Skip to main content
sharethis


1 เม.ย.52 กลุ่มเพื่อนนักเขียน กวี เพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายเดือนตุลา ออกแถลงการณ์สนับสนุนการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มเสื้อแดงทั่วประเทศ โดยมีนักเขียนรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ร่วมลงชื่อหลายคน อาทิ ลาว คำหอม , วัฒน์ วรรลยางกูร, ไพบูลย์ วงเทศน์, อุดร ทองน้อย, ยงค์ ยโสธร, ไม้หนึ่ง ก.กุนที ฯ ทั้งนี้ มีตัวแทนกลุ่ม คือ วัฒน์ วรรลยางกูร ไม้หนึ่ง ก.กุนที และทองธัช เทพารักษ์ ขึ้นไปขึ้นอ่านแถลงการณ์ดังกล่าว และบทกวีบนเวทีปราศัยหน้าทำเนียบฯ เมื่อคืนวันที่ 31 มี.ค.


 






 


แถลงการณ์เพื่อนนักเขียน กวี เพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายเดือนตุลา


 


1 เมษายน 2552


 


 


เดือน เมษายน พ.ศ.2552 เป็นเดือนที่ร้อนระอุทั้งสภาพอากาศและบรรยากาศทางการเมือง ต้นเหตุแท้จริงของความร้อนระอุนี้คือความไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชนต้องกรำฝนกรำแดดต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่ประชาธิปไตยละครแก้บนอย่างที่ผ่านมา


 


 ประเทศไทยเริ่มมีการเรียกร้องระบอบปาเลียเมนต์ หรือระบอบรัฐสภามาตั้งแต่ปีพ.ศ.2427 กว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ที่คณะราษฎรได้ประนีประนอมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่วมกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเมื่อ10 ธันวาคม 2475


 


สถาบันพระมหากษัตริย์พ้นจากการเป็นเป้าโจมตี และพ้นจากความเครียดทางการเมือง โดยมิต้องไปเกี่ยวข้องกับอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสยามอย่างสมบูรณ์และปลอดโปร่ง นั่นคือพระราชปณิธานของ ร.7 ที่เห็นร่วมกับคณะราษฎร แต่ประชาธิปไตยไทยสมัยเกือบร้อยปีที่แล้วไม่ราบรื่นอย่างที่คิด ในเมื่อเกิดกลุ่ม "อำมาตย์" ซึ่งสูญเสียตำแหน่ง ยศศักดิ์ และผลประโยชน์ ได้ก่อกบฏขึ้นเมื่อ 11ตุลาคม 2476 ในนาม กบฏบวรเดช และแม้ว่ากลุ่มอำมาตย์จะพ่ายแพ้ไป พวกเขาก็ซุ่มซ่อนรอคอยโอกาสจนสามารถกำจัดแกนนำของคณะราษฎรได้ในที่สุด โดยการรัฐประหารโค่นอำนาจนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 8 พ.ย. 2490 และรัฐประหารโค่น ป.พิบูลสงคราม ในปี 2500


 


หลังจากนี้กลุ่มอำมาตย์ก็ดำเนินงานการเมืองในลักษณะหมุนกงล้อประวัติศาสตร์กลับหลังอย่างสุดกู่ บงการและร่วมก่อการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นการฉวยโอกาสในท่ามกลางเงื่อนไขที่ประชาชนยังขาดการศึกษา ขาดการสื่อสาร ขาดการเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย อำนาจมืดของกลุ่มอำมาตย์ ถ่ายทอดสู่ตัวตายตัวแทนรุ่นต่อรุ่นรุกเข้าไปควบคุมอำนาจในกองทัพ ในสายงานตุลาการ ในระบบราชการ ฯลฯ อย่างเหิมเกริม


 


และแล้ว 19 กันยายน 2549 กลุ่มอำมาตย์ก็ได้ก่อการรัฐประหารขึ้น โดยไม่สนใจว่ามันจะเป็นการกระทำที่ล้าหลัง ตกยุคตกสมัยสักเพียงใด รัฐธรรมนูญ ฉบับปีพ.ศ. 2540 ที่คนส่วนมากเห็นร่วมกันว่าดีที่สุดอีกฉบับหนึ่งได้ถูกฉีกลงอีกแล้ว มิหนำซ้ำยังถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตย ฉบับปี 2550 ที่ถูกขนานสมญาอัปยศว่า "รัดทำมะนวย" แต่ว่าการรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดนี้ ผลติดตามมาไม่เป็นไปอย่างที่กลุ่มอำมาตย์เคยทำสำเร็จ เพราะอะไรการรัฐประหารปี 2549 กระทำขึ้นในเงื่อนไขที่แตกต่างจากยุคอดีต คือ ในยุคปัจจุบันที่มวลชนคนรากหญ้าได้ตื่นตัวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีการเมืองประชาธิปไตยอย่างปฏิเสธไม่ได้ บวกกับการมีการศึกษากว้างขวาง(คนไม่รู้หนังสือเหลือเพียงไม่เกิน 4% ) การสื่อสารรวดเร็วด้วยระบบดาวเทียมและระบบออนไลน์ต่างๆ ผู้คนในชนบทจึงรับรู้ข้อมูลการเมืองเบื้องลึกได้ไม่น้อยกว่าคนในเมืองใหญ่ นี่เองเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า "กรรมออนไลน์" ใครไปแอบทำผิดอะไรไว้ อย่าคิดว่าจะปิดบังมิให้มวลชนรู้เห็น การก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นการพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ ที่กลุ่มอำมาตย์ไม่มีวันแก้ตก ยิ่งดิ้นยิ่งจมลึกเหมือนรถติดหล่ม


 


จริงอยู่ว่าระบบสังคมการเมือง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเมืองในภาคของการเลือกตั้ง ยังมีข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจเงิน หรือการหาผลประโยชน์จากตำแหน่งทางการเมือง แต่นั่นเป็นปัญหาทางการเมืองที่ต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมิได้โง่เขลา ที่แน่ๆ การอ้างเรื่องข้อบกพร่องของนักการเมือง อ้างสถาบันเบื้องสูงแล้วลงมือทำรัฐประหารนั้น เป็นการ "มั่ว" ไม่เป็นเหตุเป็นผล แล้วก็สวมรอยหาประโยชน์ส่วนตน เช่นสวมรอยเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ว.แต่งตั้ง เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ เป็นได้ง่ายๆ โดยทางลัดโดยอาศัยอำนาจเผด็จการ โดยวิถีทางไม่เป็นประชาธิปไตย และโดยช่องทางที่ประชาชนไม่อนุมัติ พวกเรา กลุ่มเพื่อนนักเขียน กวี ที่รักประชาธิปไตย และเครือข่ายเดือนตุลา เห็นว่า เราจะต้องหยุดความเคยชินมักง่าย "มั่ว" ในทางการเมืองให้จบสิ้นไปในรุ่นอายุของเรา มิให้เป็นภาระแก่คนรุ่นลูกรุ่นหลานต้องมาลำบากตรากตรำต้องมากรำแดดกรำฝนอย่างที่พี่น้องเสื้อแดงประสบอยู่จะต้องไม่มีการรัฐประหาร ต้องไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญอีก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดใด ปัญหาทางการเมืองต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด บทเรียนจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


 


สามปีผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ มีแต่ซ้ำเติมให้เกิดความยุ่งยากยืดเยื้อ จนถึงวันนี้ยังหาจุดจบที่ดีมิได้ และซ้ำเติมให้ประเทศชาติจมลงในวิกฤตทุกด้าน ซึ่งพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปได้ประสบพบเห็นผลร้ายเหล่านี้โดยซึ่งหน้าอยู่แล้ว หลักแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยจะต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ประเพณี และกฎหมายล้าหลังใดๆ ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยนี้จักต้องได้รับการแก้ไข และที่สำคัญ เราต้องปกป้องพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นพร้อมกับคณะราษฎร เมื่อปี 2475 ในอันที่จะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง และยังทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ปลอดพ้นจากการตกเป็นเป้าทางการเมือง พ้นจากความเคร่งเครียดทางการเมือง ดำรงสถานะมั่นคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนทุกชั้น ดังเช่นสถาบันเบื้องสูงในนานาอารยประเทศ มิใช่ถูกผูกขาดอยู่ในเงื้อมเงาของเหล่าอำมาตย์


 


ประวัติศาสตร์การต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ต่อมาคือ 6 ตุลาคม 2519 และการต่อสู้ในอีกหลายยุคหลายครั้ง วีรชนได้สละชีพและเลือดเนื้อเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริง เราขอสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสันติของมวลชนเสื้อแดงทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ เราขอประณามแผนการใดใดที่จะทำลายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนโดยแผนการลับลวงพรางนองเลือด หรือการฉวยโอกาสทำรัฐประหารซ้ำซาก


 


ขอสดุดีจิตใจกล้าต่อสู้กล้าเสียสละของพี่น้องมวลชนเสื้อแดง และขอให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ได้จบสิ้นลงในช่วงอายุของเรา ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานในอนาคต


 


 


 


กลุ่มเพื่อนนักเขียน กวี เพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายเดือนตุลา


 


คำสิงห์   ศรีนอก (ลาว คำหอม) ศิลปินแห่งชาติ


 วัฒน์   วรรลยางกูร นักเขียนศรีบูรพา 2550


 ยงค์   ยโสธร


 อุดร   ทองน้อย


 ไพบูลย์   วงศ์เทศ


 ทองธัช    เทพารักษ์


 หรินทร์   ศุขวัจน์


 วัฒนา   ศุขวัจน์


 ไม้หนึ่ง   ก. กุนที


 จักษณ์   จันทร


 วรพจน์   พันธ์พงศ์


 ภูมิชาย   คชมิตร


 ศานติ์   เพียงใจ


 เพียงคำ   ประดับความ


 ผาดไหม


 พิทักษ์     ปิยะชน


 ชัยวัฒน์   ลิ้มเศรษฐานุวัฒน์


 โศลกดี    อนันตพงษ์


 เจริญ    กุลสุวรรณ


 โฮโมอีเลคตัส


เครือข่ายเดือนตุลา


 ทองขาว  ทวีปรังษีนุกูล


 ณัฐ(เอนก)  พัฒนวัตร


 วิภา ดาวมณี


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net