2544 เขาถูกประกาศให้ล้มละลาย ถูกเพิกถอนสิทธิการเป็นทนายความ และถูกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง ในฐานที่ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ ส่งผลให้เขาต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกรรมกร เขาพยายามต่อสู้นอกสภาด้วยการขายหนังสือการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบทความเกี่ยวกับการโจมตีนโยบายของรัฐบาล แต่ดูเหมือนไม่มีคนให้ความสนใจหนังสือของเขาเท่าใดนัก

ในปี พ.ศ. 2550 เมื่อเขาสามารถชำระหนี้สินจำนวน 2.33 แสนเหรียญสิงคโปร์ได้ เขาก็ได้รับการถอนสถานะล้มละลาย และได้รับสิทธิการว่าความคืนอีกครั้ง ในขณะที่ "เจ.บี.เจ" กำลังพยายามต่อสู้ครั้งใหม่ด้วยการร่วมก่อตั้งพรรคปฏิรูป แต่ในที่สุดเงื้อมมือมัจจุราชได้ห้ามชายนักสู้ผู้ไม่เคยยอมแพ้แม้กระทั่งลมหายใจสุดท้าย จากการต่อสู้ทางการเมืองตลอดไปเสียแล้ว

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศสิงคโปร์แม้จะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทั้งยังไม่ลังเลที่จะเล่นงานฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลด้วยข้อหาทางการเมือง เหตุผลที่เราคุ้นเคยกันคือเพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อให้สถานะของประเทศเหมาะสมกับการลงทุน และเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ เมื่อเราไล่สำรวจประเทศในแถบชายฝั่งแปซิฟิค ไล่ระจากเปียงยาง, มาปักกิ่ง, ฮานอย, กรุงเทพฯ, กัวลาลัมเปอร์, สิงคโปร์, จาการ์ตา, ฯลฯ ไปจนถึงเนปีดอ เราจะพบเหตุผลที่ขอ (หรือบังคับกลายๆ) ให้ประชาชนยินยอมเสียสละสิทธิเสรีภาพ เพื่อบูชายัญให้กับบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่เป็นข้อห้ามเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รัฐบาลปักกิ่งถึงกับติดตั้ง เกรตไฟร์วอลล์ (Great Firewall) เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อยู่นอกประเทศ "บางแห่ง" จากผู้ใช้โดยทั่วไป

แม้ว่าจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่อุดมการณ์ปฏิวัติของลัทธิคอมมิวนิสต์, ข้อห้ามทางศาสนา, ระบอบการปกครองบางประเภท ไปจนถึง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่โดยส่วนใหญ่เหตุผลเหล่านี้สามารถนับรวมเอาเป็นเรื่องเดียวกันได้ว่า เนื่องจากเหตุผลด้าน "ความมั่นคงของประเทศ" และน่าแปลกที่ในประเทศต่างๆ เหล่านี้ชนชั้นนำเชื่อมโยงสิทธิอันชอบธรรมในการปกครองประเทศเข้ากับ "ความมั่นคงของประเทศ" ดังกล่าวไว้โดยไร้รอยต่อ

หากสืบสวนประวัติความเป็นมาของแต่ละรัฐชาติในเอเชีย จะพบว่าเหตุผลเหล่านี้ใช่ว่าจะกลวงเปล่าเอาเสียเลย เหตุผลด้าน "ความมั่นคงของประเทศ" เหล่านี้เกี่ยวพันกับการสร้างชาติในยุคที่ชาติเอเชียเหล่านี้พ้นจากการเป็นประเทศในอาณานิคมของจักรวรรดิตะวันตกอยู่ไม่น้อย ประเทศสิงคโปร์ในสถานะที่แยกตัวออกจากประเทศมาเลเซียด้วยความขัดแย้งระหว่างชาวพื้นเมืองมาเลย์และชาวจีน รวมไปถึงการไร้ซึ่งทรัพยากรตามธรรมชาติ นั่นจึงส่งผลให้ชนชั้นนำสิงคโปร์เห็นพ้องว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นการประกันความอยู่รอดของรัฐชาติสิงคโปร์ และประชาชนก็เชื่อเช่นนั้น สูตรสำเร็จเรื่อง "การปิดกั้นทางการเมือง" - "การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ" - "รัฐวิสาหกิจที่แข่งขันได้" กลายเป็นที่มาของความมั่งคั่งของประเทศ และถูกโหมประโคมจากนายลีกวนยูว่า นี่คือ "วิถีเอเชีย" ซึ่งแตกต่างจาก "วิถีตะวันตก" ที่เน้นหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพ ต่อมานอกจากนายลีกวนยูแล้ว ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้นำมาเลเซียก็ใช้คำ "วิถีเอเชีย" เดียวกันนี้ตอบโต้ชาติตะวันตกหลายครั้ง

ในขณะที่สิงคโปร์ยอมเสียสละสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็น เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งที่กรุงเทพฯ นอกจากตัวเลือกดังกล่าว เรายังยอมเสีย "การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ" เพื่อบูชายัญให้กับความมั่นคงของประเทศอีกโสตหนึ่งด้วย


ภาพจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิรายเดือน ในปี 2551,
ที่มา - สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว

ในปีที่แล้วความขัดแย้งในช่วงการชุมนุมระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และรัฐบาลสมัคร (ต่อมาเป็นรัฐบาลสมชาย) ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหดหายไปเป็นจำนวนมาก เราจะยิ่งเห็นการลดลงของนักท่องเที่ยวเหล่านี้พ้องกับการชุมนุมรุกคืบของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อกดดันรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายสงครามเก้าทัพครั้งที่ 1 (20 มิถุนายน 2551), สงครามเก้าทัพครั้งที่สอง การเข้ายึด NBT และทำเนียบรัฐบาล (26 สิงหาคม 2551), การสลายการชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล (29 สิงหาคม 2551), การสลายการชุมนุมในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ พยายามล้อมรัฐสภา (7 ตุลาคม), การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ (25 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2551) โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวซึ่งตามปกติถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นของประเทศ (ปกติจะต้องมีตัวเลขสูงกว่าช่วงเดือนมกราคม)

ลำพังตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเครื่องบินของปี 2551 ลดลงจากปี 2550 ถึง 2 ล้านคน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ททท. ตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยที่ 15.7 ล้านคน (ตัวเลขนักท่องเที่ยวของปี 2550 รวมทุกช่องทางอยู่ที่ 14.4 ล้านคน) และประมาณการรายได้ 6 แสนล้านบาท (เฉลี่ยรายได้จากนักท่องเที่ยว 3.8 หมื่นบาทต่อคน) เท่ากับว่าลำพังเฉพาะช่องทางการเดินทางโดยการบินเราสูญเสียรายได้ที่ยืนพื้นไปแล้ว 7 หมื่น 6 พันล้านบาท (หากนับเป็นยอดคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่มีอัตราการเติบโตขึ้น จะมียอดเสียหายจากการท่องเที่ยวมากกว่านี้อีกมาก)

คำกล่าวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผ่านรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยลดลง 20% ซึ่งตรงกับหลายๆประเทศทั่วโลกที่มีการเดินทางลดลง 20% เช่นเดียวกันนั้นจึงเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว เพราะเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2551 การท่องเที่ยวมาเลเซียให้ข่าวว่ามาเลเซียบรรลุเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ 22.9 ล้านคน ในปี 2551 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 20.9 ล้านคน ในปี 2550 ทั้งที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เราคงยากที่จะเห็นรัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการเอาผิดใดๆ กับการปิดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปีกลาย ถ้าไม่โดยเหตุผลมาตรฐาน "เพื่อความสมานฉันท์" ก็คงเป็นเพราะข้อสงสัยว่าพรรคประชาธิปัตย์ มีความสัมพันธ์และเป็นผู้ร่วมได้ประโยชน์จากการขับไล่รัฐบาลชุดก่อนของกลุ่มพันธมิตรฯ นั่นเอง และแล้วเรื่องนี้ก็คงจะเงียบหายไปกับสายลม และรัฐบาลก็คงเข้มงวดและให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในฐานะภารกิจเร่งด่วนอันดับหนึ่งของรัฐบาล พร้อมทั้งเหตุผลสำคัญว่า "นี่เป็นเรื่องของประเทศไทย"

ซึ่งก็ไม่ต่างกับ "วิถีเอเชีย" ที่ประกาศโดยวาระและเหตุผลที่แตกต่างกันโดยประเทศเอเชียต่างๆ ที่เรายกมาแต่ต้นแล้ว

หากแต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ยุคอุตสาหกรรมกำลังร่วงโรยลงและจากไปกับศตวรรษที่ 20 พร้อมทั้งอรุณรุ่งของยุคข้อมูลข่าวสารในทศวรรษที่ 21 ได้สร้างโครงสร้างที่เรียกว่า "อินเทอร์เน็ต" และอินเทอร์เน็ตกำลังกลายเป็นสถานที่ที่แทบไม่ต่างกับ "แมนเนอร์" ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะชนชั้นกระฎุมพีในยุคฟิวดัลสมัยกลาง แหล่งซึ่งห่างไกลและยุ่งยากต่อการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร กฎหมายที่ยังตามไม่ทันแห่งนี้ รวมถึงแรงกดดันต่อประเทศเอเชียและประเทศในโลกที่จำต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องพึ่งพิงความรู้ และต้องการคนงานที่มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ และโดยส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้จะมีระบบความคิดที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงเขาต้องการเสรีภาพในความคิดมากขึ้น

นั่นจะยิ่งเป็นสิ่งท้าทาย "วิถีเอเชีย" นี้มากขึ้นทุกที

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท