Skip to main content
sharethis


20 ก.พ.52 เวทีที่สองในภาคบ่าย ของเวทีภาคประชาชนอาเซียน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการพูดเรื่อง ปฏิบัติการร่วมสำหรับประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



เฮนรี่ ซาราจีห์  (Henry Saragih) จากองค์กรชาวนา เวีย คัมปาซินา (La Via Campesina) กล่าวถึงเศรษฐกิจและการค้าทางเลือกว่า ทุกวันนี้เรายังพูดกันในประเด็นที่เคยพูดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะปัญหายังคงอยู่ ประชาชนผู้ด้อยโอกาส และเกษตรกรยังต้องอดอยากหิวโหย แม้ว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกรายใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาซับซ้อนมากขึ้น เรื่องเกษตรกรรมก็เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรทางการเงินโลกที่เกิดขึ้นด้วย


เฮนรี่เห็นว่า ในภูมิภาคนี้ ประเทศต่างๆ ล้วนเป็นเหยื่อของนโยบาย WTO นับแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 จนปัจจุบัน ถึงเวลาที่เราจะต้องคิดว่าจะปฏิบัติการอย่างไร จะเปลี่ยนนโยบายรัฐได้อย่างไร สิ่งที่เราควรทำมากที่สุดในฐานะที่เป็นขบวนการทางสังคม  คือ ปัญหาวิกฤตอาหาร ต้องแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหย โดยหาทางว่าทำอย่างไร ผู้บริโภค แรงงาน เกษตรกรจะร่วมกันหาทางออกของปัญหาได้ สำหรับโครงการเฉพาะหน้าของ UN เราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการของ UN ที่ทำเรื่องอาหารด้วย เพราะเขาสนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติเขียวอีกครั้ง นับเป็นรุ่นที่สอง โดยทำในทวีปแอฟริกา เราต่างก็รู้อยู่แล้วว่าการปฏิวัติเขียวทำลายภาคเกษตรอย่างไร


นอกจากนี้เราต้องมีปฏิบัติการทางตรง โดยกดดันให้รัฐบาลอาเซียนให้ต้องดำเนินการเรื่องการปฏิรูปการเกษตร  ดังที่ปี 2549 FAO ได้มีการส่งเสริมการปฏิรูปการเกษตร ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เราต้องการระบบชลประทานขนาดเล็ก


ขณะที่ทางเลือกในทางเศรษฐกิจ การเมือง เราต้องมีความเข้มแข็งในฐานะเป็นขบวนการทางสังคม ถ้าดูจากกฎบัตรอาเซียน จะเห็นว่ามีการส่งเสริมการเปิดเสรีและเอานโยบายของ WTO, IMF และฉันทามติวอชิงตันมาดำเนินการ เห็นได้จากมาตรา 1 , 5 และ 10 ดังนั้น เราจึงต้องคิดถึงการปฏิรูปการเกษตร ดังที่อังถัดบอกว่าพืชอาหารไม่ควรถูกพิจารณาเหมือนหุ้นในตลาดหุ้น เราไม่ต้องการให้มีการต่อสู้ระหว่างประเทศ อย่างไทยกับอินโด ที่จะทะเลาะกันเองในเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตร ในประเด็นสิทธิทางอาหาร เราต้องผลักดันให้มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเกษตรกรขึ้นมา เพราะในปัจจุบันยังไม่มีสิทธิเกษตรกรปรากฏในอนุสัญญาใดเลย และเราต้องผลักดันให้ประเทศต่างๆ ให้สัตยาบรรณ



ไฮร่า จฮามทานี (Hira Jhamtani) จากเครือข่ายโลกที่สาม (Third World Network) กล่าวถึงความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice)ว่า ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม ระบบนิเวศถูกทำลาย ล้วนซ้ำเติมความรุนแรง-การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ฯลฯ โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ.2050 จะมีผู้อพยพลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนี้ถึง 200 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่คือประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา ในจำนวนนี้ กว่าร้อยละ 90 คือประชากรในแถบเอเชีย


ส่วนที่มาของปัญหาที่สังคมโลกกำลังประสบอยู่นี้ และกำลังจะเผชิญข้างหน้า ตัวแทนจากเครือข่ายโลกที่สาม ชี้ให้เห็นว่า เนื่องมาจากวิถีการพัฒนาที่ผ่านมา อันก่อให้เกิดการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติขนานใหญ่ โดยกลุ่มผู้ร่ำรวยร้อยละ 20 ของประชากรโลก เป็นผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 60 ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด รวมไปถึงการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม และไม่เป็นธรรม การก่อมลพิษ ซึ่งผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ จะส่งผลมากที่สุด ต่อกลุ่มคนที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด และมีความสามารถที่จะจัดการ เข้าถึง ดูแล แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้น้อยที่สุดอีกด้วย


"คนยากจนกำลังต้องมารับกรรมแทนคนรวย ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้ว จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือทั้งด้านเงินงบประมาณ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ต่อการบรรเทา แก้ไข หรือเตรียมรับมือกับปัญหาที่ผลมาจากสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นนี้เป็นเรื่องร่วม ไม่ว่าพื้นที่ เกาะใด หากเกิดน้ำท่วม ก็ย่อมมีการอพยพย้ายถิ่น ส่งผลต่อเนื่องอย่างทั่วกัน"


ข้อเสนอต่อประเด็นนี้จากตัวแทนเครือข่ายโลกที่สามคือ 1) อาเซียนต้องปรับเปลี่ยนวิถีแห่งการพัฒนา 2) ต้องมีการปกป้องคุ้มครองสิทธิพลเมือง ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม 3) ต้องมีการแสดงจุดยืนเจตนารมณ์อย่างจริงจังต่อเรื่องนี้ แม้ว่าประชาคมอาเซียนจะมีการเห็นชอบและให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนในเดือนกรกฎาคมปี 2551 ที่ผ่านมา แต่ขบวนการภาคประชาชนจำเป็นต้องสร้างเวทีร่วม ที่ประชาชนอาเซียนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูล มีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง


"ประเด็นนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวพัน และส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ที่จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความยากจน การละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐของประชาคมอาเซียนต้องสร้างทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ก็พร้อมที่จะรวมตัวกัน มาแลกเปลี่ยนข้อมูล ช่วยเหลือ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาอยู่แล้ว เพื่ออนาคตของลูกหลาน คนรุ่นหลังต่อไปด้วย" ไฮร่า กล่าว



นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า ประชาธิปไตยในมุมมองของรัฐเป็นเพียงการเลือกตั้ง โดยยกตัวอย่างว่า ในฟิลิปปินส์และไทย กระบวนการเลือกตั้งได้ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของภาคประชาชนไป เธอมองว่า ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมจึงเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และภาคประชาชนต้องเข้าไปกำหนดนโยบายของประเทศได้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วการเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย


นฤมลกล่าวว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยในมุมที่แตกต่างจากรัฐบาล เราต้องการให้มีความยุติธรรม เข้าถึงทรัพยากร ความยุติธรรมที่เท่าเทียม แต่รัฐกลับมองแต่เรื่องทางเศรษฐกิจการค้า


ส่วนของภาคประชาสังคม ต้องใช้ความสมานฉันท์ระหว่างกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน นอกจากการพูดคุยในประเทศแล้ว ต้องพูดคุยในระดับต่างประเทศด้วย ความสำเร็จจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นกับความเข้มแข็งของเราเอง


"หลายครั้งรัฐสกัดกั้นสิทธิเสรีภาพของเรา เพราะสั่นคลอนความมั่นคง ต้องเรียกร้องกลับไปว่า ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมด้วย มิฉะนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง" นฤมลกล่าวและย้ำว่าประชาธิปไตยประกอบด้วยเสาหลักที่สำคัญสองประการ คือ เสรีภาพและความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม วาทกรรมความมั่นคงถูกหยิบมาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้น 


            "สำหรับตนเองอาจเห็นต่างจากหลายคนในที่นี้ เพราะไม่เชื่อว่าคนดีจะเป็นผู้หยิบยื่นประชาธิปไตยให้ แต่ประชาธิปไตยจะเิกิดขึ้นได้จากคนธรรมดาที่เข้ามามีส่วนในกระบวนการต่างๆ" นฤมล กล่าว 



คุณพ่อวิชัย โภคทวี บาทหลวงคาทอลิก กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันล้วนเป็นปัญหาศีลธรรม  วิกฤตทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากวิถีชีวิตประจำวันของเรา โดยมีศาสนาใหม่คือ เงิน นำทางโดยเราอาจจะไม่รู้ตัว และเราก็ดำเนินชีวิตโดยถอยห่างจากศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เงินกลายเป็นพระเจ้าทำได้ทุกอย่างและเป็นพระเจ้าที่โหดร้าย


คุณพ่อวิชัยกล่าวว่า ต้องเจาะเข้าไปที่แก่นสารของศาสนาต่างๆ  และเราต้องสร้างภาษาใหม่ขึ้นมา เพราะปกติเรามักใช้ภาษาเดิมในศาสนาแล้วเข้าใจไม่ตรงกัน ถ้าเราสามารถรวมตัวกันและสามารถดูสิ่งดีๆ ของทุกศาสนาแล้วมาทำงานด้วยกันจะมีพลังและสร้างสิ่งดีงามได้  อีกประเด็นหนึ่งคือ เราต้องปลดปล่อยตัวเองจากการยึดติดในวัตถุ เพราะมันทำลายสิ่งแวดล้อมและทำลายตัวเราเองด้วย เช่น ความโอบเอื้ออารีของเรา รวมทั้งเราควรทำตามแนวคิดของในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสุขกับการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย สาระของศาสนาก็คือความเรียบง่ายเช่นกัน และคนในอาเซียนเคยเป็นคนที่ยึดมั่นในศาสนาเป็นอย่างยิ่ง  แต่เรายอมรับเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ มากมายจนบางทีลืมคิดถึงคุณค่าที่เราเคยมี บางทีพวกเราอาจต้องย้อนกลับไปแก่นสารของศาสนา


 


เด็บบี้ สต๊อทฮาร์ท  ตัวแทนองค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านการสนับสนุนประชาธิปไตยและสันติภาพในพม่านำเสนอในหัวข้อเรื่องการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ระบุว่าเวลาที่พูดถึงเรื่องทางเลือกของระดับภูมิภาค เราต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ว่าแท้ที่จริงแล้วมันง่ายมาก เวลาที่เราพูดถึงเรื่องวิกฤตอากาศทั่วโลกนั้นไม่มีพื้นที่ไหนในโลกที่หลุดพ้นไปจากผลกระทบได้ รัฐบาลต่างๆ พยายามทำให้เรากลัว พยายามที่จะบอกว่าเราไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วเราได้ผลกระทบ เพราฉะนั้นเราต้องมีสิทธิส่งเสียง


เวลาที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน เรามักจะได้ยินผู้นำพูดว่ามันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วมันง่าย ประการแรกหัวข้อที่จะประชุมในอาเซียนนั้นเป็นเรื่องกฎบัตรที่จะส่งผลกับประชาชนในอาเซียน จึงเป็นเรื่องโดยตรงที่เกี่ยวกับเรา ฉะนั้นต้องเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของประชาชน และทุกๆคนต้องถูกปฏิบัติเหมือนกันในนามประชาชน


รัฐบาลหลายประเทศมักมองว่าเป็นเรื่องปัญหาเมื่อเราพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่จริงไม่ใช่ แต่มันเป็นเรื่องทัศนคติต่อสิทธิมนุษยชนต่างหากที่เป็นปัญหา เราจึงต้องสร้างพลังให้ตัวเราเอง และตระหนักว่านี่เป็นเรื่องสิทธิที่จะไม่ใช่ของขวัญที่ใครมายื่นให้ รัฐบาลและภาคธุรกิจต้องเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เราต้องทำให้คนอื่นๆ ลุกขึ้นมาดูและตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิ ช่วยกันระดมและผลักดันไปข้างหน้า สารที่สื่อออกไปต้องชัดเจนว่าการที่เป็นชุมชนอาเซียนไม่ใช่ชมรมของผู้นำ เราไม่สามารถปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ได้


ตอนนี้เราเผชิญปัญหาความท้าทายหลายอย่างกับเราที่เป็นประชาชน สถานการณ์ต่างๆ เริ่มเลวร้ายลงไปเรื่อย อีกหลายสิบปีข้างหน้าจะมีการแพร่กระจายของโรคระบาด ประชาชนในภูมิภาคต้องทำงานร่วมกัน จากอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเราทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่าเสียกำลังใจ


การที่จะทำให้มีการพูดคุยกันนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย อยากให้พวกเราไปพูดคุยในประเด็นที่ใหม่ๆ เพราะว่าจะเปิดโอกาสให้เราได้มีการวิวาทะในเรื่องที่แตกต่างออกไป เกิดการขยายมวลชนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสิทธิมนุษยชนจะได้รับการเคารพและเกิดความยุติธรรม ในทุกๆ เรื่อง



            แมคดาลีน คอง (Magdalene Kong) จากสภาองค์การลูกจ้างสหภาพแรงงานแห่งอาเซียนว่า ในอาเซียน 40-50 %ของจีดีพีมาจากด้านบริการ ถือเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งอาเซียน ในส่วนของแรงงานมีผลการสำรวจเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติว่ามีการโยกย้ายแรงงานในหลายๆ ส่วนทั้งแรงงานที่มีทักษะอย่างช่างฝีมือ หรือวิศวกร และแรงงานที่ไม่ต้องการทักษะเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตการอพยพจะมีมากขึ้น โดยนอกจากการหางาน จะมีในเรื่องของการศึกษาด้วย


แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ในอนาคตมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่หาคนเข้าไปในประเทศต่างๆ ในลักษะของบริษัทจัดหางาน ที่จะเข้ามามีส่วนในการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของคนในอนาคต ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีบริษัทจัดหางาน 5 อันดับสูงสุด ได้มีการเซ็นสัญญากับบริษัทยูนิโกลเบิลในยุโรป สำหรับในอาเซียนเอง บริษัทจัดหางานเหล่านี้ก็มีความเติบโตมากขึ้น มีการจัดหาคนงานเข้าไปในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีปัญหาด้านสังคมเกิดขึ้นจากบริษัทจัดหางานเหล่านี้น่าจะมีหาแนวทางในการป้องกันไว้ก่อน


 


ในส่วนของ "สภาองค์การลูกจ้างสหภาพแรงงานแห่งอาเซียน" ได้มีการจัดทำเวิร์กช็อป และมีปฏิญญาโบกอร์ เกี่ยวกับสหภาพการจ้างงานในอาเซียน เพื่อกำหนดปฏิบัติการที่จะนำมาใช้อีก 2 ปีข้างหน้า หากมีการโยกย้ายแรงงาน โดยมีการศึกษาที่มุ่งศึกษาถึงผลกระทบในอนาคตต่อแรงงานในภาคต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมและในภาคอื่นๆ พบว่าแรงงานมีความต้องการในการฝึกอบรมแรงงาน และในส่วนสหภาพแรงงานต่างๆ เองก็มีความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมหลังการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากผู้ลงทุน นอกจากนี้ได้มีการเก็บข้อมูลในภาคส่วนต่างๆ เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างสร่างสรร


 


แมคดาลีน กล่าวต่อมาว่า ที่ผ่านมาได้มีการนำแถลงการณ์โบกอร์ เข้าพูดคุยในระดับเลขาธิการองอาเซียน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในการพูดคุย อย่างไรก็ตามการก้าวข้ามวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้ตั้งคำถามถึงสหภาพแรงงานว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีการเรียนรู้ถึงเงื่อนไขต่างๆ อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ในเวทีการนำเสนอคนรากหญ้าจะได้บอกถึงความต้องการ ส่วนภาคประชาชนเองก็จะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยน


 


 


รายงานโดย: ประชาธรรม-ประชาไท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net