ประชาธรรม: ระวังกฎหมายลูก ม.190 ฉบับ "หมูจะหาม อย่าเอาคานเข้ามาสอด"

ธีรมล บัวงาม

สำนักข่าวประชาธรรม

 


มาตรา 190 ควรถูกเรียกว่าเป็นของแสลงทิ่มแทงอกของนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักลงทุน ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนด ชี้ชะตา การเจรจาทางการค้า หรือการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพราะแม้เจตนารมณ์ของมาตรา 190 จะต้องการให้เกิดความโปร่งใส การตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น แต่สำหรับ "กลุ่มอิทธิพลที่ทรงอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจ" ข้างต้นกลับมองว่าเนื้อหามาตรา 190 คืออุปสรรค เป็นเงื่อนไข "ไส้ติ่ง" ที่ควรจะตัดทิ้งเพื่อความสะดวกคล่องตัวในการเจรจา เหมือนอย่างที่เป็นมาเช่นอดีต


เริ่มจากการเปิดฉากสกัดกั้นกระบวนบรรจุเนื้อหาสาระของมาตรา 190 ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาจนถึงความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมายลูกอย่างร่าง พ...การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีนักการเมือง นักธุรกิจ ภาคประชาสังคมจำนวนไม่มากนัก ที่สังเกตพบความไม่ชอบมาพากล และความพยายามบิดพลิ้วเจตนารมณ์ของความโปร่งใส การตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนไป

 

 

เบื้องลึกเร่งดัน พ...ฉบับรัฐบาล


จักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยจากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) อธิบายให้เห็นว่าหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาบริหารประเทศก็มีดัชนีชี้วัดทางนโยบาย หรือทิศทางที่น่าเป็นห่วง อาทิ การเร่งเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการซ่อนรูปเพราะไม่อยู่ในถ้อยแถลงต่อรัฐสภา โดยการเร่งเปิดเสรีนี้ เห็นได้จากการเจรจาเอฟทีเอหลายฉบับที่ไม่มีการทบทวน แต่เร่งเดินหน้า จนหลายกรณีอาจจะมีการทำผิดหรือไม่ครบขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ


อย่างกรณีการเจรจาการค้าเสรีที่ไม่เป็นข่าวมากนัก แต่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น กับสหภาพยุโรป ซึ่งเดิมเป็นการเจรจาภายใต้กรอบอาเซียน-ยุโรป ที่มีความล่าช้า สหภาพยุโรปจึงพยายามเจรจาแบบแยกสลายกลุ่มอาเซียน ที่มีการรวมตัวกันและใช้อำนาจต่อรองกับสหภาพยุโรปมาโดยตลอด ด้วยการพยายามล็อบบี้ ซึ่งไทยก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่สหภาพยุโรปอยากให้แยกออกมาเจรจาในระดับทวิภาคี (การเจรจา 2 ฝ่าย)


นอกจากนี้ยังเห็นจากการผ่านมติ ครม.เรื่องร่างพ...การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ประกอบมาตรา 190 ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดขั้นตอนวิธีการเจรจา ทำหนังสือสัญญาของรัฐบาลยังมีความเร่งรีบอย่างเห็นได้ชัด


จักรชัย ให้รายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 24 ..2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ได้นำเอาร่างของรัฐบาลที่แล้วมาผ่านความเห็นชอบโดยไม่ได้มีการแก้ไข ซึ่งเมื่อศึกษาดู ชัดเจนว่าร่างมีปัญหาในหลายจุด ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลสมชาย วงศสวัสดิ์ ได้มีมีมติครม.เห็นชอบร่างพ...กำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา เรียกสั้นๆ ว่าเป็นกฎหมายประกอบมาตรา 190 ซึ่งเป็นมาตราที่มีความละเอียดอ่อนและสำคัญอย่างยิ่ง


"ครั้งนั้นเมื่อส่งไปยังรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่าร่างดังกล่าวมีปัญหาในหลายจุด จึงส่งกลับมาให้รัฐบาล ประกอบกับจังหวะที่รัฐบาลได้เปลี่ยนขั้วมาเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือ กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับร่างกลับมาพิจารณา แต่สิ่งที่น่าห่วงคือแทนที่จะมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงให้มีความรอบคอบรัดกุม แต่ปรากฏว่าได้มีการผลักดันโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้กลับเข้าสู่ ครม.อย่างเร่งรีบและชี้แจงว่า ครม.นั้นสมควรที่จะผ่านร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาโดยเร็วเนื่องจากรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในเรื่องหนังสือสัญญาหลายฉบับ เท่าที่ทราบเข้าใจว่ารัฐบาลปัจจุบันก็มีความเป็นห่วงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเร่งและกลัวว่าหากไม่มีกฎหมายฉบับนี้จะไปเจรจาหรือทำเอฟทีเอจะเกิดความติดขัด จึงได้มีมติเห็นชอบนำร่างเข้าสู่สภาในที่สุด"

 

 

ดัน พ...กรุยทางเปิดเสรีการค้า?


จักรชัย กล่าวว่า เมื่อดูในตัวร่างพ...ของรัฐบาล จะพบจุดที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่  3 ประเด็น ประการแรกคือ มาตรา 190 และมาตรา 303 (3) กำหนดให้มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมถึงต้องมีการศึกษาวิจัยด้วยความเป็นอิสระและเป็นกลาง ปรากฏว่าร่างที่กำลังจะถึงการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติในขณะนี้ กำหนดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบการดำเนินการเจรจาเป็นผู้ดำเนินการเอง และสามารถทำเพียงการสื่อสารผ่านระบบสารสนเทศของหน่วยงานนั้นๆ พูดตรงๆ คือ แค่หน่วยงานเจรจาเปิดเว็บไซต์ มีช่องทางให้ประชาชนโพสต์ความคิดเห็นบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือส่งอีเมลเข้าไปก็ถือว่าเพียงพอตามร่าง พ...ฉบับนี้แล้ว ซึ่งหลายฝ่ายมีความห่วงใยอย่างยิ่งยวด ว่าการดำเนินการในลักษณะนี้จะทำให้เกิดปัญหาอย่างแน่นอน และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่ผ่านมาได้ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้น เพราะสิ่งที่รัฐธรรมนูญพูดถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คงไม่ได้หมายความว่าเป็นการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแน่นอน แต่ต้องเป็นการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเป็นระยะหนึ่ง เพื่อให้มีการศึกษา มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น


ประการที่ 2 หน่วยงานที่จัดรับฟังความคิดเห็นและศึกษาวิจัย แทนที่จะเป็นหน่วยงานกลางที่มีความเป็นอิสระ ปรากฏว่าให้ความรับผิดชอบนั้นอยู่ภายใต้หน่วยงานที่รับผิดชอบการเจรจา ซึ่งมันน่าห่วงว่าจะมีความขัดแย้งกับเจตนารมณ์ และข้อความของรัฐธรรมนูญ


ประการที่ 3 เนื่องจาก รธน. มาตรา 190ในวรรค 2 มีข้อกำหนดเพิ่มเติมจาก รธน.ฉบับก่อนๆ ที่ผ่านมาว่า หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างกว้างขวางจะต้องนำเข้าสู่สภาเพื่อให้ความเห็นชอบ หรือหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันการค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มักจะมีการกล่าวอ้างว่าการกำหนดอย่างนี้อาจจะเป็นปัญหาและสร้างความสับสน เพราะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าหนังสือสัญญาใดมีผลกระทบอย่างกว้างขวางหรือไม่ หรือหนังสือจะส่งผลผูกพันอย่างไร จุดนี้จะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ชี้วัด ซึ่งจริงๆ ทางออกของรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ คือ เปิดให้กฎหมายประกอบฉบับนี้เองจะเป็นตัวช่วยในการกำหนดรายละเอียดว่าหนังสือสัญญาใดจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เช่น การเปิดเสรีทางการค้าหรือการลงทุน หากมีความผูกพันมากกว่าที่องค์การการค้าโลกกำหนด อาจถือว่ามีนัยสำคัญต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นต้น แต่ปรากฏว่าในร่างของรัฐบาลไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ แต่ให้อำนาจนี้เป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเอาหนังสือสัญญาใดเข้าสภาหรือไม่ โดยอ้างอิงจากข้อเสนอแนะจากกระทรวงการต่างประเทศ


ทั้งนี้ ร่างกฎหมายของรัฐบาลก็เปิดช่องเพียงเล็กน้อยว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจว่าจะเอาเข้าสภาหรือไม่ ก็ให้มีกลไกที่ส่งความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีให้สภาพิจารณาในเวลา 15 วัน ถ้าสภาไม่ท้วงติงภายใน 15 วันก็มีนัยว่าให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการได้ทันที จุดนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ระยะเวลา 15 วันค่อนข้างสั้น หรือหากจะให้รัฐสภาพิจารณาอยู่แล้วทำไมไม่ส่งให้ทำอย่างเป็นทางการภายใต้ พ...ที่กำหนด และถ้าสภาไม่ขัดแย้งอะไรแต่ปรากฏว่ามีสมาชิกสภากลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยแล้วไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิทธิที่ทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 190 วรรคสุดท้าย (เข้าชื่อ 1 ใน 10 เข้าชื่อ) ก็จะมีปัญหาไม่สิ้นสุด


"ยกตัวอย่างกรณีเขาพระวิหารที่จะมีคนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ฟ้องศาลปกครอง การกำหนดเช่นนี้แทนที่จะทำให้การเจรจาของรัฐบาลมีความคล่องตัว มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นตามที่รัฐบาลมุ่งหวัง แต่ขอฟันธงว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลมีความสับสนและมีปัญหาในการเจรจามากขึ้นอย่างแน่นอน"
จักรชัย กล่าวย้ำ


ด้านบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร  ตั้งข้อสังเกตว่า การเร่งรีบให้สภามีการพิจารณากฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 น่าจะมีเบื้องหลัง เพราะทราบมาว่ารัฐมนตรีต่างประเทศและตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่สบายใจที่ต้องเร่ง  เข้าใจว่าหนึ่ง น่าจะได้รับการนำเสนอข้อมูลเพียงส่วนเดียวจากข้าราชการกระทรวงต่างประเทศว่าต้องเร่ง  ประกอบกับความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่ไม่คุ้นชินกับการเปิดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมามีส่วนร่วม  ดังนั้น ร่างที่นำเสนอเข้าสภาของรัฐบาล จึงเป็นการดึงอำนาจกลับมาที่กระทรวงต่างประเทศ  และประการสุดท้าย  กระทรวงต่างประเทศอาจจะกลัวว่า หากไม่เร่ง  ร่างกฎหมายฉบับเดียวกันที่ถูกยกร่างขึ้นมาโดยภาคประชาชนจะเข้าสู่สภาทัน  จึงพยายามกันไว้ก่อน 


"อย่างความตกลงอาเซียนที่ไปลงนามกันที่หัวหิน ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ผ่านมา จำเป็นต้องนำเข้าผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 4 ซึ่งระบุชัดเจนว่า ตอนที่ไปลงนามยังไม่เกิดผลผูกพัน การผูกพันจะต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครได้เห็นหนังสือสัญญาดังกล่าว" ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ทิ้งท้าย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าชะตากรรมของกฎหมายฉบับนี้จะอยู่ในมือของตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในรัฐสภา แต่ความเคลื่อนไหวนอกสภาที่นำโดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ที่พยายามรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่าง กม.ฉบับภาคประชาชน ก็น่าจับตามองไม่น้อย เพราะหากรวบรวมรายชื่อทั้งหมดได้ทันภายใน 2 - 3 สัปดาห์ข้างหน้าตามที่สมาชิกกลุ่มประกาศไว้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 5,953 รายชื่อ (อ้างอิงจาก www.ftawatch.org 11 มี..2552) เราคงจะได้เห็นวิวาทะทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกครั้ง รวมถึงเป็นหน้าฉากที่เปิดโอกาสให้เห็นว่าเจตนาที่ซ่อนจริงของ "ผู้มีอำนาจทางสังคม" คืออะไรกันแน่

 

 

 

 

หมายเหตุจากประชาไท
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มี.ค. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทซ์) ได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อเข้ายื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 10,120 คน เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน) ต่อประธานรัฐสภา โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 5 ที่ บัญญัติให้ต้องมี พ.ร.บ.ขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา ซึ่งขณะนี้ร่างดังกล่าวได้อยู่ในระเบียบวาระแล้วส่วนจะชะลอออกไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม โดยกฎหมายที่ประชาชนเสนอนั้นจะใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องประมาณ 3-4 เดือน ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบความถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (ยื่นชื่อ ปชช.กว่าหมื่นจี้สภาฯ ชะลอกม.หนังสือสัญญาระหว่าง ปท.)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท