Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 26 มี.ค. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ได้ออกแถลงการณ์ "การละเมิดบรรทัดฐานและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลต่อกรณีผู้ลี้ภัยโรฮิงยา" โดยนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา พันธกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะ


 


โดยข้อเสนอส่วนหนึ่งระบุว่าประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะไม่ส่งกลับผู้ใดที่อาจเสี่ยงต่อการถูกทรมาน หรือถูกคุกคามถึงชีวิต ภายใต้กฎหมายต่าง ๆที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นๆที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังนี้


 


000


 


 


แถลงการณ์เรื่อง


การละเมิดบรรทัดฐานและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลต่อกรณีผู้ลี้ภัยโรฮิงยา


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)


วันที่ 26 มีนาคม 2552


 


 


1.ข้อเท็จจริง


1.1 ขอชมเชยรัฐบาลในความใส่ใจที่มีต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา 78 คน ที่ต้องขังอยู่ในศูนย์กักกันผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ให้ได้รับการดูแลและรักษาพยาบาล


 


1.2 แต่ที่ผ่านมา กรพ.เห็นว่ารัฐบาลไทยยังคงละเลยที่จะให้สิทธิทางกฎหมายต่อผู้ลี้ภัยโรฮิงยา เพื่อที่จะได้รับคำปรึกษาทางกฎหมายอย่างอิสระตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิทางกฎหมายและการได้รับการคุ้มครองต่าง ๆ ในหลายกรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปล่อยให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาได้รับคำปรึกษาทางกฎหมาย และหลายครั้งได้เข้าแทรกแซงการให้คำปรึกษาของทนายความ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิและกฏระเบียบจากรัฐเอง นอกจากนั้นการปรึกษาทางกฎหมายควรปล่อยให้เป็นความลับระหว่างทนายความและลูกความด้วย


 


1.3 ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยายังคงเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกผลักดันให้กลับไปประเทศพม่า ซึ่งจะทำให้ไทยละเมิดพันธสัญญาที่ผูกพันไว้กับสหประชาชาติ ภายใต้กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)(มาตรา 7) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นๆที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) (มาตรา 3)


 


1.4 การตรวจพิสูจน์ของคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาถูกทำร้ายทรมานก่อนที่จะถูกจับได้ในน่านน้ำไทย และต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาล จึงเป็นหลักฐานที่บ่งบอกได้อย่างเพียงพอว่าพวกเขาเหล่านั้นถูกทรมานมา


 


1.5 การที่รัฐบาลไทยปล่อยให้เจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าพบและซักถามผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา ทำให้กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยเพราะถูกเปิดตัวตนต่อรัฐที่รับผิดชอบต่อการที่กลุ่มชนเหล่านี้ถูกกระทำละเมิด


 


1.6 รัฐบาลไทยและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย (UNHCR) ตกลงร่วมกันที่จะจัดทำคู่มือสำหรับช่วยเจ้าหน้าที่ แยกแยะได้ว่าผู้ใดเป็นชาวโรฮิงยาที่เข้ามาในประเทศเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ โดยที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและองค์การประชาสังคมที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนร่วมจัดทำคู่มือดังกล่าว


 


1.7 เป็นที่ทราบว่า รัฐบาลไทยและUNHCR ไม่มีอำนาจที่จะปกป้องบุคคลใดที่ต้องหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายแพ่ง ในประเทศพม่า เนื่องจากการละเมิดกฎหมายและวิธีการเข้าเมืองของประเทศพม่าได้ ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกอาเซียนยังยืนยันหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน อันเป็นหลักการร่วมกันของประเทศสมาชิกมาโดยตลอด ก็ยิ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยไม่สามารถปกป้องผู้ที่เดินทางกลับไปยังประเทศพม่าได้


 


1.8 เป็นที่ทราบอีกเช่นกันว่า รัฐบาลทหารพม่าตรวจตราการเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนในพม่าอย่างเข้มงวด


 


1.9 ความพยายามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ ที่จะให้รัฐบาลทหารพม่าออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาทั้ง 78 คน เพื่อให้สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้นั้น ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ชาวโรฮิงยาเหล่านี้จะได้รับการดูแลปกป้องไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าได้


 


1.10 องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลหลายแห่ง เช่น องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวเมอร์ไรท์วอช์ท ได้เสนอรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงยาในพม่าหลายต่อหลายครั้ง ขณะที่รัฐบาลไทยไม่ใส่ใจในเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาวโรฮิงยาที่ผ่านมาในพม่า ขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ว่าจะรักษาหลักการสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ


 


1.11 ดังนั้น ปฏิบัติการต่างๆ ของรัฐบาลไทยในอันที่จะหาวิถีทางและมาตรา การส่งกลุ่มผู้ลี้ภัยชายโรฮิงยาทั้ง 78 คน กลับประเทศพม่า จะเป็นการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


 


1.12 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย (UNHCR) พึงดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงการตัดสินใจ หรือผลสรุปจากการหารือกับรัฐบาลไทย เพราะข้อผูกมัดที่เกิดขึ้นไม่ได้ผูกมัดเฉพาะกับรัฐบาลไทย แต่กับประชาชนชาวไทยผู้เลือกตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ จำเป็นที่คณะกรรม การสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประชาสังคมที่ทำงานสิทธิมนุษยชนในเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับประเด็นนี้


 


 


2.พันธกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน


 


2.1 ภายใต้กฎกติการะหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง หรืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยก็ตาม ประเทศไทยมีพันธสัญญาผูกพันกับสนธิสัญญาเหล่านี้ จึงไม่อาจจะเนรเทศบุคคลดังกล่าวออกไปโดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าพวกเขากำลังเสี่ยงต่อการกลับไปถูกทรมานหรือมีโอกาสเผชิญภัยคุกคามถึงชีวิต


 


2.2 ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีข้อผูกพันที่ต้องจัดให้กลุ่มผู้ลี้ภัยโรฮิงยาทั้ง 78 คน ได้รับการดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายอีกครั้งเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าทุกคนได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมตามหลักสากล ทั้งนี้เพราะในการจับกุมดำเนินคดีกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ช่วงแรกมิได้มีการดำเนินการโดยมีที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เป็นเอกเทศ หรือมีสิทธิได้รับการคุ้มครองแต่แรกเริ่มที่มาถึงประเทศไทย


 


2.3 ตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต่อมาตรา 7 ในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า "รัฐภาคีต้องไม่ผลักไสบุคคลใดไปสู่ประเทศที่ตนต้องเผชิญต่อภยันตราย ถูกทรมาน ทารุณกรรม ถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรม หรือถูกลงโทษ โดยรัฐต้องไม่ส่งพวกเขาข้ามแดน ไล่ออก หรือ ส่งกลับประเทศ


 


ยิ่งไปกว่านั้น "….ถ้ารัฐส่งตัวบุคคลใดที่อยู่ในเขตอำนาจแห่งตนข้ามเขตแดน และส่งผลให้บุคคลผู้ถูกส่งตัวกลับนั้นถูกละเมิดสิทธิตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาฯ ให้ถือว่ารัฐภาคีนั้นได้ละเมิดสนธิสัญญาฯไปด้วยโดยปริยาย ดังนั้น ความเห็นของกรรมการสิทธิมนุษยชน ข้อ 31 (2004) ต่อกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เห็นว่ารัฐภาคีมีหน้าที่


 


"...ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่จะไม่ส่งตัวบุคคลใดกลับไป ไม่ขับไล่ ไม่เนรเทศ หรือผลักดันออกไปจากดินแดนของรัฐ ในกรณีที่มีมูลเหตุชี้ชัดให้เชื่อได้ว่า ผู้ถูกส่งกลับจะเผชิญกับภัยอย่างร้ายแรง ....."


 


2.4 ในกรณีที่มีการให้หลักประกันทางการทูต คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เห็นว่า รัฐภาคีควรยอมรับว่า ที่ที่มีรายงานการทรมาน การปฏิบัติการที่ไร้มนุษยธรรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องอยู่แล้ว ย่อมมีโอกาสมากที่จะถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรม แม้นจะมีการให้คำมั่นสัญญาทางการทูตบ้างแล้วก็ตาม


 


2.5 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ขยายความ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า "พันธสัญญาในการป้องกันการทรมาน และการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมนั้น แบ่งแยกไม่ได้ และมีความสัมพันธ์กัน... คือ ข้อผูกพันในเรื่องการป้องกันการกระทำที่ไม่ดีต่อกัน ซึ่งหมายถึงข้อผูกพันไม่ให้เกิดการทรมานด้วย ดังนั้นมาตรการในการป้องกันการทรมานต้องใช้ได้กับการป้องกันการกระทำที่เลวร้ายอื่นๆด้วยเช่นกัน"


 


 


3 ข้อเสนอแนะ


 


3.1 ภายใต้กฎหมายต่าง ๆที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นๆที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะไม่ส่งกลับผู้ใดที่อาจเสี่ยงต่อการถูกทรมาน หรือถูกคุกคามถึงชีวิต


 


3.2 รัฐบาลไทยต้องให้กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่ถูกคุมขังในจังหวัดระนองทั้ง 78 คน ได้รับการปรึกษาทางกฎหมายอย่างเต็มที่ และเป็นอิสระ โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ และให้มีการสอบสวนใหม่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่ปรากฏแก่คนทั่วไป


 


3.3 ต้องไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าหรือรัฐบาลพม่าดำเนินการทั้งทางตรงหรือทางอ้อมในการสอบสวนซักถามกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่ถูกคุมขังในจังหวัดระนองทั้ง 78 คน


 


3.4 อนุญาตให้ UNHCR ดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาสถานะภาพผู้ลี้ภัยหรือ RSD และประเมินการให้ความคุ้มครองที่จำเป็นต่างๆ


 


3.5 อนุญาตให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกลุ่มทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เข้าเยี่ยมเยียนและให้คำปรึกษาทางกฎหมายอย่างชอบธรรม โดยไม่สร้างเงื่อนไขหรืออุปสรรคในการเยี่ยมเยียนกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา


 


3.6 อนุญาตให้กลุ่มทำงานทางด้านมนุษยธรรมให้ความช่วยเหลือประเมินสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา และยินยอมให้มีการดูแลรักษา ในกรณีที่จำเป็น


 


3.7 ให้กลุ่มองค์กรประชาสังคมมีส่วนร่วมในการหาทางออกกับปัญหาชาวโรฮิงยาในประเทศไทยและในภูมิภาค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net