Skip to main content
sharethis



ลานที่มีการสังหารหมู่ในพระราชวังเมื่อปี 2544
(ที่มารูป
Reuters Picture)


 



ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอดีตเคยเป็นพระราชวัง
(ที่มารูป
AP/Binod Joshi)


 



อดีตกษัตริย์ คยาเนนทราขณะเยือนอินเดีย


ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในฐานะสามัญชน


(ที่มารูป Reuters/Raj Patidar)


 


 


มีรายงานว่า พระราชวังซึ่งเคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์เนปาล ถูกเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 52 ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมวิถีชีวิตของอดีตประมุข ที่มีทั้งด้านหรูหราฟุ่มเฟือย รวมถึงด้านที่โหดร้ายของเขาได้


 


ราชวงศ์ชาห์ ปกครองเนปาลมากว่า 240 ปีแล้ว แต่ได้ถูกล้มล้างไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาโดยพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ก่อนมีการลงนามข้อตกลงสันติภาพจากพรรคการเมืองเสียงข้างมาก และร่วมกันต่อต้านกษัตริย์คยาเนนทราผู้ฉาวโฉ่ ซึ่งในตอนนี้อดีตกษัตริย์ได้อาศัยอยู่ในเขตชานเมืองของกาฐมานฑุ


 


สิ่งดึงดูดลำดับต้นๆ ของพิพิธภัณฑ์นารายันฮิติคือพระราชบัลลังค์ที่สร้างขึ้นด้วยเงินและทองคำ ห้องโถงเลี้ยงรับรอง รวมถึงห้องนอนของอดีตกษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงมงกุฎประดับเพชร มรกต ไม้คทา รวมถึงรถเบนซ์ที่อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ มอบให้ปู่ของกษัตริย์คยาเนนทราอีกด้วย


 


นันดา คิยอร์ ปัน อดีตกบฏลัทธิเหมาที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ให้ความเห็นว่า มันแสดงให้เห็นถึงความห่างชั้นกันอย่างมากระหว่างชีวิตของชาวเนปาลทั่วไปกับชีวิตของกษัตริย์ วิถีชีวิตของพวกในวังทำให้ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะลุกฮือขึ้นสู้


 


ขณะที่ นิลัม สุเบดี ผู้ที่เข้าชมพระราชวังมาได้เจ็ดชั่วโมง ให้ความเห็นว่าการได้เห็นความแตกต่างในเรื่องความร่ำรวยระหว่างประชาชนทั่วไปกับอดีตกษัตริย์ทำให้เขารู้สึกเศร้า และบอกอีกว่า "มันดีแล้วที่เราไม่ต้องมีกษัตริย์อีก"


 


ประจันดา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเนปาลและอดีตผู้นำกบฏลัทธิเหมา พูดเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เอาไว้ว่าเป็น "อีกหนึ่งก้าว ที่จะนำไปสู่การสร้างสถาบันแบบสาธารณรัฐ" นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีเนปาลยังบอกอีกว่า มันเป็นชัยชนะของประชาชนที่มีต่อระบอบศักดินา


 


สถานที่ที่ดึงดูดผู้คนอีกที่หนึ่งคือห้องที่กษัตริย์พิเรนทรา กษัตริย์พระองค์ก่อนหน้ากษัตริย์คยาเนนทราและเชื้อพระวงศ์จำนวนมากถูกสังหารหมู่ในปี 2001 โดย เจ้าชายดิเพนทรา ผู้ที่กำลังเมายาและต่อมาก็ปลงพระชนม์พระองค์เอง มีข่าวลือว่าการสังหารหมู่ในราชวงศ์ครั้งนี้มาจากการสมคบคิดของกษัตริย์คยาเนนทรา ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อเป็นหนทางให้พระองค์สืบทอดราชบัลลังก์


 


นายกรัฐมนตรี ประจันดา ให้คำมั่นว่าจะนำคดีนี้ขึ้นมาไต่สวนอีกครั้งเพื่อ "นำความจริงเรื่องการสังหารหมู่มาสู่ในที่แจ้ง"


 


"ประชาชนสมควรจะได้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในคืนนั้น ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไต่สวนเหตุการณ์นี้ และลงโทษผู้กระทำผิด" นายกรัฐมนตรีกล่าว


 


พระราชวังนารายันฮิติสร้างขึ้นโดยราชวงศ์ชาห์ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 และเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2550 รัฐบาลเนปาลได้ตั้งให้พระราชวังแห่งนี้เป็นสมบัติของชาติ แต่ยังอนุญาตให้กษัตริย์ประทับอยู่ได้จนกว่าจะมีมติจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ กษัตริย์คยาเนนทราออกจากพระราชวังนารายันฮิติไปที่พระราชวังนากาจันหนึ่งวันหลังจากการลงมติให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐ ก่อนที่จะกลับมาที่พระราชวังเดิมอีกครั้ง


 


ในปี 2551 พระราชวังนารายันฮิติเป็นหนี้รัฐถึงราวหนึ่งล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งมาจากค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ พระราชวังหยุดจ่ายค่าไฟมาตั้งแต่ปี 2548 ปีที่กษัตริย์มีอำนาจโดยเบ็ดเสร็จ


 


ในวันที่ 28 พ.ย. 2551 ที่มีการเปิดสภาฯ กษัตริย์คยาเนนทรามีเวลา 15 วัน ในการย้ายออกจากพระราชวัง อีกวันถัดจากนั้น ธงรูปสิงโตบนพื้นแดงสัญลักษณ์ของกษัตริย์เนปาลก็ถูกลดลงและนำธงรูปสามเหลี่ยมคู่ที่เป็นธงชาติของเนปาลขึ้นแทนที่ สภาฯ ของเนปาลในช่วงเวลานั้นยังกล่าวด้วยว่าจะปรับปรุงให้พระราชวังเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หรือนำมาใช้สอยในทางด้านอื่นที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ตามแต่รัฐบาลจะเห็นควร


 


อดีตกษัตริย์ยอมออกจากพระราชวังนารายันฮิติในวันที่ 11 มิ.ย. 2551 หลังการแถลงข่าว โดยมอบมงกุฏให้กับรัฐบาลของเนปาล ทั้งยังทิ้งเฟอร์นิเจอร์และทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ได้มาในตอนที่ยังปกครองประเทศไว้ด้วย


 


ขณะเดียวกันคยาเนนทรา-อดีตกษัตริย์เนปาล ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวขณะเยือนประเทศอินเดีย บอกว่าเขาอยากใช้ชีวิตอยู่ต่อที่เนปาล ตราบใดที่ประชาชนของเนปาลยังต้องการให้เขาอยู่ เขาบอกว่าไม่อยากไปอยู่ในสถานที่อื่น


 


อดีตกษัตริย์คยาเนนทรา กับภรรยาและน้องสาวผู้เป็นอดีตภรรยาและอดีตเจ้าหญิงตามลำดับ มาเยือนที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่อดีตกษัตริย์ออกนอกประเทศเนปาล นับตั้งแต่แผนการอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศล้มเหลวในปี 2548 เป็นชนวนให้เขาค่อยๆ เสื่อมอำนาจลง


 


 


 


ที่มา: แปลและเรียงเรียงจาก



Former king Gyanendra wants to continue to live in Nepal , 27 Feb. 2009 , New Kerala


http://www.newkerala.com/topstory-fullnews-101824.html


 


Nepal's former royal palace opened to the public , 27 Feb. 2009 , AFP


http://news.yahoo.com/s/afp/20090227/wl_sthasia_afp/nepalpoliticsroyalsmuseum_20090227081516


 


Public gets first view of royal palace in Nepal , 28 Feb 2009 , AFP/The Times


http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article5818181.ece


 


ข้อมูลประกอบการเขียน


http://en.wikipedia.org/wiki/Narayanhity_Royal_Palace


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net