แพทยสภาแกล้งหนู (ผู้หญิงข้ามเพศ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย (ภายใต้การดูแลของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ โดยเป็นเพียงสมาคมแรกและสมาคมเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองฐานะโดยกระทรวงวัฒนธรรมของไทย) กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ ก่อตั้งเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างผู้หญิงข้ามเพศและสังคม อีกทั้งให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้หญิงข้ามเพศมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อตนเอง เพื่อการดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างราบรื่นปกติสุข

เนื่องด้วยวันที่ 6  มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯได้ทราบข่าวจากทางสื่อต่างๆ ว่า แพทยสภาได้กำหนด (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การทำศัลกรรมแปลงเพศ พ.ศ.... เพื่อสร้างหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการศัลยกรรมแปลงเพศต่อผู้หญิงข้ามเพศและแพทย์ผู้ผ่าตัด ซึ่งในภาพรวมทางกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ มีความเห็นด้วยในหลักเกณฑ์เบื้องต้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม  หากแต่ในเชิงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ มิได้มีความเห็นสอดคล้องแต่อย่างใด โดยการประกาศ (ร่าง) หลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อสาธารณะของแพทยสภาในวันที่ 6 มกราคม 2552 แพทยสภามิได้ยอมรับความคิดเห็นของกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ เลย  ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 ทางกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับแพทยสภา และกลุ่มฯ ได้แสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต อธิบายข้อดีข้อเสียของ(ร่าง)ฉบับนี้ ฯลฯ  อีกทั้งแพทยสภายังได้ตกปากรับคำไว้ว่าจะนำข้อมูลไปพิจารณา ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในการประชุมครั้ง(เกือบ)สุดท้ายก่อน (ร่าง) ข้อบังคับนี้จะถูกประกาศสู่สาธารณะ

เห็นได้ชัดเจนว่า (ร่าง) ข้อบังคับนี้ แพทยสภามิได้มีความสนใจที่จะช่วยเหลือผู้หญิงข้ามเพศอย่างจริงใจ ไม่สนใจในความต้องการอันแท้จริงของหญิงข้ามเพศ ทั้งๆ ที่หากข้อบังคับนี้มีผลบังคับใช้ ผู้หญิงข้ามเพศทั่วประเทศไทยทุกคนจะได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งหมด ซึ่งหากย้อนถามถึงอำนาจของแพทยสภามีดังนั้นหรือไม่?? หรือแพทยสภามีอำนาจในการควบคุมดูแลแพทย์ด้วยกันเท่านั้น?? เป็นที่น่าสนใจว่า.. แพทยสภาสนใจเรื่องนี้ทำไม??  หรือเพียงแค่อยากให้มีผลงาน (ในช่วงก่อนหมดวาระ) สู่สายตาสาธารณะหรืออย่างไร??  และ.. เชิญกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ เข้าร่วมประชุมทำไม???  ในเมื่อ(ร่าง) ข้อบังคับ ทั้งก่อนและหลังการประชุม มันเหมือนกัน  มันไม่มีการแก้ไข

 

กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ ใคร่ขอตั้งประเด็นคร่าวๆ เพื่อความชัดเจนดังนี้

- ข้อบังคับนี้ว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงข้ามเพศ(ผู้ที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ) เท่านั้น มิใช่ กะเทย(แต่งตัวเป็นผู้หญิง แต่ไม่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ)  ตุ๊ด และเกย์ ซึ่งไม่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ

- ข้อบังคับระบุว่า การทำศัลยกรรมแปลงเพศ หมายความว่า การรักษาโรคทางจิตเวช

แสดงว่า ผู้ที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้มีอาการป่วย แพทยสภาต้องกล้าพอที่จะอธิบายต่อสาธารณะ ถึงที่มาของการวินิจฉัยนั้นอ้างอิงจากที่ใด องค์การอนามัยโลกว่าไว้หรือไม่ อาการป่วยดังกล่าวเป็นอย่างไร เป็นอาการป่วยทางจิตใจหรือทางร่างกาย การรักษาอาการป่วยนั้นมีวิธีการและขั้นตอนการรักษาอย่างไร มีผลการวิจัยว่ารักษาทางจิตหายกี่เปอร์เซ็น รักษาทางร่างกายหายกี่เปอร์เซ็น การใช้ฮอร์โมนบำบัด และการผ่าตัดอัณฑะ ถือว่าเป็นขั้นตอนของการรักษาหรือไม่  มิใช่ให้สังคมมองว่า การผ่าตัดอวัยวะเพศ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอวัยวะเพศของบุคคลใดๆ หมายถึงบุคคลคนนั้นเป็นบ้า และต้องตีกรอบควบคุม

-หากการศัลยกรรมแปลงเพศ ถือว่าเป็นการรักษาโรคทางจิตเวช เหตุใดจึงต้องจำกัดอายุ    (อย่างรัดตึง) ในการรักษาโรค ทำไมต้อง 18 ปี?? ทำไมต้อง 20 ปี?? เด็กไม่มีสิทธิที่จะรักษาโรคใช่ไหม??  การรักษาโรคควรมีข้อบังคับในการจำกัดอายุอย่างเข้มงวดอย่างนั้นหรือ??

-ข้อบังคับกำหนดให้ปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อประเมิน วินิจฉัยโรค วินิจฉัยแยกโรค และให้ความช่วยเหลือตามแนวทางปฏิบัติของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จิตแพทย์ที่แพทยสภาอ้างถึงเป็นใคร??  อยู่ที่ไหน?? เข้าถึงอย่างไร?? ปริมาณเพียงพอกับคนไข้ในปัจจุบันหรือไม่?? มาตรฐานการรักษาของจิตแพทย์คืออะไร?? จิตแพทย์ที่ทำหน้าที่นั้น มีมาตรการในการประเมิน วินิจฉัยแยกโรค วินิจฉัยโรค และจะให้ความช่วยเหลือคนไข้อย่างไร?? แน่ใจหรือไม่ว่ารู้จักข้อแตกต่างระหว่าง ผู้หญิงข้ามเพศ - กะเทย - ตุ๊ด - และเกย์ ดีเพียงพอ??

-กรณีที่มีข้อบ่งชี้ให้ผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศ ผู้รับการรักษาต้องได้รับการรับรองจากจิตแพทย์อย่างน้อย 2 ท่าน   ทำไมต้อง 2 ท่าน??  ผู้ป่วยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือไม่?? หรือมีใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้?? อะไรเป็นสิ่งบ่งบอกว่าจิตแพทย์ท่านเดียวไม่สามารถวินิจฉัยได้?? หรือแพทย์กลัวตัดสินผิด??  กลัวถูกฟ้อง?? แสดงว่าหมอไม่มีความมั่นใจว่าเข้าใจหญิงข้ามเพศดีพอ หรือเปล่า??

-ให้ส่งผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อเพื่อพิจารณาให้การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนด้วยการพิจารณาให้ยาฮอร์โมนในชนิดและขนาดที่เหมาะสม แพทย์ทางด้านต่อมไร้ท่อที่จะให้คำแนะนำแก่หญิงข้ามเพศเรื่องฮอร์โมนมีอยู่จริงหรือไม่?? แพทย์ทางด้านต่อมไร้ท่อมีความรู้มากเพียงพอที่จะมาให้คำแนะนำ ตรวจ วินิจฉัย ให้การรักษาหญิงข้ามเพศหรือไม่?? หรือหญิงข้ามเพศรู้ดีกว่า?? และในกรณีของคนไข้ที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงตั้งแต่ยังเด็ก(ใช้ฮอร์โมนบำบัดมานาน ก่อนเข้าพบแพทย์) จะมีวิธีการปฏิบัติต่อคนไข้เมื่อเข้ารับการรักษาอย่างไร??

-จิตแพทย์จะต้องให้คำแนะนำผู้รับการรักษาทุกราย ให้ทดลองใช้ชีวิตเป็นเพศตรงข้าม อย่างน้อย 1 ปี เพื่อประเมินผลการรักษาโดยทำศัลยกรรมแปลงเพศต่อไป แผนการรักษา และการตรวจสอบเป็นอย่างไร?? ทำไมจะต้องให้ทดลองใช้ชีวิตเป็น เพศตรงข้ามมาก่อนอย่างน้อย 1 ปี  แล้วคนที่ได้ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงมาก่อนแล้ว ต้องการจะเข้ารับการรักษาวันนี้พรุ่งนี้ไม่ได้หรือ?? ต้องเข้าถึงกระบวนการผ่าตัดแปลงเพศช้าไปอีก 1 ปี อย่างนั้นหรือ??? คนไข้จะเสียเวลาหรือไม่??? คนไข้จะต้องทน suffer ต่อไปอีกหนึ่งปีอย่างนั้นหรือ??? ใครจะรับผิดชอบความรู้สึกของคนไข้???

-แพทย์ที่จะมีสิทธิกระทำการผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศ ได้แก่ผู้ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรและได้รับการรับรองจากแพทยสภา.... หลักสูตรอะไร?? ทุกวันนี้มีหมอสักคนเดียวไหมที่ผ่านการรับรองจากแพทยสภาให้ ผ่าตัดแปลงเพศได้ ไม่มี!! แล้วใครจะมีสิทธิผ่าตัดแปลงเพศให้หญิงข้ามเพศ???

 

ข้อบังคับนี้ตึงเกินไปหรือไม่???? ข้อบังคับนี้ผลักภาระให้หญิงข้ามเพศเกินไปหรือไม่???

 

ข้อเสนอของกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ ต่อรมว.สาธารณสุข

1.        ระงับการลงนามใน (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การทำศัลยกรรมแปลงเพศ พ.ศ... ชั่วคราว

2.        แนะนำแพทยสภาให้ทบทวน (ร่าง)เดิม ฉบับดังกล่าว และให้พิจารณาใหม่อย่างรอบคอบในการออก "(ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ" ใหม่ในครั้งต่อไป

 

ข้อเสนอของกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ ต่อแพทยสภา

1.        แพทยสภาต้องระบุและชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนว่า การผ่าตัดเปลี่ยนเพศของบุคคลที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ (Transexualism) เป็นภาวะอาการป่วยหรือไม่ อย่างไร เพื่อความเหมาะสมในการกำหนดแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ที่ถูกต้อง

(หากมิใช่อาการป่วย แพทยสภาก็ไม่ควรจำกัดขอบเขตของบุคคลในเรื่องสิทธิในการทำศัลยกรรม) รวมถึงการแสดงข้อมูลต่อสาธารณะด้วย

2.        กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ มีความเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการจัดการระบบการตรวจสอบบุคคลและเอกสารรับรองบุคคลที่ต้องการการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ของไทย และยังเป็นการแสดงออกถึงการรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม กล่าวคือ กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ มีความเห็นพ้องกับกฎข้อบังคับในแต่ละข้อของ (ร่าง)

ขัอบังคับฯ ฉบับเดิม  หากแต่การออกกฎข้อบังคับอย่างรัดตึง นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อตัวคนไข้เองแล้ว ยัง ไม่เป็นผลดีต่อแพทย์ผู้รักษา(ด้านต่างๆ )ด้วยในเรื่องของความยุ่งยากในมาตรฐานการรักษา รวมถึงยังเป็นการแสดงภาพพจน์ของมาตรฐานของการรักษาคนไข้ของแพทย์ไทย ที่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องนั้นๆ แต่กลับออกกฎมาบังคับตัวเองและผู้อื่น ในที่สุดผู้ที่เสียประโยชน์คือคนไข้ และผู้ที่เสียชื่อคือ แพทยสภา

ดังนั้น กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศจึงใคร่ขอร้องให้แพทยสภาทบทวน (ร่าง) ข้อบังคับฯ ฉบับเดิมใหม่อีกครั้ง ว่ากฎข้อบังคับที่กล่าวมาทั้งหมด ควรจะจัดไปอยู่ในหมวดของมาตรการและขั้นตอนในการรักษาคนไข้ของแพทย์ จะมีความเหมาะสมมากกว่าหรือไม่ เพื่อการวินิจฉัยโรคจะมีความยืดหยุ่นและเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ เห็นว่า แพทยสภาต้อง..

            -ออก (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอเอกสารการรับรองให้ ผ่าตัดแปลงเพศ  (เท่านั้น!)

            -จัดตั้งศูนย์รองรับเพื่อการขอเอกสารการรับรองให้ผ่าตัดแปลงเพศให้แก่หญิงข้ามเพศ และต้องประกาศข่าวสู่สาธารณะ

            -นำข้อบังคับจาก (ร่าง)เดิม มาเป็นเพียงแนวทางของแพทย์เกี่ยวกับมาตรฐานในการตรวจสอบ  วินิจฉัย และประเมินบุคคลที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนเพศอย่าง เป็นปัจเจก

              

กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย ขอกราบขอบพระคุณสื่อมวลชนทุกท่านล่วงหน้า ที่ให้ความกรุณาสละเวลาอันมีค่า สนใจในข่าวประเด็นของกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ อันเป็นสิ่งบ่งบอกถึงจิตใจอันมีมนุษยธรรมของทุกท่าน

 

                                                        

                                                                                                                                     ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

 

(ยลลดา เกริกก้อง สวนยศ)

ประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย

 

 

 

(แสดงความคิดเห็นได้ที่  http://rsat.info/webboard/thread-284-1-1.html)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท