รากเหง้าปัญหาหนี้สินเกษตรกร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: รากเหง้าปัญหาหนี้สินเกษตรกรและการแก้ไขปัญหาของรัฐในยุคอำมาตยาธิปไตย
ประชา ธรรมดา

 

 

นานมาแล้ว คำกล่าวกินใจต่อชาวนาที่ว่า "ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ" เป็นเพียงคำกล่าวที่ทำให้ความหมายว่ารัฐไทยได้ให้ความสำนึกถึงบุญคุณของชาวนา ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐไทยมองว่าปัญหาของชาวนาเป็นปัญหาระดับชาติ หรือรัฐได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของชาวนาอย่างจริงจัง

 

ในยุคสมัยหนึ่ง มีความกล่าวที่ว่า "ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน" รัฐต้องการบ่งบอกว่า สาเหตุที่ชาวนายากจนก็เพราะชาวนาขยันน้อย ขี้เกียจ สันหลังยาว

 

ยุคสมัยปัจจุบัน มีการโฆษณาผ่านทีวีว่า "จน เครียด กินเหล้า" ย่อมต้องการสื่อสารว่า คนยากคนจนมัวแต่แก้ไขปัญหาด้วยการกินเหล้าเมายา ไม่มีสติปัญญา ไม่มีสมองหรือโง่ ก็เลยต้องการเป็นคนจนดักดาน เสมือนว่าถ้าเลิกกินเหล้าเมื่อไร ก็จะกลายเป็นคนรวย ผ้าขี้ริ้วก็จะกลายเป็นทองคำ อย่างนั้น

 

อย่างไรก็ตาม "ชาวนา" หรือปัจจุบันเรียกกันว่า "เกษตรกร" จำนวนไม่น้อยหาได้ยอมจำนนต่อการครอบงำทางความคิดอุดมการณ์ความเชื่อดังกล่าวแต่อย่างใด จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งตนเองขึ้นเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของตนเองที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐและระบบทุนนิยมโลก เช่น แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย สมัชชาเกษตรกรรายย่อย ฯลฯ

 

กล่าวสรุปรวบยอดได้ว่า ปัญหาต่างๆ ที่สำคัญของเกษตรกรก็คือ ปัญหาอำนาจในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ภูเขา แหล่งแร่แหล่งหินฯลฯ ที่ถูกรัฐอ้างกฎหมายควบคุมและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผู้มีทรัพย์ลงทุนเข้าครอบครอง รวมทั้ง "ปัญหาหนี้สิน"

 

รากเหง้าปัญหาหนี้สินเกษตรกร

จากการศึกษาของพฤกษ์ เถาถวิล 2548 อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สรุปว่าปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นผลลัพธ์ของปัญหาเชิงนโยบายของรัฐดังต่อไปนี้

ประการแรก การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยใช้ภาคเกษตรกรรมเป็นฐานของความเจริญ ดังจะพบว่าลักษณะสำคัญของแผนพัฒนาประเทศ นโยบาย กฎหมาย ฯลฯ ที่ผ่านมาก็คือ การเป็นเครื่องมือถ่ายโอนทรัพยากรและมูลค่าส่วนเกินจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม เช่น ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือกระบวนการกีดกันแย่งชิงปัจจัยยังชีพไปจากชนบท ในนโยบายภาษีก็แสดงให้เห็นความลำเอียงปกป้องผลประโยชน์ของภาคหัตถอุตสากรรมและคนมั่งมี หรือการสร้างภาระให้แก่เกษตรกรอย่างตรงไปตรงมา เช่น การเก็บภาษีพิเศษที่เรียกว่า ค่าพรีเมี่ยมข้าวในช่วงทศวรรษแรกของแผนพัฒนาประเทศ ฯลฯ

ประการที่สอง การสนับสนุนทุนนิยมการเกษตรกร ในลักษณะพิเศษที่เรียกว่า ทุนนิยมค่าเช่า (rent capitalism) ที่กลุ่มทุนการเกษตรขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากเกษตรกรผ่านค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ดอกเบี้ยเงินกู้ กำไรจากการกดราคา และการได้ประโยชน์จากภาษีที่รัฐจัดเก็บ ในระบบนี้กลุ่มทุนจะไม่ลงทุนเป็นผู้ผลิตเอง แต่จะใช้สถานะที่ได้เปรียบหาประโยชน์จากผู้ผลิต ฝ่ายเกษตรกรก็ตกอยู่ในภาวะที่ต้องขึ้นต่อเงื่อนไขของกลุ่มทุน เราจึงพบว่า กลุ่มทุนการเกษตรในประเทศไทยได้เติบโตเป็นทุนระดับโลก แต่เกษตรกรไทยที่ตั้งหน้าตั้งตาผลิตกลับกลายเป็นหนี้สินมากขึ้นๆ

ประการที่สาม การใช้นโยบายการค้าเสรีอย่างเลือกปฏิบัติ การตกลงของรัฐบาลในเรื่องการเปิดเสรีการเกษตร ได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าผู้ได้ประโยชน์ก็คือบรรดากลุ่มทุนการเกษตร ส่วนเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความไม่พร้อมแข่งขัน ในขณะที่ใช้นโยบายการค้าเสรีกับเกษตรกรอย่างเคร่งครัด แต่ในระดับนโยบายและปฏิบัติการ รัฐกลับยังให้ประโยชน์แก่กลุ่มทุน ทั้งในรูปของภาษี การส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมส่งออก การเปิดโอกาสให้เข้าถึงอำนาจในการกำหนดนโยบายรูปแบบต่างๆ เสรีการเกษตรจึงเป็นเพียงข้ออ้างในการแสวงหาประโยชน์จากเกษตรกรมากขึ้น

ปัญหาใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 ประการที่กล่าวมา ชี้ให้เห็นปัญหาเชิงนโยบายของรัฐ ที่จงใจให้เกษตรกรแบกรับภาระของการพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมอย่างไร้ความเป็นธรรม

 

 

การชุมนุมของ นกน. และการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรยุครัฐบาลอำมาตยาธิปไตย

การเคลื่อนไหวของเกษตรกรเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินมีมาหลายยุคหลายสมัย เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) และเครือข่ายเกษตรกรต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มของเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สิน ได้จัดชุมนุมขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทวงสัญญารัฐบาล

 

อันสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยได้มีการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเรียกร้องให้รัฐบาลได้เข้ามาแก้ปัญหาภาระหนี้สินของเกษตรกร โดยมติ ครม. มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการจัดการหนี้บางส่วนที่มีความจำเป็น โดยใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะว่ามีสมาชิกที่ได้ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับกองทุนฟื้นฟูมีจำนวนประมาณ 380,000 ราย

 

ดังนั้น ภายใต้งบประมาณ 1,500 ล้าน นั้นไม่สามารถครอบคลุมสมาชิกทั้งหมดได้แน่นอน เพราะงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่ได้รับมานั้นจะนำไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาหลักทรัพย์ถูกนำไปขายทอดตลาดก่อน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2,000 กว่าราย และปัจจุบันเกษตรกรที่เป็นหนี้เสียผิดนัดชำระหลายปีและพร้อมถูกดำเนินคดีได้เฉพาะของ ธ.ก.ส. ก็มีจำนวนประมาณ 60,000 - 70,000 ราย

 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีการบันทึกข้อตกลงดังกล่าวระหว่าง ธ.ก.ส. กับกองทุนฟื้นฟูฯ และในวันถัดมาก็ได้มีการพูดคุยกันระหว่างกองทุนฟื้นฟูฯ และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยถึงการชะลอการดำเนินการกับหลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยมีธนาคาร 8 แห่งได้ลงนามยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารนครหลวงไทย

 

อย่างไรก็ตาม แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) และกลุ่มเกษตรกรต่างๆที่เคลื่อนไหวอยู่มีความคิดเห็นว่า สหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของเกษตรกรรองจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่งทาง ธ.ก.ส. ได้มีการพูดคุยทำข้อตกลงกับทางคณะกรรมการบริการของ ธ.ก.ส. แล้ว โดยจะมีการนำไปปฏิบัติในทุกสาขา แต่สำหรับสหกรณ์นั้นไม่สามารถดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันได้ เพราะแต่ละสหกรณ์นั้นต่างเป็นนิติบุคคลและมีแนวทางการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทางกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ไม่สามารถพูดกับสหกรณ์ทั่วประเทศได้ จึงคิดว่านายทะเบียนของสหกรณ์โดยเฉพาะกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรจะทำหน้าที่เชิญสหกรณ์ต่างๆ มาประชุมกันถึงเรื่องนี้ว่าจะมีทางออกหรือแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไรในครั้งนี้

 

กล่าวสรุปได้ว่า การเคลื่อนไหวชุมนุมของเกษตรกรในครั้งนี้ เป็นการต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร มีกลไกที่ชัดเจน ซึ่งพวกเขามองว่า ปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้นมิอาจกล่าวโทษให้ป้ายสีว่าเกิดจากพวกเขาเท่านั้น แต่สาเหตุปัจจัยหลักเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐไทยลำเอียงต่างหาก และการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรซึ่งเป็นคนจำนวนมากกลุ่มอาชีพหนึ่งควรจะได้รับการแก้ไขเหมือนเช่นการที่รัฐได้ช่วยเยียวยาหนี้เน่าของคนรวยเพียงหยิบมือเดียว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท