Skip to main content
sharethis

"คนรวยคัดค้านไม่เป็นประเด็นปัญหา เพราะว่าคนรวยต้องคัดค้านอยู่แล้ว แต่ภาษีมรดกไม่ได้เป็นภาษีที่คนจนสนับสนุนเช่นเดียวกัน นี่คือคำถามว่าเป็นเพราะอะไร" มุมมองเรื่องภาษีต่อการผลักดันสังคมสวัสดิการเรื่องพื้นฐานที่จะนำมาซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมในสังคม ของ "ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์" คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเด็นเรื่องสวัสดิการสังคม ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เน้นย้ำและเร่งนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างถี่ยิบ ซึ่งหลายฝ่ายบอกว่า นี่คือประชานิยมตำรับประชาธิปัตย์ ในขณะที่กลุ่มนักวิชาการและประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็มีความพยายามจะผลักดันในเรื่องสังคมสวัสดิการ หรือรัฐสวัสดิการ เนื่องจากทุกคนเห็นว่า สวัสดิการเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่จะนำมาซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมในสังคม

 

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการจัดโครงการสัมมนา "การสร้างสังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต" ณ ศูนย์เกษตรกรสารภี จ.เชียงใหม่ โดยมี ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในวงสัมมนาถึงประเด็นดังกล่าว

 

โดยในตอนแรก ประชาไท ขอนำเสนอมุมมองของ "ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์" จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยละเอียดดังนี้

           

 

 

"ประเทศไทยพยายามที่จะแก้ปัญหาความยากจนมานาน แต่ไม่มีทางแก้ได้

ถ้าไม่มีการจัดเรื่องสวัสดิการ เพราะสวัสดิการเป็นเรื่องพื้นฐาน"

 

"คนรวยคัดค้านไม่เป็นประเด็นปัญหา เพราะว่าคนรวยต้องคัดค้านอยู่แล้ว

แต่ภาษีมรดกไม่ได้เป็นภาษีที่คนจนสนับสนุนเช่นเดียวกัน นี่คือคำถามว่าเป็นเพราะอะไร"

 

"ประเทศที่พัฒนาไปมากกว่าเรา ภาษีฐานหลักของเขา คือภาษีมาจากรายได้

แล้วก็มีภาษีมาจากส่วนของทรัพย์สิน ส่วนภาษีฐานการบริโภคจะมีสัดส่วนไม่มาก

แต่ของประเทศไทยเราจะกลับกันหมด ภาษีฐานการบริโภคของเราจะเป็นฐานใหญ่"

 

"ประเทศไทยเป็นประเทศที่รับเอามาบางอย่างและไม่รับเอามาบางอย่าง"

 

 

 

 

ชี้ประเทศพัฒนาเก็บภาษีรายได้และภาษีทรัพย์สินเป็นฐานหลัก

ในขณะไทยกลับตาลปัตร เน้นเก็บภาษีจากฐานบริโภค

เรื่องของรายได้ โดยทั่วไปในระบบภาษี มันจะมีอยู่ 3 ประเภท เราเรียกว่าฐานภาษี 3 ประเภทด้วยกัน ประเภทที่ 1 เรียกว่าเป็นภาษีที่มีฐานทางด้านรายได้ ในรอบ 1 ปีมีรายได้เท่าไหร่ แล้วก็จะต้องเสียภาษีเท่าไห หักค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วก็เสียภาษีไป ซึ่งในประเทศไทย ฐานภาษีรายได้สำคัญๆ คือภาษีนิติบุคคล กับภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ส่วนใหญ่จะทุกปีในประเทศไทยเราจัดเก็บภาษีฐานนิติบุคคลจะได้มาก ว่าสัดส่วนซึ่งมันจะเป็นที่น่าตกใจว่า มันจะไม่เหมือนกับทุกๆ ประเทศ 2,000 เมื่อรวมกัน มันจะตกเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของรายได้ทางด้านภาษีก็ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

 

ภาษีฐานที่ 2 เป็นภาษีที่เราเรียกว่า "ฐานบริโภค" หลักๆ ก็คือภาษีมูลค่าเพิ่มกับภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น เราไปซื้อของ ซื้ออะไรก็แล้วแต่ ยกเว้นซื้อสินค้าเกษตรในตลาดสด แต่ถ้าไปร้านโชว์ห่วย ร้านค้า ร้านชำ ทั้งหลายเมื่อเราซื้อไปปุ๊บจากภาษีมูลค่าเพิ่มก็เป็น 7%

 

ส่วนภาษีสรรพสามิต โดยหลักๆ ก็มาจากภาษีเหล้า บุหรี่ ภาษีรถยนต์ ส่วนภาษีที่พูดกันพอสมควร ก็คือภาษีสถานบันเทิง ผับ ซึ่งปรากฏว่ามีผับ มีสถานบันเทิงเยอะ แต่จัดเก็บภาษีไม่ค่อยได้ จัดเก็บได้น้อยเหลือเกิน อย่างเช่น กรณีซานติก้าผับ ซึ่งมีรายได้มหาศาล แต่ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิตเลย ความสามารถของราชการไทยที่จะไปจัดเก็บภาษีก็รู้สึกจะทำลำบาก

 

มีภาษีอีกฐานหนึ่ง ซึ่งนานาอารยะประเทศได้จัดเก็บกัน ก็คือภาษีฐานทรัพย์สิน โดยที่ดูว่าในภาษีฐานทรัพย์สินนั้นก็จะมีทั้งส่วนที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ คือ ที่ดิน บ้าน และภาษีส่วนที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น รถยนต์ หรือวัตถุโบราณ ภาพเขียนหรืออะไรที่แพงๆ ก็ถือว่าอยู่ในทรัพย์สินพวกนี้ เขาก็จะจัดเก็บ ภาษีฐานการบริโภคในประเทศไทยจะเก็บได้เยอะประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นภาษีฐานนี้ ซึ่งรวมสองอันแล้วก็ประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เหลืออีกนิดหน่อยก็จะเป็นภาษีการค้าระหว่างประเทศ ภาษีนำเข้า

 

ประเทศที่พัฒนาไปมากกว่าเรา ภาษีฐานหลักของเขา คือภาษีมาจากรายได้ แล้วก็มีภาษีมาจากส่วนของทรัพย์สิน ส่วนภาษีฐานการบริโภคจะมีสัดส่วนไม่มาก แต่ของประเทศไทยเราจะกลับกันหมด ภาษีฐานการบริโภคของเราจะเป็นฐานใหญ่

 

เพราะฉะนั้น ที่คนมาบอกว่า พี่น้องเราคนยากคนจนไม่จ่ายภาษีเราก็เห็นอยู่ว่าจ่ายกันทุกวัน เดินเข้าไปซื้อของก็จ่ายภาษีแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมมาก ที่เราจะต้องเรียกร้องต้องเข้าไปดูแลในเรื่องของการใช้จ่ายและต้องเรียกร้องรวมไปถึงเรื่องของการจัดสวัสดิการต่างๆ ด้วย รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องทำ

 

ในเรื่องของภาษีทรัพย์สิน ประเทศไทยมีการจัดเก็บน้อยมาก ในต่างประเทศนอกจากมีฐานภาษี 3 ฐานหลักเขาก็ถือว่า ถ้าหากว่าภาษี 3 อย่างนี้จัดเก็บได้ดี คนไม่ควรจะรวยมาก เขาก็ถือว่า ถ้าหากว่ากรณีที่ผู้ใดเสียชีวิต แล้วมีมรดกเหลืออยู่เป็นหมื่นเป็นแสนล้าน มันจะต้องมีปัญหาในการจัดเก็บภาษีสามส่วนนั้นแน่นอน เพราะฉะนั้น วิธีคิดแบบพวกเศรษฐศาสตร์ทั่วๆ ไป เขาบอกว่า มันจะต้องมีความผิดปกติ คนกลุ่มพวกนี้คงเป็นพวกที่เลี่ยงภาษีเก่ง เพราะจะบอกว่าเขาประหยัดมัธยัสถ์เก่ง คนเรามันจะประหยัดมัธยัสถ์ได้ขนาดไหน ที่พอเสียชีวิตแล้วจะได้รวยเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน เป็นไปไม่ได้

 

เพราะฉะนั้น เขาเลยบอกว่า เมื่อเสียชีวิตแล้วจึงต้องมีการจัดเก็บภาษีอีก จากนี้จะมีการจัดเก็บภาษีมาอีกเยอะแยะ ภาษีจัดกรองมรดก ก็คือพอตายปุ๊บคุณมีมรดกเหลืออยู่เท่าไหร่ถึงว่ามันมีการผิดพลาดของระบบการจัดเก็บภาษีก็ต้องจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไปหนึ่งส่วนแล้วหลังจากนั้นเหลือเท่าไหร่ ใครจะเป็นคนได้รับไป ทายาทหรือใครที่ได้รับมรดกไปถือว่าเป็นรายได้ของคุณ คุณไม่ได้ทำมาหากินไม่ได้ใช้หยาดเหงื่อแรงงานเลยอยู่ดีดีได้เงินมาเฉยๆ ได้ทรัพย์สินมาเฉยๆ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเสียภาษี

 

จะเห็นว่า ในต่างประเทศ เมื่อมีมรดกเหลือ คุณจะโดนจัดเก็บภาษีสองประเภท หนึ่ง อากรกองมรดก ทั้งหมดที่เหลืออยู่คืนกลับไปให้กับรัฐเอาไปจัดสรรทางด้านรายจ่าย สอง ใครเป็นผู้รับมรดกก็ต้องจ่ายภาษีอีก ก็เก็บอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นรายได้ของคุณแล้ว นั่นก็คือแนวคิดในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ก็จะมีภาษีประเภทนี้เพื่อที่จะให้ครอบคลุมทั้งหมด

 

ในหลักคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป เขาคิดว่าทางด้านการสร้างรายได้ก็คือการทำมาหากินอะไรทั้งหลายก็ปล่อยให้แข่งกันไป จะได้ให้ทุกคนสามารถสร้างรายได้ให้เต็มที่ ว่าจะสร้างอะไรยังไง แต่เมื่อมีรายได้เข้ามาแล้ว เขาก็จะมาคิดอีกฐานหนึ่งว่า รายได้ที่สร้างมานั้นมันอาจจะมีมีความไม่เป็นธรรม รายได้คนจะมีรายได้ไม่เท่ากัน อาจจะมีช่อง มีจุดบอด จุดบกพร่องใดๆ ที่อาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น วิธีแก้ของเขา ก็คือ เก็บจากคนที่มีรายได้สูงให้มากกว่าผู้มีรายได้น้อย เขาก็ถือว่าเป็นคนที่แก้ปัญหาโดยระบบอยู่แล้ว ว่าจัดเก็บตรงนี้ให้เยอะๆ แล้วก็เอาอันนี้ไปจัดสรรเพื่อจะช่วยเหลือคนจนในสังคม ที่จะทำให้คนกลุ่มนี้ที่จะขึ้นมามีโอกาสแล้วก็เก่งเหมือนกับคนที่มีฐานะ นี่คือวงจรที่ผิดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ไม่ใช่สังคมนิยมหรือสังคมนิยมประชาธิปไตย

 

 

ไทยเป็นประเทศที่รับเอามาบางอย่าง และไม่รับเอามาบางอย่าง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่รับเอามาบางอย่างและไม่รับเอามาบางอย่าง ทางด้านการสร้างรายได้ ประเทศไทยก็รับเข้ามา แข่งขันกัน เพื่อที่จะทำให้ทุกคนแสดงศักยภาพในการสร้างรายได้ให้เต็มที่ แต่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่สนใจว่ารายได้ที่สร้างขึ้นมา ตลาดไม่มีทางสมบูรณ์ได้ ตลาดมีปัญหาตลอด จะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ประเทศไทยไม่เคยคิด คิดว่าดีแล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะมีคนที่รวยมากกับคนจนมากอยู่ในประเทศไทย คนที่รวยมาก มีจำนวนไม่เยอะ แต่คนที่จนมากมีจำนวนเยอะ นี่คือโครงสร้างแบบประเทศไทย เพราะว่าด้านหนึ่งก็คือการสร้างรายได้ที่แข่งกัน แต่พอทางด้านที่จะไปแก้ปัญหาตลาดไม่ใช้ระบบภาษีเข้าไปจัดการ กลับไปคิดว่าจะจัดเก็บภาษีอย่างไรได้ง่าย เพื่อมาใช้จ่ายเป็นสวัสดิการบ้างนิดหน่อย แล้วก็เป็นบริการของรัฐ จะจัดเก็บอย่างไรได้ง่าย สิ่งที่จัดเก็บง่าย ก็คือ ภาษีทางอ้อม ภาษีบริโภค เช่น เมื่อไปซื้อของก็ต้องจ่ายเงินทันที โรงงานผลิตออกมาก็ต้องจ่ายเงินทันที ซึ่งภาษีทางอ้อมนั้นจัดเก็บง่าย แล้วก็ฐานใหญ่ คนทั้งประเทศต้องจ่าย

 

ในขณะ ภาษีรายได้ เวลาจัดเก็บ บางทีคนก็มีรายได้หลายทาง ก็ยื่นไปว่าจะมีรายได้จากตรงไหนบ้าง ก็จะจัดเก็บยาก แล้วอาจจะไปกระทบกับกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่ง ทำให้พวกเขาเข้าสู่ระบบจัดเก็บเยอะ เลยทำให้เขาไม่มีแรงจูงใจในการที่จะสร้างรายได้ นี่ก็เป็นปัญหาของประเทศไทย ซึ่งทำให้เราจึงอยู่ในแบบรับออกมาด้านเดียว แล้วก็บอกว่าด้านเดียว แต่ว่าอีกด้านหนึ่งของเขาที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาทำเราก็ไม่เอา เรารับมาด้านเดียว ที่เราเอาแบบสบายๆ เพราะฉะนั้น พอรับมาด้านเดียว อีกด้านหนึ่งเราไม่ทำ สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ เรายิ่งพัฒนา เราก็ยิ่งสร้างความแตกต่าง แทนที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ความแตกต่างทางด้านรายได้ อย่างญี่ปุ่นกลุ่มคนรวยที่สุดกับคนที่จนที่สุดมีรายได้ห่างกันประมาณ 3-4 เท่า บางประเทศที่สูงหน่อยก็ประมาณ 8-9 เท่า อย่างยุโรปก็ห่างกันประมาณ 4-5 เท่า

 

แต่ประเทศไทย กลุ่มคนที่รวยที่สุดมีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุดมากกว่า 13-14 เท่าไม่ได้ลดลงเลย เราอยู่ในระดับอย่างนี้ อยู่ในระดับ 12 ครึ่ง เป็น 13, 14 ลดลงมาบ้างนิดหน่อย แต่อยู่ในระดับการกระจายรายได้ที่ค่อนข้างเลวร้าย

 

ตัวเลข 13 เท่า เรานับจากการที่เอาคนที่มีรายได้สูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรกกับคนที่มีรายได้น้อยที่สุดจาก 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายมาเปรียบเทียบรายได้แล้วก็พบว่าคนที่รวยที่สุดในไทยมีรายได้ห่างจากคนที่สุดที่สุดถึง 13 เท่า แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่าให้เก็บใหม่เอาแค่ 5 เปอร์เซ็นต์แรกกับ 5 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย เพราะว่า บ้านเราถ้าไปคิด 20 เปอร์เซ็นต์มันไปเอาคนชั้นกลางค่อนข้างดีข้างบนไปรวมอยู่ด้วย แต่ประเภทรวยจริงๆ มีไม่เท่าไหร่ เอาแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ของฐานข้างบนกับ 5 เปอร์เซ็นต์ของฐานข้างล่าง ภาพจะไม่ใช่ 13 เท่า แต่จะเป็น 20-30 เท่า นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ

 

 

ย้ำประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้

หากไม่แก้เรื่องสวัสดิการ-ความเท่าเทียม

เพราะฉะนั้น จึงกลับมาตรงที่ว่า การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตรงนี้ อย่างน้อยที่สุดประเด็นที่เราจะต้องเห็นร่วมกัน เป็นประเด็นที่อยากจะผลักดันมาก ประเทศไทยพยายามที่จะแก้ปัญหาความยากจนมานาน แต่ไม่มีทางแก้ได้ ถ้าไม่มีการจัดเรื่องสวัสดิการ เพราะสวัสดิการเป็นเรื่องพื้นฐาน

 

นักเศรษฐศาสตร์มักจะเถียงกันว่า เวลาที่จะสร้างความเท่าเทียมของคน จะดูที่ผลออกมาสุดท้ายเลยว่าเมื่อทุกคนมีรายได้ใกล้เคียงกัน หรือจะดูที่โอกาสที่เราจะสามารถให้ได้กับทุกคน เพราะว่าบางคนขยัน บางคนไม่ค่อยขยัน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอยู่อย่างเดียวกัน เราก็จะทำให้ไม่ให้แรงจูงใจกับคนที่ขยัน ฉะนั้น ให้เปลี่ยนใหม่ เป็นการให้โอกาสเท่าๆ กัน

 

แต่ในข้อเท็จจริง คำถามก็คือว่า เห็นด้วยกับทั้งสองอย่าง เพราะเราเห็นด้วยกับทั้งสองอย่าง แต่การจัดสวัสดิการที่สำคัญเป็นการทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากันได้ เรื่องของความเท่าเทียมกันในเชิงของผลลัพธ์สุดท้ายเป็นสิ่งที่ปรารถนา แต่ว่าจะไปถึงตรงนั้น คงต้องใช้เวลานานมาก แต่อย่างน้อยที่สุด ขั้นพื้นฐานเราควรจะทำให้ทุกคนมีโอกาสจริงๆ เพราะฉะนั้นการจัดสวัสดิการจึงมีความสำคัญในเรื่องตรงนี้มาก เพื่อที่จะทำให้มันเปิดโอกาสตรงนี้จริงๆ ทีนี้หากจะเปิดโอกาสตรงนี้จริงๆ มันก็จะมีรายได้ในส่วนที่รัฐบาลจะต้องทำขึ้นมา

 

ความจริงเรื่องนี้มีการขับเคลื่อนกันมานาน แต่ว่าไม่ค่อยเป็นประเด็น จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิช) พูดมาว่า รัฐบาลนี้จะสนับสนุนให้มีภาษีมรดก กับภาษีทรัพย์สิน

 

 

เผยภาษีมรดก เคยจัดเก็บหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ถูกนักการเมืองบิดเบือน

ภาษีมรดก ไม่ใช่ภาษีใหม่ของประเทศไทย เราเคยมีการจัดเก็บภาษีมรดกมาแล้วหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ว่าจัดเก็บได้เพียงช่วงสั้นๆ แล้วก็มีการยกเลิก ขณะที่มีการขอยกเลิก ส.ส.พูดไปน้ำตาไหลไป บอกว่า การจัดเก็บภาษีมรดกจะทำให้เกิดการทำลายการเข่นฆ่าอาชีพเกษตรกร เพราะพ่อแม่ก็ต้องยกที่ดินให้ลูกแล้วลูกต้องไปเสียภาษีอีก ลูกก็อาจจะไม่เอาหรือว่าการทำให้การตกทอดตรงนี้เป็นปัญหา นี่ก็เป็นการบิดเบือนแบบมหาศาล แต่คนที่ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ ก็คือ คนที่มีที่ดินเยอะ มีทรัพย์สินเยอะ นั่นคือคนที่ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ เกษตรกรไม่เท่าไหร่ เพราะว่ากลุ่มนี้จะมีค่ายกเว้น

 

 

ภาษีมรดก คนรวยคัดค้าน คนจนไม่สนับสนุนเพราะไม่เข้าใจ

กลับมาพูดกันในประเด็นตรงนี้ เพื่อที่จะบอกว่า คนรวยคัดค้านไม่เป็นประเด็นปัญหา เพราะว่าคนรวยต้องคัดค้านอยู่แล้ว แต่ภาษีมรดกไม่ได้เป็นภาษีที่คนจนสนับสนุนเช่นเดียวกัน นี่คือคำถามว่าเป็นเพราะอะไร คิดว่าที่เป็นก็คือไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ภาษีมรดกทุกประเทศจะเหมือนกัน มันจะมีค่ายกเว้นคือยกเว้นทรัพย์สิน อันที่เขาดูว่าตามสมควร อันนี้มันก็จะรวมไปถึงเกษตรกรมีที่ดินอาจจะจำนวน 5 ไร่ 20 ไร่ที่จะสืบทอดกันไปเป็นเกษตรกรตรงนี้ ก็อาจจะได้รับการยกเว้นหรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดย่อม อยากให้ลูกสืบทอดกิจการโรงงานมีมูลค่าไม่เยอะถ้าจะส่งให้ลูกๆ ไม่มีปัญญาไปจ่ายภาษี เพราะว่ามันเป็นทรัพย์สิน แต่มันไม่ได้เป็นตัวเงินจริงๆ ข้อเท็จจริงเขาก็จะมีค่ายกเว้นให้ว่าสำหรับการสืบทอดกิจการพวกนี้ อาจจะมีมูลค่าลงไปอาจจะมีจำนวนเงินอะไรที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น ไม่เกินสิบล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แล้วถ้าเกินจากนั้นแล้วค่อยเสียภาษีคือมันจะมีรายละเอียดอื่นที่จะไม่กระทบกับชนชั้นกลาง ล่าง แล้วก็คนจน

 

 

ข้าราชการมักอ้าง ภาษีมรดกจัดเก็บได้น้อยและเสียเวลา

มีประเด็นอีกอันหนึ่งที่มักจะถูกคนรวยอ้างมาคัดค้านหรือข้าราชการบางส่วนจะบอกว่าภาษีส่วนนี้มันจัดเก็บได้ไม่เยอะ เสียเวลาในการจัดเก็บ จริงๆ มันก็ไม่เยอะหรอก เพราะว่าประเทศไทยมีประชากรอยู่ 66 ล้านคน อัตราการเกิดก็ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เศษๆ อัตราการตายก็ใกล้ๆ กัน คนตายปีหนึ่งก็ประมาณหกหมื่น เจ็ดหมื่นในแต่ละปี เพราะฉะนั้น หกหมื่นเจ็ดหมื่น คิดว่าจะเหลือคนที่จะต้องเสียเสียภาษีมรดกประมาณไม่น่าจะถึงหนึ่งหมื่นคนที่จะมีมรดกจนต้องไปเสียภาษีมรดก นอกนั้นน่าจะเป็นระดับกลาง ล่าง จนถึงคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ฐานภาษีก็ไม่ได้ใหญ่ แต่มันก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะว่าอาจจะจัดเก็บภาษีได้เยอะ ฐานของคนไม่ใหญ่ แต่ว่าจัดเก็บยากไหม เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ไม่เห็นยุ่งยาก เช่นเมื่อเวลาจะตาย ก็ต้องไปแจ้งตาย มันก็จะสามารถทราบว่าใครเปลี่ยนฐานภาษีบ้าง พอแจ้งตาย ก็ต้องไปโอนทรัพย์สิน เมื่อไปโอนทรัพย์สิน มันก็รู้ก็ต้องจัดการจ่ายภาษีกันเท่านั้นเอง มันไม่ได้จัดเก็บยากจนจัดเก็บไม่ได้

 

 

ชี้วิธีแก้ปัญหาการเลี่ยงภาษีมรดก

เคยมีการเลี่ยงกันอย่างหนึ่ง คือก่อนตาย ก็ค่อยๆ ให้มรดกลูกหลานแต่ในต่างประเทศก็มีวิธีเลี่ยงกัน เขาก็มีวิธีไล่จับกัน อย่างในญี่ปุ่น ก็บอกว่าที่ให้ไปห้าปีที่ผ่านมาเอามาคิดย้อนหมด เพราะฉะนั้น เขาก็จะไปคิดฐานย้อนได้ว่า ห้าปีก่อนตาย ให้อะไรกับใครไปบ้าง เอามาคิดหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นจะยกเว้นอย่างเดียวของการให้ก็คือการยกทรัพย์สินให้กับส่วนรวม เช่นให้มูลนิธิหรือให้อะไรที่เป็นสาธารณะประโยชน์ยกเว้นให้ แต่อย่างอื่นดึงกลับมาใหม่หมดเรียกว่า เป็นภาษีการให้ มันก็จะมีวิธี เพราะว่าประเทศต่างๆ ก็ทำกันมานาน

 

เพราะฉะนั้น มันมีวิธีที่จะจัดเก็บมันไม่ได้เป็นภาระในเรื่องของการบริหารจัดการ แต่อยู่ที่ว่า อยากจะทำหรือไม่อยากจะทำ ถ้าทำก็ทำได้ แล้วก็ไม่ต้องไปกังวลว่ามันจะเป็นฐานภาษีที่ไม่ใหญ่ไม่เป็นไร บางปีอาจจะไม่มีคนรวยมากเสียชีวิต มันก็จะจัดเก็บได้ไม่เยอะ แต่ถ้าบางปีคนรวยมากเสียชีวิต จัดเก็บก็ได้เยอะเพราะฉะนั้น รายได้ส่วนนี้จะเป็นลักษณะของการที่แปรผันตามการเสียชีวิตของพวกที่รวยมากซึ่งมันก็ไม่เป็นปัญหา

 

 

เผยคนในรัฐบาลชอบฉ้อฉลสร้างมูลค่าจากภาษีทรัพย์สิน

ภาษีทรัพย์สิน แม้เราจะบอกว่าภาษีโรงเรือนที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ไม่ใช่ภาษีทรัพย์สินโดยตรงแต่ก็มีอันหนึ่งที่เป็นอ่อนๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่รูปแบบสำหรับเราเพียงแต่ว่าวิธีการจัดเก็บแบบโบราณที่ทำนั้น ทำให้มันไม่ได้แสดงธาตุที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้นที่ออกมา ภาษีทรัพย์สินนั้นจะจัดเก็บเป็นรายปีเหมือนกับภาษีรายได้

 

ภาษีทรัพย์สินนั้นมีอยู่สองประเภท คือทรัพย์สินส่วนที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ กับทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ ที่เคลื่อนย้ายได้ก็คงจัดเก็บลำบากหน่อย แต่ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้มันจะมีหลักของมันเลย ว่าทำไมเขาต้องจัดเก็บกัน แล้วเขาจัดเก็บกันเป็นมูลค่า เขาก็ถือว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นมูลค่าที่มันเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าที่เกิดจากการได้รับประโยชน์จากรัฐ วิธีการอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ฉ้อฉลอย่างหนึ่ง เพราะว่าไม่มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน

 

ก็คือคนที่อยู่ในรัฐบาล รู้ข้อมูล รู้ว่ารัฐบาลจะตัดถนนไปที่ไหน ก็ไปกว้านซื้อที่ไว้ก่อนในราคาถูกๆ เดี๋ยวให้รัฐตัดถนนลงไปที่จะได้ขึ้นพอที่ขึ้นปุ๊บ ก็ขายได้ราคา ก็ได้มูลค่าทรัพย์สินตรงนั้นไป เป็นประโยชน์ส่วนตนทั้งที่รัฐเป็นคนลงทุนให้ เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นโดยตลอด

 

เมื่อมีการจัดเก็บรายปี จัดเก็บจากมูลค่าของทรัพย์สิน ในร่างที่เขียนไว้ ที่ดินที่เกษตรกรทำเกษตรกรรมจะจ่ายภาษีไม่เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องทำความเข้าใจเพราะว่าการยกเว้นครั้งนี้จะไม่ยกเว้นเป็นตัวไร่แต่จะยกเว้นเป็นมูลค่า อาจจะเป็นช่วงห้าแสนบาทแรกไม่ต้องเสียก็ได้ก็เป็นไปได้เพราะจะทำตามเป็นมูลค่า ภาษีตรงนี้มันจะเป็นว่าถ้าใครมีที่เยอะใครมีที่ที่อยู่ในที่ที่เจริญมากแล้วไปเบิกจากรัฐมาเยอะแล้วจนที่ตัวเองมีราคาเป็นร้อยๆ ล้านพวกนั้นก็ต้องเสียเยอะ เพราะฉะนั้น อันนี้ก็ต้องเป็นอันที่เราจะต้องมาทำความเข้าใจกันว่าภาษีอันนี้มีหน้าที่อย่างไร

 

 

ย้ำต้องลงโทษเอาผิด เพิ่มอัตราภาษีก้าวหน้ากับนายทุนซื้อที่ดินเก็งกำไร

นอกจากนั้นแล้วในร่างนี้ จะพูดถึงในเรื่องการเก็งกำไรซื้อที่ดินไปทิ้งไว้เฉยๆ ว่าจะต้องมีการจัดเก็บในอัตราที่ลงโทษ เพราะว่าที่ดินมันเป็นปัจจัยการผลิต ไม่ใช่ซื้อเพราะว่าเอาไว้เก็งกำไร เพราะฉะนั้น ภาษีนี้จะต้องมีการลงโทษคนที่เอาที่ดินไปกักเอาไว้ ซึ่งอัตราภาษีก็จะบอกว่าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกสามปี ถ้ายังไม่ขายอีกก็เพิ่มขึ้นต่อไปอีก ถ้าเขาเก็บไว้หลายๆ ปีแล้วไม่ทำกินค่าภาษีนี้มันก็จะกินมาก หลักในเรื่องของภาษีทรัพย์สินจะเป็นภาษีซึ่งในเรื่องของผลประโยชน์ เมื่อได้ประโยชน์เลยต้องคิดจากมูลค่าจะไม่คิดเป็นปริมาณ

 

ภาษีทรัพย์สินพวกนี้ เขามักจะให้ตกเป็นรายได้ของท้องถิ่นก็คือของ อปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ส่วนภาษีมรดก ส่วนใหญ่จะแบ่งกันระหว่างส่วนของรัฐบาลกับส่วนของท้องถิ่น ซึ่งในต่างประเทศจะเป็นแบบนี้ ส่วนในเรื่องของภาษีทรัพย์สินให้เป็นของท้องถิ่น

 

 

เสนอกองทุนบำนาญเข้าสู่ระบบสวัสดิการ

โดยประชาชน- รัฐบาล-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบร่วมกัน

เมื่อเรากลับมาสู่ระบบสวัสดิการ เริ่มมีการเสนอเรื่องการสร้างกองทุนบำนาญ คือจริงๆแล้ว ชาวบ้านเคยทำกองทุนออมทรัพย์มาก่อน แต่ว่าถ้าออมทรัพย์โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องที่จะไปถึงหลังอายุ60ไม่พอ ตอนนี้ดูเหมือนว่ามันพอ เหมือนกองทุนประกันสังคม เพราะว่าตอนนี้มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีใครเกษียณ ยังไม่มีรายจ่ายที่ออกไปเป็นเรื่องเป็นราว ฉะนั้น จึงทำให้กองทุนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีคนเติมเงินให้เรื่อยๆ

 

กองทุนออมทรัพย์ก็เหมือนกันตอนนี้มีแต่คนจ่ายเข้า แต่พอต้องจ่ายออก และถ้าจ่ายออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น ก็เริ่มมีแนวคิดว่า รัฐมีส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ อาจจะต้องมีการออมกันสองฝ่าย หรือสามฝ่าย คือในแง่ของประชาชนออกส่วนหนึ่ง รัฐบาลออกส่วนหนึ่ง แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องออกอีกส่วนหนึ่ง ก็จะทำให้กองทุนนั้นโตมากเพียงพอที่จะไปจ่ายเป็นเงินบำนาญได้สามารถใช้ในบั้นปลายชีวิตได้

           

ในส่วนของเรื่องบำนาญในระบบกองทุนประกันสังคม ก็ยังไม่มีผู้ได้รับบำนาญ คงต้องรออีกสักพักหนึ่ง เนื่องจากว่ากองทุนประกันสังคมเพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน

 

ในเรื่องของกองทุนประกันสังคม ก็คือต้องทำอีกเยอะ ซึ่งก็มีทั้งสองส่วน ส่วนหนึ่ง งบประมาณที่มีในประเทศไทยที่จัดเก็บแล้วเป็นประมาณ 17-18 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตในประเทศ ถ้าถามว่าเยอะไหมก็ไม่เยอะ แต่ถ้าเทียบกับว่า ในเม็ดเงินเหล่านี้จะผันออกมาเพื่อทำสวัสดิการ เราถือว่าเงินเยอะ 17-18 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นเงินเยอะ แต่จัดสรรไปเป็นสวัสดิการไม่มาก เพราะฉะนั้น ตรงนี้ทำถ้าจะช่วยได้ก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเรื่องนี้กันใหม่

 

 

เผยประกันสุขภาพประชาชนดีขึ้น แต่ยังไม่เทียบเท่าสวัสดิการของข้าราชการ

หลักประกันที่คนค่อนข้างที่จะยอมรับว่าทำได้ดี แล้วก็มีการพัฒนาตนเองก็คือ เรื่องของการประกันสุขภาพ ในแง่ของการประกันสุขภาพในปีแรกที่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้ จะเห็นว่า งบประมาณได้เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งก็มีผลทำให้คุณภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ถือว่าดีพร้อม เมื่อเปรียบเทียบกับของข้าราชการ ข้าราชการจะดีกว่าเยอะ โดยดูได้จากข้าราชการเมื่อไปหาหมอตามโรงพยาบาล หมอก็อยากจะจ่ายยามาก ด้วยเหตุผลที่ว่าจ่ายเท่าไหร่ก็ให้เบิกได้หมด ทั้งที่บางทีคนไข้ไม่ได้กินทั้งหมดหรอก

 

ทางด้านหลักประกันสุขภาพ 30 บาท ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ต้องจ่าย 30 บาทแล้ว ก็อาจจะจ่ายยาได้ไม่พอ คุณภาพได้ไม่ถึง เพราะเงินยังไม่พอที่จ่ายลงไป นั่นก็เป็นปัญหาด้านของเรื่องสุขภาพ

 

 

การปฏิรูปการศึกษายังน่าเป็นห่วง

เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ขยายแต่กระจุกอยู่ในกระทรวง

ด้านการศึกษาตั้งแต่ รัฐธรรมนูญปี2540 ที่ให้มีการจัดการศึกษาฟรี 12 ปี จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ที่บอกว่าจะขยายจาก 12 ปี เป็น 15 ปี ถ้าพูดถึงในเชิงปริมาณ ถือว่ารัฐบาลก็ทำได้เยอะทีเดียว อย่างน้อยที่สุด 12 ปี ทำได้แน่นอนในเชิงปริมาณ แต่เมื่อมาดูในเชิงคุณภาพนั้น ก็มีปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะมีความแตกต่างกันเยอะมาก จนไปสร้างความไม่เท่าเทียมกัน เพราะในการศึกษากลาง ไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่าการศึกษาที่ไม่ดีจะไปสู่การศึกษาระดับบนได้ การขาดโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ต้น ในเรื่องคุณภาพ พอไปถึงข้างบน มันก็ไปต่อไม่ไหว ประเด็นตรงนี้ ต้องจัดการ เพราะเป็นเรื่องใหญ่

 

เรื่องการปฏิรูปการศึกษา นั้นทำกันมานาน พูดกันมานาน แต่มันจะขยายไปในประเภทออกไปในโครงสร้างส่วนบนทั้งหลายที่เพิ่มขึ้นไปกระจุกตัวอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาก็เพิ่มขึ้น ไม่ใช่การเพิ่มเม็ดเงินที่ลงไปสู่คุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง กลับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ถ้าเทียบกับเรื่องของสุขภาพ

 

 

ในตอนหน้า ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปถึงแนวคิดเรื่อง สวัสดิการสังคม โดยในตอนหนึ่งระบุว่า จะต้องสร้างกลไกเชิงสถาบัน เพราะสังคมไทยมีปัญหามาก พอเกิดปัญหาอะไรอิงของเก่าคือไปหาสถาบันเก่าๆ คือสถาบันเก่าที่ดีมันเริ่มผุกร่อน...โปรดติดตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net