Skip to main content
sharethis

"ทูตพม่า" บอก "โรฮิงยา" เป็นปอบ ย้ำอีกไม่ใช่คนพม่า ส่วนปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทยเต้น จวก UNHCR ปล่อย "แองเจลลินา โจลี" ทูตพิเศษUN วิจารณ์นโยบายไทยเรื่องโรฮิงยา เล็งทำหนังสือประท้วงและถามเหตุผลปล่อยโจลีเยือนค่ายผู้อพยพชายแดนไทย-พม่า ลั่นเป็นกิจการของกระทรวงมหาดไทยไม่ใช่ UNHCR "กษิต" รับปากอินโดจะร่วมประชุมภูมิภาคเรื่องโรฮิงยา ยันถามทหารเรือแล้วไม่เคยมีเรื่องลอยแพ

 

นายเย มินต์ อ่อง กงสุลใหญ่พม่าประจำฮ่องกง (Ye Myint Aung) (ที่มา: South China Morning Post)

 

 

แองเจลินา โจลี ทูตพิเศษสหประชาชาติเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ภาพนี้เผยแพร่โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทยเตรียมทำหนังสือตำหนิ UNHCR (ที่มา: UNHCR/)

 

 

สมาคมชาวโรฮิงยาในญี่ปุ่นประท้วงหน้าสถานทูตไทยในกรุงโตเกียว เมื่อ 3 ก.พ. (ที่มา: AP/Shizuo Kambayashi)

 

ผู้อพยพชาวโรฮิงยามาถึงเกาะอาเจะห์ อินโดนีเซีย หลังได้รับความช่วยเหลือจากชาวประมงอาเจะห์ เมื่อ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยกลุ่มชาวโรฮิงยาที่มาถึงนี้มีทั้งสิ้น 193 คน พวกเขาอ้างว่าถูกปฏิบัติจากทหารไทยอย่างไม่เหมาะสมมีการผลักดันพวกเขาออกกลางทะเลโดยไม่มีอุปกรณ์ยังชีพใดๆ (ที่มา: AP Photo/Taufik Kurahman)

 

 

ท่ามกลางข่าวผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญาซึ่งมีสภาพชีวิตที่เลวร้ายกำลังถูกจับตามองผ่านสื่อ แต่เจ้าหน้าที่ทูตพม่าประจำฮ่องกงกลับบอกว่าชาวเรือมนุษย์ "โรฮิงญา" น่าเกลียดเหมือนผีปอบและไม่ใช่คนพม่า

 

ทูตพม่าบอกโรฮิงยาเหมือนผีปอบและไม่ใช่คนพม่า

โดยหนังสือพิมพ์ South China Morning Post (SCMP) รายงานเมื่อ 11 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า นายเย มินต์ อ่อง (Ye Myint Aung) กงสุลใหญ่พม่าประจำฮ่องกง ทำหนังสือชี้แจงถึงสำนักงานกรรมาธิการต่างประเทศของฮ่องกง และสื่อมวลชนอื่นๆ ในฮ่องกง ยืนยันว่าชาวมุสลิมที่เรียกว่า "โรฮิงยา" ไม่ใช่คนที่มาจากพม่า

 

นายเย มินต์ อ่อง ยืนยันในจดหมายฉบับดังกล่าวว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชาวบะหม่าหรือมีเชื้อชาติพม่า และไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยในพม่า เขายังบอกว่าชาวโรฮิงญามีผิวคล้ำซึ่งแตกต่างจากชาวพม่าที่มีผิวขาวนวล

 

"นี่เป็นสิ่งที่ต่างกันอย่างยิ่งจากที่พวกคุณได้เห็นหรือได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ คนเหล่านี้น่าเกลียดเหมือน ผีปอบ" นายเย มินต์ อ่อง ชี้แจง

 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มคนไร้รัฐและเผชิญการข่มเหงรังแกจากรัฐบาลทหารพม่าอันเนื่องมาจากเชื้อชาติและศาสนาที่พวกเขานับถือ ในแต่ละปีจึงมีชาวโรฮิงญาหลายพันคนต้องลงเรือที่มีสภาพโคลงเคลงเพื่อหนีความยากจนและการถูกเบียดเบียน

 

แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ปฏิเสธการมีอยู่ของชาวโรฮิงญาว่าไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยของพม่า ประเทศซึ่งนับถือศาสนาพุทธและระบุว่าพวกเขาหลบหนีเข้าเมืองมาจากบังกลาเทศ

 

เมื่อเดือนมกราคม มีการกล่าวหาว่า กองทัพไทยพยายามผลักผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่หลบหนีมาจากพม่ากลับออกไปกลางทะเลในเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ ปราศจากน้ำและอาหาร และประเทศไทยมีนโยบายปฏิเสธคนกลุ่มนี้อย่างเด็ดขาด

 

ข้อกล่าวหาต่อไทยแดงขึ้นหลังจากมีข่าวชาวโรฮิงญาราว 650 คน ได้รับการช่วยเหลือที่ชายฝั่งอินเดียและอินโดนีเซียโดยพวกเขากล่าวว่าถูกทุบตีโดยทหารไทย และเชื่อว่ามีชาวเรือมนุษย์ "โรฮิงยา" นับร้อยสูญหายกลางทะเล

 

 

บัวแก้วติง UNHCR ส่งโจลีให้ข่าวโรฮิงญาไม่เหมาะเพราะไม่ใช่หน้าที่

วันเดียวกัน (11 ก.พ.) นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังร่วมประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อหารือและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาหนีเข้าประเทศ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุม ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ว่า มาตรการของไทยที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญานั้นตั้งอยู่บนดุลยภาพของการรักษาความมั่นคง กฎหมายภายในประเทศ หลักมนุษยธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่ง สมช.จะจัดประชุมกลุ่มทำงานเพื่อร่างมาตรการที่จะใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาตรการโปร่งใส และแจ้งให้ประชาคมโลกได้รับทราบ

 

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยจะหยิบประเด็นนี้เข้าหารือในที่ประชุมอาเซียนซัมมิท เพราะมีประเทศอาเซียนประมาณ 3-4 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ นอกจากนี้จะหารือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และองค์กรที่ทำหน้าที่ขนส่งคน หากคนพวกนั้นผ่านกระบวนการของตม.ในประเทศไทยแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศที่จะต้องหาทางให้คนเหล่านั้นกลับไปสู่ประเทศที่เดินทางมา

 

สำหรับมาตรการระยะยาวรัฐบาลต้องเจรจากับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อระดมความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศให้ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในประเทศอยู่อย่างมีความสุขดีขึ้น เพื่อไม่ต้องเดินทางลักษณะเป็นอันตราย ส่วนมาตรการระยะสั้นจะมีการประชุมกับประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในเรื่องของข้อมูลการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะได้รับข้อมูลจากชาวโรฮิงญาว่า มีกระบวนการช่วยให้เดินทางและรับเข้าทำงาน จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในเร็วๆ นี้

 

ส่วนการชี้แจงกับต่างประเทศที่ผ่านมามักไม่เป็นผลนั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า UNHCR ต้องดูรายละเอียดว่าเป็นบุคคลลี้ภัยหรือไม่ ทั้งที่ความจริงแล้วชาวโรฮิงญาหนีเข้ามาเพื่อหางานทำ เท่าที่ประเมินขณะนี้ชาวโรฮิงญาประมาณ 20,000 คนกระจายทั่วประเทศ ทั้งภาคใต้ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม รวมทั้ง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานนอกกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม การที่ UNHCR ไม่เข้าใจปัญหาถึงเชิญแองเจลีนา โจลี (Angelina Jolie) ในฐานะทูตพิเศษ UNHCR เดินทางเยี่ยมค่ายผู้อพยพในประเทศไทย พร้อมให้ข่าวว่า ไทยควรให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญานั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า

 

"การเดินทางของแองเจลีนา โจลี ไม่ได้เข้ามาเฉพาะกรณีชาวโรฮิงญา แต่มาเพื่อขอเข้าไปดูค่ายผู้อพยพจากพม่า จึงเป็นเรื่องสอดคล้องอย่างยิ่งที่ข่าวโรฮิงญาเป็นประเด็นน่าสนใจตอนนี้ ดังนั้นเราคงต้องเตือน UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) ว่าไม่ควรพูดเรื่องนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้รับการมอบอำนาจให้มาดูแลเรื่องนี้

 

นายวีระศักดิ์ยังบอกว่า UNHCR ไม่ควรนำแองเจลินา โจลี ซึ่งเป็นทูตพิเศษของ UNHCR เข้าไปในค่ายพักพิงผู้หนีภัยการสู้รบ 9 แห่งทางด้านชายแดนไทย-พม่า ซึ่งดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย

 

"รัฐบาลไทยจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นจดหมายตำหนิถึง UNHCR เพื่อสอบถามว่าพวกเขาอนุญาตให้แองเจลินา โจลี ไปเยี่ยมค่ายทำไม" นายวีระศักดิ์กล่าวกับผู้สื่อข่าว

 

 

แม่ทัพเรือหนักใจ"โรฮิงญา" แห่เข้าไทยเป็นภาระ

พล.ร.อ. กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์ "คมชัดลึก" ถึงการดำเนินการต่อกลุ่มโรฮิงญาว่า กองทัพกำลังหาทางแก้ไขอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะแก้ปัญหาระดับชาติต่อไป ผลที่ออกมายังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน แนวทางแกปัญหากำลังพิจารณากันอยู่ ส่วนการตั้งศูนย์ผู้อพยพคิดว่าจะเป็นภาระให้กับประเทศ คนเหล่านี้เราถือเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ส่วนการตั้งกรรมการสอบนั้น เป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คิดว่าจะทำให้เร็วที่สุด ส่วนข้อเสนอของกองทัพเรือคงเป็นไปในแนวเดียวกัน คือ เขาคือผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย การดำเนินการต้องเป็นไปตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศในพื้นฐานการมีมนุษยธรรม

 

เมื่อถามว่า หากเขาเข้ามาเราจะผลักดันออกไปหรือไม่ พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า หากเขาอยู่ในฐานะต้องช่วยเหลือก็ต้องช่วย ตามหลักมนุษยธรรมหรืออยากเดินทางต่อไป เราก็จะสนับสนุนให้เขาเดินทางไปตามที่ต้องการตามวัตถุประสงค์ เมื่อถามถึงการเรียกร้องยูเอ็นกดดันกองทัพหรือไม่ พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า คงไม่กดดัน เราทำตามกรอบกฎหมายอยู่แล้ว เรามีหลักประจำและมีมาตรฐานเดียวบนพื้นฐานกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ ยึดหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่าหนักใจหากเขาเข้ามาในประเทศเรื่อยๆ คงต้องแก้ปัญหาต่อไป

 

"กษิต" รับปากอินโดจะร่วมประชุมภูมิภาคเรื่องโรฮิงยา ยันไม่มีเรื่องลอยแพ

นายฮัสซัน วิรายุดา (Hassan Wirajuda) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังได้พบปะหารือกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียวันเดียวกันนี้ว่า ไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอของทางการอินโดนีเซียที่ให้จัดเวทีหารือระดับรัฐมนตรีเพื่อคลี่คลายปัญหาผู้อพยพชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกจากพม่า โดยจะมีประเทศที่เป็นถิ่นฐานของชาวโรฮิงญา ประเทศที่เป็นเส้นทางอพยพ และประเทศที่เป็นเป้าหมายสำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวโรฮิงญาเข้าร่วมประชุมภายใต้กรอบ "บาหลีโพรเสส"

 

ส่วนนายกษิต ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนอินโดนีเซียเป็นวันที่สองจากกำหนดการเยือนนาน 3 วัน บอกว่า ขณะนี้ทางการไทยกำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ระบุว่าทหารไทยลากเรือของผู้อพยพชาวโรฮิงญาออกไปปล่อยกลางทะเลจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต แต่จนถึงขณะนี้ได้รับคำยืนยันจากกองทัพเรือว่าไม่มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น และการสอบสวนเรื่องนี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบ 2 ชุดของรัฐบาล นายกษิต ยังบอกด้วยว่า ไทยมีคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะตรวจสอบเรื่องนี้ และจะเปิดเผยผลการสอบสวนออกมาโดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้

 

 

ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar envoy brands boatpeople 'ugly as ogres': report, AFP, 11 Feb 2009

http://news.yahoo.com/s/afp/20090211/wl_asia_afp/hongkongmyanmarrefugeesrights_20090211060726

Thailand upset with Angelina Jolie refugee comments, AFP, 11 Feb 2009

http://www.google.com/hostednews/afp/article/ALeqM5gMwNlhGAAKMZFjPc9Fd877xAyieg

Thailand, Indonesia agree to discuss Rohingya issue soon, Reuters, (Reporting by Olivia Rondonuwu; Editing by Sara Webb and Bill Tarrant), 11 Feb 2009

http://ph.news.yahoo.com/rtrs/20090211/tap-migrants-rohingya-indonesia-c3bb44c.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net