Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม "การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อสิทธิของประชาชนปะทะแนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ: กรณีมาบตาพุด"


 


บทความนำเสนอในเวทีวิชาการ "การเมืองภาคประชาชน" เนื่องในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 .. 2551 เมื่อวันพุธที่ 3 ธ.ค.51 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


ทศพล ทรรศนกุลพันธ์


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


 


 


บทคัดย่อ


 


บทความนี้มีแนวทางการดำเนินการศึกษาอยู่บนโจทย์ที่ว่า "บทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นอุปสรรคอย่างไรต่อประชาชนที่จะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจะมีข้อเสนอแนะเพื่อทำการแก้ไขอุปสรรในทางกฎหมายเหล่านั้นอย่างไร"


 


จากโจทย์ดังกล่าวจึงมีประเด็นหลักที่ได้ทำการศึกษาวิจัยจนได้ผลลัพธ์ออกมา 3 ประเด็นด้วยกัน คือ


 


1. แนวคิดและหลักกฎหมายที่ใช้ศึกษาปัญหาอุตสาหกรรมในบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีดังต่อไปนี้


1) หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


2) หลักการกฎหมายสิ่งแวดล้อม


3) แนวคิดหน้าที่ของรัฐ


4) แนวคิดการพัฒนาระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อม


 


2. สภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจากอุตสาหกรรมในบริเวณเขตมาบตาพุด มีดังต่อไปนี้


1) ภาพรวมของปัญหาที่ได้จากพื้นที่ ทั้งปัญหาจากภาครัฐ (ราชการ Top-Down) ปัญหาที่เกิดกับภาคประชาชน (Bottom-Up)


2) ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของประชาชนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด ที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม


3) บทวิเคราะห์ในเชิงระบบในมิติทางกฎหมาย พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ.2535 ยังไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกระบวนการติดตามผลหลังจากได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการ ทำให้ประชาชนใช้สิทธิผ่านช่องทางอื่นแทนเช่น การชุมนุมเรียกร้อง การปิดถนนประท้วง ซึ่งอาจเกิดความรุนแรงตามมา


 


3. ลู่ทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาจากอุตสาหกรรมในบริเวณเขตมาบตาพุด


การปรับโครงสร้างองค์กรในพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม บูรณาการอำนาจหน้าที่องค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ทำงานได้เบ็ดเสร็จ ส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ (โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรม) ปรับระบบการฟ้องร้องคดีในชั้นศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและความเสียหาย นำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้ (Class Action) ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การจัดระบบระงับข้อพิพาทในพื้นที่พิเศษ (นิคมอุตสาหกรรม) สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชน


 


รัฐไทยมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศโดยตั้งอยู่บนทัศนคติในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ดังนั้นมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจึงมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มีอิสรเสรี และปลอดจากพันธนาการต่างๆมากที่สุด หนึ่งในนั้นก็คือ นโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยลดความสำคัญของการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นกับประชาชนอันเนื่องมากจากการประกอบกิจการของอุตสาหกรรม ด้วยเหตุบีบคั้นที่ว่า หากรัฐบังคับใช้มาตรการทางสิ่งแวดล้อมต่ออุตสาหกรรมมากก็จะทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ กลายเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งเสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิตไปยังรัฐอื่น ดังนั้นนโยบายของภาครัฐจึงมีลักษณะเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมมาก หนทางที่พอจะทำให้ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมได้ จึงน่าจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมากขึ้น ซึ่งจะได้นำเสนอในบทความดังต่อไปนี้


 


บทความนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า "บทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นอุปสรรคอย่างไรต่อประชาชนที่จะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจะมีข้อเสนอแนะเพื่อทำการแก้ไขอุปสรรในทางกฎหมายเหล่านั้นอย่างไร"


 


จากโจทย์ดังกล่าวจึงมีประเด็นหลักที่ต้องทำการศึกษาวิจัยจนได้ผลออกมา 3 ประเด็นด้วยกัน คือ


 



  1. แนวคิดและหลักกฎหมายที่ใช้ศึกษาปัญหาอุตสาหกรรมในบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

 



  1. สภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจากอุตสาหกรรมในบริเวณเขตมาบตาพุด

 



  1. แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมในบริเวณเขตจากมาบตาพุด

 


ซึ่งได้ผลการศึกษาวิจัยออกมาดังนี้


 


แนวคิดและหลักกฎหมายที่ใช้ศึกษาปัญหาอุตสาหกรรมในบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด


 


แนวคิดและหลักกฎหมายที่ใช้ศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา มีดังต่อไปนี้


 


1)     หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบสองขั้วอำนาจหรือสองค่าย คือ เสรีนิยมและสังคมนิยมมาสู่ระบบการปกครองที่ประชาชนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศมิใช่ปล่อยให้ผู้บริหารรัฐดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นในอดีต [1] การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทำให้รัฐไม่ใช่องค์กรที่เป็นศูนย์กลางการผูกขาดอำนาจในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไว้ทั้งหมด แต่รัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดระบบระเบียบของสังคมและเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือกลุ่มองค์กรอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม


 


สำหรับประเทศไทยในระยะที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 การบริหารงานภาครัฐนั้นมีลักษณะเป็นระบบปิด (closed system) ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการมากนัก ทั้งในส่วนของการกำหนดนโยบายและการใช้อำนาจทางปกครองทั้งหลายรวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากร ปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการบริหารงานโดยภาครัฐทำให้ถูกตั้งคำถามถึง การทุจริตและการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนต่าง ๆ ในการพัฒนาและปฏิรูประบบราชการในช่วงรัฐบาลที่มีนาย อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2534 ได้เน้นถึงการบริหารราชการบนหลักการสองข้อ คือ ต้องมีความโปร่งใส (transparency) และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (public participation) การบริหารงานภาครัฐภายใต้หลักการสองข้อนำไปสู่การกล่าวถึงอีกหลักการหนึ่งที่เรียกกันว่าหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยเฉพาะที่เรียกว่า ธรรมาภิบาลเชิงกระบวนการที่ให้ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมใน 5 ระดับ คือ [2]


 


1. การร่วมรับรู้


2. การร่วมให้ข้อมูล-ความเห็น


3. การร่วมตัดสินใจ


4. การร่วมกระทำการ


5. การร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


 


หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับกันในระดับสากลและหลักการมีส่วนร่วมตามหลักการธรรมภิบาลได้ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 รวมทั้งกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่างๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้


 


สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 ได้ยอมรับหลักการนี้ในมาตรา 58 ซึ่งบัญญัติว่า


 


"บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลข่าวสารหรือข่าวสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ"


 


และในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 ได้ยอมรับหลักการนี้ในมาตรา 56 ซึ่งบัญญัติว่า


 


"บุคคลย่อมมีสิทธิได้ทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชนหรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ"


 


กฎหมายที่รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ กำหนด คือ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้ [3]


 


1.ให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการมากขึ้น


2.ให้ประชาชนสามารถปกปักรักษาประโยชน์ของตนได้ดีขึ้น


3. ให้ความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล


 


นอกจากนั้นพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ยังกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการไว้ 2 ประการใหญ่ๆ คือ [4] หลักที่ว่าผู้ขอไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือประโยชน์เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่ขอ และหลักที่ว่า "เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น"


 


นอกจากนั้น การร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ สามารถอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณารับอุทธรณ์ว่าจะให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่ในลักษณะองค์กรกึ่งตุลาการที่ทำหน้าที่ชี้ขาดซึ่งจะทำให้การคุ้มครองสิทธิการขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น


 


สิทธิในการได้รับข้อมูล คำชี้แจงและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน เช่นกัน ในมาตรา 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้


 


"สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิ์ภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับการคุ้มครองตามความเหมาะสม


 


การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นของประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว"


 


ปัจจุบันรัฐได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ และเป็นวิธีการตามกฎหมายเพียงฉบับเดียวที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่ารัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550จะได้รับรองสิทธิของประชาชนไว้ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองโดยตรง เมื่อพิจารณาถึงลำดับชั้นของกฎหมายก็เป็นที่น่าสังเกตว่า สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้นต้องตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเป็นหลัก แต่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้นอยู่ในชั้นของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น การกำหนดเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติของฝ่ายบริหารที่ใช้บังคับกับส่วนราชการฝ่ายบริหารให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปและต้องปฏิบัติตามโดยตรง


 


สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อเกิดการจัดการของภาครัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่ายนั้นจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไว้ในมาตรา 67 วรรคสาม ดังนี้


 


"สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับการคุ้มครอง"


 


สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม คือ การให้สิทธิประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการปฏิบัติราชการทางปกครอง มีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในฝ่ายปกครอง และสามารถดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้มีการทบทวนการใช้อำนาจในทางปกครองของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการชดใช้เยียวยาความเสียหาย การดำเนินกระบวนการพิจารณาทางปกครอง โดยเฉพาะในส่วนของการออกคำสั่งทางปกครอง หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามวิธีการปฏิบัติราชการในการออกคำสั่งนั้น


 


การให้สิทธิแก่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 ได้รับรองถึงสิทธิชุมชน เช่นกัน โดยมาตรา 66 บัญญัติว่า


 


"บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน"


 


หลักการมีส่วนร่วมที่ได้รับการยอมรับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นำไปสู่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมที่จะเข้าร่วมกับภาครัฐในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การยอมรับในหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ต้องถือว่า ประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียลำดับต้น (primary stakeholders) ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่อย่างไรก็ตามระดับของการมีส่วนร่วมก็มีการแบ่งไว้หลายระดับ เช่น


 


1. รัฐรวมศูนย์วางแผนและดำเนินการเอง


2. รัฐร่วมวางแผนกับประชาชนแต่ รัฐรวมศูนย์ดำเนินการเอง


3. รัฐร่วมกับประชาชนวางแผนและดำเนินการร่วมกับประชาชน


4. รัฐร่วมกับประชาชนวางแผนและมอบอำนาจให้กับประชาชนไปทำ


5. รัฐมอบอำนาจให้กับประชาชนวางแผนเองและดำเนินการเองทั้งหมด [5]


 


โดยจะต้องกระทำอยู่บนพื้นฐานของ


 


หลักนิติธรรม (Rule of Law) การปกครองระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจไปตามอำเภอใจไม่ได้ การกระทำใด ๆ จะต้องอาศัยกฎหมายให้อำนาจในการกระทำการนั้นๆ


 


หลักคุณธรรม (Integrity) กระบวนการในการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องประกอบไปด้วยหลัก "คุณธรรม" ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายหรือการกำหนดนโยบายก็ตาม การใช้อำนาจรัฐนั้นจะต้องคำนึงถึงคุณธรรมประกอบด้วยเสมอ ในที่นี้หมายถึง การให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ฝ่ายปกครองปฏิบัติการต่อบนความเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ


 


หลักความโปร่งใส (Transparency) หลักความโปร่งใสเป็นหลักการที่ยอมรับในหลักธรรมาภิบาล ว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่จะต้องมีความโปร่งและตรวจสอบได้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความสุจริต และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จะต้องมีการปรับปรุงในส่วนของการกำหนดสิทธิหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ลดการใช้ดุลยพินิจของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้น้อยที่สุดให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพราะดุลยพินิจที่กว้างเกินไปเป็นที่มาของการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบและการทุจริตและสร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้น


 


หลักการมีส่วนร่วม (Public participation) หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลักการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่เดิมการบริหารราชการของประเทศไทย เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและเป็นรัฐข้าราชการ คือ ข้าราชการเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารและตัดสินใจทุกสิ่ง การเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยที่เน้นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ภาครัฐจะต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเองให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะต่างๆ


 


หลักความรับผิดชอบ (Accountability) การกระทำใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ในทางปกครอง เมื่อเกิดความเสียหายอย่างใดขึ้นกับประชาชนแล้วนั้น การแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายของภาครัฐเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อที่จะชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ความรับผิดชอบนั้นไม่เฉพาะในรูปของค่าความเสียหายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แม้แต่ในรูปแบบของการออกคำสั่งหรือกฎหมายลำดับรองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เหมาะสม ฝ่ายปกครองจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยกระบวนการ "ยกเลิก" หรือ "เพิกถอน" คำสั่งทางปกครอง [6] หรือกฎนั้นเสียเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นกับประชาชน


 


ทั้งนี้ประชาชนสามารถทำให้หลักการเหล่านี้เป็นจริงได้ผ่านการมีส่วนร่วมทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเรียกร้องให้มีการบังคับตามสิทธิในศาลปกครอง


 


2) หลักการกฎหมายสิ่งแวดล้อม การพัฒนาประเทศที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ละเลยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามจากกระแสความตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศ รัฐบาลได้เพิ่มมาตรการในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ดังที่ได้บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7, 8, 9, 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ได้แก่


 


หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) ประชาชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมจึงควรมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วมของประชาชนมีหลายระดับ ตั้งแต่สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐ สิทธิในการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานราชการ การคัดค้านโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม การที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายจะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด การพัฒนาอย่างยั่งยืน


 


หลักป้องกันความเสียหายไว้ล่วงหน้า (Principle of Precaution) การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่ได้ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) และสุขภาพของประชาชน (Health Impact Assessment หรือ HIA)


 


หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle) ปกติผู้ผลิตจะจัดสรรค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีต้นทุนต่ำสุด เพื่อสร้างผลกำไรให้แก่ตนมากที่สุด โดยมิได้ผนวกความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม (Social Cost) เข้าไปในราคาสินค้าหรือบริการดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าหรือบริการนั้นมิได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle: PPP) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ มาประยุกต์ใช้กับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะต้องรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้น


 


หลักความยุติธรรมระหว่างคนต่างรุ่น (Intergenerational Equity) หลักความยุติธรรมระหว่างรุ่นคน หรือหลักการคำนึงถึงความเสมอภาคของคนรุ่นเดียวกันและชนรุ่นหลัง เป็นแนวความคิดเกี่ยวกับการรักษาคุ้มครองและการปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นปัจจุบัน ให้คงอยู่ไปถึงคนรุ่นอนาคต ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)


 


เป้าหมายสำคัญของหลักความยุติธรรมระหว่างรุ่นคน ได้แก่


 


(1) การส่งมอบโลกใบนี้ไปยังคนรุ่นอนาคตในสภาพที่ไม่เสื่อมโทรมไปกว่าสภาพที่คนรุ่นปัจจุบันได้รับมา


 


(2) การคงไว้ซึ่งความหลากหลายของฐานทรัพยากรเพื่อเปิดให้คนรุ่นอนาคตมีทางเลือกเหลือมากที่สุดสำหรับแก้ปัญหาและตอบสนองคุณค่าที่ยึดถือ


 


(3) คนแต่ละรุ่นต้องจัดให้คนที่มีชีวิตอยู่ในรุ่นของตนมีสิทธิเข้าถึงมรดกที่ตนได้รับมาจากคนรุ่นก่อนอย่างยุติธรรมและต้องอนุรักษ์การเข้าถึงนั้นสำหรับคนรุ่นอนาคต


 


หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เป้าหมายสำคัญของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ รัฐจำต้องวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาสอดคล้องกับความจำเป็นในการคุ้มครองและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มีผลระยะยาวมากกว่าการพัฒนาตัวเลขของอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว


 


ซึ่งหลักการกฎหมายสิ่งแวดล้อมเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในแง่ของการมองมาตรการต่างๆของรัฐในการจัดการปัญหาในพื้นที่ว่าได้มีการตระหนักถึงหลักการเหล่านี้และนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงหรือไม่ รวมถึงการสร้างแนวทางในการเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาในข้อเสนอทางออกของปัญหาต่อไป


 


3) แนวคิดหน้าที่ของรัฐ


รัฐมีสัญญาประชาคมต่อประชาชาติว่าจะทำการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ผ่านทางการจัดบริหารสาธารณะต่างๆเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน อาทิ การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง การวางนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องบนหลักการธรรมาภิบาล โดยยึดถือหลักการบริหารรัฐกิจเหล่านี้เป็นหน้าที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมโดยปราศจากการกำหนดมาตรการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบมารองรับ


 


4) แนวคิดการพัฒนาระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อม


การพัฒนาประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วย


 


การปรับโครงสร้างองค์กรในพื้นที่ การจัดโครงสร้างขององค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังผูกติดกับระบบราชการแบบรวมศูนย์ อาทิ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากหน่วยราชการต่างๆ ข้าราชการการเมือง และผู้ทรงคุณวุฒิอีกส่วนหนึ่ง ทำให้การทำงานยังยึดโยงอยู่กับนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะอิทธิพลจากแนวนโยบายของรัฐบาล อำนาจในการตัดสินใจขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ก็ไม่เด็ดขาด


 


การบูรณาการอำนาจหน้าที่องค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่ใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายฉบับได้วางหน่วยงานรัฐให้เป็นหัวหอกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ด้วยอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ภาระงานล้น ขาดทรัพยากร บุคลากร แต่ดุลยพินิจและอำนาจต่างๆก็ยังคงผูกติดกับหน่วยงานต่างๆ และกระจัดกระจายกันไปตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนดว่าให้หน่วยงานใดเป็นผู้ถือกฎหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบูรณาการอำนาจรัฐให้เป็นหนึ่งเดียวในการแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นเพื่อลดขั้นตอนการตัดสินใจหรือเดินเรื่อง เพื่อให้มีการแก้ปัญหาและเยียวยาสิทธิให้กับประชาชนได้สะดวก รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


 


การปรับเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ (โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรม) รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้วางแนวทางในการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม การยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรนี้ว่า หากมีการยื่นของอนุมัติโครงการที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำเป็นต้องมีการนำเสนอแบบประเมินผลกระทบเข้าสู่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมก่อน ก็จะเป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบการของโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูลการดำเนินการของโครงการเหล่านั้นมากขึ้นกว่าเดิม


 


การเข้าถึงพยานหลักฐานที่อยู่ในครอบครองของเอกชน การยื่นของอนุมัติโครงการที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำเป็นต้องมีการนำเสนอแบบประเมินผลกระทบเข้าสู่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมก่อน ก็จะเป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบการของโครงการเอกชนที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูล


 


การปรับระบบการฟ้องร้องคดีในชั้นศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและความเสียหาย การพิสูจน์ความผิดและความเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมโดยรับเอาแนวคิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่มาใช้ อาทิ การรับเอาแนวคิดเรื่องความเสียหายของผู้ได้รับสารพาหะแต่อาการยังไม่ปรากฏมาปรับใช้ พัฒนาการกำหนดความเสียหายในเชิงลงโทษให้เข้าสู่ระบบกฎหมายของไทย ควรมีการสร้างบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายในการทำงาน [7] การระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมอาจมีข้อพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้มีกระบวนการหรือองค์กรระงับข้อพิพาทในพื้นที่ การนำระบบกองทุนสิ่งแวดล้อมเข้ามาสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม


 


การนำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้ (Class Action) การรับเอาหลักการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาใช้กับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องยอมรับ "หลักการดำเนินคดีโดยผู้แทนคดี" เสียก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้แต่งตั้งผู้อื่นขึ้นมาดำเนินคดีแทนตัวผู้เสียหายได้ เมื่อนั้นจึงจะสามารถแต่งตั้งบุคคลอื่นขึ้นเป็นคู่ความผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่มได้  [8]


 


การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับมากขึ้นเนื่องจากมีลักษณะยืดหยุ่นและดึงดูดให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมากว่าการควบคุมและบังคับโดยกฎหมายอย่างเคร่งครัด การพัฒนามีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่การก่อกำเนิด "หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (PPP-Polluter Pays Principle)" ต่อมาได้ปรับและพัฒนาจนทำให้ผู้ใช้สินค้าซึ่งมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต้องรับภาระค่าเสื่อมโทรมของธรรมชาติจากการใช้สินค้าด้วยจนแปรเป็น "หลักผู้ใช้เป็นผู้จ่าย (UPP-User Pays Principle) แต่ภายหลังได้มีการตระหนักถึงการแก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจึงสร้าง "หลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle)" เพื่อป้องกันผลกระทบจากกิจกรรมซึ่งอาจมีผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการประเมินความเสี่ยงประกอบการตัดสินใจว่าจะป้องกันความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร สำหรับกิจกรรมบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงผู้ประกอบการอาจจะต้องทำประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่ตนได้ดำเนินการไป (Performance Bonds) แนวคิดในการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มีหน่วยงานเข้ามาจัดทำกฎหมายรองรับเพื่อบังคับใช้ให้เป็นจริงในรูปแบบ มาตรการทางภาษีและการคลังในการจัดการสิ่งแวดล้อม


 


การจัดการปัญหาที่เกิดจากผู้ประกอบการโดยใช้หลักธรรมาภิบาล และบรรษัทภิบาล (CSR) รัฐมีสัญญาประชาคมต่อประชาชาติว่าจะทำการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ผ่านทางการจัดบริหารสาธารณะต่างๆเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน อาทิ การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง การวางนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องบนหลักการธรรมาภิบาล โดยยึดถือหลักการบริหารรัฐกิจเหล่านี้เป็นหน้าที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมโดยปราศจากการกำหนดมาตรการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบมารองรับ รวมถึงกระตุ้นให้บรรษัทดำเนินกิจการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่สร้างผลกำไรโดยผลักภาระไปยังสังคม


 


การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น อันจะนำประโยชน์มาให้กับโครงการหลายประการ อาทิ เกิดทางเลือกใหม่และพิจารณาอย่างรอบคอบ ลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียเวลา สร้างฉันทามติทางการเมืองร่วมกันและเกิดความชอบธรรม ลดความขัดแย้งเมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติ ลดการเผชิญหน้าความรุนแรงในพื้นที่


 


มาตรการคุ้มครองชั่วคราวในพื้นที่ประสบปัญหา การกำหนดให้มีแนวนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานและมีการจ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ หากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคมบ่งชี้ว่าโครงการจะสร้างผลกระทบแก่ประชาชนอย่างรุนแรงกว้างขวางจนต้องมีการอพยพถิ่นที่อยู่ของประชากร หรือมีการเวนคืนและการจ่ายค่าเสียหาย ก็จำเป็นต้องทำรายละเอียดให้เหมาะสมกับผลกระทบจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงกำหนดแผนการตั้งถิ่นฐานใหม่และกำหนดค่าชดเชย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงพิเศษ


 


การจัดระบบระงับข้อพิพาทในพื้นที่พิเศษ (นิคมอุตสาหกรรม) รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้วางแนวทางในการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อช่วยตรวจตราและวางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องติดตามการจัดตั้งองค์กรนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่อย่างไร สามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่ โดยมีแนวโน้มจากการยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรนี้ว่า จะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดหรือพื้นที่ขึ้น หากมีการให้ความสำคัญกับความพิเศษและแตกต่างของพื้นที่ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมก็อาจช่วยให้มีการคัดกรองการจัดตั้งโครงการและการดำเนินการของผู้ประกอบการว่าได้ทำไปตามกฎหมายและแผนงานหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการลดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในเบื้องต้น และมีแนวทางที่ชัดเจนในการระงับข้อพิพาทภายหลังหากเกิดปัญหาจากการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปภายหลัง


 


การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การนำเอาระบบ Citizen Suit มาปรับใช้ในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้มีผลเสียหายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรงสามารถนำเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้ [9] ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและประชาสังคมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มักเป็นกลุ่มคนชายขอบซึ่งไม่มีความสามารถในการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายได้มากนัก และเป็นการกระตุ้นความตื่นตัวของภาคประชาชน โดยมีช่องทางสื่อสาธารณะรูปแบบต่างๆ ก็เป็นตัวช่วยในการนำเสนอข้อมูลการทำงานและสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังเชื่อมดยงถึงกันได้ครอบคลุมทุกพื้นที่


 


การส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชน การส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชน หรือชุมชน สามารถเข้าถึงการมีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างแท้จริง โดยลดอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบค่าธรรมเนียม ข้อจำกัดทางกฎหมาย


 


ประเด็นต่างๆ ทั้ง 13 ข้อ เป็นแนวทางพัฒนาระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมสิทธิของประชาชน ซึ่งนำไปวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นว่าสอดคล้องกับหลักการพัฒนาเหล่านี้แล้วหรือยัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ส่งเสริมสิทธิของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น


 


 


สภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจากอุตสาหกรรมในบริเวณเขตมาบตาพุด


 


สภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหา มีดังต่อไปนี้


 


1) ภาพรวมของปัญหาที่ได้จากพื้นที่ ปรากฏผลออกมาดังต่อไปนี้


 


ปัญหาจากภาครัฐ (ราชการ Top-Down) อาทิ


 


ปัญหาข้อกฎหมายหลักในการแก้ไขปัญหาไม่ตอบสนองต่อความเป็นจริงในพื้นที่ ปัญหาในข้อกฎหมายที่กังวล คือ กฎหมายกำหนดเรื่องมาตรฐานการปล่อยมลพิษของแต่ละแหล่งไว้ แต่ไม่ได้กำหนดเรื่องโควตารวมในการปล่อยมลพิษของทั้งพื้นที่ (Carrying) เจ้าหน้าที่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก การตีความกฎหมายเพื่อลงโทษโรงงานก็มีปัญหาเนื่องจากต้องใช้ดุลยพินิจว่าปัญหาที่เกิด "มีอันตรายร้ายแรง" แล้วหรือยังจึงจะสั่งปิดโรงงานได้


 


การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ไม่มีความชัดเจน หน่วยงานเชื่อว่ากฎหมายที่มีอยู่ค่อนพอแต่ปัญหาก็มาจากความผิดพลาดของบุคคล (Human Error) เสียมากกว่า มีหลายกรณีที่เจ้าพนักงานไม่กล้าทำงานหรือใช้ดุลยพินิจเพราะกลัวความผิดพลาดหรือถูกฟ้องร้องหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง จึงควรสร้างระบบความรับผิดที่ชัดเจนแน่นอนมากขึ้นด้วย


 


โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรแก้ปัญหาภาครัฐในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความเข้มของปัญหาในพื้นที่ ข้อจำกัดในเชิงโครงสร้างและทรัพยากรก็มีอยู่เยอะ เช่น เรื่องงบประมาณ ปริมาณทรัพยากรบุคคลต่องาน การแทรกแซงจากภาคการเมืองมีอยู่บ้าง แต่พอมีปัญหาก็ผลักให้ข้าราชการประจำรับผลไป การตั้งคณะกรรมการระดับชาติฯไม่ช่วยเท่าไหร่ เพราะหน่วยงานท้องที่ก็ต้องรับมาดำเนินการอยู่ดี


 


การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐที่ทำได้ยากแม้มีกฎหมายเปิดช่องทางให้สิทธิประชาชนแล้วก็ตาม ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับการเก็บพยานหลักฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมก็คือ "ความจริงที่เข้าไม่ถึง" กล่าวคือ ข้อมูลหลักฐานมักถูกเก็บงำ บิดเบือน และเราไม่ได้เห็นข้อมูลหลักฐานที่แท้จริง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดต้องขออนุญาตหรือประสานผู้ว่าการนิคมก่อนเข้าสู่เขตอำนาจอาจทำให้เกิดอุปสรรคในการระงับปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วน การเก็บพยานหลักฐานจากการปล่อยสารพิษในเขตนิคมอุตสาหกรรมกลับเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีอุปสรรคทั้งทางกายภาพและทางกฎหมาย กล่าวคือ การที่บุคคลธรรมดาจะเข้าไปในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือทำงานอยู่ในนิคม ถ้าเป็นบุคคลภายนอกก็จะเข้าไปได้ยากหรือต้องตรวจค้นหรือแลกบัตรทั้งขาเข้าและขาออกจากการนิคมฯ ส่วนอุปสรรคทางกฎหมายก็เกิดขึ้นได้เนื่องจากพื้นที่ของเขตนิคมอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้เขตอำนาจของการนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมาย การจะเข้าไปตรวจค้นเก็บพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐอื่นหรือบุคคลภายนอกจะต้องประสานไปที่การนิคมอุตสาหกรรมเสียก่อนจึงจะเข้าไปกระทำการเก็บพยานหลักฐานได้ ซึ่งในทางปฏิบัติก็เป็นอุปสรรคมากเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นหากทิ้งระยะไปเพียงไม่กี่ชั่วโมงความเข้มข้นของมลพิษก็อาจลดลงจนแทบตรวจเก็บไม่ได้เลย


 


การรับเรื่องราวร้องทุกข์ขาดเอกภาพ เจ้าหน้าที่ทรัพยากรจังหวัดรายงานเบื้องต้นว่าช่วงหลังมามีเรื่องร้องทุกข์น้อยลง หากมีการร้องเรียนจะเข้าไปตรวจเฉพาะจุดเกิดเหตุ (Point source) ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ จะแจ้งให้การนิคมจัดการแก้ไข แต่ถ้าเป็นเหตุใหญ่จะประสานงานขอเข้าไปตรวจด้วย หน่วยงานระดับท้องที่จะทำหน้าที่ตรวจตรา รับเรื่องร้องทุกข์ แต่การวางแผน นโยบาย จะทำโดยกรมโรงงานที่ส่วนกลา


 


ปัญหาที่เกิดกับภาคประชาชน (Bottom-Up) อาทิ


 


ชาวบ้านและประชาสังคมไม่รับรู้สิทธิ ผู้นำชุมชน และผู้นำประชาสังคมในพื้นที่รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนและชุมชนเป็นอย่างดี ชาวบ้านมีประสบการณ์ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันเนื่องมาจากปัญหามลพิษและการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนดี เนื่องจากได้คลุกคลีกับปัญหาเป็นเวลานาน


 


การเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยากและขาดองค์ความรู้ การเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน มักถูกตอบโต้ด้วยข้อมูลทางเทคนิค วิชาการ ซึ่งชาวบ้านไม่อาจเข้าถึงได้เนื่องจากข้อมูลอยู่ที่อีกฝ่ายหนึ่ง และในบางกรณีก็เป็นเรื่องทางเทคโนโลยีที่เข้าใจยาก บางกรณีก็มีการบิดเบือนข้อมูลจากเอกชนและภาครัฐ


 


เกิดอุปสรรคทางกฎหมายในการพิสูจน์สิทธิเนื่องจากประชาชนต้องเป็นฝ่ายดำเนินการเพื่อกล่าวหา อุปสรรคทางกฎหมายที่เกิดขึ้น คือ การพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครปล่อยมลพิษ และมลพิษที่ปล่อยมีมากน้อยเพียงไร ความล่าช้าของการเข้ามาตรวจสอบ ชาวบ้านต้องการเชื่อมการต่อสู้เข้าสู่ระบบศาลแต่ขาดความรู้ความเข้าใจ


 


อุปสรรคในการใช้สิทธิหรือเรียกร้องสิทธิของประชาชน อุปสรรคในการดำเนินงานเพื่อเรียกร้องสิทธิ หรือการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชุมชน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งจากมาตรการของภาครัฐ และการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรของอุตสาหกรรมเพื่อมาชนกับฝ่ายชาวบ้านที่คัดค้านนโยบายการขยายอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการสร้างระบบประชาสัมพันธ์และอุปถัมภ์ในหลากหลายรูปแบบ โดยมีข้อสังเกตว่าชุมชนที่ได้รับผลกระทบหรือรอดจากการอุปถัมภ์ของอุตสาหกรรมจะตื่นตัวในการต่อสู้มากกว่า


 


การใช้นโยบายแห่งชาติเพื่อสร้างความชอบธรรมในการลิดรอนสิทธิของประชาชน ชาวบ้านยังมีข้อกังวลและข้อสงสัยอีกหลายประการ อาทิ ชาวบ้านจะต้องเสียโอกาส และเสียสละเพื่ออุตสาหกรรมและนโยบายพัฒนาแห่งชาติอีกมากเท่าไหร่ จะมีการเยียวยาชดใช้ชดเชยจริงหรือไม่ หากมีการนำปัญหาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้วพ่ายแพ้กำลังใจของชาวบ้านจะดับวูบไปเลยหรือไม่ ศาลและกระบวนการยุติธรรมพร้อมสำหรับกรณีอย่างนี้แล้วหรือไม่ การต่อสู้ระหว่างการปกครองท้องถิ่นกับภาคอุตสาหกรรมไม่ได้มีเป้าหมายที่เรื่องสิ่งแวดล้อมแต่เป็นการแย่งชิงประชาชนเสียมากกว่า


 


อย่างไรก็ดีก็มีจุดแข็งและศักยภาพของประชาชนในการรวมตัวกันระดับพื้นที่


 


2) ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของประชาชนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จากการศึกษาพบปัญหาดังนี้


 


ข้อจำกัดด้านโครงสร้างของกฎหมายที่ซ้ำซ้อนมีหน่วยงานหลายแห่งถือกฎหมายฉบับเดียวกัน ข้อจำกัดด้านเนื้อหาของกฎหมายที่ไม่อาจปรับให้เข้าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม


 


ข้อจำกัดมาตรการตามกฎหมายไทยต่อหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการตรากฎหมายเพื่อรองรับหลักการของรัฐธรรมนูญฯ อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมต่อวิถีชีวิตของประชาชน ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมโครงการอีกหลายประเภท


 


ข้อจำกัดของมาตรการตามกฎหมายไทยต่อหลักการป้องกันความเสียหายไว้ล่วงหน้าแต่ไม่มีการบังคับตามมาตรการเมื่อโครงการผ่านการพิจารณาไปแล้ว


 


ข้อจำกัดของมาตรการตามกฎหมายไทยต่อหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายเมื่อต้องมีการเยียวยาจริงมักไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ


 


ข้อจำกัดด้านภารกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่รับภาระหนักในท้องที่ของตนซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นอย่างมหาศาล


 


ข้อจำกัดด้านทัศนคติและความเชื่อของประชาชนซึ่งไม่นิยมการลุกขึ้นรวมตัวกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเมื่อถูกละเมิดจากภาคอุตสาหกรรมหรือภาครัฐ


 


ปัญหาการกระจายอำนาจและความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ซึ่งยังไม่มีความเชี่ยวชาญกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในเชิงเทคนิคและกฎหมาย ความสามารถของเจ้าหน้าที่ทางวิชาการซึ่งขาดความรู้ที่จะเอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจซึ่งได้รับการถ่ายโอน อย่างไรก็ตามพบว่าเทศบาลมาบตาพุดซึ่งมีฐานะเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ สถานการณ์การคลังดี ในทางปฏิบัติขาดอุปกรณ์ เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ขาดองค์ความรู้เชิงเทคนิคและความรู้เฉพาะด้านในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดความรู้ในการใช้เครื่องมือตรวจวัดมลพิษ


 


3) บทวิเคราะห์ในเชิงระบบในมิติทางกฎหมาย ได้ผลลัพธ์ออกมาดังต่อไปนี้


 


พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกระบวนการติดตามผลหลังจากได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการ


 


สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการต่างๆนั้นมีข้อจำกัด เช่นการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินโครงการยังไม่ได้กำหนดรวมถึงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม


 


ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร


 


สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องโดยตรงรองรับ การใช้สิทธิของประชาชนในการเรียกร้องให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างมีระบบ กระบวนการ


 


กระบวนการรับฟังปัญหาของประชาชนภายหลังการดำเนินโครงการแล้วยังไม่มี ทำให้ประชาชนใช้สิทธิผ่านช่องทางอื่นแทนเช่น การชุมนุมเรียกร้อง การปิดถนนประท้วง ซึ่งอาจเกิดผลกระทบด้านความรุนแรงตามมาภายหลัง


 


 


ลู่ทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาจากอุตสาหกรรมในบริเวณเขตมาบตาพุด


 


ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหา มีดังต่อไปนี้


 


1) การปรับโครงสร้างองค์กรในพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม การจัดโครงสร้างขององค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ของประชาชนซึ่งตกเป็นคนชายขอบของการพัฒนาอยู่เสมอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่มากกว่าการปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในระดับชาติ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อช่วยตรวจตราและวางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ว่าจะมีการจัดคณะอนุกรรมการในระดับจังหวัดเพื่อช่วยสอดส่องดูแลปัญหาในระดับพื้นที่เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจขององค์กรในส่วนกลาง


 


2) การบูรณาการอำนาจหน้าที่องค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ทำงานได้เบ็ดเสร็จ กฎหมายที่ใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีหลายฉบับ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบูรณาการโครงสร้างอำนาจรัฐให้เป็นหนึ่งเดียว (one-stop service) ในการแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นเพื่อลดขั้นตอนการตัดสินใจหรือเดินเรื่อง เพื่อให้มีการแก้ปัญหาและเยียวยาสิทธิให้กับประชาชนได้สะดวก รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น การสร้างเอกภาพในการกำหนดอัตราการปล่อยมลพิษในพื้นที่หนึ่งๆ โดยนำเรื่องมาตรฐานการปล่อยมลพิษรวม (Carrying) มาใช้ อาจต้องคำนึงถึงการบูรณาการศาลสิ่งแวดล้อม หรือองค์กรระงับข้อพิพาทในพื้นที่ด้วยด้วย


 


3) การส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ (โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรม) อาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ส่วนอีกวิธีเป็นการอาศัยวิธีพิจารณาคดีของ ศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองใช้ระบบไต่สวน ดังนั้นศาลจึงมีบทบาทในกระบวนพิจารณาคดีสูง และสามารถเข้าแทรกแซงในกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานได้ ดังนั้นเราอาจใช้ประโยชน์จากบทบาทของศาลในระบบนี้ให้เป็นคุณต่อการเข้าถึงข้อมูลพยาน หลักฐานที่อยู่ในการครอบงำของรัฐ


 


4) การส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงพยานหลักฐานที่อยู่ในครอบครองของเอกชน สิ่งที่ต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งการเก็บพยานหลักฐานเพื่อเรียกร้องสิทธิมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ [10] จดบันทึกเวลาสถานที่ซึ่งพบปัญหา ทำให้พยานหลักฐานเกี่ยวกับเวลาสถานที่หนักแน่นขึ้นได้ ด้วยการแจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นการปล่อยออกจากโรงงานก็ถ่ายให้เห็นว่าออกมาจากโรงงานใด เก็บตัวอย่างน้ำเสีย ขยะ หรืออากาศพิษ อาจทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วยการเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจเก็บตัวอย่างไป การบาดเจ็บล้มป่วยควรจะเก็บหลักฐานการรักษาพยาบาลไว้อย่างละเอียด ถ้าเป็นไปได้ควรจดบันทึกพร้อมเก็บบิลค่าใช้จ่าย และถ่ายสำเนาการวินิจฉัยของแพทย์ ใบรับรองแพทย์ ถ้าเป็นไปได้ควรไปพบแพทย์ชีวอนามัย หากมีพยานหลักฐานจากภายในสถานประกอบการให้เก็บรักษาไว้อย่างดี แจ้งหน่วยงานของภาครัฐให้แก้ไขปัญหาต้องมีการเก็บสำนวนคำร้อง และติดตามว่าหน่วยงานเพิกเฉย ละเลย หรือปฏิบัติงานล่าช้าหรือไม่ ถ้าใช่อาจต้องมีการร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือฟ้องร้องไปยังศาลปกครองได้ ร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้เข้ามาตรวจดูการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบการได้ และฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายไปยังศาลยุติธรรมได้


 


5) การปรับระบบการฟ้องร้องคดีในชั้นศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและความเสียหาย การพิสูจน์ความผิดและความเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมโดยรับเอาแนวคิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่มาใช้ อาทิ การรับเอาแนวคิดเรื่องความเสียหายของผู้ได้รับสารพาหะแต่อาการยังไม่ปรากฏมาปรับใช้ พัฒนาการกำหนดความเสียหายในเชิงลงโทษให้เข้าสู่ระบบกฎหมายของไทย ควรมีการสร้างบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายในการทำงาน [11] การระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมอาจมีข้อพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้มีกระบวนการหรือองค์กรระงับข้อพิพาทในพื้นที่ การนำระบบกองทุนสิ่งแวดล้อมเข้ามาสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม


 


6) การนำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้ (Class Action) การนำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้กับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องยอมรับ "หลักการดำเนินคดีโดยผู้แทนคดี" เสียก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้แต่งตั้งผู้อื่นขึ้นมาดำเนินคดีแทนตัวผู้เสียหายได้ เมื่อนั้นจึงจะสามารถแต่งตั้งบุคคลอื่นขึ้นเป็นคู่ความผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่มได้ [12] ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจต้องอาศัยบุคคลภายนอกผู้มีประสบการณ์หรือมีความเข้มแข็งเข้ามาช่วยในลักษณะของ การฟ้องคดีของพลเมืองผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม (Citizen Suit)


 


7) การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยแนวคิดต่างๆ ที่ควรนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนากฎหมายสิ่งแวดล้อมได้แก่ [13] ค่าธรรมเนียมการอนุญาต (Administrative Fees) ค่าธรรมเนียมการใช้ (User Fees, User Charges) ค่าปรับ ค่าภาษีมลพิษ (Pollution Tax, Pollution Fees) ใบอนุญาตปล่อยมลพิษ (Pollution Permits) ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ (Product Surcharge) อัตราภาษีที่แตกต่าง (Tax Differentiation) ระบบมัดจำคืนเงิน (deposit-refund system) การวางเงินประกันความเสียหาย (Performance Bond) การให้เงินอุดหนุน (Subsidy)


 


8) การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเข้าถึงข้อมูล แสดงความคิดเห็นในทุกระดับ และตรวจสอบการทำตามแผน [14] อันจะเป็นประโยชน์กับโครงการหลายประการ อาทิ เกิดทางเลือกใหม่และพิจารณาอย่างรอบคอบ ลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียเวลา สร้างฉันทามติทางการเมืองร่วมกันและเกิดความชอบธรรม ลดความขัดแย้งเมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติ


 


9) มาตรการคุ้มครองเยียวยาในพื้นที่ประสบปัญหา การกำหนดให้มีแนวนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานและมีการจ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ หากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคมบ่งชี้ว่าโครงการจะสร้างผลกระทบแก่ประชาชนอย่างรุนแรงกว้างขวางจนต้องมีการอพยพถิ่นที่อยู่ของประชากร หรือมีการเวนคืนและการจ่ายค่าเสียหาย ก็จำเป็นต้องทำรายละเอียดให้เหมาะสมกับผลกระทบจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงกำหนดแผนการตั้งถิ่นฐานใหม่และกำหนดค่าชดเชย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงพิเศษ


 


10) การจัดระบบระงับข้อพิพาทในพื้นที่พิเศษ (นิคมอุตสาหกรรม) การจัดตั้งระบบระงับข้อพิพาทในพื้นโดยยึดหลักการ 3 ประการ คือ การเปิดโอกาสให้เอกชนผู้เสียหายทั้งหลายสามารถเข้าร่วมดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ การเปิดโอกาสให้องค์พัฒนาเอกชน หรือผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อมริเริ่มนำคดีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทได้ การใช้กระบวนวิธีพิจารณาแบบไต่สวนที่ทำให้มีการเข้าถึงพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวางโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายขององค์กรระงับข้อพิพาท


 


11) การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การนำเอาระบบการริเริ่มคดีโดยผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมฟ้องแทนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง (Citizen Suit) มาปรับใช้ในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้มีผลเสียหายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรงสามารถนำเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้ [15] ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและประชาสังคมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน


 


12) การส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชน การเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาชนเข้าถึงการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้นมีอุปสรรคน้อยลงการช่วยเหลือในด้านความรู้และคำปรึกษาด้านกฎหมาย โดยรูปแบบที่เป็นไปได้ คือ การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย (ไม่จำกัดเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อมแต่ครอบคลุมถึงปัญหาอื่นๆ ด้วย) ในพื้นที่


 


13) องค์กรของรัฐไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการจะต้องมีความเห็นร่วมกันว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ต้องมีลักษณะพิเศษ ฝ่ายบริหารจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นในการดำเนินการเรื่องปัญหามลพิษว่าจะมีทิศทางอย่างไรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสามารถที่จะบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องตรากฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการจัดการมลพิษและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น


 


14) โครงการใดที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องบัญญัติกฎหมายกำหนดกระบวนการที่เข้มข้นมากกว่าโครงการทั่วไป รวมถึงนโยบายของฝ่ายบริหารที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและต้องให้ความคุ้มครองกระบวนการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทางปกครองที่ผิดพลาดโดยเฉพาะการดำเนินการของพนักงานควบคุมมลพิษ


 


15) โครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งก่อนการอนุญาตให้ดำเนินโครงการและภายหลังจากการดำเนินโครงการไปแล้ว กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาอนุมัติอนุญาตจะต้องมีการให้ข้อมูลของโครงการอย่างรอบด้าน และเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในการคัดค้านโครงการ เช่น การแสดงความคิดเห็นในเวทีแสดงความคิดเห็น การแสดงความเห็นผ่านทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของโครงการได้ชี้แจงข้อมูลเหล่านั้นด้วยตามหลักการฟังความสองฝ่าย (Audi alteram partem) หลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วภาครัฐต้องจัดทำรายงานความคิดเห็นของประชาชนทั้งข้อสรุป ข้อโต้แย้งต่างๆและเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบรวมทั้งต้องสร้างหลักประกันว่ารายงานความคิดเห็นของประชาชนจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในการพิจารณาออกคำสั่งอนุมัติอนุญาตว่าได้อาศัยรายงานแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติอนุญาตและถ้าเจ้าหน้าที่จะอนุมัติอนุญาตก็ต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ในการหักล้างกับรายงานความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวและต้องแสดงรายงานการพิจารณาอนุญาตอนุมัติให้กับประชาชนได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่มีเหตุผลเช่นใด (Duty to give reason) หลังจากที่ได้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่ได้ออกคำสั่งอนุญาตอนุมัติให้ดำเนินโครงการไปแล้วจะต้องมีการติดตามผลการดำเนินการของผู้ประกอบการว่าการดำเนินโครงการได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลพิษขึ้นหรือไม่ มาตรการตรวจสอบโครงการหรือโรงงานจะต้องมีการกำหนดให้มีการตรวจสอบโครงการทุกโครงการเมื่อดำเนินการมาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งนอกเหนือไปจากมาตรการเป็นเรื่องๆ เช่น การบังคับในกรณีที่เกิดมลพิษขึ้นเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปควบคุมดูแล การดำเนินการตรวจสอบภายหลังจากการดำเนินโครงการไปแล้วจะต้องตั้งองค์กรอิสระขึ้นเพื่อทำการตรวจสอบซึ่งต้องประกอบจากภาคประชาชน ภาครัฐและภาคผู้ประกอบการร่วมกันทั้งสามฝ่ายเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย


 


16) การจัดการความขัดแย้งระหว่างข้อมูลข่าวสารของทางราชการและผู้ประกอบการกับประชาชน จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด การจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องมีการเพิ่มเติมและแก้ไขกฎหมายหลายๆฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่พบจากการลงพื้นที่ศึกษา เช่น การบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 การเพิ่มเติมหลักการมีส่วนร่วมในลักษณะต่างๆในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 รวมถึงการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นเพื่อแก้ไขข้อพิพาทต่างๆที่เกิดขึ้น


 


17) ปรับมาตรการตามกฎหมายไทยโดยอิงหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายอย่างได้สัดส่วนกับความเสียหาย การกำหนดมาตรฐานมลพิษในแต่ละเรื่องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจึงควรมีการประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษในการควบคุมมลพิษให้มีประสิทธิภาพโดยการมีบทลงโทษในกรณีของการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน


 


18) ปรับมาตรการตามกฎหมายไทยโดยอิงหลักการป้องกันความเสียหายล่วงหน้าไว้ในกระบวนการตัดสินใจทุกระดับ


 


 


……………………………….


เชิงอรรถ


[1] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. การเมืองแบบใหม่,ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่และวาทกรรมการพัฒนาชุดใหม่, วาทกรรมการพัฒนา : อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น, พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิภา, 2545 หน้า 83-122.


[2] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. การสร้างธรรมาภิบาล (Good governance) ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน.2542. หน้า 117.


[3] หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540


[4] ฤทัย หงส์สิริ และมานิตย์ จุมปา. คำอธิบายกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม. 2542. หน้า 23.


[5] สมศักดิ์ สุขวงศ์. การจัดการป่าไม้ ภายใต้การกระจายอำนาจ.เอกสารประกอบการสัมมนาเวทีสาธารณะภาคประชาชนเพื่อระดมความคิดเห็นในประเด็นป่าไม้ที่สำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชน.โครงการศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนานโยบายป่าไม้ให้เป็นนโยบายสาธารณะ โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ณ สภาคริสจักรในประเทศไทย กรุงเทพ.


[6] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองและการกระทำในทางปกครอง, (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2546), หน้า 207.


[7] สุรชัย ตรงงาม, บทสัมภาษณ์ในบทความ เมื่อคดีคลิตี้เข้าสู่ศาลปกครอง, วารสารนิติธรรมชาติ, เล่มที่ 2, กลุ่มENLAW, กรุงเทพฯ, 2551, หน้า 141


[8] น้ำแท้ มีบุญสล้าง, การดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีสิ่งแวดล้อม, วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีการศึกษา 2547, หน้า 128-130


[9] กอบกุล รายะนาคร, กฎหมายกับสิ่งแวดล้อม, สำนักพิมพ์วิญญูชน:กรุงเทพฯ, 2550, หน้า 220


[10] ทศพล ทรรศนกุลพันธ์, ยุทธวิธีเรียกร้องสิทธิ, ใน นิติแถลง: สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือนิคมอุตสาหกรรม, คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก, 2551, หน้า 51-52


[11] สุรชัย ตรงงาม, บทสัมภาษณ์ในบทความ เมื่อคดีคลิตี้เข้าสู่ศาลปกครอง, วารสารนิติธรรมชาติ, เล่มที่ 2, กลุ่มENLAW, กรุงเทพฯ, 2551, หน้า 141


[12] น้ำแท้ มีบุญสล้าง, การดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีสิ่งแวดล้อม, วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีการศึกษา 2547, หน้า 128-130


[13] กอบกุล รายะนาคร, กฎหมายว่าด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศไทย, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, กรุงเทพฯ, 2549, หน้า 14-17


[14] สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคมในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพฯ, 2551, หน้า 18-19

[15] กอบกุล รายะนาคร, กฎหมายกับสิ่งแวดล้อม, สำนักพิมพ์วิญญูชน:กรุงเทพฯ, 2550, หน้า 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net