"ทักษิณ" ชี้น่าห่วงรัฐบาลแก้กฎหมายเพิ่มเพดานกู้ ยันไม่ประชาธิปไตยแท้ แก้เศรษฐกิจไม่ได้

28 มี.ค.52  กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลายหมื่นคนยังคงปักหลักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อเนื่องเป็นวันที่สาม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ยังคงตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข็มงวด

 

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. แถลงข่าวว่า มีการพัฒนาสาธารณูปโภค และความพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมไม่เกิน 5 วัน อย่างไรก็ตาม การชุมนุมอาจยืดเยื้อเป็นสัปดาห์และเป็นเดือน ส่วนการจราจรจะปิดเฉพาะที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

       

นายณัฐวุฒิ กล่าวกรณีมีทหารแฝงมาในการชุมนุมว่า หากเข้ามาปฏิบัติการขอให้ประสานมา แต่ปรากฏว่าคืนวันที่ 27 มี.ค.มีทหารยศนายสิบ 2 นาย พกแบตเตอรี่และหม้อแปลงไฟฟ้าเข้ามาในที่ชุมนุม เมื่อการ์ดซักไซ้จนถึงที่สุดถึงยอมรับว่าเป็นทหาร จากนั้นทางกลุ่มเสื้อแดงได้นำของไปแสดงบนเวที และไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายนายทหารทั้งคู่ แต่หลังจากออกจากพื้นที่ชุมนุม ทหารทั้ง 2 นายกลับไปแจ้งความว่าผู้ชุมนุมกักขังหน่วงเหนี่ยว อย่างนี้ไม่ใช่สัญญาณที่ดีของการประสานความร่วมมือดูแลประชาชน อย่างไรก็ตาม แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมที่จะแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยเจรจากับ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. ว่าตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป จะมีตำรวจมาดูแลและตรวจค้นกระเป๋าผู้เข้าร่วมชุมนุมร่วมกับการ์ดของคนเสื้อแดง และหากพบสิ่งผิดกฎหมายหรือวัตถุระเบิดทางแกนนำก็ยินดีที่จะรับผิดชอบตามกฎหมาย

 

ในช่วงบ่าย นายวรัญชัย โชคชนะ แกนนำกลุ่มต่อต้านอภิสิทธิ์ชน พร้อมประชาชนประมาณ 10 คน ได้เดินทางมาชุมนุมที่หน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และเผาหุ่นที่ระบุชื่อพล.อ.เปรม รวมทั้งเรียกร้องให้พล.อ.เปรมออกมารับผิดชอบกรณีใช้อำนาจล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 และได้มอบหนังสือข้อเรียกร้องให้กับตัวแทนที่ออกมารับ

 

"ทักษิณ" ยัน ไม่มีประชาธิปไตยแท้จริง เศรษฐกิจไม่มีทางเข้มแข็ง

เวลาประมาณ 20.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีสวมเสื้อสีแดงได้กล่าวผ่านระบบวิดีโอลิงก์บนเวทีการชุมนุมโดยเริ่มต้นจากการอ้างถึง อมาตยา เซน ชาวอินเดียที่ได้รับรางวัลโนเบลซึ่งศึกษาพบว่า ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีโอกาสอดอยากสูง พร้อมทั้งย้ำว่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เศรษฐกิจไม่มีทางเข้มแข็ง เพราะจะไม่ใช่เศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ แต่เป็นของคนส่วนน้อยที่มีประโยชน์เชื่อมโยงกับรัฐบาล ซึ่งขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็น "รัฐบาลต่างตอบแทน" ดังที่ตัวเองเคยกล่าวหารัฐบาลอื่นแล้ว

 

"ไม่ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไหน เพราะมีเถ้าแก่เอสเอ็มอีใน ครม.เยอะ ลงทุนซื้อ ส.ส. เรียกว่า ส.ส.เขียวไข่กา ใครไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไรให้ไปถามลุงชัย (นายชัย ชิดชอบ-ประธานสภาผู้แทนราษฎร )"

 

อดีตนายกฯ ยังกล่าวถึง ประสบการณ์ของประเทศโซมาเลีย ซึ่งมีโจรสลัดจำนวนมากและรัฐบาลต้องไปอยู่ประเทศอื่นเนื่องจากไม่สามารถใช้กฎหมาย ไร้อำนาจในการทำงาน ประเทศไทยแม้สถานการณ์ดีกว่ามาก แต่ก็มีความแตกแยกสูงและไม่มีทางออกใดนอกจากคืนอำนาจให้ประชาชน

 

"ขณะนี้สีเหลืองเป็นรัฐบาลไปไหนสีแดงก็ไล่ สีแดงเป็นรัฐบาลไปไหนสีเหลืองก็ไล่ เมื่อไหร่จะแก้ปัญหาได้ จึงบอกว่าข้อเสนอของผมเมื่อวานมีเหตุมีผลที่สุด ก่อนที่เราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เงื่อนไขสำคัญคือความมั่นคงทางการเมือง ถ้าการเมืองเป็นอย่างนี้ ยังมีความพยายามให้เป็นอำมาตยาธิปไตยอยู่ มันไปไม่รอด เพราะเสียงส่วนใหญ่ต้องการประชาธิปไตย แต่อำมาตยาธิปไตยกุมอำนาจ กุมกำลัง ยึดโดยที่ฝืนความรู้สึกประชาชน"

 

ชี้น่าห่วง รัฐบาลแก้กฎหมาย 2 ฉบับ ขยับเพดานการกู้เงิน-เพิ่มงบประมาณขาดดุล

หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยยกประสบการณ์สมัยยังเป็นรัฐบาลว่ายึดนโยบายพึ่งตนเอง จนสามารถใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนกำหนด 2 ปี  ไม่จำเป็นต้องกู้หนี้มากมายเหมือนในขณะนี้ และสถานการณ์น่าเป็นห่วงมากขึ้นเมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กำลังจะมีการแก้กฎหมายสำคัญ 2 ฉบับเพื่อปรับเพดานการกู้เงินเพิ่มเติม

 

"พอเห็นรัฐบาลนี้จะแก้กฎหมาย 2 ฉบับ รู้สึกเป็นห่วง ฉบับที่หนึ่งคือจะขยายเพดานเงินกู้เป็น 60% ของจีดีพี คุณอภิสิทธิ์ก็บอกว่าประเทศเจริญแล้วก็กู้กันเกินกว่านี้ เขาทำได้เพราะฐานภาษีของเขาเก็บได้ประมาณ 35% ของจีดีพี แต่ของเรามันเพียง 15% เท่านั้น หมายความว่าถ้าขยายเพดานเงินกู้ออกไปถึง 60 รัฐบาลนี้กู้ถึงแน่ เพราะหาเงินไม่เป็นแต่กู้เก่ง พี่น้องก็เตรียมไว้ 2 สถานะ คือ ภาษีต้องขึ้น หรือไม่ก็ไม่มีกำลังใช้หนี้ เพราะงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าใช้จ่ายประจำจำนวนมาก แต่เป็นงบลงทุนนิดเดียว มันจะต้องขาดดุลงบประมาณไปเรื่อยๆ เมื่อขาดดุลงบประมาณไปเรื่อยๆ ก็ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ในที่สุดก็จะเกิน 60%"  

 

"กฎหมายฉบับที่ 2 คือ กฎหมายสมัยอาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์ -อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ปี 2502 ที่กำหนดว่าจะขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 4.5% เพราะต้องการให้มีวินัย แต่ปรากฏว่าปีงบประมาณ 2552 จากเดิมที่รัฐบาลที่แล้วตั้งงบขาดดุลไว้ 2.5% งบกระตุ้นศก.กลางปีนี้ของรัฐบาลนี้ตั้งเพิ่มไปอีก 1% กว่าๆ เท่ากับขาดดุล 3.5 % กว่าๆ แต่การจัดเก็บภาษี ยังไม่รวมรายได้ส่งคลังของรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนกันด้วย จะทำให้ขาดดุลอีก 2% กลายเป็นว่าขาดดุลเกือบ 6%แปลว่าผิดวินัยไปเรียบร้อยแล้ว ถึงต้องมีการแก้กฎหมาย"  เขากล่าวพร้อมย้ำว่า วันนี้ไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งหมด ไม่ดักปัญหาล่วงหน้า

 

ลั่นตัดงบไม่จำเป็น "ชะลองบทหาร" วิจารณ์ทุ่มงบแสนล้านลง 3 จังหวัดไม่แก้ปัญหา

พ.ต.ท.ทักษิณยังอ้างถึงคำพูดของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่า ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปะอาชาซึ่งประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกันว่า หนทางแก้ไขปัญหาคือ ต้องตัดรายจ่ายของภาครัฐลง ซึ่งก็เป็นคำถามถึงรัฐบาลปัจจุบันเช่นกันว่า รัฐบาลใช้จ่ายเงินถูกต้องไหม งบบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องตัดออกและเอาไปใช้เพื่อการลงทุน สร้างงาน แต่กลับเอาเงินมาแจกแบบประชานิยมซึ่งไม่สามารถใช้ได้แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน การแจกเงินเช่นนี้หากจะได้คะแนนเสียงก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่สามารถหาเงินมาแจกอย่างต่อเนื่องได้ ดังนั้นต้องไปสร้างรายได้ สร้างอนาคตให้ประชาชน

 

"งบที่ไม่จำเป็น คืองบทางทหาร วันนี้ประเทศลำบากอย่างนี้ต้องรอก่อน ไม่ใช่ไม่ให้ รอก่อน เงินมันไม่พอ เตรียมเอางบลงภาคใต้ 1 แสนล้าน พี่น้องรู้ไหมว่า จีดีพีสามจังหวัด ไม่ถึงแสนล้าน เอางบถล่มทีเดียวแสนล้าน งบตรงนี้ไปวุ่นวายทำให้เสียวัฒนธรรมเขาด้วย การแก้ปัญหาภาคใต้ ผมเคยสรุปที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งมา เรื่องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แต่วันนี้ไปเปลี่ยนสโลแกนใหม่เป็นจัดซื้อ เบี้ยเลี้ยง เพลิดเพลิน แต่มันเป็นเฉพาะระดับบน ไม่ใช่ระดับล่าง ระดับล่างเขาเหนื่อย"

 

แนะบริหารเงินสำรองของตัวเอง แทนการกู้เงินต่างประเทศ

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกว่า คนทั่วทั้งโลกจะตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 30 ล้านคน สำหรับประเทศในปี 2552 มีการคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานประมาณ 1 ล้านคน สิ่งที่ตามมาปัญหาปากท้องและปัญหาสังคมนานาประการ เงินที่มีจึงต้องใช้สำหรับการจ้างงาน แต่วันนี้เงินหายากความมั่งคั่งของทั้งโลกหดหายไป และทั้งโลกกำลังมึนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สำหรับประเทศไทยการผลิตที่เคยคิดจะส่งออกไปตามตลาดต่างๆ ก็หดหายไปมากทำให้จีดีพีก็หด หนี้เพิ่ม เพราะหนี้จะลดได้ด้วยเหตุ 2 ประการคือ ทำให้จีดีพีโต กับ มีเงินไปใช้หนี้ อย่างไรก็ตาม การกู้เงินประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทของรัฐบาลนั้นไม่มีทางเพียงพอ เพราะลำพังการส่งออกหายไป 15% ก็เท่ากับเงินหายไป 5 แสนล้าน ฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องทำหลายอย่าง กู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเน้นการสร้างรายได้ และทำทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบันให้เข้มแข็งขึ้น ส่วนตัวเงินนั้น สามารถกู้เงินตัวเองได้ เนื่องจากมีเงินสำรองอยู่  1. 1 แสนล้านเหรียญ เป็นหนี้อยู่ 6.5 หมื่นล้านเท่านั้น ฉะนั้นควรใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่อย่าให้เสียวินัย

 

"กู้ตัวเองได้ไหม กระเป๋าขวากู้กระเป๋าซ้ายได้ไหม แล้วเงินเหล่านั้นเอามาทำอะไร ผมทำไว้แล้วเรื่องเมกกะโปรเจ็กต์ ได้ข่าวว่าลอกเลียนอยู่ แต่ต้องทำให้เป็น แต่ไม่ได้ทำหรอก เพราะต้องคืนประชาธิปไตยกลับคืนมา ที่ผมพูดนี้ไม่ได้ให้มาร์กทำ แต่พูดเพื่อให้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมาจากอำนาจประชาชนที่แท้จริงเป็นคนทำ ใครก็ได้ เพราะประชาชนจะยอมรับ"

 

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อว่า วันนี้เรื่องที่น่าทำคือ การสร้างรายได้ใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะแบบเดิมนั้นพึ่งยากในภาวะหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกา จะให้เน้นการบริโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดิมทำไม่ได้แล้ว การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเกิดจากการมีรายได้ ไม่ใช่กู้มาผลาญ

 

แขวะ ปปช. ทำแต่เรื่องการเมือง ปล่อยเรื่องทุจริตหมดอายุความ

"ถ้าขยายเพดานเงินกู้ 60 นั่นเรียกว่า กฎหมายที่พาคนไทยลงนรก เพราะการกู้เงินเพิ่มแบบนี้มันเท่ากับทำให้เครดิตประเทศลด ก็คือ ต้นทุนการกู้เงินแพงขึ้น รัฐจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น เอกชนก็จ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น เสียเงินโดยใช่เหตุ ฉะนั้น พอเถอะ อย่าไปกู้ ถ้าจะกู้กู้ตัวเอง เขาทำกันมาแล้ว แต่อย่ากู้มาก กู้แล้วไม่ใช่มากินเปอร์เซ็นต์ เพราะวันนี้ผมเป็นห่วง เพราะ ปปช. เป็น ปชป. อยู่ ปปช.ในอดีต มีเรื่องเข้าตั้งแต่ปี 42 ถึงปัจจุบันประมาณ 2 หมื่นเรื่อง ส่งอัยการฟ้องเพียง 600 เรื่องหรือ 3% ความไม่มีประสิทธิภาพของปปช.ทำให้ทุจริตคอรัปชั่นบาน แต่ ปปช.กลับใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นการเมือง เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำงานแล้ว เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องทุจริต ปปช.ก็ยังอุตส่าห์เข้ามาทำ แต่เรื่องทุจริตปล่อยขาดอายุความไม่รู้กี่เรื่อง"

 

สำหรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจนั้น พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ทิศทางของรัฐบาลนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากภาคเกษตรไม่สามารถรองรับคนตกงานจากภาคอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นประมาณ 40% ของจีดีพี ขณะที่ภาคเกษตรกรรมคิดเป็นประมาณ 9% ของจีดีพี ฉะนั้น ต้องมองหาตลาดใหม่ ซึ่งแนวโน้มในอนาคตนั้นความสามารถในการบริโภคจะอยู่แถวเอเชีย และจะต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ซึ่งทำได้โดยการระดมสมองระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยต้องเน้น creative economy อาศัยความสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองมีความเข้มแข็งอยู่ แล้วสนับสนุนงบประมาณในส่วนนั้นเต็มที่

 

ชูไทยเป็นพระเอกด้าน "อาหาร"

สำหรับภาคเกษตรนั้น เขาเห็นว่าต่อไปนี้เรื่องอาหารจะทวีความสำคัญ เพราะคนมีกำลังซื้อในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะทวีแอฟริกาซึ่งพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและน้ำมันในหลายประเทศ ต้องคิดว่าเราจะเจาะตลาดเหล่านี้อย่างไร ขณะที่ตะวันออกกลางนั้นมีการตั้งกองทุนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และพร้อมที่จะลงทุนกับประเทศที่ผลิตอาหารเพื่อนำขายทั่วโลกและป้อนตะวันออกกลางด้วย นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับพืชที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน เพราะราคาน้ำจะไม่อยู่ระดับนี้นานนัก จึงควรมีการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า  สิ่งที่จะต้องเป็นห่วงอีกอันคือ รายได้ประชาชน รายได้ประชาชนวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร การผลิตเล็กๆ น้อย นอกจากนั้นก็เป็นลูกจ้าง วันนี้การจ้างงานมีปัญหา ภาคเกษตรก็มีปัญหา เอสเอ็มอีก็มีปัญหา รัฐบาลต้องใส่ใจที่จะลงรายละเอียดทุกเรื่อง

 

ส่วนเรื่องการลงทุน ควรลงทุนในโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะด้านลอจิสติกส์ โดยเฉพาะรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองท่าต่างๆ ขณะเดียวกันก็ขยายรถไฟฟ้าในกรุงเทพซึ่งจะเปิดเศรษฐกิจมากมาย รวมไปถึงควรผลักดันแลนบริดจ์ในภาคใต้ต่อไป อีกประเด็นสำคัญคือ การศึกษา ทุนการศึกษาแก่เด็กที่มีความสามารถแต่ยากไร้ต้องทำต่อไป เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาต้องลงทุน ส่วนเรื่องสุขภาพ ศูนย์เป็นเลิศโรคเฉพาะทางต้องกระจายตามภูมิภาคให้พอเพียง รพ.ศูนย์ต้องขยายให้ได้ สำหรับการท่องเที่ยวนั้นทรุดตั้งแต่ปิดสนามบินตอนนี้ถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงพัง

 

"วันนี้มันยุ่งเหยิงไปหมด ถึงจะมีความคิดอย่างไร ความไม่น่าเชื่อถือก็สูงเกินไป ฉะนั้นถึงเวลาที่ต้องคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนแล้ว ถ้าไม่คืนประชาธิปไตยมา ก็ไม่รู้ว่าความน่าเชื่อถือมันอยู่ตรงไหน แล้วก็วุ่นกันอยู่อย่างนี้ อยากให้ทุกฝ่ายยอมหันหน้าเข้าหากันแล้วคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนเสีย แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสีย"

 

เขากล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นห่วงมากคือ เรื่องที่ดินทำกินของประชาชน สิ่งที่ทำไว้ไม่เสร็จดีคือการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ทุกครัวเรือน รวมทั้งการใช้ที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งมีอยู่มากมาทำการผลิต เมื่อครั้งไปแอฟริกา ได้นำแนะนำเขาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปซึ่งเขาชอบมากจากประเทศสังคมนิยมเก่าที่รัฐถือครองที่ดินถึงวันนี้เขาจัดสรรที่ดินให้ประชาชนเพื่อทำเกษตรทฤษฎีใหม่

 

"ถึงเวลาที่เราต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยมีเงื่อนไขคือ การคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง เงื่อนไขที่สอง คือการปฏิรูปกฎหมายที่ดึงประเทศไทยล้าหลัง ที่สำคัญต้องปฏิรูปวัฒนธรรมทางการเมือง ถ้ายังขืนให้ตั้งเอสเอ็มอีทางการเมืองให้มีส.ส.เขียวไข่กาทั้งหลาย ประเทศไปไม่รอด"

 

"ช่องทางโอกาสมากมายของประเทศไทยอยู่ที่ความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งคงไม่มีอะไรดีกว่าความเป็นประชาธิปไตยและเคารพอำนาจประชาชน สอง ต้องมีวิสัยทัศน์ กล้านำ กล้าทำ และหาเงินเป็น ไม่ใช่กู้เก่ง"

 

 

เรียกร้องประชาชน-นักการเมือง อย่าเหนียม ร่วมเสื้อแดงสู้เพื่อปชต.ของประชาชน

ในช่วงสุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เรียกร้องให้ประชาชนที่เห็นด้วยและได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย รวมถึงบรรดานักการเมืองที่เคยร่วมกับเขา ขอให้ออกมาร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ไม่ต้องเหนียมอายเพราะไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ทำให้บ้านเมือง

 

"ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพ การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อประเทศไทยที่รักของเรา ขอให้เสียสละออกมาต่อสู้"

 

"พี่น้องครับ ลุกขึ้นขึ้นมาทั้งประเทศไทยมาร่วมกับเสื้อแดง เอาประชาธิปไตยของเราคืนมา พี่น้องไม่ต้องมากรุงเทพฯ ก็ได้ ชุมนุมกันทั้งประเทศอย่างสันติ เพื่อบอกให้รู้ว่าเราหวงแหนประชาธิปไตย เอาคืนมาให้เราซะ แล้วความเป็นอยู่พี่น้องจะดีขึ้น ไม่ว่าใครเป็นรบ. การเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ที่พี่น้องจะมีความสุข"

 

"ไม่ต้องห่วงผม ผมห่วงพี่น้องครับ พี่น้องที่มีกำลังมาช่วยเหลือพวกเสื้อแดง ข้าวหม้อแกงหม้อให้พวกเราอยู่และสู้กัน เราต้องการประชาธิปไตยเพื่อประเทศไทย เพื่อคนไทย เพื่อลูกหลานของเรา และเราต้องการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่กับประชาธิปไตย โดยไม่มีพวกเกะกะวุ่นว่ายกับการเมือง ให้การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน ใช่ไหมครับ" พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว พร้อมกับได้รับเสียงเชียร์จากกลุ่มผู้ชุมนุม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท