Skip to main content
sharethis


 


จากการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ซึ่งเดือดร้อนจากกรณีปัญหาที่ดินทำกินในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศจาก 25 จังหวัด กว่า 300 คน เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลโดยการนำของ นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินหน้าผลักดันนโยบายและกำหนดแผนการทำงานที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคนด้อยโอกาส ที่บริเวณหน้ารัฐสภา


 


ทั้งนี้ ทางเครือข่ายมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระดับชาติ กำหนดแผนงานและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มคนจนไร้ที่ดิน และให้มีมติ ครม.แก้ไขปัญหาเร่งด่วน กรณีการข่มขู่ คุกคาม จับกุม และดำเนินคดีกับชาวบ้านซึ่งต่อสู้เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดิน


 


เวลาประมาณ 11.00 น ของวันเดียวกัน ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้ส่งตัวแทนจากรณีปัญหาต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนประมาณ 30 คน เข้าเจรจากับนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.ทิวา เงินยวง คณะทำงานกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ นางรัชดาพร แก้วสนิท สส.พรรคพรรคประชาธิปัตย์ และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์


 


ในการพูดคุย ได้มีการนำเสนอกรณีปัญหาในภูมิภาคต่างๆ อาทิ ภาคใต้ รวม 4 จังหวัด ประกอบด้วย ตรัง พัทลุง กระบี่ และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งสิ้น 38 ชุมชน 4 กลุ่มชุมชน ประสบปัญหาดังนี้ 1.ไม่สามารถทำกินในที่ดินดั้งเดิมตามวิถีเดิม ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับสิทธิจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง 2.การข่มขู่คุกคาม ทำลายทรัพย์สิน มีการเผาที่อยู่อาศัย รื้อถอนและทำลายพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง 3.การขัดขวางการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน เส้นทาง ไฟฟ้า 4.การยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำกินในที่ดินดั้งเดิมไม่มีหลักฐานในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน 5.ชุมชนขาดที่ดินทำกิน จึงได้เข้าไปตั้งชุมชนใหม่ในเขต สปก.และต้องการให้มีการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ สปก.รวมทั้งพื้นที่ที่หมดสัญญาเช่ากับบริษัทเอกชน


 


ภาคอีสาน รวม 10 จังหวัด ประกอบด้วย บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ยโสธร สกลนคร อุดรธานี และกาฬสินธุ์ ประสบปัญหา คือ 1.ราษฎรไม่มีทีดินทำกินและต้องการเข้าทำกินในพื้นที่ที่บริษัทเอกชนหมดสัญญาเช่าแล้ว 2.การทับซ้อนสิทธิที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยระหว่างพื้นที่ป่าไม้กับที่ทำกินของราษฎร 3.ราษฎรไม่สามารถทำกินในที่ดินดั้งเดิม ทั้งที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เนื่องจากการอพยพออกจากพื้นที่ การปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกิน 4.การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จากการประกอบอุตสาหกรรม ชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง 5.การก่อสร้างถนนกั้นแนวเขตและปรับภูมิทัศน์บ่อลูกรัง ทับที่ดินทำกินของราษฎร 6.การเปิดรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ล่าช้า ทำให้เกษตรกรถูกเร่งรัดหนี้สิน และผลผลิตเสื่อมสภาพ ทำให้สูญเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ 7.การจับกุม ข่มขู่ และดำเนินคดีชาวบ้านผู้เดือดร้อน


 


ภาคเหนือ รวม 9 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ ตาก เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา น่าน ประสบปัญหา 1.การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตสวนป่า ทับที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และป่าชุมชน ทำให้ไม่สามารรถดำรงชีพและทำการเกษตรในพื้นที่ทำกินเดิมของตนเองได้ และถูกจับกุมดำเนินคดี ถูกข่มขู่คุกคามจากหน่วยงานรัฐ 2.เกษตรกรยากจนเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินเอกชนที่มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย/ที่ดินทิ้งรกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และถูกจับกุมดำเนินคดี 3.การประกาศเขตที่ดินของรัฐ (ที่ราชพัสดุ) ทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของราษฎร เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีพจองราษฎร


 


ภาคกลาง กรณีสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม และสหกรณ์การเช่าที่ดินพิชัย ภูเบนทร์ จ.อุตรดิตถ์ ประสบปัญหา ราษฎรเคยเช่าซื้อที่ดินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยคาดหวังว่าจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อหมดระยะเช่าซื้อ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายโอนที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้โอนที่เช่าชื้อของชาวบ้านคืนให้กับกรมธนารักษ์ ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการ


 


ชุมชนแออัด 3750 ชุมชนทั่วประเทศ ประสบปัญหา คือ 1.วิสัยทัศน์ของผู้บริหารทั้งในระดับรัฐบาลและท้องถิ่น ที่มักมองคนจนในชุมชนแออัดเป็นผู้บุกรุกที่ต้องรื้อย้ายออกไป 2.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) อยู่ในสถานการณ์ขาดงบประมาณหมุนเวียนในเรื่องสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนสินเชื่อในการปลูกสร้างบ้านของชาวชุมชน 3...บ.ควบคุมอาคารได้กำหนดมาตรฐานการก่อสร้างไว้สูงมากจนชุมชนไม่สามารถทำตามได้ 4.คนไร้บ้านที่นอนตามพื้นที่สาธารณะหวาดหวั่นกับนโยบายจับกุม 5.รัฐบาลอุดหนุนงบสาธารณูปโภคในการทำโครงการบ้านมั่นคง หน่วยละ 68,000 บาท ซึ่งชาวบ้านต้องการหน่วยละ 80,000 บาท


 


ในส่วนการแก้ปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ มีข้อเสนอ ให้มีมติ ครม.ให้มีมติ ครม.ดังนี้ 1.ผ่อนผันให้สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมตามวิถีเดิม พื้นที่นำร่องรูปธรรมและพื้นที่ตั้งชุมชนใหม่ในเขต สปก.ได้ 2.ให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐยุติการข่มขู่คุกคาม ทำลายทรัพย์สิน รื้อถอนและทำลายพืชผลทางการเกษตร ยุติการปักป้ายยึดพื้นที่ 3.ในระหว่างกระบวนการเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ให้ยุติการจับกุม ระงับการส่งฟ้อง และยุติการดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง รวมทั้งถอนการบังคับคดีทางแพ่งแก่สมาชิกเครือข่าย


 


4.ให้ชาวบ้านได้รับสิทธิอันชอบธรรมในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา สิทธิการได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสงเคราะห์สวนยาง สิทธิในการประกันราคาผลผลิต และสิทธิอื่นๆ เช่นราษฎรทั่วไป 5.คดีที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นตำรวจ หรือชั้นอัยการ ให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ชะลอการฟ้องคดีไว้ หากอยู่ในชั้นศาลให้รัฐทำคำแถลงเพื่อเสนอต่อศาลว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีที่อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาทางนโยบายขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีหรือรอการตัดสินคดีไว้ โดยการจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายแล้วเสร็จ


 


6.คดีที่มีการพิพากษาตัดสินแล้ว และอยู่ระหว่างอุทธรณ์ หรือระหว่างฎีกา ให้รัฐทำคำแถลงเพื่อเสนอต่อศาลว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีที่อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาทางนโยบายให้ชะลอการพิพากษาคดีไว้ จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายแล้วเสร็จ หรือให้ประสานงานและแจ้งกับประธานศาลฎีกาว่า คดีเหล่านี้เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาทางนโยบาย ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาและขอให้รอลงอาญาไว้ 7.ให้โอนย้ายที่ดินในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและอุตรดิตถ์ คืนให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้ชาวบ้านดำเนินการเช่าชื้อต่อไป


ส่วนกรณีชุมชนแออัด มีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎกระทรวงเพื่อผ่อนปรนการปลูกสร้างอาคารของบ้านเรือนใน "โครงการบ้านมั่นคง" ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2552 และให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินให้เปล่าที่ทยอยให้แก่ พอช.ปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับชาวชุมชนแออัด


 


นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และรัฐบาล โดยให้มีมติ ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และแต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธาน โดยที่ทั้ง 2 คณะ มีองค์ประกอบของหน่วยงานราชการ ตัวแทนเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ เป็นคณะกรรมการร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสมและเท่าเทียมกัน


 



 


ด้านนายถาวร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุม กล่าวว่าได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มารับหน้าที่พูดคุยกับพี่น้องจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมกล่าวด้วยว่า รับรู้ถึงความเดือดร้อนของพี่น้องดีเพราะสมัยก่อนที่จะมาเป็นสส.พ่อแม่ของตนก็เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ สปก.มาก่อน


 


ในส่วนการแก้ไขปัญหา นายถาวร กล่าวว่า จะดำเนินการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมระดับชาติเพื่อกำหนดแผนงานและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกิน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีองค์ประกอบจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรวมถึงตัวแทนจากเครือข่ายฯ ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้ หลังจากนั้นจึงเสนอเรื่องเข้าครม.ต่อไป


 


กรณีที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่ถูกดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา รวมถึงการถูกทำลายทรัพย์สิน ตัด ฟัน ต้นยางของชาวบ้าน จากเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น นายถาวร กล่าวว่า มีความเห็นสอดคล้องกับทางเครือข่ายที่ว่า ต้องใช้นโยบายทางการเมืองแก้ไขปัญหามากกว่าการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เช่น การทำเป็นดุลพินิจและบอกเหตุผลไปยังศาลและกระบวนการยุติธรรมว่าเรื่องเหล่านี้กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาทางนโยบายร่วมกันให้ชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน


 


ส่วน ดร.ทิวา เงินยวง แสดงความเห็นในเรื่องเดียวกันนี้ว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถออกหนังสือถึงกรมอุทยานได้เลย เพื่อไม่ให้มีการทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน


 


นายสุรพล สงฆ์รักษ์ แกนนำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินกล่าวย้ำว่า สิทธิของเกษตรกรจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีที่ดินทำกิน และการที่รัฐบาลได้ออกประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินด้วยการทำโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดินนั้นทางเครือข่ายเห็นด้วยว่าควรแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และเนื่องจากได้ทำเรื่องนี้อยู่แล้วจึงยินดีที่จะใช้พื้นที่ที่อยู่ในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเป็นพื้นที่นำร่องซึ่งขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 6 พื้นที่ทั่วประเทศ


 


 


 


...


11 กุมภาพันธ์ 2552


 


เรื่อง      ข้อเสนอกรอบแนวทางเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาที่ดินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


 


เรียน      ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี


 


อ้างถึง    1. หนังสือเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เรียนนายกรัฐมนตรี ที่ คปท.009/2551 เรื่อง ข้อเสนอต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายแนวทางและมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระหว่างภาครัฐและคนจนไร้ที่ดิน  ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2551


 


2. คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจด้านการเกษตร ว่าด้วยการจัดการที่ดิน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552


 


สิ่งที่ส่งมาด้วย      ข้อเสนอการปฏิรูปที่ดินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


 


ตามที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายแนวทางและมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระหว่างภาครัฐและคนจนไร้ที่ดิน  เพื่อให้นำไปประกอบการจัดทำคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ตามที่อ้างถึง 1.


 


ต่อมารัฐบาลได้จัดทำคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยได้แถลงต่อรัฐสภา ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 75 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพื่อชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดที่ 5 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 นโยบายเศรษฐกิจว่าด้วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเกษตร ข้อที่ 4.2.1.8 ระบุว่า "คุ้มครองและรักษาพื้นที่ ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตร ในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจน และชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร" ตามที่อ้างถึง 2. นั้น


 


ดังนั้น เพื่อให้นโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดที่ดินที่ทำกินให้แก่เกษตรกรยากจน ในรูปของธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาคนจนไร้ที่ดินได้อย่างสัมฤทธิ์ผลในเชิงปฏิบัติโดยเร็ว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ใคร่ขอเสนอแนวทางเบื้องต้นเพื่อการดำเนินการแก้ปัญหาที่ดิน ดังนี้


 


1.ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมร่วมซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายเป็นประธาน ราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชนขึ้นมาภายใน 7 วันนับจากวันนี้ที่มีการยื่นหนังสือ โดยให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจและหน้าที่ เพื่อพิจารณาจัดทำกรอบแผนงานตามนโยบายการจัดที่ดินที่ทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน โดยพิจารณาว่า ที่ดินแต่ละกรณีของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศที่นำเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานั้น มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร กระบวนการแก้ไขปัญหามีความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดที่รับผิดชอบ ต้องใช้กลไกการแก้ไขปัญหาแบบไหน รวมทั้งจะต้องงบประมาณเท่าไหร่ในการจัดทำกรอบแผนงานทั้งหมด


 


2.เพื่อให้การดำเนินการแก้ปัญหาของคณะกรรมการ ตามข้อที่ 1. สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ ขอให้รัฐบาลมีนโยบายเป็นมติคณะรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ยุติการจับกุมดำเนินคดี อพยพ รื้อย้าย เพื่อผ่อนผันให้ชุมชนสามารถอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่เดิมต่อไปได้ตามวิถีชีวิตปกติ กรณีที่ได้จับกุมดำเนินคดีไปแล้ว ขอให้ดำเนินการถอนฟ้อง รวมทั้งกรณีที่มีการฟ้องร้องทางแพ่งที่มีคำพิพากษาบังคับคดีให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ขอให้รัฐบาลดำเนินการถอนการบังคับคดีกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้มีรายละเอียดพื้นที่ตามเอกสารแนบ จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลและกระบวนการข้างต้นจักแล้วเสร็จ


 


3.ให้คณะกรรมการร่วมดังกล่าว ดำเนินการจัดทำกรอบแผนงานตามอำนาจหน้าที่ ตามข้อ 1. ให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่งแต่งตั้ง แล้วให้คณะกรรมการร่วมสรุปผลการดำเนินการเป็นกรอบแผนแม่บทการแก้ไขปัญหา สร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาและงบประมาณให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อขออนุมัติแผนงาน งบประมาณและกลไกการแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป


 


เรา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจักได้นำข้อเสนอแนวทางเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ไปจัดทำกรอบแผนงานโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดินที่ทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจนอย่างยั่งยืนต่อไป


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาต่อไป


 


ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง


 


 


 


 


 


อ่านเพิ่มเติม:


ภาพข่าว: คปท.ชุมนุมจี้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ดิน


"โฉนดชุมชนและธนาคารที่ดิน" กับแนวทาง "ปฏิรูปที่ดิน" เพื่อคนจนไร้ที่ดิน


เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ หวั่นนโยบาย ปชป.เหลว ชี้ทางออกรัฐต้องกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม


ธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน คนจนต้องได้รับผลประโยชน์


"สปก. 4-01" ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดินและไม่เท่ากับ "การปฏิรูปที่ดิน"


 

เอกสารประกอบ

ข้อเสนอเชิงนโยบายของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net