Skip to main content
sharethis

"องอาจ เดชา"


 


 



โดยข้อมูลตรงจากคณะทำงานของนายกรัฐมนตรี


ก็พบว่ามีการกำชับถึงคดีของพระสุพจน์ด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากไม่เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน เท่ากับคดีทนายสมชาย หรือคดีชิบปิ้งหมู และคดีเช่นเพชรซาอุ จึงมีการกล่าวถึงสั้นๆ


ในสื่อเพียงบางฉบับเท่านั้น


 



ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าการให้ความสนใจในคดีพระสุพจน์ ของผู้นำฝ่ายรัฐบาลหลายท่าน ได้ทราบไปถึงผู้บริหารระดับสูงของ DSI จึงทำให้หวั่นเกรง ว่าความบกพร่องของตน ที่ทำคดีพระสุพจน์อย่างล่าช้ามากว่า 3 ปี โดยปราศจากความคืบหน้านั้นจะถูกเปิดเผยขึ้น อันอาจนำมาซึ่งการโยกย้าย หรือการลงโทษทางวินัยได้ จึงต้องรีบออกมาบิดเบือนข่าว ทั้งเพื่อลดความชอบธรรมของผู้ตาย และสามารถกล่าวอ้างได้ ว่าผู้เสียหายก็ไม่ใช่คนดิบดีอะไร จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดคดี


 


 


 



กรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นกล่าวอ้างเสมอว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้ความชำนาญพิเศษ จากผู้เชีjยวชาญหลายสาขา ในลักษณะสหวิชาชีพ เพื่อมุ่งหวังผล หรือประสิทธิภาพสูงสุด ในการสืบสวนสอบสวน เรียกง่ายๆ ว่าต้องเก่ง หรือเหนือชั้นกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ลองไปศึกษาดูเถอะ ว่ามีคดีใด ที่ดีเอสไอทำได้ดีกว่าตำรวจบ้าง? หรือในทางกลับกัน มีคดีใดบ้างที่ดีเอสไอทำสำเร็จ โดยที่ตำรวจไม่น่าจะทำได้บ้าง?


 



บอกได้สั้นๆ ว่าหากไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ทันท่วงที ในที่สุด บ้านเมืองของเรา ก็จะมีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กันมากยิ่งขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม การก่อการร้าย หรือการกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธ โดยไม่หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม จะเป็นเรื่องธรรมดาไปในที่สุด


 


 


 






 


 


 



พระสุพจน์ สุวโจ


(ที่มาภาพ : http://www.semsikkha.org)


 


คงจำกันได้ กับกรณีเหตุการณ์คนร้ายสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ พระนักกิจกรรมในกลุ่มเสขิยธรรม กลุ่มพุทธทาสศึกษา และเจ้าอาวาสสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงู ต.สันทราย อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2548 จนมรณภาพ และได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง


 


คดีดังกล่าว ได้สั่นสะเทือนต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะถือว่า พระสุพจน์ เป็นพระนักปฏิบัติสายท่านพุทธทาส ซึ่งมีคนนับถือทั่วประเทศ และเป็นการฆาตกรรมพระอย่างโหดร้ายทารุณ ด้วยของมีคมไม่ทราบชนิดและขนาดจากคนร้ายไม่ทราบจำนวน มีบาดแผลฉกรรจ์กว่า 20 แผล ทั้งที่ ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ มือ แขน และลำตัว กระทั่งถึงแก่มรณภาพ ห่างจากกุฏิที่พักกว่า 300 เมตร ริมทางเดินซึ่งอยู่ห่างจากถนนระหว่างหมู่บ้าน ประมาณ 10 เมตร ในเขตสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่


 


คดีนี้เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง ที่นักอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม นักเผยแผ่ด้านศาสนธรรม ได้สละชีพเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนที่อาศัยอยู่ ท่ามกลางกระแสของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่จับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ใช้อำนาจอันป่าเถื่อนเข้าไปทำลายชีวิตของผู้คนชาวบ้านที่ขัดขวางผลประโยชน์ เพื่อเข้ากอบโกยทรัพยากรในชุมชนและอยู่อย่างต่อเนื่อง


 


หลายคนอาจมองว่า คดีนี้อาจจะเป็นเพียงคดีฆาตกรรมทั่วไป ที่ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวชก็มีสิทธิ์สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อในยุคสมัยอันมืดมนอย่างปัจจุบัน แต่เมื่อหากพินิจพิเคราะห์จากรายละเอียดเรื่องราวต่อจากนี้ไป เราจะเห็นความเชื่อมโยงและปัญหาในมุมที่กว้างขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่การฆ่าพระที่ อ.ฝาง ไม่ใช่แค่การฆ่าพระที่เชียงใหม่ และมันไม่ใช่การฆ่าพระที่ประเทศไทย ปัญหานี้มันยิ่งใหญ่กว่านั้นหลายเท่านัก


 


ซึ่งว่ากันว่า นี่คือปัญหาการช่วงชิงทรัพยากรของโลกนี้ โดยกลุ่มนายทุน-ชนชั้นปกครอง เพื่อนำไปแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มตนเอง


 


ในห้วงขณะที่นโยบายของรัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นอ่อนเปลี้ยเสียขาลงไปทุกชั่วขณะ


กระทั่งสังคมไทยเริ่มตั้งคำถามกันว่า แล้วในที่สุดประชาชนจะหวังพึ่งใคร!?


 


นับจากวันนั้น จนถึงวันนี้ เวลาผ่านไปเข้าปีที่ 4 แล้ว ทว่าคดีพระสุพจน์ ก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน กระทั่งล่าสุด จู่ๆ ทางดีเอสไอก็ออกมาให้ข่าวว่า เหตุฆ่าพระสุพจน์นั้นอาจมีปมมาจากเรื่อง "ชู้สาว" ซึ่งได้ทำให้สังคมสับสน รวมไปถึงญาติของพระสุพจน์ เกิดความคลางแคลงใจต่อข้อมูลนี้เป็นอย่างยิ่ง ว่าการให้ข่าวเช่นนี้ อาจจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อเบี่ยงเบนหรือบิดเบือนคดีดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร?


 


ล่าสุด "ประชาไท"ได้สัมภาษณ์ "พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ" ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ เพื่อสอบถามถึงประเด็นนี้ รวมไปถึงความคืบหน้าของคดีพระสุพจน์ สุวโจ ในความรับผิดชอบของดีเอสไอนั้นไปถึงไหนบ้าง !?


 


 


 



 


"พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ"


ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์


(ภาพจาก : นิตยสารสารคดี)


 


 


ตามที่เป็นข่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะเร่งสางคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร,คดีชิปปิ้งหมู และคดีเพชรซาอุฯ ให้เสร็จในรัฐบาลนี้ แล้วทำไมถึงลืมคดีฆ่าพระสุพจน์ สุวโจ ไปได้ยังไง ?


 


จากการที่อาตมาและคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ได้มีโอกาสเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมามีการเสนอให้รื้อฟื้นคดีสังหารนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 คดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI)


 


ในที่ประชุมนั้น นายกรัฐมนตรีได้รับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นหลายต่อหลายประเด็น ใจความส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นว่ามีความสนใจ และติดตามรายละเอียดของทั้ง 3 คดีมาก่อน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำการบ้านมาก่อนแล้วระดับหนึ่ง นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงคดีของชิบปิ้งหมู ว่าจะรื้อฟื้นขึ้นมาในโอกาสเดียวกัน


 


กล่าวโดยสรุปว่า นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะสั่งการให้มีการรื้อฟื้นคดีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น


รวมถึงคดีของชิบปิ้งหมู และคดีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด ตลอดจนคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆ โดยย้ำว่าจะใช้กลไกต่างๆ ในขบวนการยุติธรรม ร่วมกับคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นใหม่ จากคนที่มีฝีมือ และไว้ใจได้


 


และในวันถัดมา นายกรัฐมนตรี ก็ได้เรียกให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ และ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง มาให้นโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งเท่าที่ทราบ โดยข้อมูลตรงจากคณะทำงานของนายกรัฐมนตรี


ก็พบว่ามีการกำชับถึงคดีของพระสุพจน์ด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากไม่เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน เท่ากับคดีทนายสมชาย หรือคดีชิบปิ้งหมู และคดีเช่นเพชรซาอุ จึงมีการกล่าวถึงสั้นๆ


ในสื่อเพียงบางฉบับเท่านั้น 


 


แล้วจู่ๆ ทำไมทางดีเอสไอ ถึงออกมาให้ข่าวกับมติชน โดยตั้งปมใหม่ว่าคดีฆ่าพระสุพจน์อาจเป็นเรื่องชู้สาว? ข่าวที่ออกมาแบบนี้มีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่ อย่างไร ?


 


หลังจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่กล่าวแล้ว อาตมา และคุณอังคณา นีละไพจิตร ตลอดจนคุณสมชาย หอมละออ กับคณะทำงานของ ครส. ได้มีโอกาสได้เข้าพบ คุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเสนอข้อมูลเพิ่มเติม


และขอให้มีการเร่งรัดคดีด้านสิทธิมนุษยชนอีกครั้งหนึ่ง โดยท่านรัฐมนตรี ได้สอบถามข้อมูลอย่างละเอียด และได้เกษียนสั่งการในหนังสือขอความเป็นธรรม ต่อหน้าคณะที่เข้าพบ เพื่อเร่งรัดคดีในที่ประชุมนั้นเลย


 


และในวันนั้น หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้ว อาตมายังมีโอกาสได้พบกับท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคุณถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวในคดี ฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวโจ อีกหลายท่าน โอกาสนี้ คุณชวน หลีกภัย ได้กล่าวกับคุณอภิสิทธิ์ ว่าตนเองสนใจติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้น เมื่อครั้งไปร่วมงาน บำเพ็ญกุศลศพพระสุพจน์ สุวโจ ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ทั้งนี้ เนื่องจากเคยติดตามงานของพระสุพจน์ มาก่อน และนอกจากนั้น พระรูปนี้ยังเกิดที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ถือได้ว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน อีกด้วย


 


ซึ่งคุณชวนยังกล่าวด้วยว่า ตนเองได้แนะนำให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ทำหนังสือถึงรัฐบาล ขอให้เร่งรัดคดีสังหารพระสุพจน์ อีกทางหนึ่ง และตนจะร่วมลงนามในหนังสือนั้นอีกด้วย


 


ในส่วนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้รับปากกับอาตมา ว่าจะจัดกำลังตำรวจมาดูแลอารักขาพยานอีกทางหนึ่งด้วย


 


ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าการให้ความสนใจในคดีพระสุพจน์ ของผู้นำฝ่ายรัฐบาลหลายท่าน ได้ทราบไปถึงผู้บริหารระดับสูงของ DSI จึงทำให้หวั่นเกรง ว่าความบกพร่องของตน ที่ทำคดีพระสุพจน์อย่างล่าช้ามากว่า 3 ปี โดยปราศจากความคืบหน้านั้น จะถูกเปิดเผยขึ้น อันอาจนำมาซึ่งการโยกย้าย หรือการลงโทษทางวินัยได้ จึงต้องรีบออกมาบิดเบือนข่าว ทั้งเพื่อลดความชอบธรรมของผู้ตาย และสามารถกล่าวอ้างได้ ว่าผู้เสียหายก็ไม่ใช่คนดิบดีอะไร จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดคดี


 


นอกจากนั้น สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือการให้ข่าวกับทางมติชนออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ อันเป็น 2 สื่อแรกที่เผยแพร่ข่าวนี้ ก็ไม่ปรากฏชื่อผู้ให้ข่าว หรือผู้ให้สัมภาษณ์ แต่กลับใช้อ้างอิงเพียงว่า "แหล่งข่าวจากดีเอสไอ" ซึ่งมิใช่วิสัยของการแถลงความคืบหน้าทางคดี ซึ่งเคยมีมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือ มีลักษณะของ "ข่าวปล่อย" โดยมีเจตนาแฝงเร้น หรือมีลับลมคมนัย โดยไม่มีที่มาที่ไป มากกว่าการให้ข่าวตามปกติ อย่างสุจริตใจ


 


ที่ผ่านมากระบวนการทำงานของดีเอสไอเป็นยังไงบ้าง กับคดีพระสุพจน์ ?


 


กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีนี้มารับผิดชอบอย่างไม่เต็มใจมาตั้งแต่ต้น เพราะเดิมที คุณสมบัติ อมรวิวัฒน์ เคยแถลงข่าว ว่าจะไม่รับคดีนี้เป้นคดีพิเศษ แต่ถัดมาต้องกลับคำ เพราะคณะกรรมการคดีพิเศษในขณะนั้น จำเป็นต้องรับคดีนี้ไว้ ตามข้อเสนอของคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เพราะคุณอังคณา นีละไพจิตร ไปแถลงในที่ประชุมสหประชาติ ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับคดีทนายสมชาย และคดีพระสุพจน์


 


เมื่อไม่เต็มใจจะรับไว้ตั้งแต่ต้น การทำงานจึงมีลักษณะขอไปที และมีการเปลี่ยนตัว คณะทำงานอยู่เสมอ เรียกว่ามีลำดับความสำคัญต่ำมาก เมื่อมีงานอื่นเป็นข่าวใหญ่ หรือเป็นข่าวดัง


ก็ต้องส่งคนไปทำงานอื่นก่อนคดีนี้เสมอมา


 


ในส่วนของการรวบรวมพยานหลักฐาน เมื่อตำรวจที่ทำคดีนี้ในเบื้องต้น ก่อนที่ดีเอสไอจะรับมาทำต่อ ทำอะไรบกพร่อง เช่น ตำรวจไม่มีการปิดที่เกิดเหตุ มีความหละหลวม ในการรวบรวมพยานหลักฐาน หรือมีความบกพร่องในการตั้งสมมติฐานทางคดีอย่างไร สิ่งที่ว่ามานั้น


ก็เกิดขึ้นกับดีเอสไอที่ทำคดีนี้โดยแทบมิได้แตกต่างกัน


 


เช่นที่เพิ่งเป็นข่าว ว่ามีหลักฐานส่อไปในทางชู้สาว ก็เป็นหลักฐานที่เก็บหลังจากเกิดเหตุถึง 18 เดือน โดยบริเวณที่เก็บหลักฐาน หรือวัตถุพยาน ก็มิได้เป็นพื้นที่สงวนไว้ หรือห้ามเข้า


แต่กลับเป็นพื้นที่เปิดซึ่งใครต่อใครเข้าไปเหยียบย่ำ จนเกิดการปนเปื้อนมาเป็นเวลานาน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงชั้นศาล ก็แทบไม่มีน้ำหนัก หรือมีผลต่อรูปคดีในทางใดๆ อีกต่อไป กล่าวได้ว่าเป็นหลักฐานเพื่อใส่ร้ายคนตาย มากกว่าใช้สำหรับแสวงหาผู้กระทำผิด


 


กรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นกล่าวอ้างเสมอว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้ความชำนาญพิเศษ จากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ในลักษณะสหวิชาชีพ เพื่อมุ่งหวังผล หรือประสิทธิภาพสูงสุด ในการสืบสวนสอบสวน เรียกง่ายๆ ว่าต้องเก่ง หรือเหนือชั้นกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ลองไปศึกษาดูเถอะ ว่ามีคดีใด ที่ดีเอสไอทำได้ดีกว่าตำรวจบ้าง? หรือในทางกลับกัน มีคดีใดบ้างที่ดีเอสไอทำสำเร็จ โดยที่ตำรวจไม่น่าจะทำได้บ้าง? ถ้าใครสามารถยืนยันได้ก็บอกมา พระกิตติศักดิ์จะมีรางวัลให้… เพราะถ้าดีเอสไอดีจริง แน่จริง นายกฯอภิสิทธิ์ จะต้องเรียกตำรวจมือปราบมาช่วยอีกทางหนึ่งทำไม ใช่มั้ย?


 


ที่ผ่านมา จะเห็นว่าในส่วนของคดีพระสุพจน์ นั้น มีการเปลี่ยนรัฐมนตรียุติธรรมมาแล้ว 4 คน คนปัจจุบันเป็นคนที่ 5 เปลี่ยนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมาแล้ว 3 คน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษเปลี่ยนมาแล้ว 2 คน ก็คว้าได้แต่น้ำเหลว ไม่มีเนื้อมีหนังอะไร พอญาติและผู้เกี่ยวข้องเรียกร้องขึ้นมาคราวหนึ่ง ก็ออกมาดิสเครดิตผู้ตายเสียคราวหนึ่ง นี่หลังจากให้สัมภาษณ์คราวนี้ ก็ไม่รู้ว่าดีเอสไอ จะหาเรื่องฉาวโฉ่อะไรมาใส่ร้ายพระสุพจน์อีก คดีก็ไม่คืบหน้า แต่คนที่ทำคดีนี้ล้มเหลว กลับก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นทุกที อย่างนี้จะให้เรียกว่าอะไร?


 


ท่านอยากเสนอประเด็นอะไรต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ กับคดีพระสุพจน์บ้าง ?


 


กรุณาเร่งดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เอาตัวคนผิดมาลงโทษด้วยกระบวนการยุติธรรมเสียที หรือหากเอาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้ ก็ช่วยเอาคนที่ใส่ร้ายพระสุพจน์ หรือแกล้งทำคดีให้ล่าช้ามาลงโทษเสียให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่เป็นเยี่ยงอย่างไปถึงคนในรุ่นต่อๆ ไป


 


คดีพระสุพจน์นั้นคนในเมืองฝางรู้กันทั้งนั้น ว่าใครทำ ใครบงการ มีแต่ตำรวจและดีเอสไอนั่นล่ะ ที่ไม่รู้ ชาวบ้านเขาว่ากันอย่างนี้!!


 


มาถึงตอนนี้แล้ว ยังเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยอยู่หรือไม่ ?


 


นับตั้งแต่พระสุพจน์ถูกฆ่า มีโอกาสได้ให้การกับตำรวจ กับดีเอสไอ มีโอกาสได้ขึ้นโรงขึ้นศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้งในฐานะโจทย์และจำเลย ถูกซักทั้งจากอัยการ และจากทนาย ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับคุณอังคณา นีละไพจิตร คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาคุณเจริญ วัดอักษร และใครต่อใครอีกหลายคน เรียกได้ว่าเกิดการรู้แจ้งเห็นจริง ต่อกระบวนการยุติธรรมไทย มากกว่าคนไทยอีกหลายล้านคน บอกได้สั้นๆ ว่าหากไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ทันท่วงที ในที่สุด บ้านเมืองของเรา ก็จะมีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กันมากยิ่งขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม การก่อการร้าย หรือการกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธ โดยไม่หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม จะเป็นเรื่องธรรมดาไปในที่สุด


 


คำกล่าวที่ว่า คนรวยและคนมีอำนาจทำผิดเองก็ไม่ติดคุก ผู้บงการ หรือผู้จ้างวานให้คนอื่นทำแทน ก็ไม่ติดคุก เรียกว่า ตะรางมีไว้ขังคนโง่และคนจน ยังเป็นความจริงในสังคมไทยไปอีกนาน จนกว่าคนจนคนโง่จะติดคุกหมด หรือตายหมดนั่นแหละ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net