Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม
ประชาธิปไตยที่ห้ามกิน กับ ประชาธิปไตยที่กินได้ (ประชาธิปไตยในฐานะทรัพย์สิน กับ ประชาธิปไตยในฐานะทรัพยากร)


 


"I went to the red shirt rally at Victory monument tonight and I was
surprised to find myself crying as I was listening to the speeches and
looking at and talking to the people from all walks of life and provinces,
(even palat amphoe were there!!!) - because here were Thailand's phrai
finally in revolt against Sakdina - happy and sad at the same time,
because they can't win."


 


ข้อความข้างบนนี้มาจาก "ครู" ท่านหนึ่งของผม อ่านแล้วก็รู้สึกว่า หนังสือสีแดง สีเขียว สีเหลือง ("การเมืองของไพร่" "ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา" และ "พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ") ของสำนักพิมพ์โอเพ่นเมื่อสองสามปีก่อนน่าจะได้รับโอกาสในการนำมาพูดคุยอีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน


แม้จะมีข้อโต้แย้งง่ายๆว่า ไพร่กับศักดินาจบลงไปนานแล้วก็ตาม แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวนั้นก็ไม่อาจจะทัดทานพลังของคำว่า "ไพร่" ในความหมายของสังคมไทย ที่เกี่ยวพันกับความรู้สึกที่อยู่เบื้องล่างและถูกทำให้ด้อยค่าได้เสมอ


"พลังและอำนาจของถ้อยคำ" จึงมีความสำคัญเสมอในการปลุกเร้าความรู้สึก และการสร้างคำอธิบายกับความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ดำเนินไปในชีวิตของเราตลอดเวลา


เช่นเดียวกับบทความชิ้นนี้ ที่พยายามจะสนทนากับจดหมายของครูของผม (แม้ว่าบทความชิ้นนี้จะถูกตีพิมพ์ก่อนหน้าจดหมายฉบับนี้) พยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (คำว่าปัจจุบันอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงนี้) และพยายามนำเสนอการมองสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากความพยายามให้ความหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะกับคำว่า "ประชาธิปไตยที่กินได้" ที่หมายความง่ายๆว่า เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงการมอบอำนาจไว้ในอุ้งมือของนักการเมืองในนามของการเลือกตั้งเสียงข้างมาก ซึ่งในท้ายที่สุดก็มีการแปรสภาพเสียงข้างมากเป็นเสียงทั้งหมด และมีการแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายประชานิยม


คำอธิบายประชาธิปไตยที่กินได้เช่นนี้ อาจจะถูกโต้แย้งอย่างน้อยในสองประการ


หนึ่ง จากฝ่ายที่เห็นว่า ประชาธิปไตยแบบนี้เป็นประชาธิปไตยที่ไม่แท้จริง เพราะเป็นเรื่องของการซื้อเสียงและการคอรัปชั่น ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือการไม่เคารพหลักนิติรัฐ-นิติธรรม เพราะมีการปรับแก้กฎหมายให้ผู้มีอำนาจจากการเลือกตั้งได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่กลุ่มเดียว และมีการอ้างอิงการเลือกตั้งในการฟอกความผิดราวกับว่าถ้ามาจากการเลือกตั้งก็แปลว่าได้รับเลือกจากประชาชนแล้ว นั่นคือความยุติธรรม


ข้อโต้แย้งเช่นนี้นำไปสู่การขัดขืนต่อระบอบประชาธิปไตยกินได้ที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เราเผชิญอยู่ก็คือ ทำไมแนวคิดประชาธิปไตยกินได้ยังได้รับการตอบรับมหาศาล


เป็นเพราะว่าประชาชนเสื้อแดง "มีจิตสำนึกที่ผิดพลาด" หรือ "เห็นแก่ตัว" เท่านั้นหรือ?


สอง ถ้าประชาธิปไตยกินได้เป็นแนวคิดที่วางอยู่บนทางเลือกของการเลือกตั้ง และการซื้อเสียง ดังที่ถูกกล่าวหา ทำไมการรวมตัวของฝ่ายประชาธิปไตยกินได้จึงใช้เวลาถึงสองสามปีกว่าจะสามารถแสดงพลังได้ในระดับนี้? นี่คือม็อบของทักษิณเท่านั้นหรือ?


นอกจากนี้แล้วจะพบว่า คำอธิบายจำนวนไม่น้อยในช่วงนี้ก็พยายามนำเสนอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากการ "นำ" ของ "แกนนำ" อีกต่อไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของการไล่ไม่ทันความต้องการของมวลชนต่างหาก เนื่องจากมีคนจำนวนหลายกลุ่มมาเข้าร่วม และมีที่มาหลากหลาย


พื้นที่ต่อจากนี้จึงเป็นความพยายามที่จะเล่านิทานเรื่องประชาธิปไตยในสองแบบ ที่แท้พอๆกัน และไม่แท้พอๆกัน ให้ฟัง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่กินได้ที่ท้องถนนในช่วงนี้นั้น อาจไม่ตรงกับประชาธิปไตยที่กินได้ที่แกนนำบางคนเข้าใจ และอาจไม่ตรงกับความเข้าใจของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยแบบกินได้ ...


.............................


ในสังคมไทยอาจมีประชาธิปไตยหลายแบบ แต่จะขอยกตัวอย่างประชาธิปไตยสักสองแบบมาพิจารณากัน นั้นคือประชาธิปไตยที่ห้ามกิน กับประชาธิปไตยที่กินได้


หรือจะเรียกว่า ประชาธิปไตยในฐานะทรัพย์สิน (property)  กับ ประชาธิปไตยในฐานะทรัพยากร (resource)


ผมไม่ได้บอกว่าต้องเลือกประชาธิปไตยอย่างไหน แต่อยากพยายามทำความเข้าใจว่าประชาธิปไตยทั้งสองแบบมันมีฐานคิดและฐานปฏิบัติที่ต่างกัน และในขณะนี้ผมก็ยังไม่เชื่อว่าจะเชื่อมประสานให้ประชาธิปไตยทั้งสองแบบอยู่ด้วยกันได้อย่างไร


แถมยังกลัวด้วยว่า ถ้าเกิดรู้เข้าจริงๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปฏิรูปการเมืองผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะว่า ผมก็ยังอธิบายไม่ได้ว่า เราจะบอกว่าประชาธิปไตยแบบไหนมีมากกว่า หรือ น้อยกว่า หรือควรจะเอาส่วนไหนนำ ต่างจากคนรุ่นครูผมที่ไม่ลังเลที่จะชี้ผิดถูก เอากลุ่มหนึ่งมาเหนืออีกกลุ่มหนึ่ง หรือบอกว่าควรประนีประนอม


ในวันนี้จึงป่วยการที่จะบอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร แต่ควรเข้าใจแนวคิดทั้งสองฝ่ายมากกว่า


ประชาธิปไตยที่ห้ามกิน มักจะอ้างตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยที่ใสสะอาด ปราศจากคอรัปชั่น เป็นประชาธิปไตยที่ "ห้ามกิน" เพราะประชาธิปไตยเป็นเสมือนทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล หรือของชาติที่หมายถึงองค์รวมของบุคคลที่เอามาบวกกัน


ประชาธิปไตยเช่นนี้เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นทรัพย์สิน ที่ต้องการความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการบริหารและใช้งาน ศัตรูของประชาธิปไตยแบบนี้มีสองแบบ คือ ทรราชที่เข้ามาพรากทรัพย์สินหรือประชาธิปไตยของพวกเขาไป และ ประชาชนจำนวนมากที่ใช้ทรัพย์สินไม่เป็น เช่นเอาไปขาย(ขายสิทธิขายเสียง)


ประชาธิปไตยที่กินได้นั้น ไม่จำเป็นต้องแปลว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงกว่าแบบห้ามกิน แต่หมายถึงประชาธิปไตยที่เป็น (ฐาน)ทรัพยากร เหมือนกับดิน น้ำ ป่า อากาศ ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครให้มา มาเมื่อไหร่ และเป็นของคนใดคนหนึ่ง (รู้และไม่รู้ว่ามีที่มาอย่างไร หรือรู้ประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้ ไม่มีผลต่อการปกป้องหรือเรียกร้องสิ่งเหล่านี้)


ประชาธิปไตยที่กินได้ตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นที่มาของการทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการทำมาหากินสืบเนื่องต่อไป เหมือนกับการมีที่ดิน มีน้ำที่จะเพาะปลูก ทำให้ชีวิตงอกเงย


ประชาธิปไตยในแง่นี้อาจไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพของคนใดคนหนึ่ง แต่อาจหมายถึงการเข้าถึงอำนาจของคนทั้งชุมชน ทั้งหมู่บ้าน


ในแง่นี้ประชาธิปไตยจึงไม่จำเป็นต้องมากับ "สมอง" แต่อาจจะมาจาก "หัวใจ" ในความหมายว่าเขาอาจไม่ได้มีความเข้าใจถ่องแท้ในประชาธิปไตย แต่เขารู้ว่ามันมีค่าสำหรับเขา ค่าที่มีสำหรับเขาอาจจะอธิบายชัดเชยไม่ได้ แต่ลึกๆเขารู้สึกและสัมผัสได้


บางครั้งเหมือนการอธิบายเรื่องบางเรื่องที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้นั่นแหละครับ (ศัพท์วัยรุ่นก็ประมาณว่า ความรักไม่ต้องการเหตุผล หรือ ความรักมันมีเหตุผลของมัน)


คนจำนวนมากที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่กินได้อาจไม่ได้คิดจะพลีชีพ เพราะรู้สึกว่าตนนั้นถูกพรากจากทรัพย์สินที่เข้าใจถ่องแท้ว่ามีอำนาจ ขอบเขตและคุณลักษณะอะไร แต่เขาออกมาแสดงออกตั้งแต่ความไม่พอใจ จนกระทั่งอาจจะพลีชีพในทำนองเดียวกับที่เขารู้สึกว่าเขาถูกพรากที่ดิน น้ำ ป่า อากาศ ที่เขาทำกินของเขาได้


เขาอาจคำนวณไม่ได้แจ่มชัดว่าเขาจะต้องยอมถูกพรากประชาธิปไตยไปในระยะเวลาหนึ่ง แล้วรอประชาธิปไตยกลับมาใหม่ ประชาธิปไตยอาจจะมีบทบาทกับชีวิตของเขาแม้ว่าอาจจะดูไม่สมเหตุสมผล ไม่มีประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งดูราวกับขาดทุนแหงๆ เหมือนกับการเพาะปลูกบางอย่างที่กระทำตามๆกันไป


เขาอาจไม่รู้หรือไม่สนใจว่าเขาได้สิ่งเหล่านี้มาเมื่อไหร่ เพราะนั่นไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญก็คือสำหรับเขา ประชาธิปไตยนั้นมีขึ้นมีลง เหมือนคุณลักษณะของ(ฐาน)ทรัพยากรที่เขามี ซึ่งบางปีก็ดี บางปีก็ไม่ดี ก็ต้องผลัดเปลี่ยนกันไป


และที่สำคัญประชาธิปไตยสำหรับเขาจึงเป็นเรื่องที่มากกว่าเรื่อง "การเมือง" หรือ "สิทธิทางการเมือง" ที่มีก็ได้ไม่มีก็ได้ หรือเว้นวรรคได้เพราะการเมืองไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการสร้างความมั่งคั่งเหมือนแนวคิดการเมืองห้ามกิน ในความหมายว่าความมั่งคั่งหรือการมีชีวิตที่ดีต้องมาจากการเมืองที่ดีเท่านั้น ถ้าการเมืองไม่ดีไม่ต้องมีก็ได้


แต่สำหรับประชาธิปไตยที่กินได้นั้น การเมืองที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง หรือประชาธิปไตยที่ขึ้นๆลงๆนั้นเป็น "สิทธิธรรมชาติ" ที่มากับชาวบ้านอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อขาดไปเมื่อไหร่ ก็เหมือนขาด(ฐาน)ทรัพยากร (ต่างจากขาดทรัพย์สินในแบบประชาธิปไตยที่ห้ามกิน หรือมองว่าเป็นสิทธิที่ได้มาทีหลัง ไม่ได้มีอยู่ก่อน)


หรือบางครั้งอาจไม่ขาดแต่ก็เข้าไม่ถึงและเข้าถึงได้ยาก


สรุปง่ายๆ ประชาธิปไตยที่กินได้จึงไม่เท่ากับระบอบทักษิณเหมือนกับที่ทักษิณพยายามบอก และประชาธิปไตยที่กินได้ก็ไม่ได้เท่ากับการเลือกตั้งแบบซื้อเสียง


แต่หมายถึงระบบการตัดสินใจร่วมของชุมชนท้องถิ่นที่สลับซับซ้อน มีทั้งเรื่องราวของตัวเขา ครอบครัวเขา ชุมชนของเขา และท้องถิ่นของเขา ซึ่งระบบการตัดสินใจร่วมเหล่านั้นอาจไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์ แต่เขารู้สึกว่าเขาแตะต้องได้ ต่อรองได้มากบ้างน้อยบ้าง


แต่เท่าที่ผ่านมา กระบวนการประชาธิปไตยแบบห้ามกินเริ่มรุกรานพื้นที่ของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เคยฟังเสียงของพวกเขาว่าพวกเขาจะได้รับโอกาสและอำนาจในการต่อรองมากขึ้นอย่างไร ทั้งที่กระบวนการแก้ไขอาจจะเต็มไปด้วยความหวังดีก็ตาม แต่ก็เป็นความหวังดีที่ลดทอนพลังในการต่อรองของผู้คนจำนวนมาก เพราะกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของความเป็นสากลที่ไม่ยืดหยุ่นต่อพื้นที่อยู่ไม่ใช้น้อย


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ให้ความยุติธรรมเป็นคนที่อยู่นอกพื้นที่ ไม่ใช่คนในชุมชนเดียวกับเขา


กระบวนการประชาธิปไตยที่ห้ามกิน จึงลดทอนทั้งอำนาจและความสลับซับซ้อนของประชาธิปไตยที่กินได้ซึ่งกระจายตัวออกไปทั่วทุกพื้นที่ มาเป็นเวลานาน และจะพบว่าที่ผ่านมาความพยายามที่จะแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบกินได้นั้นไม่เคยแก้ด้วยการพยายามเข้าใจประชาธิปไตยที่กินได้ แต่ทำราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ประชาธิปไตยแบบห้ามกินจะต้องอยู่เหนือกว่า อาทิ ความพยายามในการเพิ่มจำนวนสัดส่วนของชนชั้นกลาง ในพื้นที่การเมือง หรือที่ลามไปถึงการเพิ่มสัดส่วนของตัวแทนอื่นๆเข้ามาในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง อาทิ ข้าราชการประจำ


การพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่โหยหาประชาธิปไตยกินได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะมาอ้างว่าประชาธิปไตยแบบใดแท้กว่า หรือไม่แท้ แต่การยิ่งมองแต่ไม่เข้าใจประชาธิปไตยกินได้ในมุมมองของประชาธิปไตยกินได้เอง จะไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจผู้คนจำนวนมาก และไม่ได้ช่วยให้เกิดความพยายามที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยเคารพความคิดเห็นและศักดิ์ศรีของคนที่เห็นไม่ตรงกับเราแต่อย่างใด


 


(ปรับปรุงจากบทความในคอลัมน์ "ประชาธิปไตยที่รัก" ใน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๒ หน้า ๔ ตีพิมพ์พร้อมกันใน prachatai.com และ onopen.com)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net