Skip to main content
sharethis

(24 มี.ค.) โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการเสวนาเรื่อง "รัฐได้คะแนน แรงงานนอกระบบได้หลักประกัน" ห้องรวยเพชร ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร


 


 


วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีมติช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม 9 ล้านคน โดยให้เงิน 2,000 บาทกับผู้มีรายได้ต่ำ่กว่า 14,999 บาท เหตุใดรัฐจึงไม่หันกลับมาดูแลแรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคน ที่บางคนมีรายได้ต่ำ และไม่มีหลักประกันในชีวิตเลยบ้าง


 


วิไลวรรณเสนอให้รัฐจ่ายเงิน 2,000 บาท สมทบให้กับแรงงานนอกระบบ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคม จากประกันสังคม ตามมาตรา 40 แห่ง ...ประกันสังคม ..2533 หรือเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งต้องจ่ายปีละ 3,360 บาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,360 บาทนั้น แรงงานนอกระบบจะเป็นผู้จ่ายเอง


 


ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลทำได้ตามที่เสนอ ก็เท่ากับรัฐบาลได้สร้างประวัติศาสตร์ให้แรงงานนอกระบบ โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าของแรงงาน ซึ่งสร้างคุณูปการให้ประเทศ ส่วนแรงงานนอกระบบเองก็จะมีหลักประกันชีวิตที่ดี


 


สุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีเพียงหลักประกันสุขภาพ 30 บาทที่แรงงานนอกระบบเข้าถึงและรัฐจัดให้ อย่างไรก็ตาม หากเจ็บป่วยมากต้องนอนรักษาตัว แรงงานนอกระบบรักษาฟรีจริง แต่ขาดรายได้ไป ขณะที่แรงงานในระบบนอนรักษาตัว ยังมีเงินเดืิอน


 


"หากรัฐคิดว่าประชาชนเป็นประชาชนเหมือนกัน การปฏิบัติของรัฐต้องเสมอภาค เพราะแรงงานนอกระบบเองได้สร้างเศรษฐกิจให้รัฐไม่น้อย" สุจินกล่าว


 


แม้เดิมจะมีมาตรา 40 ให้กับผู้ที่ต้องการประกันตนโดยสมัครใจ หรือแรงงานนอกระบบอยู่แล้ว แต่สุจิน มองว่า มาตรา 40 ให้สิทธิที่ไม่จูงใจ เพราะคุ้มครองเพียง 3 กรณี คือ กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย โดยปัจจุบัน ทราบมาว่า มีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 อยู่ไม่ถึง 37 คน เธออธิบายว่า กรณีคลอดบุตร หากเป็นแรงงานชายก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ส่วนแรงงานหญิงที่มาอยู่นอกระบบส่วนใหญ่อายุ 30-40 ปีแล้วคงไม่คิดถึงเรื่องคลอดบุตร นอกจากนี้ ช่วงที่ยังมีชีวิตก็อยากได้สวัสดิการอื่นๆ มารองรับ ไม่ใช่ไปได้ตอนที่พิการ ซึ่งทำอะไรไม่ไหว หรือตอนตายแล้ว อีกทั้งอัตราเงินสมทบ 3,360 บาทต่อคนต่อปี ก็นับว่าแพง เพราะเดือนหนึ่งรายได้ของแรงงานนอกระบบ อาจไม่ถึง 1,500 บาทด้วยซ้ำ


 


ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานนอกระบบได้มีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์จากเดิม 3 ข้อเป็น 5 ข้อ โดยคงกรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ และตายไว้ และเพิ่มกรณีเงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย และชราภาพเข้ามา


 


ทั้งนี้ เธอเสนอด้วยว่า รัฐต้องจัดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ เพื่อรู้ว่ามีใครบ้าง คนที่รับงานมาทำมีสัดส่วนเท่าไหร่ อยู่ในแต่ละภาคเท่าไหร่ เพื่อจะได้จัดทำแผนสนับสนุนคุ้มครอง ดูแลสวัสดิการให้แต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม


 


ด้านรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ ผู้ตรวจการกรม สำนักงานประกันสังคม และผู้อำนวยการโครงการประกันสังคมตามมาตรา 40 กล่าวว่า จากประชากร 66 ล้านคนของประเทศ มีกำลังแรงงาน 37 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 0.83 ล้านคน ข้าราชการประมาณ 3.71 ล้านคน และคนที่เข้าประกันสังคม 8-9 ล้านคน ซึ่งมีระบบรองรับ อาทิ บำนาญ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ขณะที่แรงงานนอกระบบ ราว 24 คนยังไม่มีอะไรรองรับ โดยกฏหมายคุ้มครองแรงงานก็ไปไม่ถึง ประกันสังคมก็ไปไม่ถึง และเงิน 2,000 บาทก็ไปไม่ถึง ทั้งนี้ คาดว่า ในปีนี้ (2552) แรงงานนอกระบบจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 25-26 ล้านคน เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ระบบประกันสังคมที่จะมารองรับนั้นก็ยังไม่ดีพอ ซึ่งขณะนี้สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับ สสส. ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษาว่ารัฐจะร่วมจ่ายได้อย่างไีร


 


อย่างไรก็ตาม รักษ์ศักดิ์ กล่าวว่า มีแผน 4 ขั้นเพื่อขยายสิทธิคุ้มครองประกันสังคมไปยังแรงงานนอกระบบ ได้แก่ การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์มาตรา 40 เป็น 5 อย่าง (เจ็บป่วย-คลอดบุตร-ทุพพลภาพ-ออมชราภาพ-ตาย) เร่งให้รัฐร่วมจ่ายสมทบในมาตรา 40 ผลักดันให้ยกเลิกมาตรา 4 (6) ที่ยกเว้นแรงงานบางกลุ่มไม่ให้เข้าประกันสังคม อาทิ แรงงานเกษตร ประมง รวมถึงให้มีการศึกษาเพื่อจัดตั้งกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net