Skip to main content
sharethis


ตามที่เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกาและ แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย พร้อมนักวิชาการและบุคคลสำคัญทั่วโลกกว่า 50 คน ร่วมลงนามในจดหมายเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น [1] [2]

 


 


พีระพันธุ์ย้อน 50 นักวิชาการ เคลื่อนไหวเพื่ออะไร ยัน ม.112 ไม่มีปัญหา


เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหว นี้ว่าเพื่ออะไร กฎหมายดังกล่าวไม่เห็นมีปัญหาอะไร การเรียกร้องโดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองนั้น ไม่เห็นว่าจะเป็นประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะคดีเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสถาบัน แต่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ การกระทำลักษณะดังกล่าวมีผลกระทบเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ตั้งแต่ที่มีกฎหมายอาญาก็มีมาเป็นร้อยปีแล้ว


 


"ประเด็นคือ การที่จะถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการฟ้องหมิ่นฯ เงื่อนไขมีได้หลายอย่าง แต่ประเด็นสำคัญคือคนที่เป็นนักการเมืองเอง การกระทำหรือการใช้คำพูดจาที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เมื่อคุณเป็นนักการเมืองแล้วใช้คำพูดที่เข้าลักษณะความผิดก็ต้องเป็นความผิด จะมาอ้างว่าเป็นการใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่ถูก ฉะนั้น การจะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่เป็นการเมืองมันอยู่ที่ตัวเรา ต้องรู้ว่ากฎหมายทำได้แค่ไหน แม้แต่กฎหมายทุกประเทศก็ออกกฎกติกาเกี่ยวกับความมั่นคง แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่เป็นแม่บทแห่งสิทธิเสรีภาพ ก็ยังมีหลักเกณฑ์ภายในของประเทศ"


 


 


อ้าง ม.112 เท่ากับกฎหมายความมั่นคง


รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ถือว่าสถาบันหลักสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาทบุคคล ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาทที่หลายคนพยายามทำความเข้าใจ ว่าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์


 


"ไม่ใช่ถือเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ กฎหมายนี้มีมานานแล้ว เวลาที่ทูตต่างๆ เข้าพบและมีข้อสงสัย ผมได้ชี้แจงเรื่องนี้ให้เข้าใจเหตุผลภายในประเทศ ในการกำหนดการกระทำบางอย่าง ตัวอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา วันนี้มีข้อกำหนดให้ถอดถุงเท้า ถอดเข็มขัด นาฬิกา ไม่เช่นนั้นจะไม่ให้ขึ้นเครื่อง หรือแม้แต่เว็บไซต์บางเว็บอย่างอัลกออิดะห์ ก็ไม่ให้ดูเว็บไซต์ ซึ่งไทยก็เช่นเดียวกัน โดยแต่ละประเทศต่างมีเหตุผลด้านความมั่นคงแตกต่างกัน เราต่างหากที่พยายามทำให้เป็นเรื่องการเมืองทั้งที่ไม่ใช่ ฉะนั้นบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องรู้กรอบกฎหมาย"


 


 


ตั้งคำถามหากยกเลิกแล้วกระทบความมั่นคงใครจะรับผิดชอบ


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลซึ่งถูกจำคุกจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายพีระพันธุ์ตอบว่า หากยกเลิกแล้วมีผลกระทบต่อความเป็นรัฐ ความมั่นคงของประเทศ แล้วใครจะรับผิดชอบ ยอมรับหรือไม่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ค้ำจุนประเทศ และคิดหรือไม่ว่าอะไรก็ตามที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วกระทบต่อความมั่นคงประเทศ ถ้ายกเลิกแล้วไม่มีความมั่นคงไม่ปลอดภัย มันไม่ถูกต้อง นักวิชาการต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ เข้าใจตัวกฎหมายผิด ขอให้กลับไปดูเรื่องกฎหมายอาญา หมวด 1-2 อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ความมั่นคงของประเทศ เป็นคนละเรื่อง


 


"ผมเคยเรียนท่านนายกฯ ไปแล้วว่า ความผิดเรื่องนี้เป็นความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล ทูตประเทศต่างๆ มาพบ ผมชี้แจงก็เข้าใจ บอกโอเค-เข้าใจ เพราะทุกประเทศมีเหตุผลภายในของตัวเอง แต่ที่ผ่านมาเข้าใจกันผิด ทำไมวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ต่างชาติอาจไม่เข้าใจหลักกฎหมาย เพราะบางประเทศเรื่องนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องความมั่นคง ต้องเข้าใจว่าการกระทำบางครั้งไม่ได้มีเจตนาทำลายสถาบัน คนลักษณะนี้ต้องมีวิธีดำเนินการ แต่คนที่เรากำลังตามหาคือคนที่ตั้งกระบวนการทำลายล้าง" รมว.ยุติธรรมกล่าว


 


 


อภิสิทธิ์ถามถ้าไม่มี ม.112 จะใช้กลไกอะไร


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ที่จริงเราไม่ได้มีกฎหมายพิเศษ แต่เรื่องนี้อยู่ในกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายความมั่นคงชนิดหนึ่ง และคิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนี้ เพราะเรามีสถาบันที่เทิดทูนไว้เหนือความขัดแย้ง ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ แล้วจะมีกลไกอะไรไปคุ้มครองสถาบันจากการละเมิด


 


"ผมเคยถามเขาว่า ทำไมประเทศเขามีกฎหมายหมิ่นศาล เขาตอบผมไม่ได้ว่าทำไมที่คุณมาขอให้ยกเลิกกฎหมายนี้ แต่คุณกลับมีกฎหมายไม่ให้หมิ่นศาล ดังนั้นมันก็ต้องมีกลไกลักษณะนี้ แต่ปัญหาของเราคือการบังคับใช้ และสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องตรงนี้ และทำให้สถานการณ์ลุกลามไป สิ่งที่ผมรับไม่ได้คือที่ว่า ใครก็ตามที่ได้รับข้อหาและถูกกล่าวหาแบบนี้ต้องยกเลิกให้หมด ผมรับไม่ได้ ถ้าท่านไปยืนยันข้อเท็จจริง และทำให้เสื่อมเสียแก่ราชวงศ์ คุณทำกับคนธรรมดายังถูกฟ้อง นักการเมืองบางคนฟ้องเป็นพันล้านบาท ไม่มีตังค์จ่ายหรอกครับ มันจึงไม่มีเหตุผลว่าอยู่ดีๆ จะไปละเมิดสถาบัน แต่ปัญหาที่ผมคิดว่าต้องปรับปรุงแก้ไข คือใครก็ไปร้องได้ เมื่อเรื่องเข้าไปเยอะ เจ้าหน้าที่ก็ต้องปลอดภัยไว้ก่อน ผมได้คุยกับ ผบ.ตร.ว่าต้องบังคับใช้กฎหมายให้ดี แต่ผมไม่ยอมให้ใครมาอ้างสิทธิเสรีภาพแล้วมาทำร้ายสถาบัน ถ้ามีวาระซ่อนเร้นผมไม่รับฟัง" นายกฯ กล่าวหนักแน่น


 


ถามว่าแสดงว่าพร้อมรับมือสื่อนอก นายกฯ กล่าวว่า ตนรับมาเยอะแล้ว ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ด้วยความตรงไปตรงมา และยืนยันว่าสิ่งที่ตนคิดที่พูด เชื่อโดยสุจริตใจ และไม่ได้ฝืนหลักการประชาธิปไตยแน่นอน


 นายปณิธาน วัฒนายากร รักษาการรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายต่างประเทศ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่เรื่องการแก้ไขกฎหมายอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาฯ ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง เรื่องนี้เท่าที่เห็นก็มีแต่คนต่างประเทศที่มาเสนอให้แก้กฎหมายไทย


 


 


สาทิตย์ลั่นความเข้าใจแบบ งูๆ ปลาๆ เป็นเรื่องอันตราย


ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลนี้ไม่เคยใช้กฎหมายดังกล่าวกลั่นแกล้งคู่แข่งทางการเมือง ตรงกันข้ามกลับบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นการปกป้องด้วยหลักของกฎหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ที่นายอภิสิทธิ์ได้กำหนดไว้ ในการปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ประเด็นทุกอย่างเกี่ยวกับกฎหมายอาญาขึ้นอยู่กับเจตนา เหตุผลและพฤติกรรมที่แสดงออก เจตนาหรือวัตถุประสงค์ที่มุ่งทำให้เกิดความเสียหาย


 


"ขณะนี้มีความเข้าใจว่า มีความพยายามในการใช้กฎหมายและมีความเคลื่อนไหวหลายทาง ซึ่งเป็นเรื่องยากของคนต่างชาติ และไม่มีทางเข้าใจความลึกซึ้งผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนชาวไทย สิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งคือความเข้าใจแบบงูๆ ปลาๆ และได้หยิบยกเรื่องนี้มาเพื่อที่จะให้ร้ายรัฐบาลและสถาบันอันเป็นที่เคารพ" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าว


 


 


บุญจงบอกคนไทยมีหน้าที่ปกป้องสถาบัน สุเทพ-ป๊อกปัดตอบ


ขณะที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีหน้าที่ปกป้องเบื้องสูง รัฐบาลเองก็เช่นกัน มีเป้าหมายในการปกป้องสถาบันและหลักความสมานฉันท์ หากใครที่ละเมิดหรือดึงสถาบันให้แปดเปื้อน ก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีจุดยึดเหนี่ยวจิตใจร่วมกัน


 


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่เห็นเรื่องนี้ หรือถ้าเห็นก็อาจไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังไม่มีการหารืออะไรทั้งสิ้นกับนายกฯ


 


เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน "ไม่มีความเห็น" คือคำตอบจาก ผบ.ทบ.


 


 


คำนูณยัน ม.112 ไม่เชย ไม่ล้าสมัย ไม่ขัดประชาธิปไตย ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน


ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบัน วุฒิสภา กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการนำโดย นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบัน หากกระทำในเชิงวิชาการสามารถกระทำได้ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะมาตราดังกล่าวไม่ได้เชยไม่ล้าสมัย ไม่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ไม่ขัดกับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


เขาให้เหตุผลว่า การบัญญัติกฎหมายเป็นเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งแตกต่างจากชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ที่ประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้ง เราต้องถามว่าจะเอาอย่างประเทศเหล่านั้นหรือ


 


 


ลั่นบุตรไม่สามารถฟ้องพ่อแม่ได้ อิสลามบทลงโทษรุนแรง วัฒนธรรมของเราก็เป็นของเรา


"ประเทศของเราก็ประเทศของเรา วัฒนธรรมของเราจะไม่ปกป้องเลยหรือ ในประเทศไทยกฎหมายอาญา บุตรไม่สามารถฟ้องร้องพ่อแม่ได้ ประเทศอื่นไม่มีกฎหมายนี้ ขณะที่บุตรฆ่าบุพการีก็จะได้รับโทษสูงสุด แต่ประเทศอื่นไม่มี ขณะที่ประเทศนับถืออิสลามก็จะมีบทลงโทษรุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นวัฒนธรรมของเราก็เป็นของเรา"


 


นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า มาตรา 112 ได้ทบทวนมาตามลำดับ คือ 1.อาญาหลวงใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 5 2.กฎหมายอาญาฉบับแรกใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2451-2499 และ 3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 122 ใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2500 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคประชาธิปไตยและโทษต่างๆ ก็เบาลงจากในอดีต เพราะมีการแก้ไขให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ อีกทั้งมาตรา 112 ก็คุ้มครองเพียง 3 พระองค์ คือ พระมหากษัตริย์, พระราชินี และองค์รัชทายาท


 


"ความผิดเรื่องการดูหมิ่นปกติ คนธรรมดากระทำก็มีความผิด และหากไปดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ก็จะมีโทษรุนแรง ขณะที่กษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุข ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จะไม่มีกฎหมายดังกล่าวเลย หรือจะปล่อยให้มีเรื่องแล้วให้กษัตริย์ขึ้นโรงพักฟ้องร้องอย่างเช่นคนธรรมดาใช่หรือไม่"


 


ส.ว.สรรหาผู้นี้ ชี้ด้วยว่า บุคคลที่เคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวมีทั้งผู้บริสุทธิ์ และมีบางกลุ่มที่มีอคติมาจากความเจ็บปวดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และยิ่งมาเคลื่อนไหวในช่วงที่การเมืองบางกลุ่มต้องการให้ประเทศเป็นระบบสาธารณรัฐ ให้ทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้ง จากแถลงการณ์สยามแดงของนายใจ อึ๊งภากรณ์ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น และอาจทำให้ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ถูกเหมารวมไปด้วย


 


 


ปราโมทย์บอกประเทศอื่นก็มีแบบนี้ แต่ไม่ได้ใช้เพราะไม่มี "ขบวนการบ้าๆ" แบบไทย


นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ ซึ่งขึ้นปราศรัยกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือของการเอาชนะคะคานกัน ความจริงกฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้อย่างกะปริดกะปรอยมาตลอด ในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เขามีกฎหมายนี้กันทั้งนั้น แต่เขาไม่ได้ใช้เพราะเขาไม่ได้มีขบวนการบ้าๆ แบบเมืองไทย เขาใช้เอาโทษพินิจตามดุลยภาพ ไม่ใช่เขาไม่มีใช้


 


"ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เคยโดนสองสามคนที่ทำความผิด แต่บ้านเขาไม่เหมือนพวกบ้าที่เมืองไทย ที่พยายามใช้เรื่องนี้ให้ประเด็นแตกออกไป เป็นข้อต่อสู้ทางการเมือง หลงลมว่าขาดเสรีภาพ มีแต่พวกนักวิชาการในต่างประเทศถูกหลอกว่าเมืองไทยไม่มีเสรีภาพ มันไม่รู้เดียงสาแล้วนำไปกระพือ เราไม่ควรจะไปใส่ใจเรื่องนี้ เพราะมันไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้นหรือเลวลง"


 


นายปราโมทย์ ระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นการกระพือแล้วก็มีการให้จับ ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาถึงต้นตอ ถ้าเป็นเฉพาะหน้าก็ต้องห้ามปรามโดยไม่ต้องเป็นข่าว อย่างกรณีเนเธอร์แลนด์ก็มีเมื่อ 2 ปีก่อน น้อยกว่าที่สนามหลวงเสียด้วยซ้ำ


 


 


อ้างจะเป็นการเสี้ยม ยุยงให้มีการป้ายสีสถาบันก่อให้เกิดความแตกแยก


ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการสื่อนัยทางการเมืองอย่างไร เมื่อผู้ที่ลงชื่อเป็นนักวิชาการระดับโลก และให้ความสนใจในประเด็นนี้ของเมืองไทย นายปราโมทย์กล่าวว่า เป็นการจงใจก่อให้เกิดคดี เกิดการจับทุกเดือน มีคนจงใจยุยง มีขบวนการยุยง ทำลายสถาบัน ให้ร้ายป้ายสีสถาบัน เพื่อให้เกิดปัญหาความแตกแยก ซึ่งท่านก็ไม่มีโฆษกออกมาแก้ต่างอยู่แล้ว


 


"จุดกระพือโดยนักวิชาการไทย ไปเรียกร้องว่าไม่มีเสรีภาพ แต่พวกนักวิชาการพวกต่างชาติเขาไม่รู้ว่าแกล้งให้จับ พวกเขาไม่รู้หรอกว่าแท้จริงแล้วมันเสี้ยม ให้ท้าทาย ทำสถิติ จับมากก็สร้างความแตกแยกได้มาก ถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ได้เปรียบ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงโต้ตอบ ไม่แก้ต่างอยู่แล้ว แล้วยิ่งมีรัฐบาลซื่อบื้อ ตำรวจซื่อบื้อ นักวิชาการซื่อบื้อ ก็เลยเป็นแบบนี้ ต่างประเทศเขาก็เลยไม่รู้เรื่อง" นายปราโมทย์กล่าว


 


 


จักรภพระบุความเห็นของนักวิชาการระดับโลกถือเป็นเรื่องใหญ่ มองผ่านไม่ได้


ด้านนายจักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำ นปช.กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับความสนใจในระดับระหว่างประเทศสูงมาก ซึ่งชื่อของ ดร.ธงชัยยังไม่สำคัญเท่ากับนักวิชาการระดับโลกหลายสิบคน ที่ร่วมลงนามแถลงการณ์สนับสนุนแก้ไขปฏิรูปกฎหมายนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่กิจกรรมทางวิชาการธรรมดาที่จะมองผ่านไปได้


 


 


สุธาชัยยัน ม.112 เป็นเครื่องมือทำร้ายกันทางการเมือง ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน


นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อ.คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้ใช้ความพยายามช่วยประกันตัว น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แสดงความเห็นให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเมืองทำร้ายทางการเมือง และยังละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการคิดหรือแสดงออก ตามหลักประชาธิปไตยที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้


 


เขาอ้างว่า กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปที่ใช้อยู่ก็เพียงพอแล้ว โดยให้ผู้ที่เสียหายเป็นผู้ฟ้องร้องเอง


 


ผู้สื่อข่าวไทยโพสต์ได้ถามว่า หากมีการละเมิดสถาบันจะให้พระมหากษัตริย์ทรงขึ้นโรงพักฟ้องร้องเองใช้หรือไม่ นักวิชาการรายนี้ตอบว่า กษัตริย์ไม่ต้องฟ้องร้องเอง แต่สามารถมอบหมายให้สำนักราชวังมาดำเนินการแทนได้ และตนยังเห็นว่ากฎหมายหมิ่นประมาทควรจะมีโทษเบาหรือสั่งปรับ ไม่จำเป็นต้องรุนแรงมีโทษจำคุก 10-20 ปี


 


"สถาบันหากทำความดี ไม่ต้องกังวลว่าใครจะให้ร้ายหรือวิจารณ์ เพราะคนดีย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ และคนไทยที่มีความภักดีก็จะไม่ละเมิดแน่นอน และคนภายนอกก็ไม่สามารถทำลายสถาบันได้ นอกจากสถาบันมีปัญหาเอง"


 


นายสุธาชัย กล่าวอีกว่า สาเหตุที่นายใจหนีไปต่างประเทศเพราะถูกกฎหมายดังกล่าวทำร้าย


  


 


สมัครปฏิเสธให้ความเห็น


วันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถามนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ที่อ้างความจงรักภักดีต่อสถาบัน ซึ่งบุคคลใกล้ชิดนายสมัครได้ปฏิเสธที่จะให้นายสมัครให้สัมภาษณ์ โดยอ้างว่านายสมัครไม่อยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งนายสมัครไม่ได้ติดตามข่าวหรือสถานการณ์ทางการเมืองเลย ตั้งแต่เดินทางกลับจากรักษาตัวโรคมะเร็งตับที่สหรัฐอเมริกา


 


อย่างไรก็ตาม นายสมัครยังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน จึงไม่อยากแสดงความเห็นใดๆ เพราะไม่อยากให้เกิดการเข้าใจผิดแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งจะขออยู่ตรงกลาง ไม่ขอออกความเห็นทางการเมือง


 


 


 


 


ที่มา: เรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net