คนไทยพลัดถิ่นคือ ใคร...?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทย จังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์

 

คนไทยพลัดถิ่นปรากฏตัวอย่างแพร่หลายในสังคมไทยเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อบอกกล่าวกับคนไทยในสังคมรับรู้เรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่นว่า เมื่อ 140 ปีก่อน เจ้าอาณานิคมอังกฤษที่ครอบครองพม่าได้ขอดินแดนตอนใต้ฝั่งตะวันตกของสยามคือ มะริด ทวาย ตะนาวศรี เมื่อปี พ.ศ.2411 ให้เป็นของอังกฤษ การทำสนธิสัญญาแบ่งแยกดินแดนครั้งนั้นทำให้สยามเสียดินแดนเป็นครั้งที่ 2 ส่งผลให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้นติดอยู่ฝั่งนั้น เป็นคนไทยที่รอคอยการไปทวงเอาดินแดนคืนอยู่ที่นั่น แม้ดินแดนจะตกเป็นของอังกฤษแต่คนไทยพลัดถิ่นไม่ได้สูญเสียความเป็นไทย บรรพบุรุษปลูกฝังความเป็นไทย นึกถึงแผ่นดินแม่อย่างเหนียวแน่นมาหลายชั่วอายุคน แต่หลังจากประเทศพม่าได้อิสรภาพจากอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2491 และเกิดรัฐบาลทหารพม่าปกครองแบบเผด็จการทหาร ส่งผลด้านลบต่อชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกระเหรี่ยง มอน ไม่เว้นแม้แต่กับกลุ่มคนไทยที่ติดแผ่นดินอยู่ในฝั่งนั้น การกระทำความรุนแรงต่อคนไทยพลัดถิ่นของรัฐบาลทหารพม่า ทำให้พวกเขาต้องอพยพโยกย้ายกลับเข้ามายังแผ่นดินแม่ มาอยู่กับญาติพี่น้องในฝั่งไทย พวกเขาพูดไทยปักษ์ใต้ มีวัฒนธรรมประเพณีเหมือนไทยปักษ์ใต้ แต่ปัญหาของการไม่มีบัตรประชาชนไทยทำให้คนไทยพลัดถิ่นถูกเบียดขับให้เป็นอื่น ไม่สิทธิตามความเป็นพลเมืองไทยในแง่ของกฎหมาย และในแง่ของความเป็นมนุษย์บางครั้ง คนไทยพลัดถิ่นถูกรังเกียจและกล่าวหาว่าเป็นพม่าจากสังคมที่เขาอยู่ร่วมด้วย ทำให้บางครั้งพวกเขาถูกจับกุม คุมขังเพราะข้อหาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เผชิญปัญหาสารพันที่คนต่างด้าวประสบ เป็นเวลานับสิบสิบปีที่คนไทยพลัดถิ่นไม่มีที่ยืนในเมืองแม่ ต้องอยู่อย่างหลบซ่อนเหมือนแรงงานต่างด้าว

 

เริ่มเกิดกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเมื่อปี พ.ศ. 2545 เมื่อรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือคนจนด้วยเงินซิฟ (SIF) จึงกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาทำงานตั้งกลุ่มออมทรัพย์ที่จังหวัดระนอง คนไทยพลัดถิ่นส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมกลุ่ม แต่เมื่อถูกถามถึงหลักฐานที่ต้องใช้ในการเข้าเป็นสมาชิก เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน คนไทยพลัดถิ่นไม่มีหลักฐานเหล่านี้ จึงเกิดการถกปัญหาของพวกเขาในเวลาต่อมา จึงได้ทราบถึงจำนวนคนไทยพลัดถิ่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์ จึงได้เกิดการตั้งกลุ่มแก้ปัญหาการคืนสัญชาติไทยขึ้นในเวลาต่อมา ในนาม เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทย จังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์

 

ทำไมพวกเขาต้องการขอคืนสัญชาติไทย คนไทยพลัดถิ่นเป็นไทยโดยสายเลือด เส้นแบ่งเขตแดนเมื่อในอดีต ไม่ได้ทำลายความเป็นไทยให้สิ้นไป พวกเขาจึงออกมาเล่าขานเรื่องราวของพวกเขา แก่สังคมไทย เขาเป็นคนไทยที่ต้องการการคืนสัญชาติไทย...

 

 

(1)

ฉันเป็นคนไทย จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

 

ลึกเข้าไปสุดซอย 10 แถบถนนสะพานปลา จังหวัดระนอง อาณาบริเวณด้านในสุดซอยมีกลุ่มบ้านกลุ่มใหญ่ปะปนกันอยู่เกือบร้อยหลังคาเรือน แถบนั้นเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของ "คนไทยพลัดถิ่น"  หรือผู้คนในละแวกนั้นรู้จักกันในนาม "คนสองน้ำ" ก่อนที่คำว่าไทยพลัดถิ่นจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อห้าปีที่ผ่านมา คำหลังนั้นนั้นถูกเรียกอย่างมีนัยของการกีดกันให้เป็นอื่น ไม่ยอมรับว่าคนกลุ่มนี้มีความเป็นไทยไม่แตกต่างไปจากคนไทยที่เกิดในแผ่นดินไทย ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งในละแวกนั้นเป็นคนไทยที่เดินทางมาจากฝั่งพม่า ที่เรียกว่าเมืองปกเปี้ยน [1] กลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ก่อนตั้งรกรากอยู่ในซอย 10 มาประมาณ 30 ปีแล้ว บ้านเรือนบางหลังสร้างอย่างมั่นคงถาวร เป็นเรือนปูนลงหลักปักฐานสวยงาม บ้างเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ คนเหล่านี้มีญาติพี่น้องร่วมสายเลือดอยู่ในฝั่งประเทศไทย ทรัพย์สิ่งของใช้ชื่อของญาติเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ในขณะเดียวกันบ้านเรือนอีกหลายหลังยังคงมีสภาพทรุดโทรม และบางส่วนเป็นบ้านเช่า สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงสภาพชีวิตของคนพลัดถิ่นที่ไม่มั่นคง เลื่อนลอย เหมือนไร้ตัวตนกับสถานภาพคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งฝังลึกลงไปในจิตใจ

 

นางน้ำ อุปถัมภ์ หญิงสาววัย 36 ปี เธอเป็นลูกหลานไทยที่ติดอยู่ฝั่งพม่า เมื่อครั้งประเทศอังกฤษทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับไทยเมื่อปี พ.ศ.2411 [2] เมื่อ 140 ปีก่อน ประวัติศาสตร์ไทยในตำราเรียนบันทึกเรื่องราวของการเสียดินแดนไทยให้กับประเทศอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แต่ไม่มีการบันทึกเรื่องราวของชีวิตคนไทยสองฟากฝั่งที่ถูกแบ่งแยกจากกันด้วยการบังคับของเส้นเขตแดน ทว่าเรื่องราวความเป็นไทยยังคงฝังรากลึกบันทึกอยู่ในจิตใจและร่างกายของผู้คนบนอีกฟากฝั่งหนึ่ง แม้ดินแดนตกเป็นของพม่าโดยอำนาจอาณานิคมของอังกฤษเมื่อ 140 ปีก่อน แต่หัวใจไม่ได้ตกเป็นของพม่า กลับเข้มข้นในความเป็นคนไทยโดยการถ่ายทอดต่อกันมาสู่ลูกหลาน...น้ำ เป็นคนหนึ่งที่หัวใจและร่างกายของเธอรับหน้าที่เป็นตัวบันทึกความเป็นไทยจากปู่ย่าตาทวด เธอสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของความเป็นไทยในฝั่งนั้นได้อย่างละเอียดประหนึ่งว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นไม่กี่ปี

 

น้ำ เดินทางเข้ามาอยู่จังหวัดระนองตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยน้าชายซึ่งอยู่ในประเทศไทยรับเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาเธอได้เป็นไทยเมื่อได้บัตรประชาชนตามพ่อบุญธรรม บัตรประชาชนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์แบบตามกฎหมาย แม้ว่าเธอจะได้บัตรประชาชนไทยแล้วก็ตาม เธอยังเชื่อมั่นและยืนยันว่าเมื่อก่อนได้บัตรประชาชนไทย เธอก็คือคนไทยที่ไปพลัดถิ่นเพราะลัทธิล่าอาณานิคม ตั้งแต่เธอจำความได้ คนพม่าฝั่งนั้นก็เรียกพวกเธอว่า "ไท้" หรือ "ฉ่า" ซึ่งหมายถึงคนไทย ชาวพม่ามักเรียกคนไทยฝั่งนั้นด้วยคำว่า "ไท้" ก่อนชื่อเสมอ เช่น "ไท้น้ำ" หรือ "ฉ่าน้ำ" โดยมีนัยว่า หญิงสาวชื่อน้ำเป็นคนไทย นั่นแสดงว่า ชาวพม่าฝั่งกระนู้นก็ยอมรับและเล่าต่อกันมาว่า คนที่อยู่ติดแผ่นดินฝั่งนั้นคือคนไทย คนไทยพลัดถิ่นที่อยู่ติดแผ่นดินนี้จึงต่างไปจากพวกเขา ต่างในความเป็นคนร่วมวัฒนธรรมและร่วมชาติที่ไม่เหมือนชาวพม่า

 

คนเฒ่าคนแก่ รวมไปถึงตายายของเธอปลูกฝังเรื่องราวการเสียดินแดนและเรื่องราวของสงครามระหว่างไทยกับพม่าให้กับคนรุ่นหลังๆ ทราบ โดยเฉพาะเรื่องเล่าของ "ศึกถลาง"  คนไทยพลัดถิ่นแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา มักเล่าถึงเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับศึกถลาง เมื่อปี พ.ศ.2328 (ค.ศ.1785) สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ศึกถลางครั้งนั้นส่งผลต่อชีวิตผู้คนในถลางอย่างมาก [3] จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษทำให้คนไทยพลัดถิ่นทราบว่าญาติของพวกเขาบางส่วนโยกย้ายถิ่นฐานหลังสงครามเพราะหนีความวุ่นวายทางการเมือง และภาวะข้าวยากหมากแพงหลังสงครามเพื่อไปตั้งถิ่นฐานฝั่งนู้น การย้ายถิ่นเป็นการโยกย้ายไปอยู่กับวงศาคณาญาติที่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว

 

สำรวย อุปถัมภ์ ชายชราวัย 62 ปี เล่าว่า ทวดของเขาหนีปัญหาหลังศึกสงครามถลาง บ้านเมืองวุ่นวายระส่ำระสายแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า ราษฎรใช้ชีวิตอย่างฝืดเคือง ทวดเดินทางจากเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงาข้ามฟากไปยังปกเปี้ยน ซึ่งมีญาติตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว ทวดจึงตั้งบ้านตั้งเรือนมีลูกมีหลานอยู่ที่นั่น ในช่วงอายุของทวด จึงมีญาติๆ จากฝั่งตะกั่วป่าเดินทางข้ามไปมาเพื่อเยี่ยมเยียนกันอยู่เสมอ ทำให้ลุงสำรวยรับรู้ว่ามีญาติอยู่ที่ตะกั่วป่าซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการแบ่งเขตแดนประเทศไทย-พม่า

 

ปกเปี้ยนขณะนั้นเป็นของสยาม [4] นอกจากปกเปี้ยนแล้ว ยังมีเกาะสอง มะลิวัลย์ มะรัง ตลาดสุหรี ปกเปี้ยน ลังเคี๊ยะ อ่าวบ้า อ่าวใหญ่ อ่าวจีน ช้างพัง เกาะซุนตง แหลมแรด แมะปูเตะ ปะลอ มะริด ตะนาวศรี สิงขร ทวาย หาดยาวม ไม้ตาย บ้านเหนือ บ้านควน พุใน อ่าวจาก บ้านทอน ทรายแดง คงหลา แหลมบ้า หนึ่งไมล์ สองไมล์ สามไมล์ หกไมล์ เจ็ดไมล์ แปดไมล์ เก้าไมล์ สิบไมล์ สิบเก้าไมล์ ยี่สิบสองไมล์ และสามสิบไมล์ที่เคยเป็นของสยาม คนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่บนพื้นที่เหล่านี้ จนกระทั่งอีก 83 ปีให้หลัง อังกฤษทำสนธิสัญญาปักปันอาณาเขตระหว่างดินแดนในปกครองอังกฤษ (พม่า) กับไทยเมื่อปี พ.ศ.2411 คนไทยเหล่านี้จึงติดอยู่บนแผ่นดินซึ่งกลายเป็นของดินแดนในปกครองของอังกฤษ และต่อมากลายเป็นของประเทศพม่าในเวลาต่อมา

 

คุณลุงสำรวย เดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่อายุ 7 ขวบ มาอยู่กับญาติฝ่ายแม่ที่จังหวัดภูเก็ต ร่ำเรียนด้วยการบวชเรียนที่วัดสว่างอารมณ์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต จนกระทั่งมีการสำรวจประชากรไทยตกสำรวจทางทะเบียน และมีกฎหมายออกมาว่า ประชากรไทยที่เดินทางมาอยู่ประเทศไทยก่อนปี พ.ศ.2519 ถือว่าเป็นประชากรตกสำรวจ อนุญาตให้ทำบัตรประชาชนไทยได้ คุณลุงสำรวยจึงได้เป็นคนไทยตามหลักของกฎหมายนับตั้งแต่นั้น แต่หากถือตามหลักสายเลือดแล้ว คุณลุงสำรวยถือว่าตนเป็นไทยหยั่งรากลึกในแผ่นดินอื่น คนไทยที่นั่น ไม่พูดภาษาพม่า และคนพม่าทราบดีว่าพื้นที่แถบนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนไทย หรือคนสยาม การเล่าเรียนหนังสือก็เรียนภาษาไทย โดยเล่าเรียนกันในวัด ผู้ชายไทยทุกคนที่นั่นอ่านออก เขียนได้ ส่วนผู้หญิงเรียนกันในบ้าน มีส่วนน้อยที่จะไม่รู้หนังสือไทย

 

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนสมัยอังกฤษยังปกครองพม่าอยู่ คนไทยอยู่ด้วยความสงบบนผืนดินแห่งนี้ คนพม่ายังไม่รุกล้ำข้ามแดนเข้ามา จึงทำให้ไม่รู้และไม่สามารถฟังภาษาพม่าออก น้ำบอกถึงเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งเกิดเหตุร้ายในหมู่บ้าน ทหารพม่าต้องเข้ามาตรวจสอบ และจับคนไทยหลายคนไว้ โดยให้นั่งคุกเข่าหันหลังให้กับทหารและสอบสวนเป็นภาษาพม่า คนไทยไม่เข้าใจภาษาพม่า เวลาทหารพม่าถามอะไรก็ได้แต่เงียบ บางคนสั่นศีรษะหรือพยักหน้าแต่เป็นไปด้วยความตระหนกและหวาดกลัวมากกว่าจุดประสงค์อื่น จังหวะนั้นเองพยานหลายคนเห็นทหารพม่าลั่นไกปืนใส่ชายไทยคนหนึ่ง จากนั้นทหารก็จากไป เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการสืบสวนสอบสวน มาทราบกันทีหลังว่า ทหารถามว่า แกไปขโมยของเขามาใช่ไหม เป็นจังหวะเดียวกับชายคนนั้นพยักหน้าพอดี จึงเกิดการสำเร็จโทษตามกระบวนการของทหารพม่า น้ำบอกว่า หลังจากเหตุการณ์นั้นส่งผลให้คนไทยพลัดถิ่นจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาพม่าเพื่อเป็นการสื่อสารต่อกัน เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ [5] รัฐบาลทหารพม่าเริ่มเข้ามาควบคุมชนกลุ่มน้อย รวมทั้งคนไทยพลัดถิ่นบนดินแดนดั้งเดิมของสยาม จึงเริ่มมีการตั้งโรงเรียนพม่า โรงพยาบาล สำนักงานท้องถิ่นของทางราชการเข้ามาตั้งฐานในเขตเมืองใหญ่ อย่างเช่นเมืองปกเปี้ยน คนไทยรุ่นหลังๆ จึงจำต้องเข้าโรงเรียนเพื่อเรียนภาษาพม่า ขณะที่คนเฒ่าคนแก่ไม่เคยรู้ภาษาพม่าเลย เมื่อ "นายพม่า" (คำแทนรัฐบาลทหารพม่าที่คนไทยพลัดถิ่นเรียก) ต้องการเข้ามาปกครองชนกลุ่มน้อยมากขึ้น [6] คนไทยพลัดถิ่นจึงประสบปัญหาเช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยชาติอื่นๆ โดยถูกรัฐบาลทหารพม่าปฏิบัติอย่างกดขี่ การเข้ามาตั้งด่านทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล สำนักงานท้องถิ่น รวมไปถึงการอพยพโยกย้ายคนพม่าเข้ามาในถิ่นของคนไทยพลัดถิ่น จึงเป็นรูปแบบของการเข้ามาควบคุม แต่ทว่า คนไทยพลัดถิ่นยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีและภาษาของไทยไว้อย่างเหนียวแน่น โดยผ่านวัดไทยในพื้นที่แถบนั้น ทั้งในสิงขร ลังเคี๊ยะ ปกเปี้ยน

 

หลวงพ่อตัน อายุ 70 ปี เจ้าอาวาสวัดในแหลม ท่านเป็นพระที่เติบโตใน ลังเคี๊ยะ บวชเรียนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ในอดีตท่านเป็นไทยพลัดถิ่นคนหนึ่งที่มีความเป็นไทยเข้มข้น เพราะได้รับการปลูกฝังความเป็นคนไทยจากบรรพบุรุษ ยามที่คนไทยพลัดถิ่นถึงเวลาบวช ต้องบวชกับพระไทยในวัดไทยที่นั่น หรือไม่ก็ต้องมาบวชที่วัดในฝั่งไทย จากนั้นจึงเดินทางไปจำพรรษาที่วัดในสิงขร ปกเปี้ยน ลังเคี๊ยะ กรณีหลวงพ่อตันก็เช่นเดียวกัน พ่อแม่ญาติและตัวท่านเองพร้อมใจให้ท่านมาบวชที่วัดปากน้ำจังหวัดชุมพร หลังจากจำวัดที่วัดปากน้ำได้ไม่นาน ท่านก็ต้องเดินทางไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดในแหลมในลังเคี๊ยะ ทั้งนี้เพื่อความอบอุ่นใจแก่ชาวไทยพลัดถิ่น คนไทยที่นั่นคุ้นเคยกับศาสนาในวัฒนธรรมไทย พระไทยโกนผม โกนคิ้ว สวมจีวรสีเหลือง ขณะที่พระพม่าโกนผมแต่ไม่เคร่งครัดยามผมเริ่มยาวขึ้น อีกทั้งไม่โกนคิ้ว สวมจีวรออกน้ำตาลเข้ม พระพม่ารับของจากผู้หญิงโดยทางตรงได้ โดยไม่อาบัติ แต่พระไทยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เป็นต้น การยืนยันความเป็นไทยในศาสนาอีกประการหนึ่งคือ หลวงพ่อตันบอกว่า ท่านใช้หลักการของกรมศาสนาของไทยในการทำนุบำรุงวัดในแหลม

 

นอกจากนี้แล้ว วัดในแหลมยังคงเป็นสถานที่สืบทอดวัฒนธรรมไทยและหนังสือไทยให้ลูกหลานของคนไทยพลัดถิ่นในแถบลังเคี๊ยะ ซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้านทุ่งใหญ่, แทงแม่, คลองเพชร, บ้านลัง, ควนขนุน, หินลาย, ต่อพัน, ในบ้าน, หนองเต่า, ทุ่งบาน, เขาพัง, ทุ่งกร่ำ, บ้านสะล้า, ทุ่งค้อ ชื่อหมู่บ้านยังคงเป็นชื่อไทย และพูดภาษาไทยใต้ ลังเคี๊ยะจากคำบอกเล่าของพี่น้องไทยพลัดถิ่นจากลังเคี๊ยะ เป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ต่างจากปกเปี้ยนซึ่งเป็นเมืองใหญ่กว่า มีความเจริญมากกว่า แต่การประกอบอาชีพไม่ต่างกัน ผู้คนมีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ที่ลังเคี๊ยะเมื่อ 60 ปีก่อนมีจำนวนประชากรประมาณ 3,000 คน [7] แต่เมื่อถูกรัฐบาลทหารพม่ารุกรานด้วยวิธีการต่างๆ มากขึ้น ทำให้คนไทยพลัดถิ่นไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ที่ลังเคี๊ยะต่อไปได้อีก จึงทยอยหนีกลับมาอยู่ฝั่งไทยมากขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อตันบอกว่า ปัจจุบันมีบ้านคนไทยในลังเคี๊ยะไม่ถึง 20 หลังคาเรือน และไม่มีพระไทยที่วัดในแหลมอีกต่อไปแล้ว ท่านเป็นรูปสุดท้ายที่เป็นเจ้าอาวาสที่นั่น

 

 

การดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยของคนไทยพลัดถิ่น อาทิ

 

1. เรียนหนังสือไทย มีการสอนหนังสือภาษาไทยในวัด ดำรงความเป็นไทยโดยสมบูรณ์แบบ ผู้ชายเรียนหนังสือไทยในวัด ผู้หญิงเรียนที่บ้านโดยปู่ย่าตายายเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้

 

2. ประเพณีทางศาสนา

 

 

วันมาฆบูชา/วิสาขบูชา หลังจากฟังเทศน์ธรรมแล้วมีการนำดอกไม้ธูปเทียนเวียนเทียนรอบโบสถ์ 3 รอบ

 

วันเข้าพรรษา มีข้าวตอกดอกไม้ถวายพระ ทุกหมู่บ้านทำเทียนพรรษาแห่ไปถวายพระ

 

วันออกพรรษา เดือน 11 แรมค่ำ มีประเพณีทอดกฐินตั้งแต่เดือน 11 ถึงเดือน 12 แรม 15 ค่ำ การทอดกฐินจะทำในช่วงเวลานั้น หากผ่านพื้นช่วงเวลานี้จะเรียกว่าทอดผ้าป่า ทุกปีทุกหมู่บ้านของคนไทยพลัดถิ่นจะมีการทอดกฐิเรียกว่ากฐินสามัคคี

 

ประเพณีการบวช คนไทยพลัดถิ่นถือว่า ลูกผู้ชายต้องบวชทุกคน เน้นการบวชพระเป็นสำคัญ ฤกษ์งามยามดีในการบวชในช่วงไหนก็ได้ ส่วนใหญ่เมื่ออายุครบ 21 ปีจะบวชพระ ถ้าไม่สะดวกช่วงอายุนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหา แต่ถ้าหากลูกชายจะแต่งงานก่อนแต่งต้องบวชเสียก่อน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด จะแต่งงานโดยไม่บวชก่อนนั้น คนไทยพลัดถิ่นไม่ปฏิบัติกัน การบวชถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนไทยพลัดถิ่นชาวพุทธ ก่อนบวช ผู้ที่จะบวชต้องไปอยู่วัดเกือบเดือนเพื่อเรียนธรรมกับพระอาจารย์ ต้องท่องบทสวดให้เป็นเสียก่อน เมื่อพระอาจารย์เห็นว่าผ่านการทดสอบในการเรียนธรรมหรือเห็นสมควรบวชแล้วจึงจะอนุญาตให้บวช หนุ่มไทยพลัดถิ่นที่มาอยู่ฝั่งไทยทุกคนผ่านพิธีการยากลำบากแบบนั้นมาแล้ว เห็นว่า การบวชของคนไทยฝั่งนี้สามารถทำได้ง่ายกว่ามาก คนไทยพลัดถิ่นจะเดินไปแจ้งพระอาจารย์ว่าอยากบวชแล้วได้บวชเลยนั้น ค่อนข้างยาก หลังจากได้รับอนุญาตให้บวชได้แล้ว การโกนผมจะทำกันที่บ้าน จากนั้นก็ไปทำพิธีบวชกับพระอาจารย์ที่วัด

 

เกจิอาจารย์พระไทยพลัดถิ่น ด้วยความเคร่งครัดทางพระธรรมวินัยของคนไทยพลัดถิ่น จึงมีพระอาจารย์ไทยพลัดถิ่นหลายรูปที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในด้านธรรมวินัย บางรูปโด่งดังและถูกเลื่อมใสในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง อาทิ หลางพ่อพัน หลวงพ่อโลม หลวงพ่อลอย เป็นต้น โดยเฉพาะหลวงพ่อโลม ทั้งคนไทยและคนพม่าเลื่อมใสเป็นอย่างมาก โด่งดังไปถึงกรุงร่างกุ้ง เนื่องจากท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในธรรม นอกจากนี้ที่จังหวัดระนองยังมีหลวงพ่อลอย ขนุติธโร หรือ พระครูสุทธิบุณญาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำประชารังสฤษดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ซึ่งคนระนองให้ความเคารพนับถือมีการปั้นรูปหล่อของท่านอยู่ในหอพระ ประกอบด้วย 9 เกจิอาจารย์ดังของประเทศ หอพระแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

 

3. ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมอพื้นบ้าน

 

 

สภาพความเป็นอยู่ของคนไทยพลัดถิ่นอยู่กับธรรมชาติ การแพทย์ของคนไทยพลัดถิ่นจึงอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น "หมอพื้นบ้าน" ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสืบทอดติดต่อกันมาหลายรุ่น เป็นที่น่าสนใจตรงที่ตำรายาของคนไทยพลัดถิ่นเป็นตำรายาภาษาไทย ตำราบางฉบับมีอายุมากกว่า 100 ปี เขียนเป็นภาษาไทยสมัยโบราณและปนด้วยภาษาขอม อีกทั้งมีธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องการไหว้ครูบูชาตำรายาทุกปี มีคาถาและจัดพิธีกรรมไหว้ครูโดยครูหมอ คุณลุงสำรวย อุปถัมภ์ เจ้าของตำรายา ซึ่งได้รับมรดกตกทอดมาจากพ่อ "พระครูสุทธิบุณญาคม" หรือ "หลวงพ่อลอย ขนุติธโร" เล่าว่าสิ้นหลวงพ่อลอยแล้วไม่มีใครสามารถว่าคาถาไหว้ครูกับตำรายาโบราณนี้ได้ เพราะคาถาไหว้ครูมีจำนวนมาก คุณลุงสำรวยเองจำได้แค่บทนำขึ้นต้นเท่านั้น ความว่า "สิบนิ้วอัญเชิญดำเนินอย่าช้า มาปลุกตำรา หินบดหินฝน ปลุกทั้งอักขระ ปลุกทั้งเวทมนตร์......" คุณลุงสำรวยจำได้เท่านี้ เพราะการว่าคาถายาวมาก เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งกับคาถาโบราณที่จะทำให้ค้นหาภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนสูญหายไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าเกือบทุกหมู่บ้านมีหมอพื้นบ้านและมีตำรายาเป็นภาษาไทย

 

4. วัฒนธรรมไทยปักษ์ใต้

 

โนรา หนังตะลุง คนไทยพลัดถิ่นเล่นโนรา หนังตะลุงเหมือนคนไทยปักษ์ใต้ คำร้องเป็นไทยปักษ์ใต้ สืบสายโนรากันมาทางสายเลือด หากใครที่ครูโนราต้องการให้สืบสายก็ลงไปที่ใครคนนั้นจะเกิดอาการร่ายรำโนรา หรือบางคนร้อง กลอนโนราออกมาด้วย เรียกว่า "โนราลงครู" นอกจากนี้ความเชื่อว่า "ครูหมอโนรา" สามารถความช่วยเหลือผู้คนด้วยการพิธีกรรมเช่น การแก้บน หรือ ปัดเป่ารักษาโรคให้หาย การผ่านพิธีกรรมไหว้ครูโนราถือว่ามีความสำคัญ เป็นของขลัง ครูหมอโนราที่นั่นเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก ส่วนหนังตะลุง เป็นความบันเทิงของคนไทยพลัดถิ่น เวลามีงานมหรสพ มีหนังตะลุงมาแสดง ถือว่าเป็นงานพิเศษ คำร้อง ทำนองเป็นภาษาไทยปักษ์ใต้

 

การผูกเกลอ คนไทยพลัดถิ่นมีประเพณีการผูกเกลอเช่นเดียวกับการผูกเกลอของคนไทยปักษ์ใต้ ลักษณะของเกลอแถบนั้นมีสองประเภทคือ เกลอที่เกิดวันเดียวกัน เดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน กับเกลอประเภทเป็นเพื่อนตายกัน โดยไม่จำเป็นต้องวันเดือนปีเกิดเหมือนกัน มีทั้งเกลอต่างถิ่น ต่างบ้านที่บังเอิญพบเจอกันจากการเดินทางไปยังถิ่นอื่น เกิดถูกใจกันเป็นเพื่อนกันก็ผูกเกลอ ส่วนใหญ่พ่อแม่ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายจะรับรู้ บางคนพ่อแม่ผูกข้อมือให้เป็นเกลอกัน พ่อแม่จะรับเกลอเป็นลูกอีกคนหนึ่ง เกลอก็จะถือว่าพ่อแม่ญาติพี่น้องของเกลอเป็นพ่อแม่ของตนเช่นกัน จึงเกิดการนับญาติกันตั้งแต่นั้นมา การนับญาติของคนไทยพลัดถิ่นค่อนข้างนับญาติกันเหนียวแน่น เรียกว่า "นับกันหลายยาย" หมายถึง การนับญาติกันขึ้นไปหลายรุ่น การเป็นเกลอก็ต้องนับญาติของเกลอหลายรุ่นเหมือนกัน ญาติของเกลอยังอยู่ หรือเสียชีวิตก็ต้องไปร่วมงานศพ ลูกหลานของเกลอก็ต้องนับถือพ่อแม่ญาติพี่น้องของเกลอเพื่อนพ่อด้วย ลูกหลานต้องรับทราบและต้องไปมาหาสู่กันเสมอด้วย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่เกลอของคนไทยพลัดถิ่น

 

ประเพณีเดือนสิบ คนไทยพลัดถิ่นมีการปฏิบัติในประเพณีเดือนสิบเหมือนกับคนไทยปักษ์ใต้ เรียกว่าสารทเดือนสิบ วัตถุประสงค์เพื่อทำบุญให้ปู่ย่าตายาย และเรียกพิธีกรรมว่าประเพณีชิงเปรตเหมือนกัน เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ เครื่องไหว้บรรพบุรุษก็ทำเช่นเดียวกับคนไทยปักษ์ใต้ เช่น

 

ขนมห่อ ทำด้วยแป้ง ใส่ไส้ที่มีมะพร้าวคลุกน้ำตาลและนำไปผัดรวมกัน เข้าที่นำมาปั้นเป็นก้อนกลมเล็กแล้วห่อแป้งที่ทำเตรียมไว้ จากนั้นห่อใบตองนึ่ง

 

ขนมต้ม ข้าวเหนียวคลุกน้ำกะทิห่อใบตองนึ่ง ไม่มีไส้ ขนมต้มนี้จะโยนถวายพระพุทธเจ้าเสด็จมาจากดาวดึงส์ เรียกว่า ต้มลูกโยน

 

ต้มกล้วย ทำด้วยข้าวเหนียวยัดไส้กล้วย ห่อใบตองนึ่ง คนพม่าเรียก "ต้มลาว"

 

ขนมทอด ทำจากแป้งข้าวเหนียวละลายน้ำตาล คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำมาทอดในกะทะน้ำมันร้อนๆ เป็นก้อนเล็กพอคำหนึ่ง คำไม่เล็กไม่ใหญ่ หากใส่ไข่ลงไปในแป้งจะทำให้แป้งไม่ติดกะทะเวลาทอด

 

ขนมลา ทำจากแป้งข้าวเจ้าละลายน้ำตาล คนฝั่งนั้นจะใช้กะลามะพร้าวเจาะรูขนาดเล็กๆ หลายๆ รู เพื่อเป็นภาชนะใส่แป้งที่ทำสำเร็จแล้ว โรยแป้งให้เป็นสายลงในกะทะที่มีน้ำมันร้อน วิธีโรยแป้งก็โรยสลับทับกันไปมา ขนมลาฝั่งคนพลัดถิ่นจะไม่เส้นเล็กละเอียดเหมือนของคนนครศรีธรรมราชและคนไทยปักษ์ใต้ทั่วไป แต่เป็นแผ่นติดกันขนาดใหญ่เช่นกัน

 

การตั้งลานชิงเปรต ลักษณะการตั้งลานของคนไทยพลัดถิ่น ลานจะทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้แล้วแต่จะหามาได้ เป็นสี่เหลี่ยมแล้วแต่ขนาดและความพอใจของผู้ตั้ง วางบนขาตั้งไม้สี่ขา บนลานตั้งเปรตประกอบด้วยขนมต่างๆ ที่ทำในวันสารทเดือนสิบ ขนมห่อ ขนมต้ม ต้มกล้วย ขนมทอด ขนมลา ตั้งพร้อมกับเครื่องไหว้อื่นที่ไหว้เพื่อให้บรรพบุรุษนำไปใช้ในปรโลก เช่น กะปิ ข้าวสาร น้ำเต้า ขี้ไต้ ขี้ชัน และเครื่องครัวอื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

 

ลักษณะพิเศษของการตั้งลานชิงเปรต สถานที่ในการตั้งลานชิงเปรตของคนไทยพลัดถิ่น จะไม่เหมือนคนไทยปักษ์ใต้ตรงที่ บริเวณตั้งลานจะอยู่นอกกุฏิหรือบริเวณศักดิ์สิทธิ์ของวัด แต่อยู่ในเขตวัด ที่เป็นลานโล่ง เพราะคนไทยพลัดถิ่นเชื่อว่า หากตั้งในกุฏิจะทำให้บรรบุรุษบางตนมารับของเซ่นไหว้ไม่ได้ เพราะไม่อาจคาดเดาได้ว่า บรรบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วไปอยู่ที่ไหน หากเป็นภูตผีหรือเป็นเปรต บรรพบุรุษจะเข้ามาในกุฏิหรือบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ นอกจากนี้ก็เพื่อให้ผีหรือเปรตตนอื่นๆ ที่รับเครื่องเซ่นไหว้นี้ด้วย การตั้งลานชิงเปรตของคนไทยพลัดถิ่นจึงต่างไปจากไทยปักษ์ใต้

 

หากไม่คำนึงถึงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า คนไทยพลัดถิ่นยังยืนยันความเป็นคนไทยจนชั่วลูกชั่วหลาน อยู่ฝั่งนั้นคนไทยพลัดถิ่นมีความยากลำบากไม่แพ้ชนกลุ่มน้อยในพม่า อันเนื่องมาจากถูกกระทำจากรัฐบาลทหารพม่า กระทั่งคนไทยพลัดถิ่นต้องถอยร่นกลับมายังฝังเมืองแม่ โดยกระจัดกระจายอยู่ทั่วจังหวัดในภาคใต้ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร พังงา เป็นต้น

 

 

การกดขี่ข่มเหงของทหารพม่าที่มีต่อคนไทยพลัดถิ่นมีหลายรูปแบบ อาทิ

 

1. ขูดรีดภาษี โดยผลผลิตต้องแบ่งรัฐบาลครึ่งหนึ่งไม่ว่า นาจะล่มหรือผลผลิตตกต่ำ

 

2. เกณฑ์แรงงานไปสร้างสาธารณูปโภคเป็นเดือนๆ ตามระบอบสังคมนิยมแบบทหารพม่า นอกจากประชาชนจะเสียค่าใช้จ่ายระหว่างการทำงานด้วยตนเองแล้ว ภารกิจไร่นาทางบ้านก็เสียหายตามไปด้วย เพราะแรงงานที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานชายที่เป็นหลักของครอบครัว

 

3. ถูกเกณฑ์ไปเป็น "ปอตา" หรือคนแบกของให้กับกองทัพ ในช่วงที่รัฐบาลทหารพม่ารบกับชนกลุ่มน้อย เป็นโล่หรือกำแพงมนุษย์ให้กับทหารพม่า ส่วนใหญ่ไม่ตายก็พิการ ถ้าตายทหารพม่าก็จะทิ้งศพไว้โดยไม่พากลับมา หากบาดเจ็บก็ปล่อยทิ้งไว้ ปล่อยให้เป็นโชคชะตาของคนๆ นั้น น้อยนักที่ทหารพม่าจะนำตัวกลับมาด้วย

 

4. การข่มขู่เอาที่ดินที่ทำกินและขับไล่ให้กลับแผ่นดินแม่ กระทำโดยทหารพม่า ส่วนใหญ่คนไทยพลัดถิ่นหนีมาโดยไม่สามารถขายทรัพย์สินได้ บางคนมีที่นาเป็นสิบสิบไร่ ฝูงวัวควายเป็นสิบตัว และบ้านไม้หลังขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถหวนกลับไปได้อีก

 

(โปรดติดตามตอนที่ 2)

 

เชิงอรรถ

[1] ปกเปี้ยน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในอำเภอเกาะสอง ตามการแบ่งเขตการปกครองแบบใหม่ของประเทศสหภาพพม่า ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าเขตมะริด ตะนาวศรี สิงขร หรือมณฑลตะนาวศรีหรือตะนิ้นตายี

 

[2] ไทยกับอังกฤษทำสนธิสัญญากำหนดเขตแดนกันไว้ 3 ฉบับ ในปี พ.ศ. 2411, 2474 และ 2475 ในปี พ.ศ. 2411 มีการทำสนธิสัญญากำหนดแขตแดน Tenasserim and the Adjacent of the Kingdom of Siam มาตราส่วน 1 นิ้วต่อ 8 ไมล์แสดงพรมแดนต่อจากปากน้ำปากจั่นออกไปในทะเล แยกเกาะวิกคอเรียเข้าไว้ในเขตพม่า และเกาะเล็กๆ ไม่มีชื่อในบริเวณนั้น 4 เกาะให้อยู่ในเขตไทย (อ่านรายละเอียดใน สิริพร สมบูรณ์บูรณะ, รัฐญาติ ชาติและครอบครัว ความอยู่รอดของชุมชนข้ามชาติบนเส้นพรมแดนไทย-พม่า กรณีศึกษาชุมชนไทยพลัดถิ่นระนอง-เกาะสอง (ไทย-พม่า), วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

 

[3] ผลกระทบของสงครามระหว่างไทยกับพม่าในศึกถลางมีการค้นคว้าบันทึกเรื่องราวจากบันทึกประวัติของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ว่าหลังศึกถลางบ้านเมืองระส่ำระสายและประชาชนยากจนลง มีการบันทึกเรื่องราวจดหมายของท้าวเทพกระษัตรีเขียนถึงเพื่อนชาวอังกฤษชื่อกัปตันฟานซิทไลท์ มีข้อความว่า "...แลที่อยู่ทุกวันนี้ ณ เมืองถลาง พม่าตีเอาบ้านเมืองเป็นจุลาจน อดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุกอยู่ ณ ตะปำ ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อย เอาซื้อข้าวแพง ได้เท่าใดซื้อสิ้นเท่านั้น ..."
"... อนึ่ง ตูข้าได้จัดดีบุกสิบภารา เป็นส่วนเจ้าหลิบแปดภารา ส่วนตูข้าสองภารา จัดมาให้แก่ท่านแลเจ้าหลิบนั้น ได้แต่ง ให้จีนเฉียวพี่ชายแลตูข้าได้แต่งนายแช่มจีน เสมียนอิ่ว คุมเอาดีบุกไปเถิงท่าน ให้ช่วยจัดข้าวของให้ อนึ่งถ้าข้าว ณ เกาะปูเหล้าปีนัง ขัดสน ขอให้ท่านช่วยแต่งผู้หนึ่ง ผู้ใด ไปช่วยจัดซื้อข้าว ณ เมืองไซ ถ้าได้ข้าวของแล้ว ขอท่านได้ช่วย แต่งสลุบกำปั่น เอามาส่งให้ทัน ณ เดือนสิบเอ็ด เห็นว่าจะได้รอดชื่อ เห็นหน้าท่านสืบไป เพราะในบุญของท่าน และธุระซึ่งว่ามานี้ แจ้งอยู่แก่ใจกปิตันลินสิ้นทุกประการ" อ่าน
http://phuketindex.com/travel/photo-stories/s-thaothep/details.htm

 

[4] อ้างใน "ถิ่นพลัดไป ไทยพลัดถิ่น" ของฐิรวุฒิ เสนาคำ หน้า 28 ความว่า "อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตันบันทึกว่า "กลางศตวรรษที่ 17 กองทัพสยามได้บุกเขตอำนาจอาณาจักรหงสาวดี ยึดครองดินแดนทั้งหมดที่อยู่ใต้เมาะตะมะลงไป" มะริดเป็นสมบัติของ "กษัตริย์สยาม" นิโคลัส แซร์แวสระบุว่า สยามสมัยพระนารายณ์มีอาณาเขตแผ่ไปยังปัตตานี ลาว ภูเขียว เขมร อังวะ พะโคและมะละกาทั้งหมดเมืองท่าสำคัญคือมะริดและภูเก็ต มะริดเป็นเมืองที่สวยงามและปลอดภัยที่สุดในบรรดาเมืองท่าตะวันออก สยามประกอบด้วยจังหวัดสำคัญคือ พิษณุโลก ตะนาวศรี กรุงเทพฯ และเพชรบุรี

 

[5] ประเทศสหภาพพม่าได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491

 

[6] ประวัติศาสตร์ในช่วงเรียกร้องเอกราชของพม่าเมื่อปี พ.ศ.2490 ที่ชนกลุ่มน้อยรวมตัวกันต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษ โดยมีเงื่อนไขสนธิสัญญาเมื่อได้รับเอกราชแล้ว ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่ามีสิทธิในการปกครองตนเอง หลังประเทศได้รับเอกราช แต่เมื่อพม่าได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491 รัฐบาลทหารพม่ากลับไม่ทำตามสัญญา แต่กลับควบคุมและรุกรานชนกลุ่มน้อยในทุกพื้นที่มากขึ้น

 

[7] สัมภาษณ์หลวงพ่อตัน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท