จดหมายเปิดผนึก : บันทึกน้ำตาของคนไทยตกค้าง…(2)

โดย เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทย จังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์

 

 

คนไทยพลัดถิ่น เป็นคนไทยที่ถูกลัทธิอาณานิคมแบ่งแยกดินแดน โดยอังกฤษที่เข้ามาปกครองพม่าเมื่อปี พ.ศ.2411 เมื่อไทยเสียดินแดนให้กับอังกฤษ เส้นเขตแดนที่ขีดกั้นดินแดนไทย-พม่า กลับมาขวางและปิดกั้นไม่ให้พวกเขาเป็นไทยเมื่อกลับเข้ามาอยู่แผ่นดินแม่ คนไทยพลัดถิ่นเริ่มเดินทางเข้ามาอยู่แผ่นดินแม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 และเริ่มเข้ามามากขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2501 เป็นต้นมา มีการทยอยเข้ามาเป็นระยะๆ เพราะทนการถูกรุกรานจากรัฐบาลทหารพม่าไม่ไหว เนื่องจากพม่าไม่นับคนไทยพลัดถิ่นเป็นคนของประเทศ ถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง กระทำกับคนไทยพลัดถิ่นเหมือนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่นเดียวที่กระทำกับกลุ่มชนชาติกระเหรี่ยง ชนชาติมอน

 

ปัจจุบันคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ในแถบจังหวัดชายแดนระหว่างไทย-พม่าในภาคใต้ คือ จังหวัดระนอง แถบบ้านปากเตรียม อำเภอคุระบุรี บ้านท่ากลาง บ้านบางกล้วย บ้านท่าเรือบางกล้วย บ้านคึกฤทธิ์ บ้านไร่ใต้ บ้านคลองดาว อำเภอสุขสำราญ บ้านบางลำพู บ้านบางเบน อำเภอสุขสำราญ บ้านในตระ อำเภอกระบุรี และบ้านช้างแหก บ้านห้วยม่วง บ้านบางคด บ้านราชกรูด บ้านท่าฉาง บ้านซอยสำนักสงฆ์ บ้านหินช้าง อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่บ้านหินเทิน อำเภอบางสะพานน้อย บ้านไทรทอง บ้านคลองลอย บ้านในล็อค 1,2 อำเภอบางสะพาน บ้านทุ่งพุด หมู่ 11 บ้านโป่งแดง หมู่ 3 อำเภอทับสะแก บ้านไร่เครา หมู่ 6 อำเภอเมือง และบ้านไร่เครา หมู่ 5 อำเภอสามร้อยยอด และบางส่วนอาศัยอยู่ในอีกหลายอำเภอในจังหวัดชุมพร ซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น

 

คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้มีพี่น้องอยู่ในประเทศไทย ในอดีตก่อนและหลังปักปันเขตแดน (ก่อนสร้างรัฐชาติ) มีการเดินทางข้ามไปเยี่ยมเยียนกันอยู่เสมอ แม้การเดินทางไปมาจะลำบากเนื่องจากต้องเดินเท้าข้ามเขา ข้ามแม่น้ำ ข้ามทะเล แต่ไม่ได้สร้างความลำบากใจให้กับคนทั้งสองฟากฝั่งเหมือนในยุคปัจจุบัน

 

สมัยก่อนคนจากปกเปี้ยนเดินทางไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดภูเก็ตใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ถ้ามาเยี่ยมญาติที่จังหวัดระนองใช้เวลาอย่างน้อย 2-7 วัน เป็นต้น การเชื่อมโยงสายเลือดดำรงมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อข้ามมาอยู่ฝั่งไทยคนไทยพลัดถิ่นก็มักจะไปอยู่อาศัยกับญาติพี่น้อง ก่อนที่จะขยายครอบครัวออกไป

 

สำหรับผู้ที่อพยพมารุ่นแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 ส่วนใหญ่ได้รับการสำรวจสำมะโนประชากรเป็นคนไทย มีบัตรประชาชนไทย ส่วนกลุ่มคนอพยพมาหลังจากนั้น ส่วนใหญ่จะตกหล่นการสำรวจประชากร แม้ว่าทางรัฐบาลจะเคยประกาศให้คนไทยที่ตกหล่นและอพยพเข้ามาก่อนปี พ.ศ.2519 ให้ได้รับการสำรวจและได้สัญชาติไทย แต่คนไทยพลัดถิ่นส่วนใหญ่ไม่ได้รับทราบประเด็นนี้ บางส่วนไปขึ้นทะเบียนการสำรวจกับเจ้าหน้าที่อำเภอ แต่ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับแต่ประการใด พวกเขาจึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยมีบัตรประชาชนไทย ทั้งยังถูกตีตราว่าเป็นต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ทางราชการทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนที่พวกเขารู้จักในนาม "บัตรเหลืองขอบน้ำเงิน" หรือบัตรบุคคลสัญชาติพม่า เชื้อสายไทย

 

นอกจากบัตรชนิดนี้แล้วยังมีบัตร "ใบสำคัญถิ่นที่อยู่" ที่ระบุไว้เป็นบุคคลสองประเภทคือ "ไร้สัญชาติ" และบางคนถูกระบุว่าเป็น "สัญชาติพม่า" ทว่าเป็นบัตรเหล่านี้กลับตอกย้ำความเจ็บปวดและเบียดขับให้คนที่ได้ถือบัตรให้ไปอยู่ชายขอบของสังคมไทย ส่งผลกระทบไปถึงบุตรหลาน ที่ต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติและบางคนต้องถูกระบุเป็นสัญชาติพม่าตามหลักฐานของพ่อแม่ สำหรับคนที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ยังคงเป็นบุคคลไร้ตัวตนในสังคมไทย ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีชื่อในสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาของรัฐอย่างสมบูรณ์ ไม่มีชื่อในบัญชีทุนการศึกษาเล่าเรียนของโรงเรียน ไม่มีสิทธิประกอบอาชีพตามความฝันของตนเอง ไม่มีสิทธิขับรถอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพราะไม่สามารถทำใบขับขี่ ฯลฯ เป็นต้น

 

ปัจจุบันเครือข่ายการแก้ปัญหาการคืนสัญชาติไทยฯ โดยคนไทยพลัดถิ่นพยายามเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เห็นถึงความเดือดร้อนของพวกเขา เรียกร้องการคืนสัญชาติไทย ในเบื้องต้นพวกเขาสามารถถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลข 13 หลัก) อย่างน้อยก็เป็นความหวังให้พวกเขาสามารถมีตัวตนในสังคมไทยในอนาคต

 

เมื่อมาอยู่ในแผ่นดินแม่ พวกเขาประสบปัญหามากมายดังที่กล่าวมาข้างต้น ต้องคอยหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมีสถานภาพเป็นคนต่างด้าว และถูกกล่าวหาว่าเป็นพม่า ความทุกข์ยากทับถมทวี ดังจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจากบ้านในล็อค เขาเปลือยชีวิตของพวกเขาโดยมีความปลอดภัยในชีวิตเป็นเดิมพัน ....

 





 

จดหมายเปิดผนึกจากคนพลัดถิ่นบ้านในล็อค

 

 

 

พี่น้องคนไทยพลัดถิ่นกับจดหมายเปิดผนึก

   

  

 

คนไทยพลัดถิ่นกับการระดมสมองเพื่อเรียกร้องขอความเห็นใจจากรัฐบาล

 

 

บันทึกความเจ็บปวดของคนไทยตกค้างหรือไทยพลัดถิ่นเขต ตำบลสิงขร อำเภอตะนาวศรี จังหวัดมะริต ผมผู้บันทึกเป็นคนอยู่ในหมู่บ้านลำมะเท็งตอนใต้ของสิงขรเพราะในเขตอำเภอสิงขรมีคนไทยพลัดถิ่นอยู่หลายหมู่บ้านที่ยังคงพูดภาษาไทย  เช่น บ้านสิงขร บ้านวังจำปา บ้านปะคลองสิงขร บ้านหินตั้ง บ้านชาละวัน บ้านหาดแก้ บ้านแหมลมยวน บ้านทุ่งข่า บ้านทุ่งทองหลาง และบ้านลำเท็ง บ้านหินแข้ บ้านมุโพรง อาชีพหลักก็ทำนา ทำสวน และทำไร่ และตัดหวายเสริมตอนงานหลักหมด อยู่กันอย่างมีความสุขได้อะไรเราก็แบ่งกันกินเจ็บป่วยเราก็ช่วยเหลือกัน แม้ตอนเสียชีวิตเราจะช่วยเหลือทุกอย่างเลย มีต้นข้านหรือเงินสิ่งของต่างๆ เราก็จะเอาไปช่วยกันวันสุดท้ายก็ช่วยกันหามไปฝังป่าช้า นับถือศาสนาพุทธ มีประเพณีเล่นสงกรานต์ เล่นลูกช่วง เล่นสะบ้า เล่นรำวง หนังตะลุง โนรา มีอาบน้ำพระ อาบน้ำคนแก่ และอื่นๆ อีกมากมาย

 

จนมาถึงปี 2470 เป็นต้นมาพี่น้องบางส่วนเริ่มเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทย  รุ่นสองก็จะมาประเทศไทยในปี 2501 ถึง 2510 บางส่วนก็เดินทางกลับพม่าก็มี เพราะทนรับจ้างกันไม่ไหว เพราะตอนนั้นพม่ายังไม่ทำรุนแรงกับคนไทยพลัดถิ่น มีอะไรก็จะพูดกันชาวแต่คำดี ไม่ทำร้ายร่างกาย อยากจะกินอะไรของชาวบ้านก็ซื้อหรือขอเอา ถ้าชาวบ้านไม่ให้ก็จะไม่เอาเด็ดขาด

 

แต่หลังปี 2515 เป็นต้นมา พม่าก็เริ่มใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านอย่างเต็มที่ ไม่ว่าการจับเอาชาวบ้านไปเป็นลูกหาบของ แบกลูกปืน แบกข้าวสาร อาหารต่างๆ เป็นคนนำทางผ่านหมู่บ้านไหน ก็จะให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนจัดหาลูกหาบท่าหาไม่ได้ก็จะไล่จับกันเอาเอง และผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นลูกหาบด้วย ถ้าจับผู้ชายไม่ได้เลยก็จะจับผู้หญิงเอาไว้แทน ถ้าใครไม่อยากให้ลูกเมียไปเป็นลูกหาบก็จะออกจากป่ามาเปลี่ยนตัวแทนลูกเมียของตน ถ้าบ้านไหนไม่มีผู้ชาย พวกผู้หญิงก็ต้องไปเป็นลูกหาบเอง เป็นอย่างนี้ตลอดมา ขอให้ตัดไม้บ้าง เก็บเงินบ้าง ขุดทางถนนบ้าง เวลาไปขุดทำทางเราต้องเตรียมของไปเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจอบ อาหารการกิน เงิน หรือเสื้อผ้า ต้องนำไปเองทั้งหมด ต้องใช้ให้คนทำทางแทนรถ  เอาเกวียนเอาช้างของชาวบ้านมาลากสิ่งของ เพื่อทำทางทุกอย่างต้องทำให้มันโดยชาวบ้านออกเงินออกกำลังเองทั้งหมด บางคนทนไม่ไหวก็พาครอบครัวหนีเข้าประเทศไทย มาอยู่ตามชายแดนบ้างในประเทศไทยบ้าง

 

แต่เมื่อ พ.ศ. 2537 ทหารพม่าให้เวลาคนไทยพลัดถิ่นออกจากประเทศพม่าให้หมด โดยให้เวลา 20 วัน เมื่อครบกำหนด ทหารพม่าจะเข้าไปตรวจดู ถ้าคนไหนยังอยู่ก็จะโดนจับหรือฆ่าทิ้งทันที่ ตอนนั้นผู้เขียนเข้าไปเที่ยวเยี่ยมพี่น้องในพม่าพอดีจึงพากันละทิ้งสิ่งของต่างๆ เช่น บ้านข้าวปลาดิน นาไร่ ตอนเป็นเวลาเก็บข้าวพอดี ต้องทิ้งเอาไว้ทั้งหมดและเดินทางเข้าช่องทางมอน เขาเรียกทางบ้านใหญ่ อำเภอทับสะแก เดินทางมาจำนวน 74 คน เดินทางมา 5 วัน ลำบากมากเพราะตอนนั้นหน้าฝนพอดี ลำบากที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยเดินทางมาเลยทีเดียว หุงข้าวกินก็ลำบากทุกๆ อย่างต้องใช้ความเงียบ ถ้าไม่เงียบเดี๋ยวทหารพม่าเจอก็จะโดนยิงทิ้ง แต่พี่น้องเรามีความสามัคคีกันดีจึงรอดพ้นมากได้จนสำเร็จ จนถึงชายแดนไทยพม่าช่องบ้านใหญ่

 

พอถึงชายแดนไทยเจ้าหน้าที่เขาไม่ให้ลงเขาส่งเจ้าหน้าที่ ต.ช.ด. มาดักพวกผม ไม่ใช้ลงประเทศไทยเกือบโดนทหารมอนเอาพวกผมไปเป็นคนของเขา ทหารมอนเอาพวกเราไปไว้ที่ช่องชี ซึ่งเป็นหมู่บ้านมอน แต่เจ้าหน้าที่ ต.ช.ด. ไปบอกทหารมอนว่า ให้ส่งคนไทยพลัดถิ่นกลับคืนมา พวกเขาเป็นคนไทยพลัดถิ่น เมื่อทหารมอนรู้เรื่องแล้วเขาก็ยอมปล่อยพี่น้องพลัดถิ่นกลับคืน เมื่อมากลับมาถึงด่าน เจ้าหน้าที่ ต.ช.ด. เขาก็นึกสงสารเขาคงเห็นว่าเราเป็นคนไทยเหมือนกัน เขาเลยแอบบอกเป็นนัยๆ ว่าทำไมไม่แอบลงกันละ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยลงกันหมดและแยกย้ายกันไปอยู่ในบ้านด่านสิงขร บ้านทุ่งพุฒิ บ้านในล็อค บ้านในราช อยู่กันได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่หน่วยเหนือทราบเรื่องจึงให้จับพี่น้องพลัดถิ่นส่งกลับแต่เมื่อทราบว่าเราเป็นคนไทยเหมือนกันเลยสงสารเอาพวกเราไปส่งที่ป่ามะพร้าวที่บ้านหนองหอย อำเภอทับสะแก และให้พี่น้องที่มีบัตรเหมารถไปรับกลับคืนมาอยู่ที่เดิมนี้จนถึงทุกวันนี้ และเกิดการโกงกันมากมาย แต่ผู้เขียนไม่อยากจะหาเรื่องกับใครอีกจึงไม่อยากจะพูดอะไรให้มากมาย แต่ก็ขอยืนยันว่าสำหรับคนพลัดถิ่นยังไม่ได้เลิกทาสที่เราโดยกระทำเรื่องต่างๆ เหมือนวัวควายจริงๆ ขอรับรอง

 

ทุกวันนี้ตัวผู้เขียนและพี่น้องร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์รวมใจคนไทยพลัดถิ่นบ้านในล็อคโดยตัวผู้เขียนเป็นประธาน มีพี่น้องเป็นสมาชิก 63 คน มียอดเงินสะสม 257550 บาท มีพี่น้องรวม 315 คน อาศัยความสามัคคีช่วยกันทำทุกเรื่องไม่ว่าการฝึกลูกเสือชาวบ้าน และฝึก อ.พ.ป.ร. สายข่าวของ กอ.รมน. ทำทุกอย่าง เขาใช้บ้าง เราพร้อมใจบ้าง  ถ้าไม่ทำเราก็จะอยู่อย่างลำบาก อยากจะรู้เรื่องทั้งหมดก็จงเกิดเป็นคนไทยพลัดถิ่นซิครับจะรู้ความจริง เพราะเราไม่มีใครจะพูด เพราะกลัวจะไม่ปลอดภัย สุดท้ายผู้เขียนก็อยากให้คำเขียนนี้เป็นเหมือนคำเล่าที่จริงแต่ไม่หมด เพราะบางสิ่งพูดยาก แต่สิ่งที่อยากให้รัฐแก้ไขเรื่องคนไร้สัญชาติอย่างจริงจังไม่ใช้แก้ไปวันๆ เราไปยื่นหนังสือเขาก็รับแต่ไม่แก้ไข พอจะแก้เขาเอาคนที่ไหนไม่รู้มาให้สัญชาติ  

 

ทุกวันนี้ผมกับพี่น้องอยู่กันอย่างหวาดกลัวเพราะโดนเขากระทำทุกอย่างแต่ไม่มีใครอยากพูด เพราะพูดแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไอ้พวกเลวก็ยังนั่งอยู่บนคอของคนไทยพลัดถิ่นเหมือนเดิม และสิ่งที่ไม่ได้บังคับเราคนไทยพลัดถิ่นก็ทำในสิ่งที่เราอยากทำเป็นประจำทุกปี เช่น ปลูกต้นไม้เนื่องในวันพ่อ และวันแม่ กลางวันเราจะช่วยกันทำงานต่างๆ ทำความสะอาดหมู่บ้าน ปลูกต้นไม้ ถางป่าตามแนวถนนกลางคืน ลูกเสือชาวบ้านและพี่น้องที่เป็นคนไทยพลัดถิ่นจะร่วมกันจุดเทียนชัยถวายพระพรให้พ่อและวันแม่เป็นเวลาทุกๆ ปีไม่เคยพลาด เพราะทุกวันนี้พวกเราก็ยังมีพ่อแม่ของแผ่นดินเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องพลัดถิ่นของเรา เพราะถ้าไม่มีพระองค์พี่น้องพลัดถิ่นเราก็คงจะอยู่แผ่นดินที่ปู่ย่าสร้างไว้ไม่ได้แน่นอน เพราะแผ่นดินนี้เขาจะเอาแต่คนมีเงินเท่านั้น ถ้ามีเงินจะได้ทุกอย่างที่เขาคนนั้นอยากได้ ในแผ่นดินไทยไม่ว่าจะอยากได้สัญชาติหรือทำลายป่าด้วยยาบ้า ขนของผิดกฎหมายต่างๆ จะได้ทั้งหมดเราเป็นคนจนและเป็นคนไทยพลัดถิ่นจึงไม่ค่อยจะได้อะไรง่ายๆ ตามที่หวัง เป็นคนไทยที่ตกค้างตอนเราเสียดินแดนก็ตาม   ทุกวันนี้เราอยู่กันไม่ต่างอะไรกับหมาที่เจ้านายไม่รักจะไปพึ่งใครก็ไม่มีคนที่จริงใจเลยต้องอยู่กันอย่างก้มหน้าตลอด เมื่อไรพี่น้องพลัดถิ่นเราจะพบแสงสว่างกับเขาเสียที

 

                                    นายสำเนา สีทอง (ลพ) คนไทยพลัดถิ่น บ้านลำมะเทิง

 กลุ่มออมทรัพย์รวมใจคนไทยพลัดถิ่นบ้านในล็อคกลุ่ม 2

 

 







เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทย จังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์

25 ถ.ชลละอุ ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง 85000

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท