รายงาน: ปัญหาป่าไม้-ที่ดิน ความขัดแย้งที่ยังคงอยู่ ของคนชุมชนเทือกเขาบรรทัด

 

เรื่องอันสืบเนื่อง จากกรณีกลุ่มชาวบ้านปิดล้อมเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดที่เข้าตัดฟันต้นยาง 1 วัน 1 คืน เต็มๆ ความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ทำอยู่ทำกินบนผืนแผ่นดินที่ทับซ้อนกับเขตป่าอนุรักษ์ และคำสั่งนายกฯ อภิสิทธิ์ในการตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน
 
การข่มขู่คุกคาม ทำลายทรัพย์สิน รื้อถอนและทำลายพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีทางอาญาและแพ่งเป็นปัญหาของเกษตรกรที่ทำอยู่ทำกินบนผืนแผ่นดินที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือวนอุทยานที่ได้ชื่อว่ามีรัฐครอบครองเป็นเจ้าของ และมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ดูแลทรัพย์สมบัติของชาติ 
 
เมื่อความจริงคือมีคนอยู่กับป่าและมีคนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า แต่เมื่อผู้กระทำการแสวงหาประโยชน์จากผืนแผ่นดินเหล่านั้นคือชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่นายทุน หรือนักธุรกิจใหญ่โต พวกเขาต้องตกอยู่ในฐานะของผู้กระทำผิด (กฎหมาย) และถูกกระทำเสมอมา
 
แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านจะเรียนรู้การต่อสู้ มีการรวมตัว ต่อรอง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐยึดถือกฎหมาย ส่วนชาวบ้านยึดถือวิถีชีวิตการแก้ปัญหาจึงยังขัดแย้งและสวนทาง
 
ล่าสุดในความรับรู้ คือกรณีขององค์กรชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จำนวนกว่า 50 คนพร้อมอาวุธ เข้าไปตัดฟันต้นยางของชาวบ้านในพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นการ "แผ้วถางบุกรุก" ทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 200 คนทั้งเด็กและคนแก่ทำการล้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั้งหมดไว้ในพื้นที่กว่า 1 วัน 1 คืน เต็มๆ
 
00000
 

ความคืบหน้าเหตุการณ์ล้อมเจ้าหน้าที่อุทยาน จบลงด้วยดี???

บุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เมื่อ ช่วงบ่ายของวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา นายคม ชัยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยอาวุธปืนครบมือ ขวาน และมีดพร้า เข้าไปในพื้นที่หมู่ 2 บ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็ได้ตามเข้าไปในพื้นที่และสอบถามถึงจุดประสงค์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บอกว่าจะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ป่าซึ่งอยู่รอบป่าเขาบรรทัด
ต่อมาวันที่ 27 มี.ค.ชาวบ้านได้ทราบภายหลังว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตัดโค่นทำลายต้นยางพาราของชาวบ้าน จำนวน 11 ต้น 1 แปลง ทางชาวบ้านจึงส่งตัวแทนเข้าเจรจา แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับพูดจาดูถูกผู้หญิงในกลุ่มชาวบ้านที่ไปเจรจา ชาวบ้านจึงนำกำลังเข้าปิดล้อมพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และไม่ให้เจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่

 

บุญกล่าวต่อมาว่า ในวันที่ 28 มี.ค.เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด และสมาชิกในเครือข่าย 16 องค์กร ได้รวมตัวกัน และนำเต็นท์มากางชุมนุมประท้วงบริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าโตนเต๊ะ หมู่ 2 บ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อร่วมกับชาวบ้านองค์กรชุมชนบ้านตระ กดดันให้มีการเจรจาหาข้อยุติกับทางจังหวัด


จนกระทั่งในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายสุรพล วิชัยดิษฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายพงษ์ศักดิ์ คาราวนนท์ นายอำเภอปะเหลียน นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 จ.นครศรีธรรมราช เข้าเจรจากับชาวบ้าน และยอมรับในข้อเสนอที่จะยุติ การข่มขู่ รื้อถอนและทำลายพืชผลทางการเกษตร และการปักปันพื้นที่ตลอดจนให้ราษฎรทำกินได้ตามวิถีปกติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน แห่งประเทศไทย และได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่การชุมนุมยุติลงในช่วงค่ำ

ด้านล่อง เพชรสุด อายุ 37 ปี แกนนำชุมชนองค์กรบ้านตระ กล่าวให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฅนตรังถึง ความขัดแย้งเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าตัดโค่นทำลายต้นยางว่า ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นแปลงที่เคยตรวจยึดมาก่อน แต่ทางชาวบ้านยืนยันว่าเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมและที่ผ่านมาไม่เคยถูกตรวจ ยึด และการกระทำของเจ้าหน้าที่แสดงให้เห็นว่า สวนทางกับนโยบายรัฐบาล ทั้งที่ทางรัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาแล้ว และหากเป็นเช่นนี้มติในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือ ข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ก็ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นเอกภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ

 
00000
 
คำถามถึงมติคณะกรรมระดับชาติในการแก้ปัญหาที่ดิน ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สนใจปฏิบัติ
"เหตุการณ์ อย่างนี้ลดความเชื่อมั่นที่จะแก้ไขปัญหา และต่อไปอาจต้องมีการตรวจสอบกลไกของรัฐที่นอกเหนือจากฝ่ายการเมือง คือฝ่ายข้าราชการประจำว่าทำงานอิงประโยชน์ของชาวบ้านไหม" บุญแสดงความคิดเห็น  
 
เขากล่าวด้วยว่า การที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่อ้างว่าไม่รู้ ไม่ทราบถึงมติคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ทำ ให้เกิดความสงสัยถึงการดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งข้อมูลและ มติการประชุมไปยังกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนในอีกด้านหนึ่งก็รู้สึกไม่สบายใจที่มติดังกล่าวมาจากการประชุมของคณะ กรรมการฯ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่กลับมีการละเลยและ "ไม่ได้รับการปฏิบัติ" จากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
 
มติร่วมดังกล่าวของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ (รวมกรณีปัญหาของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด) จากประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ระบุว่า
 
ใน ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการฯ ให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติไป พลางก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแจ้งส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องชะลอ การดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการ ดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้คณะอนุกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน พื้นที่และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.52 ทางเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียก ร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังออกหนังสือคำสั่งถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ว่าจะไม่มีการข่มขู่ คุกคาม ด่าทอและทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านอีกต่อไปจนกว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จะเสร็จสมบูรณ์
 
พร้อม เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอำนวยการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ทำหนังสือเวียนถึงทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแต่ง ตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินรวมถึง บทบาทและอำนาจหน้าที่
 
00000
 
ปัญหาในพื้นที่แถบเทือกเขาบรรทัด ความเดือดร้อนซ้ำๆ ของชุมชน
"บาง คนอาจคิดว่าต้นยางไม่กี่ต้นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับชาวบ้านมันไม่ใช่ มันคือชีวิตของพวกเขา อย่างที่ชาวสวนยางมักพูดกันว่าน้ำยางทุกหยดคืออนาคตของลูก คือข้าวสารที่จะทำให้มีกิน การทำอย่างนี้มันเป็นการละเมิดที่ทำลายชีวิตของเกษตรกร" ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัดบอกเล่าถึงความรู้สึก
 
เหตุการณ์ ดังกล่าวไม่สมควรจะเกิดขึ้น แต่คนสังคมในสังคมทั่วไปกลับไม่ได้รู้สึกอะไรในสิ่งที่ทำให้เกษตรกรรายย่อย คนยากคนจนต้องเจ็บปวด และเป็นการทำลายคนรวมทั้งองค์ความรู้ที่พวกเขามี อีกทั้งการขยายตัวของระบบเกษตรอุตสาหกรรมในรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ กำลังทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่ไม่ได้ และอาจต้องกลายเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในที่สุด
 
บุญเล่าว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ถูกทำลายทรัพย์สิน มีการโค่นล้มทำลายต้นยาง ต้นทุเรียนและพืชผลต่างๆ และถูกเจ้าหน้าที่ปักป้ายยึดสวนยางโดยอ้างว่าเป็นเขตป่าไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำกิน มี การล้อมยิงชาวบ้านที่เข้าไปกรีดยางในพื้นที่เหมือนเป็นพวกผู้ก่อการร้าย และจับกุมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเป็นระยะ สร้างความเดือดร้อน และความหวาดกลัวที่จะเขาไปทำกินในพื้นที่ ทั้งที่เชื่อว่ามันคือที่ทำกินดั้งเดิมของพวกเขาจริงๆ
 
เขาเล่าด้วยว่า ยังมีกรณีเผาบ้านชาวบ้าน เมื่อปี 2548 ซึ่งในปี 2551 ศาลได้ตัดสินให้ลงโทษทางอาญากับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการดังกล่าว แต่ชาวบ้านไม่ได้ติดตามความคืบหน้าว่าทางกระทรวงต้นสังกัดได้ดำเนินการอย่าง ไรบ้าง และกรณีแจ้งจับกุม อบต.และพวก ซึ่งเข้าไปในพื้นที่เพื่อติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชาวบ้านตามนโยบาย ของรัฐบาล ในข้อหาร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์ฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งกรณีไม่อนุญาตให้ชุมชนบ้านตระซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและเส้นทางในหมู่ บ้าน
 
หรือ กรณีของ "น้ำตกสายรุ้ง" จ.ตรัง ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ร่วมกันดูแล เนื่องจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจำนวนมากทำให้เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แต่ต่อมาชาวบ้านกลับถูกจับกุมข้อหาบุกรุก ทำให้ชาวบ้านละทิ้งที่จะเข้าไปดูแลในพื้นที่ จนเมื่อปี 2550 ได้เกิดโศกนาฏกรรม จากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก มีผู้เสียชีวิตหลายสิบรายเนื่องจากไม่มีคนดูแลคอยเตือนภัย
 
กรณีต่างๆ เหล่านี้เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ได้มีการบันทึกข้อมูลเอาไว้โดยตลอด
 
00000
 
ผลกระทบการจัดการป่าไม้-ที่ดิน และการรวมตัวเพื่อต่อรองของชุมชน
จุดเริ่มต้นความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้ต่างจากชาวบ้านทั่วไปที่ถูกรัฐประกาศเขตป่าทับที่ทำมาหากินของประชาชนในภาคต่างๆ หลังจากรัฐได้ให้เอกชนและหน่วยราชการบางหน่วยเข้าทำสัมปทานไม้ได้ประโยชน์จากป่ามาเป็นเวลานาน กรมป่าไม้ (ในฐานะหน่วยงานดูแลรักษาป่า) ได้เข้ามาดูแลและจัดการประกาศให้หลายพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์ ขณะเดียวกันก็เร่งอพยพผู้คนที่อยู่ทำกินออกจากพื้นที่ โดยไม่ได้สนใจถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าที่มีมาตั้งแต่อดีต สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับชุมชนมาโดยตลอด
 
จนเมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.2541 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่า แต่มันกลับยิ่งทำให้ปัญหาทวีความขัดแย้งมากขึ้น เพราะในความรู้สึกของชาวบ้านพวกเขากำลังถูกกันออกจากพื้นดินทำอยู่ทำกินของพวกเขาอย่างชอบธรรม โดยการใช้กฎหมายของบ้านเมือง
 
จากนโยบายกันป่าออกจากชุมชน ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านแนวคิดของรัฐ จนกลายเป็นเครือข่ายชุมชนที่กว้างขวางและเข้มแข็งขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และการรวมตัวเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่ายได้สร้างพลังให้คนเล็กคนน้อยในการต่อรอง
 
ในส่วนชุมชนที่อาศัยในเขตเทือกเขาบรรทัด ซึ่งได้รับผลกระทบจาก "การประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด" เมื่อปี พ.ศ.2518 และ "การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า" เมื่อปี พ.ศ.2525 ทับซ้อนพื้นที่ทำกินและที่ตั้งชุมชนครอบคลุมพื้นที่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และสตูล ก็ได้รวมตัวกันเป็น "เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด" ต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนในการอยู่ร่วม รักษา ใช้ประโยชน์จากป่าและผืนแผ่นดินเพื่อการเกษตร
 
ต่อมา เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัดได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของสมัชชาคนจน ในกรณีปัญหาพื้นที่ป่าไม้ภาคใต้ และได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร คนจนไร้ที่ดินทั้งในชนบทและเมือง ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนโครงสร้างการถือครองที่ดินให้มีความเป็นธรรม และยั่งยืน
 
00000
 
ความร่วมมือที่ทำให้การต่อสู้ "ไม่โดดเดี่ยว"
สมจิต คงทน กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กองเลขาฯ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเมืองมีความก้าวหน้าพอสมควร เห็นได้จากแผนการแก้ไขปัญหาและนโยบายที่ออกมา ในส่วนคณะกรรมการร่วมระดับชาติเพื่อการแก้ปัญหานั้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่ง เป็นกลไกหนึ่ง และในระดับพื้นที่เองก็ต้องมีการต่อสู้ในหลายรูปแบบ โดยมีเครือข่ายฯ ช่วยหนุนเสริมกัน
 
"ไม่ท้อ เรายังมีความหวังอยู่" สมจิต คงทนกล่าวถึงการเคลื่อนไหวร่วมกันของชาวบ้านที่ผ่านมา แม้จะประสบปัญหามากมาย แต่ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่มาจากฐานความจริงที่ชาวบ้านไม่ได้ทำลายป่า และการต่อสู้นั้นไม่ได้หวังผลเฉพาะในกลุ่มเครือข่ายฯ แต่ต้องการเชื่อมโยงการแก้ปัญหาในภาคใหญ่ของสังคม
 
สมจิตกล่าวด้วยว่าปัญหาในพื้นที่ของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัดที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นในภาคใต้ เครือข่ายที่อยู่ในภาคอีสาน หรือที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้เข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออก เสนอช่องทาง ช่วยกันประสานงานส่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา
 
"ต่อไปนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้นที่จุดหนึ่ง เป็นเรื่องละเมิดรุนแรง ต้องมีการหนุนเสริมกำลัง ความคิด และเครื่องมือ"  กองเลขาฯ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าวถึงความร่วมมือที่จะเข้มแข็งขึ้นในอนาคต
 
00000
 
การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ทางออกของชุมชน เพื่อชุมชน
เรื่องของ "คนอยู่กับป่า" และ "การจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยชุมชน" เกี่ยวข้องกันอย่างยากจะแยกแยะ และแม้จะมีการพูดถึงกันมานานนับสิบปี แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมาทั้งสองส่วนต่างไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คน สังคม มากนัก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
และแม้ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ได้ชื่อว่าส่งเสริมเรื่องสิทธิชุมชนมากกว่าฉบับใดๆ ที่เคยมีมา ด้วยมาตรา 66 และ 67 ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงคือสิ่งที่ระบุไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีเงื่อนไขในทางปฏิบัติที่อยู่ในกฎหมายลูกอยู่มากมาย
 
ทั้งอุปสรรคทางความคิด และเงื่อนไขของกฎหมาย คือโจทย์ที่ชุมชนจะต้องช่วยกันหาทางแก้เพื่อสิทธิของชุมชนที่จะร่วมจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล ยั่งยืน และสิทธิที่จะทำกินในที่ดินอยู่อาศัยดั้งเดิม ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจและการจัดการซึ่งสร้างปัญหาเหมือนกับที่เคยๆ เป็นมา
 
ในวันนี้ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่เทือกเขาบรรทัด หรือในภูมิภาคต่างๆ มีข้อเสนอซึ่งได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนของ "ธรรมนูญชุมชน" "ป่าชุมชน" และ "โฉนดชุมชน" เพื่อเป็นการยืนยันว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีกติกาของชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ทรัพย์สิน และจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนให้ยั่งยืนได้
 
"เราต้องการให้สังคมรับรองวัฒนธรรมชุมชน ถึงรัฐบาลหรือเอกชนจะไม่ยอมรับ แต่หากสังคมยอมรับนั่นล่ะคืออำนาจที่แท้จริง เราจึงอยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนทั้งชาติ เป็นเรื่องที่ทุกคนช่วยกัน" ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัดกล่าว
 
ทั้งนี้ ทางออกของชุมชนคือสิทธิในการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้าง "อธิปไตยชุมชน" ที่จะทำให้สังคมและระบบนิเวศน์อยู่ได้อย่างปกติสุข สมดุล และมั่นคง หากแต่สิ่งเปล่านี้จะเกิดขึ้นได้สังคมไทยคงต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทั้งการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูประบบการผลิต ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสังคม รวมทั้งปฏิรูปวัฒนธรรม เพราะทุกส่วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน และทั้งหมดไม่อาจกระทำการได้เพียงลำพัง
 
00000
 
สรุปภาพรวมสถานการณ์
เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด
 

เวลา
เหตุการณ์
พ.ศ.2518
ราชการได้ประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินของชาวบ้าน โดยประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด
 
พ.ศ.2525
การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า
 
30 มิ.ย.2541
ออกมติ ครม.แนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ตั้งแต่นั้นมาเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ข่มขู่คุกคาม ขัดขวางการพัฒนาทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด
 
พ.ศ.2543
มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ลงมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทั้งนี้รัฐบาลนายชวนได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยมีแนวทางในการเดินแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้พ้นจากพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งได้ทำข้อตกลงและลงนามร่วมกันไว้
 
กลางปี พ.ศ.2543
ชุมชนต่างๆ รอบเทือกเขาบรรทัด ได้ชุมนุมกันที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชเพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ทำกิน
 
วันที่ 14 ตุลาคม 2543
รวมตัวกันในนาม "เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดจังหวัดตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช" มีจุดยืนของเครือข่าย คือ สร้างความเป็นตัวตนของชุมชน ใช้สิทธิการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และจัดการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรและชุมชนในเขตเทือกเขาบรรทัด
 
หลังจากนั้นมีการรวมตัวกับเครือข่ายต่างๆในภาคใต้ ที่มีสภาพปัญหาคล้ายคลึงกันในนาม "เครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้"
 
พ.ศ.2544
เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องร่วมกับสมัชชาคนจน
 
วันที่ 3 เม.ย.2544
รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันราษฎรสามารถอยู่อาศัยทำกินได้ตามวิถีชีวิต ปกติ และพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ได้ โดยไม่มีการจับกุมคุกคามหรือโยกย้ายราษฎร รวมทั้งมีการแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาป่าไม้ภาคใต้ เพื่อทำงานพิสูจน์สิทธ์การครอบครองที่ดินโดยมีตัวแทนสมัชชาคนจนและตัวแทนรัฐ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
 
พ.ศ.2545
มีการปฏิรูประบบราชการ โดยมีการโยกย้ายปัญหาป่าไม้ที่ดินของสมัชชาคนจน ไปอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้ส่งผลให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินถูกยกเลิกไป
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่
 
พ.ศ.2546
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้เริ่มเดินแนวเขตป่าอนุรักษ์อีกครั้ง โดยมีการปักแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์เข้าไปในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ในบางพื้นที่ได้มีการล้อมรั้วลวดหนาม รวมทั้งมีการข่มขู่ คุกคาม จับกุมชาวบ้านในพื้นที่
 
พ.ศ.2547-2548
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังคงจับกุม ข่มขู่ คุกคาม และห้ามไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ตัดโค่นสวนยางและทำกินในพื้นที่ของตนเอง

ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องกันในพื้นที่ต่างๆ หลายครั้ง รวมทั้งมีการร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน แต่ในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
 
พ.ศ.2549
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้คุกคามชาวบ้านในพื้นที่หนักขึ้น โดยในบางพื้นที่ได้มีการทำลายทรัพย์สิน ตัดโค่นสวนยาง และเผาบ้านเรือนของชาวบ้าน รวมทั้งมีการฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องระดับจังหวัดและระดับชาติ แต่การข่มขู่คุกคาม จับกุม ในระดับพื้นที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
 
พ.ศ.2550
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร คนจนไร้ที่ดินทั้งที่อยู่ในชนบทและเมือง ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลางของประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนโครงสร้างการถือครองที่ดินให้มีความเป็นธรรม และยั่งยืน
 
11 ก.พ.2552
เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหา และจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อกำกับดูแล ติดตาม และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
 
9 มี.ค.2552
สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือที่ 71/2552 ลงวันที่ แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
 
วันที่ 11 มี.ค.2552
ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยนัดแรกโดยมีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเป็นประธาน
 
24 มี.ค.2552
นายกรัฐมนตรีได้เซ็นหนังสือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 6 คณะ
 
 
ข้อมูลบางส่วนจาก: http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999796.html
 
 
 
 
คณะอนุกรรมการฯ 6 ชุด เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ
จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ  
วันที่ 11 มี.ค.52
 
1) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สารธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และมีอธิบดีกรมที่ดินเป็นกรรมการและเลขานุการ
 
2) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานฯ และมีอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
3) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานฯ และมีเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เป็นกรรมาการและเลขานุการ
 
4) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสินเชื่อของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานฯ และมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
5) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินราชพัสดุของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ และมีอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
6) คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทาง การปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน โดย นายสาทิยต์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้แทนเครือข่ายฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมี อำนาจหน้าที่ อาทิ ศึกษาแนวทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล เช่น โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน มาตรการทางภาษี การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ
 
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการทั้ง 6 ชุด มีอำนาจหน้าที่ อาทิ ตรวจสอบข้อเท็จจริง แก้ไขปัญหาและ/หรือเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละส่วนงาน ตามกรอบนโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการกำหนดภายใน 90 วัน โดยให้คณะอนุกรรมการเริ่มประชุมครั้งแรกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง
 
รวมถึงเชิญผู้แทนส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงให้ข้อมูลรวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหา และมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามความเห็นของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และรายงานผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหา อุปสรรค ให้คณะกรรมการฯ ทราบ ทุก15 วัน ฯลฯ
  
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท