Skip to main content
sharethis

นายสุพจน์ ด่านตระกูล นักคิดนักเขียนที่มีบทบาทสำคัญในการพิทักษ์การอภิวัฒน์การปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ผู้ตอบโต้บรรดาพวกปฏิกิริยาต่อการอภิวัตน์ครั้งนั้นและบรรดาผู้ให้ร้ายต่อรัฐบุรุษอาวุโสนายปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่กรรมลงแล้วอย่างสงบ โดยจะมีพิธีรดน้ำศพแบบเรียบง่ายในเวลา 16.30 น.วันที่ 14ก.พ. ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ฯ จ. นนทบุรี

นายสุพจน์ ด่านตระกูล เมื่อ 25 ม.ค. 2552 ที่ผ่านมา

(ที่มาของภาพ: คุณ wasabi/newskythailand.com)

 

มีรายงานข่าวจากบรรดาเว็บบอร์ดประชาธิปไตยต่างๆ ทั้งนิวสกายไทยแลนด์ และเว็บบอร์ดประชาไท รวมทั้งฟ้าเดียวกันระบุว่า นายสุพจน์ ด่านตระกูล อายุ 86 ปีนักคิดนักเขียนที่มีบทบาทสำคัญในการพิทักษ์การอภิวัฒน์การปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และตอบโต้บรรดาพวกปฏิกิริยาต่อการอภิวัตน์ครั้งนั้น และบรรดาผู้ให้ร้ายต่อรัฐบุรุษอาวุโสนายปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่กรรมลงแล้วอย่างสงบเมื่อคืนวันที่ 12 ก.พ. โดยจะมีพิธีรดน้ำศพแบบเรียบง่ายในเวลา 16.30 น. วันที่ 14 ก.พ. นี้ ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ฯ จ.นนทบุรี กรุณางดพวงหรีด และแต่งกายสุภาพ จากนั้นจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 5 วัน ในเวลา 19.00 น.

 

 

ปัจฉิมวาจารัฐประหาร 19 กันยาจะนำไปสู่อภิวัฒน์สมบูรณ์

นายสุพจน์หรือที่บรรดานักกิจกรรมรุ่นหลังเรียกว่า "ลุงสุพจน์" นอกจากจะทำหน้าที่ในการเขียนหนังสือจำนวนมากเพื่อปกป้องการอภิวัฒน์ 2475 และตอบโต้บรรดาปฏิกิริยาขวาจัดที่มุ่งร้ายโจมตีรัฐบุรุษอาวุโสปรีดีว่าพัวพันกับคดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 อย่างสืบเนื่องเอาการเอางานและน่ายกย่องในความมุ่งมั่นแล้ว ในบั้นปลายชีวิตยังกระฉับกระเฉงในการเข้าร่วมกิจกรรมการเสวนาต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์แก่บรรดานักวิชาการ นักคิด นักกิจกรรมรุ่นหลังผู้ใฝ่หาสัจธรรมอย่างไม่ขาดตอน

 

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่นานนัก กลุ่มประชาชนผู้ต่อต้านการทำรัฐประหารได้จัดกิจกรรมสัมมนาขึ้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ "ลุงสุพจน์" ในบั้นปลายได้รับเชิญขึ้นเวทีอภิปราย โดยยังมีร่างกายที่กระฉับกระเฉงและน้ำเสียงแจ่มใส และยังเต็มไปด้วยคามหวัง

 

ลุงสุพจน์กล่าวตอนหนึ่งในกิจกรรมสัมมนานัดนั้นว่า การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น นับว่าแตกต่างไปจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจหลายครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะหลายครั้งที่ผ่านมานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความขัดแย้งรอง" ซึ่งก็คือบรรดาชนชั้นปกครอง หรือผู้มีอำนาจในโครงสร้างส่วนบนสุดของสังคมยื้อแย่งอำนาจกันไปมา ประชาชนแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ครั้งหลังสุดนี้ถือเป็น "ความขัดแย้งหลัก" กล่าวคือเป็นการขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองที่อยู่บนส่วนยอดสุดของโครงสร้าง ทางสังคม แย่งชิงอำนาจไปจากตัวแทนอันชอบธรรมที่ประชาชนได้พากันเลือกตั้งและสนับสนุน จึงเป็นการขัดแย้งหลักระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนผู้ถูกกดขี่

 

ซึ่งความขัดแย้งหลักดังกล่าวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีน้อยครั้ง คือกรณีอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากบรรดาศักดินามาสู่ประชาชนชั้นไพร่ และต่อมาในกรณี14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนช่วงชิงอำนาจมาจากบรรดาขุนศึกผู้กดขี่ ส่วนการรัฐประหาร 19 กันยานั้น เมื่อชนชั้นผู้ปกครองที่กดขี่แย่งชิงอำนาจไปจากประชาชน คราวนี้ประชาชนผู้ถูกกดขี่คงไม่ยินยอม เพราะประชาชนตระหนักในพลังอำนาจของตนเอง จึงต้องคาดการณ์ว่าความขัดแย้งหลักในครั้งนี้จะนำไปสู่การอภิวัฒน์ที่ สมบูรณ์ที่ลงท้ายด้วยชัยชนะของฝ่ายประชาชนผู้ถูกกดขี่ในที่สุด เนื่องจากบรรดาชนชั้นปกครองผู้กดขี่ไม่อาจจะฝืนต่อสัจจะทางประวัติศาสตร์ได้แน่นอน

 

 

ตายตาหลับแล้วมีคนรุ่นใหม่สืบทอดภารกิจ

สำหรับลุงสุพจน์ในบั้นปลายยังเข้าร่วมกิจกรรมของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย นักกิจกรรมที่ไปเยี่ยมลุงสุพจน์เมื่อวันอาทิตย์ (1 ก.พ.) ขณะป่วย เล่าว่า อาจารย์สุพจน์ ด่านตระกูล ได้เข้าพักอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เนื่องจากโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ตามคำขอร้องของครอบครัว ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (30 ม.ค.) ท่านปฏิเสธการรักษาด้วยเคมีบำบัด และวิธีอื่นๆ แต่ยอมรับกลูโคส และสมุนไพรเพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย ท่านยังมีแผนงานที่จะรวบรวมงานวิจัยในหัวข้อ การปฏิวัติประชาธิปไตยในสยาม คำทักทายแรกที่ท่านเอ่ยกับผู้ไปเยี่ยมคือ "(ชุมนุม) เมื่อวานเป็นไงบ้าง" พร้อมกับเตือนว่าให้เคลื่อนไหวโดยคำนึงถึงภววิสัยไม่ต้องรีบร้อนบุ่มบ่าม

 

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงลุงสุพจน์ว่า (อ่านรายละเอียดคลิกที่นี่) "ในช่วงบั้นปลายชีวิตนั้น ลุงสุพจน์ กับลุงศุขปรีดา พนมยงค์ (บุตรชายนายปรีดี) และมิตรสหาย จะนัดเจอกันเพื่อกิน ดื่ม สนทนา เป็นประจำทุกวันเสาร์ต้นเดือน ร้านย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พักหลังๆ นี้ กลุ่มคุณลุงได้ให้เกียรติพวกผมกลุ่ม 5 คน (หมายถึง 5 อาจารย์นิติศาสตร์คัดค้านรัฐประหาร-ประชาไท) ไปร่วมโต๊ะด้วย หากใครไม่ติดธุระ ก็จะไปกัน

 

ครั้งหลังสุดที่ผมไปนี้ ผมเตรียมจะเดินทางกลับมาฝรั่งเศสในอีกไม่กี่วัน โทรไปถามพรรคพวกแล้ว ติดธุระบรรยายกันหมด บางคนก็อยู่ต่างประเทศ ผมเลยไปคนเดียว เพราะคิดว่า กว่าผมจะกลับมาอีก กว่าจะได้มีโอกาสเจอคุณลุงเหล่านี้ คงอีกนาน และด้วยความสัตย์จริง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ไม่มีใครหน้าไหนหนีพ้น กว่าผมจะกลับมา ก็ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสได้พบคุณลุงครบทุกท่านหรือไม่

 

ผมได้พิมพ์บทความ "ปรีดี พนมยงค์ กับกฎหมายมหาชนไทย" เพื่อมอบให้กับคุณลุงศุขปรีดา และคุณลุงสุพจน์ พร้อมกับนำหนังสือรวมเล่มแรกของผมไปมอบให้ท่านด้วย

 

ท่านเองก็มีไมตรีจิต มอบหนังสือ กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ที่นำมาพิมพ์ใหม่ให้ผมด้วย ซึ่งนับเป็นเกียรติต่อผมอย่างยิ่ง

 

พวกเราสนทนากัน จนได้เวลาแยกวง

 

ผมรอเดินไปส่งคุณลุงศุขปรีดา และคุณลุงสุพจน์

 

คุณลุงศุขปรีดา อวยพรผมให้โชคดี

 

ส่วนคุณลุงสุพจน์ บอกกับผมว่า "อาจารย์ อาจารย์ยังเป็นคนหนุ่ม อาจารย์มีโอกาสได้เห็นเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อนี้แน่นอน อย่าลืมที่จะบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ เพื่อมิให้ใครมาบิดเบือนประวัติศาสตร์นี้ในวันข้างหน้า"

 

และปิดท้ายด้วยประโยคว่า "ผมเห็นกลุ่มอาจารย์เป็นคนหนุ่ม และมีความคิดแบบนี้ ผมก็วางใจ และคงนอนตายตาหลับ"

 

แรงกาย แรงใจ แรงสมอง ที่คุณลุงสุพจน์ ทำมาตลอด ตามความคิด ความเชื่อของคุณลุงนั้น ไม่เสียเปล่าแน่นอน ขอไว้อาลัยแด่คุณลุงสุพจน์ ด่านตระกูล นายปิยบุตรกล่าว

 

สำหรับการรดน้ำศพ ข้อมูลจากคุณ tidadheva เว็บชมรมฟ้าใหม่แจ้งกำหนดการงานศพว่า จะมีพิธีรดน้ำศพแบบเรียบง่ายในเวลา 16.30 น. วันที่ 14 ก.พ.นี้ ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ฯ จ. นนทบุรี กรุณางดพวงหรีด และแต่งกายสุภาพ จากนั้นจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 5 วัน ในเวลา 19.00 น.

 

 

 

 

หมายเหตุ: ท่านที่สนใจงานเขียนของนายสุพจน์ ด่านตระกูล สามารถหาอ่านหนังสือเหล่านี้ได้ โดยคลิกที่นี่

 

ที่มา: เรียบเรียงจากไทยอีนิวส์ เพิ่มเติมเล็กน้อยโดยประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net