Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา : รายงาน


 




ดูเหมือนว่าหลังจากมีการรวมกลุ่มก๋วยในตำบลแม่นะ จนประสบความสำเร็จและกำลังเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะสามารถควบคุมกำหนดราคาได้เอง โดยไม่ต้องถูกพ่อค้าคนกลางมาเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป


 


แต่เมื่อมีหลายคนหันมามองและฉุกคิด พร้อมกับตั้งคำถามกันขึ้นมาต่างๆ นานา...ชาวบ้านทุกคนเริ่มพยักหน้าและครุ่นคิดไปตามกัน


 


"แล้วไม่กลัวหรือว่า เอาไม้ไผ่มาสานก๋วย แล้วสักวันหนึ่งไม้ไผ่จะหมดจากป่า!?..."


 


"ถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ก็หมดเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาก็มีการปลูกไผ่เสริมตามหัวไร่ปลายนา ข้างไร่ข้างสวน..." แม่อุ้ยลูนบอกเล่าให้ฟังแกมกังวล


 


เช่นเดียวกับ แม่สุภา ฟองคำ วัย 60 ปี ที่บอกเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้น สมัยก่อนจะเดินเข้าไปตัดไม้ไผ่จากป่าในป่าลึก แต่ต้องเดินทางไกล ก็เขาไปตัดในป่าอนุรักษ์ได้บางส่วน โดยเฉพาะในเขตป่าชุมชนที่เราสามารถเข้าไปใช้ได้ ห้ามขาย ห้ามคนจากพื้นที่อื่นมาเอา ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ซาง ไม้บง ไม้ข้าวหลาม ไม้ไร่ แต่ในปัจจุบันเริ่มหายาก


 


จากการสอบถาม พบว่า ในขณะนี้ ไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับทำก๋วยนั้น ส่วนมากจะมาจากพื้นที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ซึ่งจะมีชาวบ้านในพื้นที่รับจ้างตัดไม้ไผ่มาขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ก่อนจะนำมาขายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่นะ เพื่อใช้ในการสานก๋วย ดังนั้น หลายคนจึงเริ่มหวั่นเกรงกันว่า หากต่อไปในอนาคต พ่อค้าไม่สามารถนำไม้ไผ่มาขายให้ชาวบ้านได้


 


แน่นอนว่า นี่อาจจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต เพราะหากไม่มีไม้ไผ่ ก็ไม่มีก๋วย และเมื่อไม่มีก๋วย ชาวบ้านก็ไม่มีรายได้


 


"ใช่ ไม้ไผ่อาจจะหมดจากป่า แต่เรามีการวางแผนที่จะปลูกแต่ละหมู่บ้าน หัวไร่ปลายนา แต่หากใช้ครอบครัวเดียวก็พอสำหรับการมีไม้ไว้ใช้ ไม้ที่จะนำมาปลูก ขึ้นอยู่กับคนที่จะปลูก เช่น ไผ่บงบ้าน ไผ่สีสุก ที่ปลูกกันโดยส่วนใหญ่ เราได้รณรงค์ให้ปลูกทุกบ้าน"


 


ทางกลุ่มสมาชิกจึงได้มีการประชุมหารือกันว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้ไม้ไผ่อันเป็นวัสดุที่จะนำมาทำก๋วยนั้นขาดแคลน เนื่องจากในเขตพื้นตำบลแม่นะนั้น มีพื้นที่ป่าไม่มากนัก จนนำมาสู่การวางแผนที่จะปลูกไม้ไผ่ในเขตพื้นที่สาธารณะ ปลูกตามหัวไร่ปลายนา


 


ซึ่งหลายคนเชื่อว่า หากปลูกไผ่เสริมกันตั้งแต่ตอนนี้ ต่อไปในช่วงระยะเวลา 10-20 ปีข้างหน้า จะมีไผ่แตกหน่อแตกกอออกเป็นจำนวนมหาศาล           


 


ชาวบ้านเริ่มตั้งคำถาม...ก๋วยเดินทางไปไหน


หากพ่อค้าหยุดรับซื้อ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร!?


 


"เขานำก๋วยไปทำอะไร"


"โรงงานที่พ่อค้าคนกลางนำไปส่งนั้นอยู่ที่ไหน"


"ถ้าจู่ๆ พ่อค้าเลิกรับซื้อก๋วย ชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร"


 


นี่เป็นคำถามของชาวบ้านที่เริ่มสงสัยและถกเถียงกันไปต่างๆ นานา ทุกวันนี้พวกเขายังไม่รู้เลยว่า การเดินทางของก๋วยว่าไปสิ้นสุดตรงที่ใด และถ้าหากจู่ๆ พ่อค้าเลิกรับซื้อก๋วยชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร ในเมื่อทุกคนบอกว่า ก๋วยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก๋วยสร้างรายได้ บางครอบครัวถึงขึ้นปลดหนี้สินไปได้


 


"หากพ่อค้าเลิกซื้อก๋วย คนแม่นะจะอยู่ได้อย่างไร..." คมจรสันฑ์ นารายณ์ ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ ศาลาพอเพียงตำบลแม่นะ ได้ตั้งประเด็นกับชาวบ้านให้ร่วมกันฉุกคิด


สาเหตุที่หลายคนเริ่มตั้งประเด็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า ชาวบ้านรู้ต้นทาง แต่ไม่สามารถรู้ปลายทางของก๋วย ว่าแท้จริงแล้ว เขารับซื้อก๋วยเป็นจำนวนมากมหาศาลเช่นนี้ เพื่อนำไปใส่ผักจริงหรือ หรือว่านำเอาไปทำอย่างอื่น


 


ซึ่งที่ผ่านมา ชาวบ้านเริ่มตั้งข้อสังเกตกันมากขึ้นว่า หลังจากพ่อค้าซื้อก๋วยไปแล้ว ทางพ่อค้าจะนำก๋วยไม้ไผ่ที่ทับซ้อนกันมาอัดกับตัวเครื่องจักรสำหรับอัดก๋วยซ้อนทับกันจนแน่น บางครั้งสภาพก๋วยนั้นบุบบี้ พังยับ ซึ่งดูจากสายตาชาวบ้านบอกว่าไม่น่าจะนำไปใช้การได้ หากทว่ายังมีการนำบรรทุกรถสิบล้อขนส่งเข้าไปในเมืองกันทุกวันๆ


 


"หรือว่าพวกเขานำก๋วยไปส่งโรงงานผลิตกระดาษ ไม่ได้นำไปขนผักเหมือนที่ชาวบ้านทำกันมา..." นั่นเป็นประเด็นคำถามของชาวบ้าน ชวนให้คิดว่าเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร !?


 


ที่ชาวบ้านตั้งคำถามเช่นนี้ ก็เพราะว่า อยากรู้ว่าถ้าหากพ่อค้าเขารับไปป้อนโรงงานกระดาษจริง ทำไมไม่บอกชาวบ้านตั้งแต่แรก ว่าไม่ได้นำก๋วยไปใส่ผัก ซึ่งชาวบ้านรู้สึกเสียดายเนื้อไม้ไผ่ที่เลาะทิ้ง ซึ่งมากกว่าที่นำไปทำก๋วยในแต่ละใบเสียด้วยซ้ำ หากต้องการนำไปผลิตเยื่อกระดาษจริงๆ


 


"เราไม่สามารถเชื่อมกับพ่อค้าได้เลย  เพราะไม่รู้ว่าเขาเอาก๋วยไปทำอะไร ก๋วยตั้งร้อยใบ แต่อัดแน่น เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของก๋วยปกติที่มัดตั้ง 100 ใบ ซึ่งชาวบ้านมีความคิดเห็นว่าไม่เชื่อว่าจะเอาไปใส่ผัก  แต่เชื่อว่าเอาไปทำกระดาษ เพราะเอาไปทุกวัน ไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ และก็ไม่ต้องสนใจฤดูกาลเกษตร และชาวบ้านยังสังเกตเรื่องการขนย้ายก๋วยด้วยว่า หากเป็นก๋วยใส่พืชผักนั้น ลักษณะก๋วยจะเรียงหมอน แต่ก๋วยที่รับจากชาวบ้านไปนั้น เป็นลักษณะอัดแน่นรถสิบล้อ…"


 


ในขณะที่ชาวบ้านคำนวณกันว่า ในเดือนๆหนึ่งมีก๋วยเดินทางออกไปจากตำบลแม่นะประมาณ 1 ล้านกว่าใบ


 


และที่สำคัญ หากโรงงานที่รับซื้อก๋วยปิดกิจการ เลิกรับซื้อก๋วย ชาวบ้านจะตั้งรับกันอย่างไร!?


 


นี่ถือเป็นประเด็นใหม่ที่กำลังท้าทายให้คนสานก๋วยได้ฉุกคิด เพื่อค้นหาทางออกในอนาคต ว่าทำอย่างไรถึงจะให้อาชีพสานก๋วยเป็นอาชีพที่ยั่งยืนและยาวนาน!


 


เตรียมถอดองค์ความรู้  บรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่น


วาดหวังทำอุตสาหกรรมครัวเรือนก๋วยครบวงจร


 


อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลุ่มนี้ ยังมีแนวคิดกันต่อไปว่า กำลังวิเคราะห์ถึงต้นทุนการผลิต และการปรับระบบการผลิต ในชุมชน ว่าทำอย่างไรถึงจะให้ชุมชนตำบลแม่นะ สามารถทำกลุ่มอุตสาหกรรมครัวเรือนอาชีพจักสาน เป็นระบบการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นจนจบ


 


ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมอนุรักษ์ฟื้นฟูการเพาะกล้าปลูกไผ่ การรวมกลุ่ม การออมทรัพย์ การทำธนาคารก๋วย การตลาด การป้อนก๋วยเข้าสู่โรงงาน รวมไปถึงการนำเศษวัสดุที่เหลือจากตอก จากเศษไม้ไผ่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยผ่านสนับสนุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการหนุนเสริมจากองค์กรหน่วยงานภายนอก


 


นอกจากนั้น ทางกลุ่มยังมีแนวคิดจะบรรจุเรื่องการจัดการอุตสาหกรรมครัวเรือนเรื่องก๋วยให้เข้าเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่จะขยายแนวคิดจากหมู่บ้านเข้าไปสอนโรงเรียน โดยครูภูมิปัญญาชาวบ้าน  รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมจากศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเชียงดาวที่จะได้นำเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปสอนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป


 


เหล่านี้คือแนวคิดของกลุ่ม ที่อยากดำเนินการต่อไปในอนาคต โดยที่สมาชิกในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและมีความสุขอย่างแท้จริง                                      


 


"ความฝันของเรา คืออยากให้เรื่องก๋วยเป็นของคนทุกคนในตำบล ไม่ใช่เฉพาะคนเฒ่าคนแก่ เป็นคนสานก๋วยเท่านั้น เด็กๆ คนหนุ่มคนสาวก็สามารถทำได้ รวมไปถึงคนไม่มีหนี้มีสินก็ทำได้"                                                                                                                                 


และชาวบ้านกลุ่มนี้กำลังสรุปบทเรียน โดยรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นองค์ความรู้ให้กับชุมชนและคนภายนอกได้รับรู้                                                                  


 


"หากเรามีข้อมูล จะเป็นขั้นบันไดที่จะก้าวขึ้นไปข้างหน้า กระบวนการต่างๆ จะต้องดึงออกมาเป็นข้อมูลให้ได้ อย่างเช่น กรณีบ้านหัวทุ่ง ต.เชียงดาว ที่ถือว่าประสบความสำเร็จเรื่องการจัดการเรื่องการปลูกไม้ไผ่ เราก็ต้องพาสมาชิกไปศึกษา เรียนรู้  ลองคิด แก้ไขปัญหา เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือ ทำอย่างไรถึงจะพัฒนากลุ่มก๋วยนี้ไปข้างหน้า..."                                                                      


 


ทุกวันนี้ จึงบอกได้ชัดเลยว่า "ก๋วย" ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวบ้านจนแยกจากกันไม่ออก ก๋วยได้มีส่วนช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว                                                                                                     


กระทั่งหลายคนถึงขั้นเอ่ยออกมาว่า..."ก๋วยคือทรัพยากรท้องถิ่นที่มีค่า คือวิถีชีวิตและลมหายใจของคนหลายชุมชนในเขตอำเภอเชียงดาว"


 


                                                            * * * * * * *


 


 


ที่มาข้อมูล-ข้อมูลประกอบ


สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.)


คำสัมภาษณ์ผู้นำและสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมครัวเรือนบ้านจอมคีรี ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


 


 


อ่านตอนเก่า:


ก๋วย...ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น วิถีชีวิต รายได้ และลมหายใจของคนชุมชนแม่นะ (1) http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=15757&Key=HilightNews


 


ก๋วย...ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น วิถีชีวิต รายได้ และลมหายใจของคนชุมชนแม่นะ (2) http://www.prachatai.com/05web/th/home/15787


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net