กวีกับการเมือง: รากฐานอันมั่นคงสถาพรของกวีนิพนธ์ในอ้อมอกกวีไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย : นายยืนยง

 

 

 

 

 

จากรายงานข่าวกิจกรรมอ่านกวีนิพนธ์ ในหัวข้อ งานการเมืองในมิติกวีนิพนธ์

โดยกวีทั้ง 21 มาบรรจบกันในเวที Thai Poet Society Forum ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2552 นี้ ... (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiwriter.net หรือเวบไซต์ในข่ายวรรณกรรมไทยอื่น)

 

อาจถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทยที่ไม่ใหม่เอี่ยมอ่องทีเดียว เพราะใครที่ติดตามให้ความสนใจ "วงการกวีนิพนธ์" ย่อมมี "แสงส่องทาง" ไปถึงได้ไม่ยาก เท่าที่ทราบหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์บางฉบับได้ประชาสัมพันธ์ร่วมอย่างแข็งขัน รวมถึงสื่ออิเล็คทรอนิคส์

 

แต่อีกด้านหนึ่ง กระแสความรับรู้ของคนที่ไม่ได้ให้ความสนใจวงการนี้ ย่อมถือเป็นเรื่อง "แปลกใหม่"

 

จากบทสัมภาษณ์ กฤช เหลือลมัย กวีที่มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2550 ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 มีนาคม 2552 กับคำถาม ทำไมต้องมีการจัดงานนี้ขึ้น

กฤช เหลือลมัย ตอบว่าเป็นปัญหาที่ทราบกันดีหรือถึงขั้นตระหนักว่า พื้นที่เผยแพร่ผลงานกวีนิพนธ์หดแคบลง

 

ในคำถาม ทำไมต้องเป็นหัวข้อการเมือง ส่วนหนึ่งในคำตอบ เขาบอก... เชื่อว่ากวีน่าจะมีญาณอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ และกับอีกหลายคำถาม ทำให้สงสัยว่า เมื่อกวีมีญาณพิเศษ เหตุไฉน พื้นที่ของ "ผู้วิเศษ" จึงไม่เป็นที่ตอบรับในลักษณะมหาชน ข้อสงสัยนี้จะสามารถโยงไปถึงคำถามที่เคยถูกโยนกันไปกันมา หาคนตอบชัดเจนไม่เจอ คือ กวีตาย?

 

ในที่นี้จะตั้งสมมุติฐานจากส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ของกฤช เหลือลมัย ในส่วนที่เขาเชื่อว่า

กวีมีญาณพิเศษ โดยเริ่มจากการถอดความจากหัวข้องานอ่านกวีนิพนธ์ครั้งนี้

 

งานการเมืองในมิติกวีนิพนธ์ ประกอบด้วยคำดังนี้

งาน มีนัยยะถึงผลของการกระทำที่ต่อเนื่องนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ส่งให้เกิดความเคลื่อนไหว

การเมือง หมายถึง การอยู่ร่วมกันของหน่วยต่าง ๆ ในสังคม ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย ในที่นี้หมายถึงกวีนิพนธ์มีพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม

มิติ เป็นการแสดงถึงความลึกตื้น หลากหลายของรูปธรรมที่อาจขยายมาถึงนามธรรมได้

กวีนิพนธ์ ผูกเป็นนัยยะอย่างนามธรรม

 

โดยรวมแล้ว มีนัยยะว่า งานกวีนิพนธ์ (คำว่า งาน นี้เติมเพื่อขยายความให้สมบูรณ์) กวีนิพนธ์ที่เขียนถึงสภาพสังคมในภาพการเมือง จะมีผลสัมฤทธิ์อันจะมาซึ่งความเคลื่อนไหว และอาจจะแสดงถึงความหวังที่กวีนิพนธ์จะมีส่วนขับเคลื่อนกระบวนสังคมการเมือง

 

การจากถอดความดังกล่าว ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกวีนิพนธ์กับสังคม ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงแนวคิดของวรรณกรรมสกุลเพื่อชีวิตเพื่อสังคม

 

ในยุควรรณกรรมเพื่อชีวิตในประเทศไทย ซึ่งมีจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้นตระกูล เราคงจำได้ว่า กวีนิพนธ์ในยุคนั้นมีส่วนกระตุ้น ผลักดันกระแสคิดของประชาชน นิสิตนักศึกษา ถึงขั้นกล่าวขานกันไปว่า กวีนิพนธ์ (รวมถึงวรรณกรรม) มีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และถือว่ากวีนิพนธ์เป็นเครื่องมืออันหนึ่งในกระบวนขับเคลื่อนสังคม จากการถอดความชื่องานอ่านกวีนิพนธ์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นความมีความสอดคล้องกันในแง่ที่กวีนิพนธ์ถือเป็นงาน มีผลสัมฤทธิ์เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นจะกล่าวได้ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงสิงสถิตอยู่ในกวีนิพนธ์ปัจจุบันอยู่ได้หรือไม่

 

และหากกล่าวว่า ตัวบทกวีนิพนธ์ มีพลังอยู่ในตัวเองโดยไม่ต้องอิงกับตัวกวีผู้สร้าง คงไม่ถูก

เพราะในยุคนั้น ตัวกวีมักถูกนำมาพ่วงเข้ากับตัวบทกวีในฐานะผู้สร้าง ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ตัวกวีจึงได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็นผู้นำทางสังคม เป็นชนชั้นพิเศษของสังคม (ในเมื่อยกย่องกวีนิพนธ์ (ลูก) แล้ว เราจะไม่เชิดชู พ่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิดหรือ) ลักษณาการเช่นนี้ จะเรียกได้ว่า ตัวกวีถูกสถาปนาขึ้นเป็นบุคคลพิเศษด้วยผลสัมฤทธิ์ของตัวบทกวีได้หรือไม่

 

เมื่อกวีนิพนธ์และตัวกวีมีภาพเป็นของพิเศษ ซึ่งหาไม่ได้จากปุถุชนทั่วไป ทำให้ต้องย้อนกลับไปมองสถานะของกวีนิพนธ์ในยุคก่อนเพื่อชีวิต เพราะหากข้อสมมุติฐานนี้เป็นจริงย่อมแสดงถึงรากฐานอันมั่นคงสถาพรของกวีนิพนธ์ไทยด้วย

 

เพื่อความชัดเจน ต้องย้อนกลับไปยุคของกวีราชสำนัก อันเป็นยุคที่กวีนิพนธ์ยังถูกสงวนไว้เป็น "สมบัติอันล้ำค่าของความเป็นชาติ" เป็นของสำหรับชนชั้นสูง มีบรรดาศักดิ์ ซึ่งถือเป็นให้การรองรับสถานะพิเศษของกวีนิพนธ์ และตัวกวีก็ย่อมเสวยสถานภาพพิเศษกว่าปุถุชนทั่วไปพร้อมกันด้วย ข้อนี้ อาจเป็นการสถาปนาของชนชั้นสูงเองเพื่อสร้างความ "พิเศษ" หรือ "ศักดิ์สิทธิ์" ให้กับตัวกวีและกวีนิพนธ์ ถือเป็นการสร้างอุดมการณ์ของชนชั้นสูง ยกย่องให้กวีนิพนธ์เป็นของสูง และยังเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมสืบมาจนปัจจุบัน ไม่เปลี่ยน

 

ดังนั้น สรุปได้ระดับหนึ่งว่า สถานภาพของตัวกวีนั้นแต่เดิมขึ้นอยู่กับชาติกำเนิดของตัวกวี ซึ่งถูกจำกัดไว้เฉพาะคนมีการศึกษาสูง มีราชสกุล ครั้นมาถึงยุคก่อนเพื่อชีวิต กวีนิพนธ์ก็ยังเป็นของพิเศษ สงวนไว้เฉพาะคนมีการศึกษาสูงดังเดิม โดยเฉพาะเหล่าปัญญาชน

 

ยิ่งมาถึงยุคเพื่อชีวิตที่กวีนิพนธ์เฟื่องฟูถึงขั้นถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม ยิ่งเหมือนเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า มรดกของชนชั้นสูงในอดีต (อุดมการณ์ของชนชั้นสูง) ยังถูกรักษาและทนุถนอมไว้โดยเหล่าปัญญาชนผู้สร้างกวีนิพนธ์ด้วยความจงรักภักดี

 

นอกเหลือจากเงื่อนไขข้างต้น ยังมีอิทธิพลของแนวทฤษฎีวิจารณ์วรรณกรรมแนวปฏิฐานนิยม(Positivism) ที่มีต่อวรรณกรรมไทย อันเป็นแนววิจารณ์วรรณกรรมที่หมกมุ่นอยู่กับตัวนักเขียนเป็นพิเศษ  

มีการศึกษาชีวประว้ติของนักเขียนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถือว่าวรรณกรรมเป็นผลงานสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคลผู้มีญาณทัศน์พิเศษ สามารถสื่อความหมายของชีวิตผ่านงานประพันธ์ออกมาได้อย่างลุ่มลึก (ทฤษฎีนี้เฟื่องฟูในยุควิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของภาคยุโรปและอเมริกา ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19)

 

นั่นเท่ากับว่า เมื่อเวลาผ่านไปยิ่ง มีหลาย "มือ" ที่เกื้อหนุนให้กวีนิพนธ์สถาปนาตัวกวีเป็นชนชั้นพิเศษของสังคม ควรแก่การเคารพยกย่อง น่านับถือ กระทั่งบางคนกล่าวว่า กวีคือพระเจ้า หรือ ถ้ากวีเดินผ่านมาต้องโค้งคำนับ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนถือเป็นมรดกตกทอดที่สืบมารุ่นต่อรุ่น และส่อเค้าว่ายังมั่นคงสถาพรไปอีกแสนนาน ไม่ว่ายุคสมัย ความเชื่อ มายาคติจะกำลังขับเคลื่อนสังคมไปถึงไหน

 

มาถึงยุคนี้ เราจะปฏิเสธมรดกอันสูงส่งของบรรพบุรุษกวีไม่ได้เสียแล้ว

กวีระดับซีรองอย่างกฤช เหลือลมัย เองยังมีความเชื่อว่า กวีมีญาณพิเศษ (จากบทสัมภาษณ์ข้างต้น)

ญาณ คือ ปัญญา ความรู้ ความหยั่งรู้ มีนัยยะว่า กวีคือผู้หยั่งรู้ มีมากปัญญาอย่างที่ปุถุชนทั่วไปไม่มี

ชัดเจนในตัวว่า กวีเป็นผู้พิเศษ ไม่ใช่ ปุถุชน หากแต่ยังคงเป็นผู้พิเศษ เป็นของศักดิ์สิทธิ์

 

ถึงตรงนี้ ในยุคที่ตัวกวีไม่จำเป็นต้องมีฐานันดรศักดิ์ ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูงส่ง ดังอดีตอีกต่อไป

แล้วแต่ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์และตัวกวี อุดมการณ์ของชนชั้นสูง ยังถูกตัวกวียึดถืออยู่ เสมือนเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อบรรพบุรุษกวี เป็นการถ่ายทอด ส่งผ่านความเชื่อมาถึงปัจจุบันนี้ แล้วถ้าสมมุติฐานอันวิเศษนี้เป็นจริง เหตุไฉน กวีนิพนธ์จึงถูกลดพื้นที่ลง จนกระทั่งตัวกวีต้องดิ้นรนหาพื้นที่ "หายใจ"

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ เคยเขียนไว้ว่า กวีเป็นผู้ดูแลอารมณ์ของสังคม

คำกล่าวนี้ ยังยืนยันในความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ และตัวกวี แสดงถึงความสำคัญ และความจำเป็น

ที่สังคมต้องมีกวีนิพนธ์ และแน่นอนต้องมีต้วกวี ราวกับหาก สังคมไร้ผู้ "ดูแล" อารมณ์แล้ว  "สังคม" จะไม่อาจสงบสุขได้ ราวกับว่า "สังคม" ดูแลอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และเพราะกวีนิพนธ์เป็นของพิเศษ มีแต่ผู้พิเศษเท่านั้นจะทำหน้าที่นี้ได้

 

เช่นนี้ถือเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างไม่คลอนแคลนต่อบรรพบุรุษกวี ทั้งตัวกวีและตัวบทกวีอย่างไม่อาจแยกแยะออกจากกันได้ ซึ่งส่งผลให้กวีนิพนธ์ไม่อาจถูก "อ่าน" หรือ "วินิจฉัย" ได้โดยปราศจาก "เงา" ของตัวกวี

 

ชัดเจนว่าโครงสร้างความคิดดังกล่าวยังคงอยู่ที่เดิม ไม่กระดิกกระเดี้ย เพราะอะไรหรือที่ไม่อาจแยกตัวกวีออกจากตัวบทกวีได้ จะมาจากความยึดถือ แสดงความเป็นเจ้าของของผู้สร้างเอง อันนี้ไม่ต้องโยงไปถึงเรื่องอัตตาก็ได้ แต่ถ้าจะโยง "นิดเดียว" และไม่เกี่ยวศีลธรรม จะกล่าวได้ว่าการยึดถือผลงานเป็นของตัวตนของตัวเองนั้น "อาจ" มีส่วนฉุดให้ตัวกวีไม่สามารถก้าวข้ามหรือก้าวพ้นไปจากตัวตนของตัวเองในตัวบทกวีได้อีก ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงในการสร้างสรรค์

 

กลับมาสู่งานอ่านกวีนิพนธ์ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 มีนาคมนี้

 

สรุปได้ว่า ตัวกวียังเชื่อในการครองสถานภาพ "พิเศษ" ของกวีนิพนธ์และตัวกวีเองอยู่ ถือเป็นการสนองนโยบายของรากฐานอันมั่นคงสถาพรของยุคเพื่อชีวิต ก่อนเพื่อชีวิต ก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง กวีราชสำนัก รัตนโกสินทร์ อยุธยา อย่างจงรักภักดี

 

แต่เมื่อ "พื้นที่" แสดงความจงรักภักดีไม่ตอบสนองความเชื่อของตัวกวีเอง เพราะมันได้หดแคบลงราวกับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า กวีนิพนธ์และตัวกวีถูกสังคม "เอาหูไปนาเอาตาไปไร่" เสียแล้ว

อาจเป็นการส่งสัญญาณจากสังคมว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์และตัวกวีนั้นขึ้นสนิมเสียแล้ว

สังคมไม่ต้องการให้กวีมาคอยดูแลอารมณ์เพราะสังคมสามารถดูแลตัวเองได้

หรือสังคมจะให้ความสนใจก็ต่อเมื่อมีรางวัลใหญ่มาเป็นตัวประชาสัมพันธ์ช่วย

 

ปฏิกิริยาจากสังคมเหล่านี้ทำให้ตัวกวีต้องดิ้นรนแสวงหาพื้นที่อื่น หรือพื้นที่ใหม่ แสดงผลงาน

แสดงศักยภาพ แสดงพลังของงาน แสดงความมั่นคงอันพิเศษของกวีนิพนธ์ หรือเพื่ออะไรก็ตามแต่

ในงานอ่านกวีนิพนธ์ครั้งนี้

 

นอกจากนั้นงานนี้ยังเป็นการขยายขอบเขตการรับรู้จาก "ตัวบทกวี" ไปสู่ "ตัวกวี" เนื่องจากตัวกวีต้องเป็นผู้ถ่ายทอดตัวบทกวี ผู้รับสารไม่ได้เป็น ผู้อ่าน อีกต่อไป แต่เป็น ผู้ฟัง ฉะนั้น ตัวกวีจึงได้โอกาสแสดงความเป็นเจ้าของกวีนิพนธ์นั้น ๆ อย่างชัดแจ้งอีกด้วย นั่นเสมือนเป็นการประกาศว่ากวีนิพนธ์กับตัวกวี ไม่อาจแยกแยะออกจากกันได้เลย ไม่อาจแยกจากกันตลอดกาล

 

นอกจากนั้นอาจมีนัยยะว่า งานนี้เป็นการแสดงออกให้เห็นว่า ตัวกวีต้องออกแรงสถาปนาตัวบทกวี แทนที่เมื่อก่อนซึ่งตัวบทกวีทำหน้าที่สถาปนาตัวกวีขึ้น เพื่อทวงคืนความศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมาสู่ตัวบทกวีและตัวกวีเอง โดยเฉพาะในภาคการเมืองจากชื่องานนี้ ที่ยังถูกมองจากตัวกวีว่า กวีนิพนธ์จะเป็น "งาน" อีกครั้งหลังจากกวีนิพนธ์ประสบความสำเร็จกับ "งาน" เปลี่ยนแปลงสังคมในยุคเพื่อชีวิตโน่น

 

และถ้าปาฏิหาริย์มีจริง พื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ประกาศความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ (ตัวกวีกับตัวบทกวี เพราะไม่อาจแยกออกจากกันได้) อาจจะกลับมาอยู่ในอ้อมอกของกวีนิพนธ์ได้เหมือนเดิม.

 

 

 





 

เชิญร่วมงาน ThaiPoetSociety Forum ครั้งที่ 1 "การเมืองในมิติกวีนิพนธ์" 

22 มีนาคม 2552  เวลา 16.30 - 20.00 น. 

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

 

 

   16.30 . ชมคลิปอ่านบทกวีจาก www.thaipoetsociety.com
   17.00
. สุรสีห์  โกศลนาวิน  กล่าวเปิดงาน ThaiPoetSociety Forum
   17.15
. ซะการีย์ยา อมตยา กล่าวคำประกาศของ ThaiPoetSociety Forum พื้นที่กวีนิพนธ์ในสังคมไทย
   17.30
. Performance โดย มงคล เปลี่ยนบางช้าง
   17.50
. เริ่มการอ่านบทกวี
   19.40
. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวปาฐกถาตาม 
  

 

พบเหล่ากวีรับเชิญ

 

   1. เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์   
   2. ศักดิ์ศิริ  มีสมสืบ     
   3. ไพวรินทร์ ขาวงาม   
   4. มนตรี
ศรียงค์   
   5. เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์   
   6. ประกาย ปรัชญา
   7. ไม้หนึ่ง ก.กุนที   
   8. สมพงษ์
ทวี'
   9. เสรี ทัศนศิลป์
   10. กฤช เหลือลมัย
   11. ศิริวร
แก้วกาญจน์
   12. เสี้ยวจันทร์  แรมไพร
   13. ซะการีย์ยา
อมตยา
   14. มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม
   15. โกสินทร์ ขาวงาม
   16. อังคาร  จันทาทิพย์
   17. อุเทน  มหามิตร
   18. ตุล ไวฑูรเกียรติ
   19. ลัดดา
สงกระสินธ์
   20. แก้วตา ธัมอิน
   21. อาณัติ แสนโท

 

 

 

ร่วมสร้างสรรค์โดยทีมงาน ThaiPoetSociety www.thaipoetsociety.com 

กฤช  เหลือลมัย 
ซะการีย์ยา อมตยา
วัฒนชัย  แจ้งไพร
อาณัติ  แสนโท

 


สนับสนุนงานและร่วมจัดโดย

 

มูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป  
เว็บไซค์
www.thaipoetsociety.com 
นิตยสารปาจารยสาร
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท