Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ส. ศิวรักษ์


แสดง ณ สถาบันปรีดี ๖ มีนาคม ๒๕๕๒


เนื่องในโอกาสที่รำลึกถึงชีวิตและผลงานของสุพจน์ ด่านตระกูล


 


I


 


สำหรับพุทธศาสนิกนั้น การสมาทานเบญจศีลคือการฝึกตนให้เป็นคนปกติ ศีลข้อที่ ๑ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิต ข้อที่ ๒ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพย์สิน ซึ่งเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ศีลข้อที่ ๓ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญทางด้านเพศ ศีลข้อที่ ๔ชี้ให้เห็นความสำคัญทางด้านสัจจะ และเป็นข้อเดียวที่มุ่งไปทางวจีกรรม โดยที่มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ ก็เพราะอาจใช้ถ้อยคำให้เป็นคุณเป็นโทษได้เป็นอย่างยิ่ง และถ้าฝึกฝนอบรมตนจนใช้คำพูดและข้อเขียนให้เป็นไปในทางความสัตย์แล้วไซร้ นั่นจะเป็นคุณอย่างยิ่ง ดังพระบรมศาสดาเมื่อทรงประกาศพระศาสนา ก็ทรงเน้นที่ความจริงอย่างยิ่งสี่ประการคือ


 


๑) ความทุกข์เราต้องเผชิญ


๒) เราต้องหาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้


๓) ความดับทุกข์นั้นเป็นไปได้ โดย


๔) การศึกษาและปฏิบัติให้กาย วาจาเป็นปกติ (ศีล) ด้วยการฝึกจิตใจให้สงบ อย่างไม่ติดยึดในตัวตนและมายากลต่างๆ ที่ครอบงำ (สมาธิ) จนอาจเห็นแจ้งแทงตลอดได้ว่า เราต่างก็พึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยอาจรู้ซึ้งถึงความเป็นเช่นนั้นเอง (ปัญญา) ความเข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้ ที่ลดความเห็นแก่ตัวไปได้ ย่อมประกอบไปด้วยความรัก ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ แม้ที่เขาตั้งตนเป็นศัตรู ตลอดไปจนสรรพสัตว์ (กรุณา)


 


นายสุพจน์ ด่านตระกูล เป็นคนสำคัญคนหนึ่งของสังคมไทยร่วมสมัย ที่เต็มได้ด้วยความกึ่งดิบ กึ่งดี กึ่งจริง กึ่งเท็จ คือเขากล้าเปิดเผยสัจจะให้สังคมได้ประจักษ์ สำหรับเรื่องกรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๘ ด้วยแล้ว ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อมอมเมาผู้คน และประหัตประหารนักการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรมมาเป็นระลอกๆ เริ่มแต่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งบุกเบิกให้สยามได้เป็นประชาธิปไตย ในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แม้จนบัดนี้แล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะจากทางราชการ หรือในระบบการศึกษากระแสหลัก รวมถึงสื่อมวลชนทั้งหลายทั้งปวงอีกด้วย แต่ใครก็ตาม ที่ต้องการเพ่งพินิจไปยังข้อเท็จจริงของกรณีสวรรคตดังกล่าว ย่อมต้องถือได้ว่างานเขียนของสุพจน์ ด่านตระกูล ให้แสงสว่างอย่างกระจ่างชัด โดยเฉพาะก็ในหนังสือชุด "๕๐ ปี พระทูลกระหม่อมแก้วจากพสกนิกรไปแล้ว ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙" ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่นจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วยังขยายออกเป็น "๖๐ ปี พระทูลกระหม่อมแก้วจากพสกนิกรไปแล้ว ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙" โดยที่หนังสือซึ่งเอ่ยชื่อมานี้ ได้รับการปรับปรุงล่าสุดและตีพิมพ์ออกมาในชื่อว่า "ข้อเท็จจริง กรณีสวรรคต ร.๘" ที่เพิ่งวางจำหน่ายในปี ๒๕๕๑ นี้เอง ข้าพเจ้าเน้นเพียงที่หนังสือชุดนี้ โดยไม่ขอเอ่ยถึงเล่มอื่นๆ ของเขา ซึ่งก็มีความสำคัญมิใช่น้อย


 


ผู้เขียนหนังสือทั้งชุดนี้ สามารถเอาชนะพวกที่แต่งสรรปั้นเรื่องต่อต้านผู้อภิวัฒน์ทางการเมือง โดยหาว่าท่านผู้นั้นและพลพรรคลอบวางแผนปลงพระชนม์ ไม่ว่าจะ สรรใจ แสงวิเชียร หรือ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ซึ่งใช้อคติเป็นแกนนำในการเขียน โดยไม่คำนึงถึงสัจจะเอาเลย ยังกรณีคึกฤทธิ์ ปราโมช และคณะ เรื่อยไปจนไข่มุกด์ ชูโต ที่ใช้เลศยิ่งกว่าบุคคลทั้งสองนั้น ก็ได้ถูกศาลพิพากษาไปแล้ว ว่าถ้อยคำของเขาเหล่านี้ไม่อาจเป็นที่เชื่อถือได้ แต่แล้วทางราชการไทยก็ไม่เห็นว่าคนอาสัตย์อาธรรม์อย่างคึกฤทธิ์ ปราโมช มีข้อเสียหายอย่างเลวร้ายด้วยประการใดๆ จนถึงกับจะเสนอให้เขาคนนี้ได้เป็นปูชนียบุคคลของสยาม ให้เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล โดยผ่านองค์กรศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO) กล่าวอย่างจังๆ ก็คือสัจจะยังไม่เป็นสาระอันสำคัญของสังคมไทย


 


ที่น่าอัศจรรย์ใจก็ตรงที่นายสุพจน์ ด่านตระกูล ไม่เคยถูกกล่าวหาในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (แม้จะเคยถูกเข้าคุกเพราะอำนาจอันฉ้อฉลของรัฐบาลเผด็จการ หากเป็นข้อหาอื่น) ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหรือทางราชการที่แล้วๆ มา เห็นว่าการเปิดเผยข้อเท็จจริงของนายสุพจน์เป็นไปในวงแคบ ขืนไปทำเรื่องขึ้น หนังสือของเขาจะยิ่งขายดีขึ้นเป็นไหนๆ และก็ต้องตามพระราชปรารภที่ว่า ใครทำเรื่องไปในทางหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่ากับทำร้ายพระองค์ท่าน และเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย


 


กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมร่วมสมัย มีอนุสนธิมาจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรและนายกรัฐมนตรีที่เป็นร่างทรงของเขา รวมทั้งนายตำรวจตัวโตๆ ที่ฝักใฝ่อยู่กับเขา ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายในการท้าทายพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และเพื่อโค่นล้างสถาบันกษัตริย์ รวมอยู่ด้วยหรือมิใช่ หนังสือภาษาอังกฤษของใจ อึ๊งภากรณ์ก็ดี ของแฮรี่ นิโคไลเดส ชาวออสเตรเลีย ก็ดี ขายได้น้อยกว่าหนังสือของนายสุพจน์เป็นไหนๆ ถ้าทางผู้พิทักษ์สันติราษฎร์วางเฉยเสีย มหาชนก็ย่อมไม่รู้อะไรๆ จากข้อความในหนังสือทั้งสองเล่มนั้น ที่ทำเรื่องจับกุมผู้เขียนทั้งสอง ก็เท่ากับว่าช่วยเอาข้อความต่างๆ ในหนังสือดังกล่าวมาขยายให้มหาชนได้ทราบ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อย่างที่ไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์เอาเลย ผู้ที่รับผิดชอบกับการจักกุมดังกล่าว ถ้าไม่มีเจตนาแอบแฝงอยู่ จะโง่เง่าถึงเพียงนั้นเชียวหรือ และที่อ้างกันว่าจงรักภักดีนั้น ภักดีกับเจ้าหรือกับนายกันแน่ ยิ่งกรณีที่จับกุมข้าพเจ้าด้วยแล้ว ณ การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ว่าด้วยมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง พล...พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นกรรมการอยู่ด้วย แต่วันนั้นขาดประชุม หากมีผู้บังคับการตำรวจสันติบาลร่วมประชุมอยู่ด้วย พล..นันทเดช เมฆสวัสดิ์ รองประธานกรรมาธิการ ได้เสนอที่ประชุมว่า การป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ควรจับกุมผู้ที่ต้องการโค่นล้างทำลายสถาบันดังกล่าว ต้องรู้จักแยกแยะ ผู้ที่วิจารณ์สถาบันด้วยความจงรักภักดี โดยยกชื่อข้าพเจ้าขึ้นกล่าวในที่ประชุมว่าเป็นผู้จงรักภักดีมาโดยตลอด ไม่ควรจับกุมบุคคลเช่นนี้ โดยที่ พล...พัชรวาท ไม่อยู่ในที่ประชุม และผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ อนึ่งในการประชุมครั้งต่อมา พล.ท.นันทเดช ก็ย้ำเรื่องนี้อีกว่า กรณีของ ส. ศิวรักษ์นั้น เป็นเครื่องมือของตำรวจโดยแท้ และผู้บังคับการตำรวจนครบาลก็นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น หากไม่มีปฏิกริยาใดๆ ทั้งสิ้น จากถ้อยคำดังกล่าว เกรงว่าเรื่องจะเลยตามเลยไป คือไม่มีใครในแวดวงของผู้มีอำนาจที่มีความกล้าหาญในทางจริยธรรม ที่จะทำอะไรแหวกออกไปจากขนบที่ถูกครอบงำกันมา เว้นเสียแต่ว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะมุ่งมั่นไปที่สาระและสัจจะ ยิ่งกว่าจะทำงานการเมืองในรูปแบบอย่างเดิมๆ มา คือเอาตัวรอดไปวันๆ เท่านั้นเอง


 


กล่าวคือ สัจวาจาไม่มีความหมาย แม้จะออกมาจากปากของรองประธานกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา สถาบันตำรวจแห่งชาติ ยังคงเป็นรัฐภายในรัฐ ถ้ารัฐบาลไม่มีน้ำยาหรือความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่จะเข้าไปกำกับการ หรือบังคับบัญชาสถาบันตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปในทางพิทักษ์สันติราษฎร์ได้ ความข้อนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ประกาศออกมาอย่างจังๆ สมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นได้เอาเลย


 


ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว สถาบันตำรวจแห่งชาติ เริ่มเลวร้ายมาแต่สมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์นั้นแล้ว ที่ใช้อัศวินของเขาประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม แม้เป็นผู้บริสุทธิ์ยุติธรรมเพียงใดก็ตาม กุลสตรีที่มีกุศลสมาจารเป็นที่ตั้งอย่างท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ก็หารอดปลอดไปจากเงื้อมมือของทางการตำรวจสมัยนั้นไม่ โดยอาจกล่าวได้ด้วยไหมว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะของเขา ได้แบบฉบับอันเลวร้ายมาจาก พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ นั้นแล


 


ใน "เนชั่นสุดสัปดาห์" ฉบับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ก็มีบทสัมภาษณ์ที่ว่าด้วย "สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องการคำอธิบาย" ผู้ให้สัมภาษณ์ (วินัย พงศ์ศรีเพียร) เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และรองประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งมีความว่า


 


"ความผิดความถูกอยู่ที่ผู้ดูแลกฎหมาย วิญญูชนรู้ได้จากสำนวนสำเนียงและสำแดงของความและวาจาว่าเจตนาเป็นอย่างไร การที่มีใครวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ จะเอาเป็นเอาตายว่า เป็นการอาฆาตมาดร้ายก็เห็นจะไม่ชอบ กรณีของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ น่าสนใจ เพราะผมเชื่อว่าท่านเป็นอำมาตย์ ผู้จงรักภักดี ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย เราดูเจตนาได้หรือไม่ ขอให้อิงหลักการของพระพุทธศาสนา"


 


"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่เป็นการนำไปใช้ในทางที่ผิดเสียมากกว่า คือมีดาบก็คะนองมือ"


 


แม้สาส์นที่ส่งมาจากนานาประเทศถึงสำนักราชเลขาธิการก็ดี และถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ดี ล้วนยืนยันความจงรักภักดีของข้าพเจ้าทั้งสิ้น มิใยต้องเอ่ยถึงพยานที่ข้าพเจ้าพาไปให้การกับตำรวจ ดังขอย้ำว่า เมื่อศาลพิพากษาคดีที่สุจินดา คราประยูรฟ้องข้าพเจ้านั้น ก็มีความว่า


 


"เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยปาฐกถา ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะสอนให้นิสิตนักศึกษา เรียกร้องให้นิสิตนักศึกษามีความสำนึกตระหนักถึงสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มิใช่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย นิยมชมชอบถึงความร่ำรวย นิยมชมชอบคนมีอำนาจ ไม่สนใจความถูกต้องชอบธรรม"


 


การที่ชมนายธงชัย วินิจจะกุล จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสัน ในสหรัฐ และนายแอนดรูส์ วอล์กเกอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่กล้าแถลงข่าว ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคมนี้ เรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีนักวิชาการและนักการเมืองในระดับสากล ที่ยืนหยัดอยู่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนลงนามร่วมด้วยกว่า ๕๐ คน ทราบว่านายกรัฐมนตรีรับจะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ถ้าชนชั้นปกครองของเราฟังข้อเสนอแนะด้วยมนสิการ พร้อมกับความกล้าหาญทางจริยธรรมและอุปายโกศล ย่อมอาจกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้


 


II


 


ดังได้กล่าวมาก่อนแล้ว ว่าสัจจะเป็นองค์คุณที่สำคัญยิ่งสำหรับความเป็นมนุษย์ ถ้าปราศจากสัจจะเสียแล้ว คนก็เข้าไม่ถึงความเป็นมนุษย์ คือผู้มีใจสูง และจะเลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉานเสียด้วยซ้ำ เพราะคนอาจใช้วจีกรรมหลอกลวง ปลิ้นปล้อน แม้จนโกหกตนเอง แล้วใช้เล่ห์กล อาวุธยุทธภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อทำลายล้างอะไรๆ แม้จนตัวเอง ดังที่เป็นสมัยนิยมอยู่ในบัดนี้


 


พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศสัจธรรมไปยังเวไนยสัตว์ทุกถ้วนหน้าในบริบทที่อาจเสด็จถึงได้ในสมัยพุทธกาล ยังพระสาวกก็เผยแผ่สัจธรรมออกไปอย่างกว้างขวาง จนประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ได้ในชมพูทวีป ครั้นเมื่อพุทธศาสนิกห่างเหินจากสัจธรรม นำเอาไสยเวทวิทยามาเจือปนกับพุทธธรรม ติดยึดกับอำนาจวาสนาและมายากลต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือสัจธรรมออกไป พระพุทธศาสนาก็ปลาสนาการไปจากพุทธภูมิ ดังพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ก็มีแนวโน้มที่จะอันตรธานไปจากสยามประเทศนี้ในทำนองเดียวกัน


 


ท่านมหาตมะ คานธี ก็ใช้สัจจะเป็นพลังทั้งทางส่วนตนและทางการเมือง จนปลุกระดมให้ผู้คนแทบทุกชั้นวรรณะตื่นขึ้น และสามารถต่อสู้ด้วยสัจจะและอหิงสวิธี โดยเอาชนะจักรวรรดิอังกฤษอันยิ่งใหญ่ที่สุดได้ ดังวลีของท่านคือ "สัตยาครหะ" หรือ "สัตยาเคราะห์" อำนาจของสัจจะ หมายความว่าแต่ละคนต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผู้อื่น สัตว์อื่น อย่างไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน แม้การต่อสู้กับผู้ที่กดขี่ข่มเหงเรา เราก็ใชอหิงส ธรรมและเมตตาธรรมเป็นแกนกลาง แล้วขบวนการของท่านก็นำอินเดียไปจนได้รับเอกราชด้วยสันติและสัจจะ


 


น่าเสียดายที่ขบวนการของท่านมหาตมะ ก็ได้ปลาสนาการไปแล้วจากอินเดียร่วมสมัย ซึ่งสมาทานทุนนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม อยู่ภายใต้ฉายาของจักรวรรดิอเมริกัน อย่างแทบไม่ต่างไปจากสยามประเทศ ชนชั้นนำในอินเดียยังประกาศเอาท่านมหาตมะเป็นบิดาของประเทศ เฉกเช่นคนไทยรับไตรสรณาคมน์และสมาทานเบญจศีลที่รูปแบบนั้นเอง


 


น่าอัศจรรย์ใจก็ตรงที่สัตยาครหะ ของท่านมหาตมะได้ไปมีอิทธิพลในสหรัฐอเมริกาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ฟิลิป กลาส ซึ่งเป็นพุทธศาสนิก ได้เนรมิตอุปรากรชื่อนี้ และแสดงที่โรงอุปรากรอันยิ่งใหญ่ที่สุดในนครนิวยอร์ก เมื่อเดือนเมษายนที่แล้วนี้เอง มีคนชมเป็นหมื่นๆ เต็มทุกรอบ นอกไปจากนี้แล้ว สถาบันพุทธแห่งรัฐนิวยอร์กยังเชิญชวนผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้มีบทบาททางการศึกษาและการเมืองนอกกระแสหลัก ไปภาวนาร่วมกันที่นอกมหานครแห่งนั้น แล้วเชิญให้บางคนแสดงปาฐกถากับมหาชนจำนวนพันๆ คน ณ วัดคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในนครนั้น ว่าด้วยการประยุกต์สัตยาครหะของท่านมหาตมะมาใช้กับสังคมร่วมสมัย หลานปู่ท่านมหาตมะก็ได้ร่วมแสดงวาทะในคราวนั้นด้วย


 


นี่อาจเป็นเพียงบทบาทที่เปิดกว้างสู่มหาชน แต่มีคนรับเอาอำนาจของสัจจะมาใช้ ในทางอหิงสวิธียิ่งๆ ขึ้น ทั้งที่สหรัฐและประเทศอื่นๆ เพราะชนชั้นนำในกระแสหลักพากันเห็นชัดยิ่งๆ ขึ้นแล้วว่าอำนาจของสัจจะและอหิงสธรรมคือคำตอบของสังคมร่วมสมัย โดยที่ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรม ให้หันไปในทางสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งๆ ขึ้น


 


คำศัพท์พวกนี้ มีใช้กันอย่างแพร่หลายในเมืองไทย รวมทั้งอริยสัจ ๔ และศีล ๕ แต่ไม่มีความหมายในทางสาระสำหรับชนชั้นนำของเรา ในขณะที่ชนชั้นนำในหลายต่อหลายประเทศ ได้หันมาตามแนวทางนี้ยิ่งๆ ขึ้น แม้ฟิเดล คาสโตร ซึ่งยังคงเป็นคอมมูนิสต์ในแนวทางสังคมนิยม ที่ไม่ขายตัวไปกับระบบทุนนิยมอย่างจีนหรือเวียดนาม ถึงกับประกาศว่าอาวุธไม่สำคัญเท่าความคิด และความคิดที่เป็นไปในทางอหิงสธรรมและสัจธรรมมีความสำคัญเหนืออื่นใด ทั้งท่านยังบอกด้วยว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่รังเกียจทุนนิยม และบริโภคนิยม รวมถึงอำนาจนิยมยิ่งๆ ขึ้นทุกทีด้วยแล้ว


 


คนรุ่นใหม่ในยุโรปและอเมริกา ทั้งเหนือและใต้ มีเวลาภาวนา เพื่อโยงหัวใจมาสยบหัวสมองให้เชื่องอย่างเป็นองค์รวม เพื่อลดความเห็นแก่ตัว และเพื่อโยงใยให้เป็นไปในทางความสัมพันธ์กันฉันพี่น้อง ไม่แต่กับเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ต่างๆ หากรวมถึงธรรมชาติทั้งหมด ดังที่ปู่ย่าตายายเราเคยเห็นแผ่นดินแผ่นน้ำ และต้นไม้ต้นข้าว ว่าเป็นแม่ของเรานั้นแล


 


ในประเทศรอบๆ บ้านเรานี่เอง อย่างอินโดนีเซีย ท่านอดีตประธานาธิบดีวาหิต ก็ประกาศชัดว่าท่านเดินตามทางของท่านมหาตมะคานธี แม้ท่านจะเป็นมุสลิม แต่ท่านบอกว่าสัจธรรมของอิสลามก็คือสันติธรรม และท่านบอกว่าอินโดนีเซียเคยถือพุทธและพราหมณ์มาก่อน ควรรับวัฒนธรรมที่ดีงามของสองกระแสนั้นมาประยุกต์ใช้ให้สมสมัย


 


สำหรับติมอร์ตะวันออกนั้น ท่านประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (รามอซ ฮอต้า) ไม่แต่ประกาศจุดยืนทางสัตยาครหะ หากท่านปฏิบัติตนและทำนโยบายของประเทศท่านให้เป็นไปในทางอหิงสา พร้อมด้วยอภัยทานอย่างน่านิยมชมชอบยิ่งนัก ยังมติของท่านผู้นี้ ในทางการเมือง การเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ก็ควรที่เราจะรับฟังยิ่งนัก


 


แม้สาระของท่านมหาตมะ คานธี จะปลาสนาการไปจากชนชั้นนำในกระแสหลักของอินเดีย แต่คนสำคัญๆ ที่ยึดมั่นอยู่ในสัตยาครหะ ก็ยังผนึกกำลังกันแน่น ร่วมกับชาวธิเบตชั้นนำที่ลี้ภัยไปอยู่อินเดียมาครึ่งศตวรรษเข้านี่แล้ว ท่านเหล่านี้กำหนดจัดงานปลุกมโนธรรมสำนึกในระดับสากลขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙- ๒๒ พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เพื่อนำเอา "ไฮน์สวาราช" กลับมาประยุกต์ใช้ ในโอกาสที่ท่านมหาตมะเขียนหนังสือชื่อนี้ออกมาครบศตวรรษ


 


หนังสือเล่มนี้คือสาระแห่งการประยุกต์สัจธรรมมาใช้กับชีวิตของท่านมหาตมะ ให้คนอินเดียพึ่งตนเอง อย่างเป็นไทแก่ตน โดยเราอาจนำมาปรับใช้ได้ในการแก้ไขปัญหาของโลกร่วมสมัย


 


คนชั้นนำในสยามประเทศ บัดนี้รู้ตัวกันหรือไม่ว่า เราตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิอเมริกันและจักรวรรดิจีน ซึ่งอยู่ห่างไปจากสัจธรรมยิ่งนัก หากใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมอมเมาเรา ร่วมกับบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ทั้งๆ ที่เราอ้างว่าเราเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่สมาทานพุทธศาสนา แต่เราไม่กล้าอนุญาตให้ทะไลลามะเข้ามาประเทศเรา ทั้งๆ ที่ท่านเป็นสมณะ ที่ทั่วโลกยกย่องสรรเสริญ และเราตระหนักไหมว่า วันที่ ๑๐ มีนาคม ที่จะถึงนี้ พระองค์ต้องทรงลี้ภัยไปจากบ้านเกิดเมืองนอนมาครบครึ่งศตวรรษ โดยที่จีนได้เข้าไปบุกรุกและเบียดเบียนบีฑาธิเบตอย่างเลวร้าย จนเหลือที่จะกล่าวถึงได้


 


ถ้าเราไม่รู้ความจริงข้อนี้ เราจะตระหนักถึงทุกขสัจทางสังคมได้อย่างไร เพราะทุกขสัจดังกล่าว ไม่ได้ตีกรอบไว้เพียงในเมืองไทยเท่านั้น ทุกบ้านเมือง ทุกรูปนาม ต้องโยงใยถึงกันทั่วทั้งหมด


 


สำหรับสยามประเทศของเรานั้น บุคคลอย่างรัฐบุรุษอาวุโส ยังไม่เป็นที่ยอมรับของชนชั้นบน เพราะคนพวกนั้นยังไม่กล้าเพ่งไปทางอำนาจของสัจจะหรือมิใช่ เปลโต้กล่าวไว้ในเรื่องอุตมรัฐ ว่า คนที่อยู่ในถ้ำมืด ย่อมกลัวเกรงแสงสว่าง เพราะมองไปในทิศทางที่สว่างไสว ตาอาจมืดบอดไปได้ง่ายๆ


 


ก็นายสุพจน์ ด่านตระกูลนั้น ใช้สัจวาจาเพื่อทำลายความเท็จ ให้ความจริงประจักษ์ ไม่แต่กรณีสวรรคต หากให้คนร่วมสมัยเห็นคุณูปการของมันสมองคณะราษฎรอีกด้วย ที่ท่านนำประชาธิปไตยมาให้สยาม ให้ราษฎรได้เป็นเจ้าของประเทศ ให้หมดความเป็นฝุ่นเมือง เป็นข้า เป็นทาส เป็นเพียงคนที่อาศัยแผ่นดินอยู่ แม้ท่านจะยังไม่ได้รับความสำเร็จด้านความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ แต่ท่านก็ปูพื้นฐานทางด้านเอกราช เสรีภาพ และการศึกษาเพื่อมหาชนมาแล้ว


 


หลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ สัจจะเริ่มปลาสนาการไป ประชาธิปไตยมีเพียงรูปแบบเป็นครั้งครา ศักดินาขัตติยาธิปไตยได้คืบคลานเข้ามามีอำนาจอย่างปราศจากสัจธรรมยิ่งๆ ขึ้น


 


ก็เมื่อนายสุพจน์ต้องการเชิดชูคุณูปการของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ต้องอย่าไปเน้นที่วีรกรรมของท่าน โดยที่ท่านก็มีจุดอ่อนและข้อบกพร่องเช่นสามัญมนุษย์ทั้งหลาย


 


เราควรเน้นตามแนวทางแห่งสัจธรรมของท่าน เพื่อเอาสัจจะคืนมาให้ราษฎร และท่านพยายามแสวงหาประชาธิปไตยที่หยั่งรากลงลึกไปได้ในทางวัฒนธรรมของเราที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนกลางอย่างสำคัญ การที่ท่านสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส ณ ทำเนียบท่าช้าง ตอนปลายรัชกาลที่ ๘ นั้น เป็นหัวข้อที่ควรจะนำมาศึกษาและวิจัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างให้เป็นรูปธรรม ว่าเราจะประยุกต์ความเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีภาพ จากคณะสงฆ์ดั้งเดิมให้มาเป็นประชาธิปไตยร่วมสมัย ที่ไปพ้นกลิ่นนมกลิ่นเนยของประชาธิปไตยแบบฝรั่งได้อย่างไร


 


ระบบชนชั้นนั้น จำเป็นต้องปฏิเสธเสียเลยทีเดียวไหม ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังมีระบบชนชั้นอยู่ค่อนข้างมาก หากชนชั้นนั้นๆ หย่อนสมรรถภาพทางอำนาจต่างๆ ไปมากยิ่งๆ ขึ้นทุกที ในระบอบการปกครองทำนองนี้ แม้ระบบชนชั้นที่ในอังกฤษเอง ก็อ่อนตัวลงกว่าเดิมยิ่งนัก สำหรับประเทศอื่นๆ ในยุโรปด้วยแล้ว ระบบชนชั้นแทบไม่มีความสำคัญเอาเลย ส่วนญี่ปุ่นนั้น อเมริกันทำลายระบบชนชั้นจากสังคมเดิมจนหมดสิ้น หากรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในทางสัญลักษณ์เท่านั้นเอง


 


ในเมืองไทย ใครกล้าจับประเด็นทีว่านี้ไหม แท้ที่จริง ชนชั้นก็เป็นเพียงสมมุติบัญญัติ ดังที่เขาใช้คำใหม่กันว่า ชุมชนจินตกรรม นั่นเอง ถ้าชนชั้นในระดับต่างๆ ประกอบไปกับกุศลจรรยา ไม่เอารัดเอาเปรียบชนชั้นอื่น ที่ด้อยกว่าทางชาติวุฒิ และคุณวุฒิ ยิ่งคนกลุ่มน้อย ด้อยโอกาสด้วยแล้ว คนที่อยู่ในสถานะเหนือกว่า เอื้ออาทรคนที่ด้อยกว่าได้มากเท่าไร ระบบชนชั้นก็ไม่น่าจะกีดขวางหนทางแห่งประชาธิปไตย ความเอื้ออาทรดังกล่าว ใช้กฏหมายอย่างเดียวไม่ได้ หากต้องใช้วัฒนธรรมและศาสนธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าอำนาจอยู่ที่ราษฎรส่วนใหญ่เท่านั้น หากอำนาจนั้นต้องแปรมาจากอัตตาธิปไตย ให้เป็นโลกาธิปไตย จนถึงธรรมาธิปไตยในที่สุด


 


เราจะกล้าคิด กล้าพูดและกล้าทำในเรื่องพวกนี้ได้ ต้องเกิดจิตสำนึกในการต่อสู้เพื่อสัจจะดังนายสุพจน์ ด่านตระกูล และถ้ามีคนจำนวนน้อยกล้าแหวกออกจากกระแสหลัก ที่ใช้ภยาคติ และความกึ่งจริง กึ่งเท็จครอบงำอยู่ เราก็จะได้ชื่อว่าสืบทอดดวงประทีปแห่งสัจจะ ที่นายสุพจน์ ด่านตระกูล เริ่มเอาไว้กับกรณีสวรรคต เพื่อกลับไปบูชาคุณของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนำประชาธิปไตยมาให้ราษฎรสยาม โดยเราก็จะบูชาคุณท่านด้วยปฏิบัติบูชา คือทำให้ประชาธิปไตยกินได้ ให้ประชาธิปไตยอยู่ในอุ้งมือของราษฎรสยาม ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยที่คนกลุ่มน้อยทั้งหลาย ไม่ว่าจะผู้ที่ยากไร้ หรือผู้ที่สูงศักดิ์ ก็จะได้รับสิทธิมนุษยชน อย่างเป็นผู้เป็นคนเหมือนๆ กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net