Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


 


 


โจทย์สำคัญในเรื่องการปฏิรูปการเมือง (ไม่ว่าจะปฏิรูปวันไหน ปฏิรูปโดยใคร หรือจะปฏิรูปทุกวัน) อาจจะต้องขยายความกว้างกว่าสิ่งที่หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ (ฮ่าๆ พูดซะน่ากลัว) เคยให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของการปฏิรูปการเมือง


           
นั่นก็คือการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าอะไรคืออาณาบริเวณที่เรียกว่า
"การเมือง"


           
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเหมือนกับสังคมไทยตอนนี้ไม่ได้มีความเข้าใจตรงกันว่าอะไรคือการเมือง


           
เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆ เพราะทุกคนที่มีบทบาททางการเมืองล้วนอ้างอิง หรือถูกกรอบทางกฏหมายอ้างอิงว่าจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง


           
การเมืองไทยจึงเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจตรงที่ว่าเป็นกิจกรรมที่ความชอบธรรมในการเข้าเกี่ยวข้องนั้นจะต้องวางอยู่บนเรื่องของการกล่าวอ้างว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง


           
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ โดยเฉพาะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นภารกิจสำคัญของคนที่ทำมาหากินทางรัฐศาสตร์ หรือจะเรียกว่าเป็นโอกาสทองของนักรัฐศาสตร์ท่ามกลางของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ผ่านมาที่การปฏิรูปทางการเมืองนั้นเป็นกิจกรรมของนักกฏหมายมหาชน ศาล และนักกฏหมายเอกชนด้วย (เพราะพักหลังกิจกรรมทางการเมืองนั้นถูกตีความและกำกับผ่านเรื่องของการละเมิดชีวิตอันเป็นปรกติของเอกชน/ประชาชน)


           


เราอาจจะสามารถพูดเรื่องการเมืองคืออะไรได้หลายทาง เอาเป็นว่าจะลองยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้


           


1. การเมืองเป็นเรื่องของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการการตัดสินว่าอะไรคือความดี อะไรคือความไม่ดี ในการเกี่ยวพันกับคนอื่น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญๆ ว่า การปกครองที่ดีนั้นจะมีรูปแบบไหน เมื่อไหร่เราควรจะยอมรับความชอบธรรมของรัฐ เมื่อไหร่เราควรจะเลิกเชื่อฟังรัฐ และเราจะพิจารณาความดีงามของการปกครองอย่างไร ถ้าจะเรียกกว้างๆ ก็คงจะเป็นเรื่องในเชิงปรัชญาการเมือง


           


2. การเมืองเป็นเรื่องของกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตัดสินด้วยเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของรัฐ หรือ กิจกรรมของพลเมือง การเมืองในแง่นี้มีขอบเขตที่ชัดเจน มักจะเกี่ยวพันกับเรื่องของ การออกนโยบาย การออกกฏหมาย และการเลือกตั้งเพื่อเลือกสนับสนุนนโยบาย รวมทั้งพฤติกรรมของผู้คน กลุ่มการเมือง พรรคการเมืองต่างๆ สิ่งนี้สามารถวัดค่าและคาดคำนวณได้ ถ้าจะเรียกว่าเป็นเรื่องเชิงพฤติกรรม และอาจจะสืบเนื่องต่อจากนั้นเป็นการศึกษาแบบแผนพฤติกรรมที่มองไม่เห็นก็จะเรียกว่าเรื่องระดับโครงสร้าง


           


3. การเมืองเป็นเรื่องของกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความหมาย ในแง่นี้เราอาจจะวัดประชามติแบบพฤติกรรมไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของการพยายามเข้าใจว่า แต่ละคนนั้นให้ความหมายกับการเมืองอย่างไร ตรงกันไหม และที่สำคัญ คนที่ให้ความหมายไม่ตรงกันนั้นอยู่ร่วมกันอย่างไร ในแง่นี้ขอบเขตของการเมืองจึงเป็นเรื่องของการพยายามจะร่วมชีวิตกัน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่อาจจะมีความขัดแย้งกันของแต่ละกลุ่มที่จะทำให้แนวคิดของตนเป็นความคิดหลัก


           


ตัวอย่างเช่นเรื่องของ "ชาติบ้านเมือง" นั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม มากกว่าการเมือง เพราะทุกฝ่ายสามารถจะบอกว่าตนนั้นเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจ การใช้อิทธิพล และการครอบงำคนอื่น และทำให้คนอื่นหรือตัวเราครอบงำตัวเอง คำว่าการเมืองที่ผมพยายามเขียนมาจึงเป็นเรื่องตลกร้ายในสังคมไทย เพราะไม่มีใครสนใจการเมือง มีแต่คนสนใจชาติบ้านเมือง แล้วก็ใช้คำอธิบายของตนเองในการรองรับความเกี่ยวพันของตนกับการเมือง เพราะการเมืองนั้นกลายเป็นเรื่องที่กักขังทุกฝ่าย ไม่ว่าจะโดยกฏหมายที่ระบุอำนาจหน้าที่ (ไม่ขออ้างไกล เอาแค่ ทหาร ข้าราชการ ศาล ก็พอแล้วครับ) หรือกฏหมายในการลงทัณฑ์ ทั้งคนที่ถูกพรากสิทธิทางการเมืองผ่านการเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือ ไม่ไปใช้สิทธิทางการเมือง


           


น่าทุกข์ใจมากนะครับ สังคมนี้ไม่มีใครจะยุ่งเกี่ยวทางการเมืองได้ ก็เลยต้องยุ่งกันแต่เรื่องชาติบ้านเมือง ดังนั้นนักรัฐศาสตร์ก็ไม่สามารถผูกขาดชาติบ้านเมืองได้ ซึ่งอาจจะเป็นผลดีก็ได้ เพราะใครๆ ก็เข้าถึงชาติบ้านเมืองและทำให้คนที่ตนไม่พอใจถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติบ้านเมืองได้ทั้งสิ้น


           


สรุปว่าชาติบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องการเมืองในสังคมนี้ใช่ไหมครับ และถ้าใช่ก็อาจจะเป็นผลดีว่าสังคมนี้เป็นประชาธิปไตยขั้นบุพกาลมากๆ เพราะใครๆ ก็อ้างอิงการเกี่ยวพันกับชาติบ้านเมืองได้ แต่ถ้าใครเกี่ยวข้องกับการเมืองก็ผิดกันหมด


 


 


……………………….


หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 31 มีนาคม 2552 หน้า 4


             

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net