Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์ระหว่าง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)* และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)* ต่อกรณีที่รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า


ในวันที่ 30 มี.. 2552 นี้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ 3 ท่าน และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ขององค์การสหประชาชาติ ต่อกรณีที่รัฐบาลไทยปฏิเสธไม่ให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ซึ่งประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ


ดังนั้น มสพ. และ คสรท. จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กลไกระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินการเพื่อขอให้กระทรวงแรงงานยุติการเลือกปฏิบัติโดยการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม พวกเราได้เคยใช้ความพยายามโดยการเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของกระทรวงแรงงานของไทย ว่ามีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าจำนวนมากที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานแต่กลับไม่ได้รับเงินทดแทนหรือหากได้รับก็เป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าสิทธิที่ควรจะได้ตามกฎหมาย แต่ทางกระทรวงแรงงานนอกจากจะปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างไม่ใยดีแล้ว ยังคัดค้านคำอุทธรณ์ของเราด้วย


เมื่อกลางปี พ.ศ.2551 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ได้มีหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงแรงงานต่อกรณีที่มีการปฏิเสธไม่ให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน  ซึ่งถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน (เรื่องค่าทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุ) พ.ศ.2468 (อ.-19)   แต่ทางกระทรวงแรงงานกลับปฏิเสธว่านโยบายดังกล่าวนั้นไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ  อีกทั้งยังไม่นำพาต่อข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2 ฉบับที่ส่งไปที่กระทรวงแรงงานในปี พ.ศ. 2550 และ 2551 ที่ชี้ชัดว่านโยบายและการกีดกันดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและไร้มนุษยธรรม


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มสพ.ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในการดำเนินการทางกฏหมายว่าการถูกปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยได้ช่วยเหลือให้แรงงานข้ามชาติฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือเวียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของสำนักงานประกันสังคมที่กีดกันแรงงานข้ามชาติไม่ให้เข้าถึงกองทุนเงินทดแทน แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจในการพิจารณาการกระทำทางปกครองด้านแรงงาน  ดังนั้นต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 แรงงานข้ามชาติ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวและได้อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ปฏิเสธไม่ให้แรงงานข้ามชาติที่ต้องทุพพลภาพอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจากการทำงานเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนต่อศาลฎีกา  อย่างไรก็ตามในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ศาลยุติธรรม เช่น ศาลแรงงานกลางและศาลฎีกานั้น ไม่มีเขตอำนาจที่จะเพิกถอนหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวได้  ดังนั้น นโยบายดังกล่าวของกระทรวงแรงงานจึงยังคงไม่ได้รับการทบทวน อีกทั้งจากคำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองสูงสุดก็เป็นผลให้การเยียวยาด้วยมาตรการทางกฎหมายภายในประเทศไทยไม่สามารถที่จะทำได้อีกต่อไป


มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในประเทศไทยกว่า 2 ล้านคนซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ถูกแสวงหาประโยชน์และง่ายต่อการถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง พวกเขาต้องทำงานในสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบาก สกปรก และเสี่ยงอันตราย บ่อยครั้งที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ดังนั้น นโยบายของกระทรวงแรงงานที่ปฏิเสธไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนจึงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานจะทราบถึงสถานการณ์อันเลวร้ายไร้มนุษยธรรมดังกล่าวซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ทางกระทรวงแรงงานกลับเพิกเฉยต่อการดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานในเรื่องดังกล่าว ถึงแม้ว่าแรงงานข้ามชาติดังกล่าวจะเป็นคนผู้ใช้แรงงานเฉกเช่นเดียวกับแรงงานไทยก็ตาม


นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ได้หยิบยกขึ้นมา แรงงานเหล่านี้ทำงานร่วมกับแรงงานไทยในการสร้างสรรเศรษฐกิจของชาติ แต่แทนที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจและสังคมไทย รัฐบาลไทยกลับยังคงปฏิเสธสิทธิของพวกเขาอย่างไร้มนุษยธรรมในทุกๆด้าน


นโยบายของรัฐบาลพม่าได้ก่อให้เกิดการกดขี่ขูดรีดต่อประชาชนและความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้แรงงานในประเทศพม่านับล้านคนต้องละทิ้งบ้านเกิดของตนเดินทางเข้ามาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศไทย แต่ความล้มเหลวของรัฐบาลพม่า ดูเหมือนเป็นเพียงเพื่อให้รัฐบาลไทยมีข้อแก้ตัวที่จะขูดรีดแรงงานเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยล้วนๆเท่านั้น พวกเขายังต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิต่างๆในชีวิตความเป็นอยู่ โดยต้องตกอยู่ในฐานะเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้


วันนี้พวกเราได้หยิบยกเรื่องความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติที่มีการปฏิเสธสิทธิต่างๆของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยขึ้นมาสู่เวทีนานาชาติ ในยุคที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทั่วโลกเช่นนี้ มาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานจะต้องได้รับการยึดถือปฏิบัติโดยประเทศที่รับแรงงานข้ามชาติ ดังเช่นประเทศไทย  เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติจะทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับได้  และการเลือกปฏิบัติทั้งปวงที่มีต่อพวกเขาจะต้องถูกยกเลิกไป  พวกเราจะยังคงต่อสู้ต่อการเลือกปฏิบัติในเรื่องต่างๆที่กระทำโดยทางรัฐบาลไทยต่อแรงงานข้ามชาติต่อไป เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกที่จะประกันว่าจะมีการปฏิบัติที่เป็นธรรมและมีการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง


เราหวังด้วยความจริงใจว่ารัฐบาลไทยจะได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อจะให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างของชาติที่มีนโยบายที่มีมนุษยธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติและเคารพสิทธิด้านแรงงาน  การอพยพย้ายถิ่นของแรงงานเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างจริงจังเพื่อมุ่งต่อการคุ้มครองกลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ง่ายต่อการถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ แต่เป็นกลุ่มชนที่มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจของเรามิใช่น้อย


แรงงานข้ามชาติเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต เลือดเนื้อและจิตใจเช่นเดียวกับแรงงานไทย พวกเขาจึงควรได้รับหลักประกันในความมั่นคงของชีวิตในระดับหนึ่ง  การที่ยังคงปล่อยให้มีการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติต่อไปเป็นความอยุติธรรมอย่างยิ่ง


 






 


* มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เป็นมูลนิธิที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและสันติภาพในประเทศไทย   คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วย 24 สหภาพ  สมาพันธ์ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานในประเทศไทย


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net