สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (20-26 มีนาคม 2552)

20 มีนาคม 2552

 

ชาวบ้านในรัฐชินอดอยากหันทำไร่ฝิ่นเพิ่มขึ้น

ภาวะ ขาดแคลนอาหารอย่างหนักเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรถูกหนูกัดทำลายเสียหาย ได้บีบคั้นให้ชาวบ้านในรัฐชินจำนวนมากต้องหันมาปลูกฝิ่นเพื่อหารายได้ประทัง ชีวิตอย่างไม่มีทางเลือก  ด้านพู บี จอง นัก วิจัยชาวชินที่ไปสำรวจในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเปิดเผยว่า ชาวบ้านเริ่มหันมาทำไร่ฝิ่นตั้งแต่เดือนกันยายนของปีที่แล้ว โดยฝิ่นจะถูกนำไปขายตามชายแดนบังกลาเทศและอินเดีย (DVB)

 

 

พม่าเผยต่างชาติลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นสองเท่า

ทาง การพม่าเผยต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายนของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 974.9 ล้านดอลลาร์(ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ จีนเข้ามาลงทุนในพม่ามากสุดถึง 855.99 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีต่างชาติเข้ามาลงทุนถึง 88 เปอร์เซ็นต์   นอกจากนี้ยังมีรัสเซียและเวียดนามที่เข้ามาลงทุนด้านพลังงานก๊าซและน้ำมันในพม่า(AP) 

 

 

 

24 มีนาคม 2552

 

ร้านอินเทอร์เน็ตในพม่าเพิ่มขึ้น

มี รายงานว่า ขณะนี้จำนวนร้านอินเทอร์เน็ตในพม่าที่จดทะเบียนถูกต้องตามกำหมายเพิ่มขึ้น เป็น 455 แห่ง จากเดิม 409 แห่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยพบว่าในตัวเมืองและชานเมืองย่างกุ้งมีร้านอินเทอร์เน็ตถึง 353 แห่ง ขณะที่ภาคมัณฑะเลย์มี 13 แห่ง

 

ทั้งนี้ ทางการพม่าอนุญาตให้มีร้านอินเทอร์เน็ตครั้งแรกเมื่อปี 2547 อย่างไรก็ตาม แม้ร้านอินเตอร์เน็ตในพม่าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนชี้ว่า พม่าเป็น 1 ใน 12 ประเทศที่มองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นภัยร้ายคุกคามความมั่นคงต่อประเทศ ซึ่งรัฐบาลพม่ายังคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงและอินเทอร์เน็ตด้วย (Kyodo News)

 

ศาลเรือนจำอินเส่งสั่งจำคุกนักเคลื่อนไหวอีก 13 คน

ศาลในเรือนจำอินเส่งในเขตกรุงย่างกุ้งสั่งจำคุกนักเคลื่อนไหวอีก 13 คนเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาทำลายความมั่นคงภายในประเทศ

 

ในจำนวนนั้น 4 คนเป็นนักเคลื่อนไหวและนักศึกษาปี 1988 ซึ่งถูกจับเพราะเป็นอาสาสมัครและระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิส โดยพวกเขาถูกศาลพิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี

 

ส่วนนักโทษอีก 3 คนเป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีที่ถูกจับเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วขณะเดินขบวน เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งพวกเขาถูกจำคุกคนละ 5 ปี

 

ขณะที่นักเคลื่อนไหวที่เหลืออีก 6 คนถูกจับเมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว เนื่องจากเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของกลุ่มนักศึกษาปี 1988 ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดว่าถูกพิพากษาจำคุกกี่ปี

 

อย่างไรก็ตามการพิพากษาจกคุกนักเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลัง นายโทมัส โอเจ ควินตานา ผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าเสร็จสิ้นการเยือนพม่า (Irrawaddy)

 

 

25 มีนาคม 2552

 

อียูพิจารณามาตรการคว่ำบาตรพม่า

นายปิแอโร ฟาสสิโน  ผู้ แทนพิเศษสหภาพยุโรป(อียู)ด้านพม่ากล่าวว่า อียูกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะยืดระยะเวลามาตรการคว่ำบาตรกดดันรัฐบาล พม่าต่อไปหรือไม่ โดยจะทราบผลในเดือนหน้า

 

ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐกล่าวว่า นโยบายคว่ำบาตรต่อรัฐบาลพม่าจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อรัฐบาลพม่าและไม่สามารถทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนดีขึ้น ซึ่งภายหลังสหรัฐออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดข้อโต้แย้ง ต่างๆ ในระดับสากล ขณะที่ท่าทีของอียูที่ผ่านมาได้พยายามกดดันให้รัฐบาลพม่าหันหน้าเจรจากับ พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด (รอยเตอร์)

 

 

26 มีนาคม 2552

 

ทางการพม่าสั่งห้ามพระเทศน์

พระสงฆ์ในเมืองเจ้าปะต่าว ภาคมัณฑะเลย์ ถูกทางการพม่าในเมืองซาเล สั่งห้ามเทศนาแก่ประชาชนตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังสั่งห้ามจำหน่ายวีซีดีเทศนาธรรมด้วยเช่นกัน ขณะที่พระสงฆ์หลายรูปในพื้นที่ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ยุติการข้อห้ามดัง กล่าว โดยมีการล่าลายชื่อพระสงฆ์เพื่อส่งเรียกร้องยังพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของพม่า ด้วย

 

ด้าน สาเหตุที่ทางการพม่าออกคำสั่งห้ามพระสงฆ์เทศนาคาดว่าน่าจะมาจากการที่พระสงฆ์ชื่อดังหลายรูปได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้นำรัฐบาลพม่าผ่านทางการ เทศนาธรรมก่อนหน้านี้ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลพม่า แต่วีซีดีเทศนาธรรมดังกล่าวกลับได้รับความนิยมจากประชาชนในพม่าเป็นอย่างมาก (Irrawaddy)

 

 

NLD ร้องสหรัฐเปิดการเจรจาร่วมกับรัฐบาลพม่า

นาย สตีเฟน เบลค ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการแผ่นดินใหญ่เอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เดินทางเยือนพม่า โดยเขาได้เข้าพบกับนายหน่ายวิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของพม่า ซึ่งทั้งสองได้หารือกันถึงเรื่องการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างพม่า และสหรัฐ

 

ด้านสื่อท้องถิ่นของรัฐบาลรายงานว่า เป็นครั้งแรกของสหรัฐที่เดินทางเยือนพม่าเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีเรียกร้องสหรัฐเปิดการเจรจาร่วมหารือกับรัฐบาลพม่าอย่าง จริงจัง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปและแก้ไขปัญหาทางการเมืองของพม่า อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังคงอยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะมีนโยบายต่อพม่าไปในทางทิศทางใด (Mizzima)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท