Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


มนัสพร อินต๊ะยศ



 


 


ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญหลายข้อ ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การปกครองโดยประชาชน หลักการเคารพสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของสมาชิกทุกคนในสังคม การปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) ฯลฯ ด้วยความหลากหลายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการที่ว่าเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ ประชาชนคือส่วนที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย ระบอบการปกครองนี้จึงมีมนต์เสน่ห์อย่างล้ำลึก เป็นที่ปรารถนาของคนส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนั้น แม้แต่พวกนิยมเผด็จการก็นำเอาคำว่าประชาธิปไตยไปใช้ ทำสิ่งที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย แต่ก็ยังเรียกว่าประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อหวังให้ตนเองน่านับถือ มีเกียรติและความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาชน


 


ในยุคล่าอาณานิคม ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เพราะประเทศไทยมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก แต่เสียเปรียบด้านเศรษฐกิจ การศาล และการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็น "รัฐกึ่งเมืองขึ้น" สภาพดังกล่าวทำให้เกิดสภาพการเมือง 2 ข้อ คือ หนึ่ง อำนาจการปกครองที่มีอยู่เดิมสามารถรักษาอำนาจเดิมไว้ได้หมด และมีความเข้มแข็งต่อไป และสอง ประชาชนขาดการรวมกลุ่มกัน ขาดการจัดตั้งองค์กรต่อสู้เพื่อเอกราช ขาดประสบการณ์ทางการเมืองในการชุมนุมต่อสู้ ตรวจสอบ และควบคุมการบริหารของรัฐ


 


ในขณะที่ต่างประเทศที่ประชาชนมีประเพณีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมายาวนาน การชุมนุมกันทางการเมืองที่ผู้คนจำนวนมากเข้าร่วม เช่น ผู้นำการเมืองเสียชีวิต มีประชาชนเข้าร่วมในพิธีฝังศพนับล้านคน บารัค โอบามา สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา มีชาวอเมริกันเข้าร่วมงานถึง 2 ล้านคน ฯลฯ เพราะการชุมนุมกันถือเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบปกติของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยกลับถูกสอนให้หวาดกลัวการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ทุกครั้งที่มีการชุมนุมของประชาชน (แม้จะมีเพียงหลักพันหรือหลักหมื่น) ฝ่ายรัฐจะออกมาแสดงความวิตกและเตือนประชาชนไม่ให้ละเมิดกฎหมาย และก่อความรุนแรง (ทั้งๆที่ประชาชนไม่เคยก่อความรุนแรงก่อน) และที่ผ่านมา แม้จะมีการชุมนุมทางการเมืองในสังคมไทยที่เกิดความรุนแรงน้อยครั้งมาก แต่การออกมากล่าวเตือนและสร้างภาพการชุมนุมทางการเมืองให้น่ากลัวก็ยังมีมาโดยตลอด กลายเป็นการปลูกฝังทัศนะรังเกียจการชุมนุม หวั่นกลัวกระทั่งชิงชังการต่อสู้ทางการเมือง และกลัวความรุนแรง ทั้งนี้เพราะรัฐไม่ต้องการเห็นความตื่นตัวและบทบาททางการเมืองของประชาชน


 


หลังจากสังคมไทยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ระบอบประชาธิปไตยของไทยก็ล้มลุกคลุกคลานตลอดมา เพราะด้านหนึ่ง บทบาททางการเมืองของประชาชนมีจำกัด ไม่สามารถกำหนดและควบคุมการเมืองได้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ กลุ่มผู้มีอำนาจซึ่งไม่เห็นชอบกับระบอบประชาธิปไตย ได้ก่อรัฐประหารทำลายระบอบประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า


 


เมื่อสหรัฐในฐานะผู้นำค่ายโลกเสรีหวาดกลัวพลังของฝ่ายสังคมนิยมหลังสงคราม โลกครั้งที่ 2 สหรัฐจึงได้จัดตั้งและส่งเสริมระบอบเผด็จการทหารในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ นอกจากสหรัฐจะไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ยังสร้างกองทัพและระบบราชการให้เข้มแข็ง รวมศูนย์อำนาจและครอบงำการบริหารประเทศ รัฐประหารที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งยุบพรรคการเมือง, ห้ามการชุมนุมทางการเมือง, และจับกุมนักการเมืองฝ่ายต้านเผด็จการ, ฉีกรัฐธรรมนูญ และนำรัฐธรรมนูญฉบับที่ปกป้องระบบราชการ และบั่นทอนฝ่ายประชาธิปไตยมาใช้


 


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับชาติตะวันตก เศรษฐกิจและวัฒนธรรมส่วนหนึ่งจึงเปิดกว้างรับแบบประชาธิปไตยของตะวันตกมาใช้ มีคนไทยจำนวนมากที่ไปศึกษา ดูงานและท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย พลังฝ่ายประชา ธิปไตยจึงเติบใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ จนเกิดเหตุการณ์เช่น 14 ตุลาคม 2516, พฤษภาทมิฬ 2535 ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในระดับภูมิภาค แต่ถึงกระนั้น การแทรกแซงของกองทัพและระบบราชการก็ยังไม่ยุติ ยังก่อรัฐประหารอีก


 


การเมืองไทยนับแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จึงเป็นการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ เมื่อเกิดรัฐประหารมาแล้วถึง 18 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 18 ฉบับ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่บริหารงานจนครบวาระ 4 ปีเพียงชุดเดียวในห้วงเวลา 77 ปีที่ผ่านมา การบริหารประเทศจึงขาดเสถียรภาพ ขาดความต่อเนื่อง และขาดนโยบายใหม่ๆที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


 


ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทั่วโลกมีการติดต่อทางเศรษฐกิจ การลงทุน ข่าวสารเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการร่วมมือและแข่งขันกัน การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (หลังจากที่เกิดขึ้นครั้งก่อนในปี พ.ศ. 2534 หรือ 15 ปีก่อน) จึงเป็นเหตุการณ์ที่แทบไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในต่างประเทศ


 


แต่แล้วเมื่อคณะนายทหารและรัฐบาลแต่งตั้งถูกบีบจากฝ่ายประชาชนให้รื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตย จัดการเลือกตั้งทั่วไปตอนปลายปี 2550 รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นฝ่ายพรรคไทยรักไทย แทนที่จะได้รับการยอมรับตามกติกาประชาธิปไตย กลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนรัฐประหาร


 


การต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยกลุ่มคนที่เรียกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนส่วนหนึ่งและผู้นำกองทัพ ได้ลามออกไปเป็นการบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล พยายามยึดสถานีโทรทัศน์ของรัฐ และบุกเข้ายึดสนามบินนานาชาติ ก่อนหน้านั้น ศาลของฝ่ายรัฐประหารได้พิพากษาปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และต่อจากนั้น ก็ยุบพรรคพลังประชาชนที่ส่งผลให้นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ถูกหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


รัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้นนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ในตอนปลายปี 2551 จึงเป็นผลพวงของการทำลายประชาธิปไตยโดยการร่วมมือประสานงานกันระหว่างกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนรัฐประหาร สื่อมวลชนส่วนหนึ่ง ศาล และผู้นำกองทัพ ต่อจากนั้น ผู้นำกองทัพก็ได้เข้าแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยการบีบบังคับให้ ส.ส. จำนวนหนึ่งเปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นรัฐบาล


 


นี่คือผลของการแทรกแซงทางการเมืองครั้งล่าสุดของกลุ่มทหารและข้าราชการที่หลงคิดว่ารัฐประหารยังคงเป็นทางเลือกของสังคมไทย เป็นการแทรกแซงทางการเมืองที่ล่อนจ้อนถึง 2 ครั้งใหญ่ในห้วงเวลา 2 ปีเศษ (กันยายน 2549 - ธันวาคม 2551) ไม่มียางอายเพราะเป็นการกระทำความผิดยาวนานหลายๆ ครั้งติดต่อกัน


 


ที่กล่าวว่าเป็นการกระทำความผิดใหญ่ๆ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก คือการทำรัฐประหาร 19 กันยายน ซึ่งก็เหมือนกับการทำรัฐประหารครั้งก่อนๆ แต่ครั้งที่สอง คือ การระดมภาคส่วนต่างๆของฝ่ายรัฐประหารออกมาคัดค้านและโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่กล่าวว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองที่ล่อนจ้อนและไร้ยางอายก็เพราะเมื่อทำผิดครั้งแรกคือทำรัฐประหาร แต่ประชาชนยังชื่นชมคนของพรรคนั้น เลือกคนของพรรคนั้นให้มาจัดตั้งรัฐบาล แทนที่จะเคารพและยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน กลับทำผิดซ้ำสองด้วยการโค่นล้มรัฐบาลของประชาชนด้วยวิธีการที่แยบยล ลวงโลกเพราะครั้งนี้มิได้เข็นรถถังออกมา แต่ใช้วิธีการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน และใช้ศาลยุบพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล


 


การก่อรัฐประหาร 19 กันยายน และการโค่นล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชและนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ในปี 2551 แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาฝีมือในการทำลายประชาธิปไตยของพวกนิยมระบอบเผด็จการ พวกเขาจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือเนื่องจากทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ถูกประท้วงมากมายโดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังนั้น จึงยอมจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 ธันวาคม 2551 แต่เมื่อฝ่ายของพ.ต.ท. ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง พวกเขาจึงต้องใช้วิธีอื่น มิใช่วิธีทำรัฐประหารแบบเดิม (Conventional coup method) นั่นคือใช้วิธีการยึดอาคารสถานที่ราชการ ยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดสนามบิน และใช้ศาลล้มรัฐบาล เพื่อจะลวงโลกว่านี่มิใช่รัฐประหาร แต่เป็นการดำเนินการในระบอบประชาธิปไตย


การประท้วงรัฐบาลของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อคัดค้านรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์จึงเกิดขึ้น เพราะเห็นว่าการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนถึง 2 ชุดเป็นการทำลายประชาธิปไตยด้วยรัฐประหารแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย


 


และล่าสุด การต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงก็เข้มข้นขึ้นอีกครั้งเมื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นล้มด้วยรัฐประหารกล่าวผ่านวีดิโอลิงก์ว่าได้มีผู้นำจากฝ่ายองคมนตรี-ทหาร-ตุลาการ-วิชาการและสื่อมวลชน พบกันประชุมวางแผนเพื่อกำจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึง 4 ครั้ง (ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549) ด้วยวิธีการรูปแบบต่างๆ ที่จักรภพ เพ็ญแข - แกนนำการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเรียกในเวลาต่อมาว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตยอันมีพลเอกเปรมเป็นประมุข"


 


ต่อจากนั้น พลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ นายกรัฐมนตรีหลังการก่อรัฐประหาร นายปีย์ มาลากุล และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ทยอยออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในรัฐประหาร แต่พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่เข้าร่วมประชุม 4 ครั้งนั้นด้วยได้ให้สัมภาษณ์ที่ช่วยทำให้ภาพการประชุมวางแผนมีความชัดเจน นายสนธิ ลิ้มทองกุลเองก็เคยเปิดเผยเรื่องราวในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการทำรัฐประหาร 19 กันยาหลายครั้ง


 


ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะปฏิเสธอย่างไรก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่เคยปฏิเสธว่าได้พบปะกัน เพียงแต่กล่าวว่าได้พูดคุยเรื่องบ้านเมืองทั่วๆไปเพราะมีความห่วงใย


 


แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ คนระดับสูงของวงการต่างๆมาพบปะกันได้อย่างไร พบกันทำไมเพียงเพราะว่าเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองเท่านั้น และจริงหรือที่ว่าไม่ได้พูดถึงวิธีการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง


 


และที่น่าทึ่งมากกว่านั้น ก็คือ ผู้นำแต่ละฝ่ายที่ไปพูดคุยกันนั้นล้วนมีบทบาทสำคัญในการโจมตีรัฐบาลพรรคไทยรักไทยแต่ละด้านก่อนเหตุการณ์ 19 กันยายน และมีบทบาทสำคัญหลังรัฐประหารทั้งสิ้นในการทำลายฝ่ายประชาธิปไตยและการสืบทอดอำนาจของระบอบเผด็จการ


 


การออกมาแสดงความคิดเห็นของบุคคลเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าบัดนี้การเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่จุดแห่งความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้ง คราวนี้ เป็นการปะทะกันอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งและฝ่ายอำมาตยาธิปไตย


 


พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนานถึง 8 ปีโดยมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (พ.ศ. 2523-2531) ครั้นถูกฝ่ายประชาธิปไตยคัดค้านอย่างหนัก ในที่สุด จึงประกาศวางมือทางการเมือง โดยพูดว่า "ผมพอแล้ว"


 


แต่เวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ที่ว่าพอแล้วนั้น คือพอสำหรับการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เคยเพียงพอในการแสวงหาอำนาจเพื่อตนเอง การก้าวขึ้นไปเป็นรัฐบุรุษอาวุโส และประธานองคมนตรี นั้นไม่ควรทำให้บุคคลผู้นี้มีบทบาททางการเมืองต่อไป แต่เขากลับใช้อำนาจเก่าและบารมีที่มีอยู่แต่งตั้งคนของตนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพและกระทรวง กรมกองต่างๆเรื่อยมา


 


77 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยมีบทเรียนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยน้อยมาก ทั้งนี้เพราะอำนาจการเมืองอยู่ในมือของเหล่าอำมาตย์เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป., จอมพล สฤษดิ์ จอมพลถนอม พลเอกเกรียงศักดิ์ พลเอกสุจินดา พลเอกเปรม และพลเอกสุรยุทธ์


 


การเป็นประธานองคมนตรีของพลเอกเปรม แล้วให้พลเอกสุรยุทธ์ลงมาดำเนินการประชุมลับเพื่อวางแผนทำรัฐประหาร แบ่งงานให้สื่อมวลชน ปัญญาชน และศาลเข้าโจมตีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสำเร็จแล้ว ก็จัดการให้พลเอกสุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และกลับไปเป็นองคมนตรีอีกครั้ง ก็คือแผนการสืบทอดอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยจากพลเอกเปรมถึงพลเอกสุรยุทธ์ ที่ไม่อาจและไม่มีวันที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประชาชนปรากฏเป็นจริงได้ในอนาคต


 


ดังนั้นไม่ว่าพวกเขาจะปฏิเสธอย่างไรก็ตาม และไม่ว่าจะมีคนอื่นออกมาช่วยปกป้อง บัดนี้ ทุกอย่างก็ชัดเจนแล้วดังที่ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ กล่าวไว้ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อคืนวันที่ 3 เมษายน ระบอบอำมาตยาธิปไตยอันมีพลเอกเปรมเป็นประมุข ใช้พรรคการเมือง สื่อมวลชน ปัญญาชน และศาลส่วนหนึ่งเป็นเครื่องมือของเขาในการฉุดรั้งการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย


 


และต่อจากนี้ การเมืองไทยก็จะก้าวสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ว่าสังคมไทยจะแดงทั่วทั้งแผ่นดิน นำประชาธิปไตยของประชาชนกลับคืนมาอีกครั้ง หรือว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยจะคงอยู่ต่อไป กระทั่งนำสังคมไทยถอยไปสู่ระบอบเผด็จการทหาร ทำให้ไทยและพม่าจะได้เป็น 2 ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ล้าหลังทางการเมืองที่สุดในโลก


 


ได้เวลาที่ประชาชนไทยจะต้องตัดสินอนาคตครั้งสำคัญของประเทศชาติอีกครั้งประชาชนไทยทั่วประเทศจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยของประชาชนหรือจะทนอยู่ใต้ฝ่าเท้าของระบอบอำมาตยาธิปไตยต่อไป?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net