Skip to main content
sharethis

โดย กฤษณา พาลีรักษ์

 

~ 1 ~

 

เราตั้งต้นกันที่ตลาดเช้าอำเภอภูเวียง ขณะแสงแรกยังขมุกขมัว จึงนั่งเคียงแคร่ กินกาแฟซอง แต่น้ำต้มฝาง "แก้เลือดแก้ลม แก้ตกกกไม้ ควายซน สารพัดละนางเอ้ย" ป้าคนขายแกโฆษณาสรรพคุณยาพร้อมเสิร์ฟ เรานั่งจิบไปด้วยคุยกันไปด้วย จนสายสักหน่อยตลาดภูเวียงเริ่มคึกคักขึ้น ด้วยคนหน้ากลมๆ ตัวขาวๆ เดินจับจ่ายขายของให้ควัก ไม่นาน พี่สำเนียงหนึ่งในทีมงาน "ศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน" จึงมารับเราเดินทางเข้าพื้นที่

ศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน ต.หว้าทอง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ภายใต้โครงการยุวโพธิชน ในความรับผิดชอบของพี่หยิก-พี่อ้อย เจ้าของโครงการฯ เป็นอีก 1 ใน 15 องค์กรที่ขอรับอาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก โครงการใหม่เพิ่งริเริ่มเมื่อต้นปี 2552 ด้วยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิซีเมนต์ไทย กับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือ มอส. ซึ่งเปิดรับอาสาสมัครครูฯ จำนวน 15 คน ไปทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ

ขณะที่ยังเปิดรับอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 4 และงดรับอาสาสมัครนักพัฒนาต่อเนื่องจากอาสาสมัครรุ่น 28 เพื่อทบทวนโครงการ แต่ภารกิจการสร้างคนหนุ่มสาวให้มีจิตสำนึกรับใช้สังคมของ มอส.ยัง/ยิ่งต้องสานต่อ ท่ามกลางกระแสวิกฤตศรัทธาต่อพลังคนหนุ่มสาวในยุคสมัยปัจจุบัน

ขณะอยู่ในวาระ 1 ปี หนุ่มสาวในบทบาทอาสาสมัครครูอาสาฯ ต้องบ่มเพาะตัวเองไปพร้อมกับการหว่านเพาะผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ ให้มีจิตใจรักการเรียนรู้ รู้จักแสวงหาความรู้ รักถิ่นฐานบ้านเกิด และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างรู้จักเกื้อกูล แบ่งปัน และเท่าทันกระแสบริโภคนิยมอันเชี่ยวแรง

ท่ามกลางการบ่มเพาะตนเอง อาสาสมัครยังจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้รุ่นใหม่ ที่เข้าใจสังคม เข้าใจท้องถิ่น เข้าใจแนวคิดและมิติการศึกษาที่หลากหลาย รวมถึงมีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือเป็นครูผู้มีจิตใจอาสาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปพร้อมกัน

 

~~ 2 ~~

 

เมื่อเท้าเหยียบดินที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน บนเนื้อที่สามไร่สามงาน ไม่แคบไม่กว้างจนเกินจะดูแล มีบ้านดินปลูกสลับหลายหลัง แต่ต่างวัตถุประสงค์ ด้วยเรือนนอน เรือนครัว เรือนรับแขก สำนักงาน มีห้องประชุมทำกิจกรรมอีกหลัง มีแปลงผักปลูกพืชปลอดสารพิษอยู่ฟากหนึ่ง หากมองข้ามต้นแดงหลายต้นที่กำลังออกดอกสะพรั่งอยู่ฝั่งตะวันตก เราเห็นหลังเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ลิบๆ

พี่อ้อย เล่าให้ฟังว่า ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นพื้นที่งานเก่า พี่แกเคยทำวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กับชาวบ้านแถบอำเภอภูเวียงมาก่อน พอดีพี่สำเนียงยกที่ดินผืนนี้ให้ทำประโยชน์ ในช่วงปี 2548-49 ที่นี่เลยถูกยึดเป็นศูนย์ ตอนนี้ก็ทำกิจกรรมกับเด็กในหมู่บ้านทุกวัน กิจกรรมที่ทำก็อาศัยเลียบเคียงไปกับฤดูการผลิต จัดกิจกรรมใหญ่ๆ ร่วมกับเด็กที่อื่นด้วยในช่วงปิดเทอม

 

 

 

 

 

 

ที่นี่เอาพุทธศาสนามาย่อยให้ครูให้เด็กน้อยใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยเน้นทั้งฐานความคิด ฐานจิตใจ ผ่านกิจกรรมรวมหมู่ ซึ่งเสริมและสวนกระแสการศึกษาในระบบ ไม่เน้นการแข่งขัน แต่เน้นให้เด็กๆ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่นและเข้าใจสังคม มีตัวอย่างหลักสูตรเนื้อหา อาทิ วิชารู้จักความรู้ รู้จักความรัก, ความสัมพันธ์, ความงาม, สังคม, ธรรมชาติ และเนื้อหาที่ขาดไม่ได้คือ รู้จักท้องถิ่น กล่าวง่ายๆ ในทางหนึ่งคือ ใช้กิจกรรมเป็นตัวดึงศักยภาพ ให้แต่ละคนเห็นสิ่งดี ให้เชื่อมั่นว่าตัวเองและบ้านเกิดมีดี

หลังมื้อเที่ยงที่ประกอบขึ้นง่ายๆ จากผักหวานและเห็ดฟางที่เราซื้อติดมือมา ปลาทอดและส้มตำจากสระในศูนย์ฯ ฝีมือพี่ปราณี คู่ชีวิตพี่สำเนียง น้องโอเล่ ลูกสาว และพระเอกหมอลำอย่างศักดา เยาวชนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ทั้งศักดาทั้งโอเล่ ได้กลายเป็นแกนนำหรือทีมพี่เลี้ยงหลัก ช่วยพี่อ้อย-พี่หยิกจัดกิจกรรมได้แล้ว

แถบถิ่นนี้มีคณะหมอลำทั้งดังทั้งใหญ่อยู่ 2 คณะ มีงานเข้าหรือได้ตระเวนออกแสดงในช่วงหลังออกพรรษา ยาวไปถึงบุญบั้งไฟ ชาวบ้านหรือเด็กๆ บางส่วนก็ไปเป็นหางเครื่อง เป็นนักดนตรี เราดึงจุดเด่นของท้องถิ่น โดยพาเด็กๆ เขาฝึกร้องฝึกลำ มันก็ง่ายเพราะเขาซึมซับเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก มันมีเชื้อมีแนวอยู่แล้ว ตอนนี้ก็มีคณะของพวกเด็กๆ เอง "ใช่ไหมพระเอก" พี่อ้อยกระเซ้า เราเห็นศักดาพระเอกหมอลำยิ้มอย่างขวยอายอยู่ในวงข้าว

พี่อ้อยเล่าเติมอีกว่า "เด็กๆ ที่ผ่านกระบวนการของที่นี่ ส่วนมากเขาทำได้ทุกอย่าง เรียนในระบบอยู่ด้วย พอมาทำกิจกรรมก็มีวุฒิภาวะหรือรู้จักความขึ้น นำกระบวนการเรียนรู้ก็ได้ ทำเกษตร ร้องหมอลำ เป็นช่างทำบ้านก็ได้ นี่คือเสน่ห์ของการศึกษาทางเลือก"

ดั่งช่วยยืนยันว่า การร้องหมอลำ เป็นช่างทำบ้าน การทำเกษตร ไถนา หาจิ้งหรีดตามก้อนขี้ไถ หาแย้ หากะปอม หากุดจี่ ฯลฯ ก็นับเป็นความรู้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ ไม่ต่างจากชีวะวิทยา เคมี ฟิสิกส์ ฯ ซ้ำยังเป็นความรู้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดี เพราะมันเป็นไปเพื่อยังชีพ เป็นไปเพื่อการมีชีวิตต่อ ในแบบที่เบียดเบียนชีวิตอื่นแต่พองาม เบียดบังโลกส่วนรวมน้อย ได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับถิ่นฐานบ้านเกิด อยู่กับพ่อแม่ เพียงแต่ความรู้ดังกล่าวมันไม่ได้ถูกให้ค่าจากระบบการศึกษาของไทย

"อยากได้อาสาสมัครมาเป็นทีมทำงาน มาร่วมเรียนรู้ มาฝึกฝนเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้" คำกล่าวส่งท้ายของพี่อ้อย ดูสมคะเนกับความคาดหวังของโครงการ ซึ่งอยากให้อาสาสมัครมาเป็นข้อต่อ เพื่อผสานสิ่งดีๆ ของการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบอาจต้องพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น โดยผนวกภูมิปัญญาที่มีมาแต่ก่อนร่อนชะไร กับคิดค้น-เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ตามอย่างสากล ซึ่งอาจต้องเชื่อมโยงภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้เข้ามาหนุนเสริมการทำงานทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับเครือข่ายนักการศึกษาทางเลือกรุ่นใหม่ เป็นอาทิ ซึ่งเนื้องานหรือสิ่งที่บรรดาเหล่าครูอาสาฯ ต้องพบเจอ อาจแตกต่างตามลักษณะของแต่ละองค์กรที่อาสาสมัครเลือก

 

 

 

~~~ 3 ~~~

 

แดดบ้านเรามันแรง เหมือนประเทศอีสานมีหน้าร้อนเป็นสีน้ำตาล มีลมก็เป็นลมร้อน แต่ว่าไปใช่จะเลวร้ายขนาดนั้น มันมีสีอื่นแซมให้อีสานสดใสอยู่ด้วย อย่างสีส้มดอกจาน สีเหลืองดอกคูณ สีแดงชบา สีม่วงดอกกะเลา สีบานเย็นเฟื้องฟ้า และดอกใบต่อมิอะไรอีกหลายดอกหลายสี ใครจะเล่นสีไล่สีเก่งกว่าธรรมชาติเป็นไม่มี

ที่ว่าไปเพื่อให้เข้ายากับอีกองค์กรที่ขอรับอาสาสมัคร คือ กลุ่มเด็กรักป่า ซึ่งลือนามเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กเยาวชนผ่านงานศิลปะและธรรมชาติ บางท่านอาจเคยได้ยินเรื่อง "ช่วยหน่อยเปลี่ยนไต" มาบ้าง หากใครยังไม่เคยได้ยิน ก็ไม่กล้าว่ากระไร แต่หากมีใจ มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่ มอส.กำหนด โปรดยื่นใบสมัครเข้ามา หากเลือกและได้รับเลือกไปเป็นอาสาสมัครครูอาสาฯ ประจำกลุ่มเด็กรักป่า รับรองจะได้รู้จักและทำงานร่วมกับพี่หน่อย-พี่จืด ผู้เป็นเรี่ยวแรงหลักซึ่งก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า ซ้ำยังจะได้รู้จักจังหวัดสุรินทร์ถิ่นอีสานใต้มากขึ้นด้วย

อยากขอเชิญชวนอีกครั้ง ให้ยื่นใบสมัครเข้ามาเถิด... มาร่วมพิสูจน์ว่าคนหนุ่มสาวยุคสมัยนี้มีดี เพราะยังไม่ได้หลงลืมหรือละทิ้งศักยภาพที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือการทำชีวิตตัวเองให้มีความสุข และแบ่งปันความสุขนั้นแก่ผู้อื่น

พี่สำเนียงขับรถคันเดิม ออกมาส่งเราที่สถานีขนส่งภูเวียงตอนบ่ายจัด ขณะเปลวแดดระริกไหว จนภาพหมู่คนขับรถรับจ้างวิ่งกรูเข้ามาสอบถามปลายทาง ดูบิดพรายนัยน์ตาเป็นอย่างยิ่ง อาจเพราะอากาศมันร้อนระอุทะลุเข้าตา หรือเพราะกาแฟต้มน้ำฝางหมดฤทธิ์ลงแล้วกันแน่.

 

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม

 

 

 

 

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เปิดรับอาสาสมัคร!, http://www.thaivolunteer.net/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net