เมื่อบ้านเมืองลงแดง...

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"นาวีจิตติ"

 

 

           

ศาสตราจารย์เบน แอนเดอร์สันแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล เคยพูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยช่วง 6 ตุลาไว้ว่ารัฐไทยอยู่ในสถานการณ์ "บ้านเมืองลงแดง" ซึ่งลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจตระเวนชายแดนและขบวนการฝ่ายขวาได้ทำร้ายและฆ่าประชาชนและนักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [1] ในขณะที่ประเทศไทยก็เผชิญกับสถานการณ์ "ลงแดง" อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นไปในทางกลับหัวกลับหาง ความรุนแรงของมวลชน "เสื้อแดง" กำลังกลับมา "หลอกหลอน" ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในสังคมไทยแทน การชุมนุมเริ่มต้นจากการบุกยึดบริเวณทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มเสื้อแดง การขยายไปปิดล้อมสี่แยกต่างๆ อันนำมาสู่การอัมพาตของระบบจราจรและเดินทางของคนกรุงเทพฯ การบุกเข้าไปในที่ประชุมอาเซียนที่พัทยาจนนำมาสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดฯของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ซึ่งเป็นไปอย่างทุลักทุเล แม้กระทั่งนายกฯยังต้องรีบหลบหนีออกจากกระทรวงมหาดไทยทันที ส่วนรถยนต์ประจำตำแหน่งก็ถูกผู้ชุมนุมทุบตีอย่างรุนแรง) แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์บ้านเมืองกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมวลชนเสื้อแดงได้ปิดถนนเพิ่มขึ้นและมีการเผารถโดยสารประจำทางและยางรถยนต์ในบริเวณต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ สัญญาณต่างๆ เหล่านี้ไม่มีวี่แววจะนำไปสู่การยุติของการชุมนุมและสามารถกลับสู่ระเบียบและนิติรัฐได้อย่างง่ายดายตามที่นายกฯได้คาดหวังไว้

           
ในประการแรก การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้
"ยกระดับ" ของสถานการณ์ความขัดแย้งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และกระโจนลงไป "เล่น" กับผู้ชุมนุมในเพลิงไฟแห่งความขัดแย้งนี้เสียเอง การประกาศนี้ได้สร้างความไม่มั่นคง (insecurity) ให้แก่ทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชุมนุมนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยิ่งไปกระตุ้นความโกรธความเกลียดชังของผู้ชุมนุม ซึ่งมองว่าเป็นการประกาศการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังทหารและตำรวจ เราได้เห็นถึงการตอบโต้กลับ (strike back) ของกลุ่มเสื้อแดงที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะกลายเป็นการก่อวินาศกรรมในเมือง ถึงตอนนี้ "รัฐ" ในฐานะเป็นผู้ที่ผูกขาดการใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรม กลับไม่อยู่ในฐานะที่จะผูกขาดการใช้ความรุนแรงอีกต่อไป เพราะประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นได้หมดความชอบธรรมทางการเมืองลงแล้ว

 

ในอีกด้านหนึ่ง ในเชิงประสิทธิภาพของปฏิบัติการของตำรวจทหารนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นมิได้หมายความว่าทหารตำรวจสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้ผ่อนคลายลงได้อย่างทันทีทันใด และยิ่งเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กับความรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุม สถานการณ์ยิ่งเพิ่มขีดความรุนแรงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารทำได้อย่างมากที่สุดคือ การดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงของฝ่ายต่างๆ อย่างสันติวิธี ทางออกขั้นแรกอาจจะคือการทำอย่างไรที่จะลดระดับของความขัดแย้งดังกล่าวลงมา และไม่ให้น้ำหนักแก่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมากจนเกินไป (รวมถึงการเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร) กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐบาลอภิสิทธิ์ควรที่จะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความร้อนแรงของบ้านเมืองลงไป หากว่ารัฐบาลยังต้องการที่จะบริหารประเทศต่อไป เพราะความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้เป็นความขัดแย้งของมวลชนที่รัฐจะสามารถเอาชนะได้ก็ต่อเมื่อรัฐสามารถเอาชนะหัวใจและจิตใจของมวลชนให้ได้ การล้อมปราบของทหารเกิดขึ้นเมื่อใด รัฐบาลจะพ่ายแพ้ทันที  

           

ในประการต่อมา ถึงตอนนี้คนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางนั้น (ผ่านสื่อกระแสหลัก) คงมีความรู้สึกร่วมกันไม่มากก็น้อยนั่นคือ ความไม่พอใจที่มีต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดง (ซึ่งอย่างน้อยที่สุด เราจะเห็นได้จากการโห่ไล่ผู้ชุมนุมที่สถานีรถไฟฟ้าสาธรและบริเวณแฟลตดินแดง) ทำไมรัฐบาลถึงอ่อนแอและไม่มีความสามารถที่จะจัดการกับคนเสื้อแดงที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองเลยหรืออย่างไร? ทำไมกองทัพกับตำรวจไม่เห็นทำอะไรกับคนกลุ่มเหล่านี้เลย? ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า ชนชั้นกลางจำนวนมากในกรุงเทพฯแทบจะ "อนุญาต" และ "เรียกหา" ให้รัฐใช้ความรุนแรงต่อคนเสื้อแดง ซึ่งถูกมองว่าเป็น "ศัตรู" ของชาติ (ดั่งคำกล่าวของท่านนายกฯอภิสิทธิ์) โดยไม่ได้มองคนเหล่านี้เป็นเพื่อนมนุษย์อีกต่อไป ถึงตอนนี้ "ความอดทนอดกลั้น" (tolerance) ของชนชั้นกลางเริ่มที่จะหมดสิ้นลงไป เมื่อเสื้อแดงได้ก้าวล่วงเข้ามาสู่ปริมณฑลชีวิตของชนชั้นกลาง ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองของการชุมนุมได้ขยายมากระทบกระเทือนและสร้างความเดือดร้อนต่อชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย วิถีชีวิตความสะดวกสบายที่ตนเคยมีมาโดยตลอดจากการสัญจรด้วยรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ถูกบั่นทอนลงไป (ดั่งจะเห็นได้จากในวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายนที่มีการปิดถนนหลายสาย) การชุมนุมของเสื้อแดงได้กลายเป็น "ปีศาจ" ที่กำลังหลอกหลอนชนชั้นกลาง (รวมทั้งชนชั้นสูง) อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนมองว่ามันยิ่งไปกว่า "ปีศาจ" คอมมิวนิสต์ที่หลอกหลอนชนชั้นนำไทยในช่วงยุคสงครามเวียดนามเสียอีก จนนำมาสู่การล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วถ้าเช่นนั้น ชะตากรรมของ "ปีศาจเสื้อแดง" จะลงเอยเช่นไร?

           

เมื่อพูดเช่นนี้แล้ว คำถามที่ตามมาอย่างกระชั้นและยากแก่การตอบก็คือ ถ้าเช่นนั้นการเมืองแบบประชาธิปไตยไปด้วยกันกับโลกทัศน์ของชนชั้นกลางได้หรือไม่? หรือถามอีกนัยหนึ่ง จริงๆ แล้ว "ประชาธิปไตย" นั้นคืออะไรกันแน่สำหรับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มาจนถึงประชาธิปไตยบนท้องถนนหรือการเมืองภาคประชาชน ฯลฯ ฯลฯ และ ฯลฯ ทุกฝ่ายต่างเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เมื่อไปดูจริงๆ แล้ว คำๆนี้กลับแทบจะไร้ความหมาย (meaningless) "ประชาธิปไตย" กลายเป็นคำที่ต้องมีเครื่องหมายคำพูดกำกับเสมอและเป็นคำที่ไร้ความหมายในสังคมไทย เพราะคนไทยไม่เคยเรียกร้องและต่อสู้อย่างเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งการเมืองประชาธิปไตย ในทางกลับกัน เรามีสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ซึ่งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสนอไว้อย่างตรงไปตรงมาว่าหมายถึง "การปกครองของชนชั้นนำ, โดยชนชั้นนำ และเพื่อชนชั้นนำ การเลือกตั้งและการรัฐประหารจึงเป็นเครื่องมือสำหรับการแบ่งปันอำนาจเท่าๆ กัน ใช้การเลือกตั้งหากสามารถแบ่งปันอำนาจกันได้ และรัฐประหารเมื่อรู้สึกว่าการแบ่งปันอำนาจไม่ "ลงตัว" "  [2]

           

หรือ ดังที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ได้จำแนกประชาธิปไตยออกเป็นสองแบบที่ไม่อาจลงรอยกันได้คือ "ประชาธิปไตยที่ห้ามกิน" กับ "ประชาธิปไตยที่กินได้" ในแบบแรก ประชาธิปไตยเป็นทรัพย์สินที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถและคุณงามความดีในการบริหาร ส่วนในแบบหลัง ประชาธิปไตยเป็นทรัพยากรที่จับต้องและเห็นได้ในการเข้าไปใช้สอยและมีส่วนร่วมในการบริโภคได้ [3]

 

อย่างไรก็ตาม กระแสหรือแนวความคิดอีกสายหนึ่งของประชาธิปไตยที่ถูกกดทับปฏิเสธและไม่ได้รับความสนใจในการเมืองไทยและการเมืองโลกในปัจจุบันคือ ประชาธิปไตยสายปฏิวัติ (revolutionary democracy) ซึ่งหมายถึง ประชาธิปไตยที่มุ่งเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนระบบการเมืองที่ผูกขาดอำนาจและไม่ยุติธรรม พร้อมๆ กับเปลี่ยนแปลงไปสู่ "สิ่งใหม่ๆ" เพื่อกระจายทรัพยากรให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการล่มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติอเมริกันหรือการโค่นล้มระบบทุนนิยมสามานต์เป็นต้น ในทัศนะของโทมัส เจฟเฟอร์สัน อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ การปฏิวัติในการเมืองประชาธิปไตยนั้นจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ขาดสาย เมื่อเกิดระเบียบขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้กระบวนการประชาธิปไตยเติบโตได้ต่อไป

 

ดังนั้น ในกระแสนี้ ประชาธิปไตยย่อมมิใช่สถาบันทางการเมืองหรือรูปแบบของรัฐที่คงทนถาวร แต่กลับเป็นโครงการทางการเมืองหรือกระบวนการทางการเมืองที่แบ่งแยกตัดขาดกับโครงสร้างอำนาจเดิมอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา [4] หากมองในแง่นี้ การใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางการเมืองประชาธิปไตยสายปฏิวัติย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมการเมืองอย่างถอนรากถอนโคนและเพื่อความเท่าเทียมกัน แนวความคิดนี้จึงไม่ได้เป็นพวกมือถือสากปากถือศีลที่มักถมถุยว่า "ไม่ใช้ความรุนแรง ใช้สันติวิธี" ออกมาแต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติใช้ในความเป็นจริง

           

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกยกระดับความรุนแรงขึ้นไปในวันสงกรานต์ปี 2552 นี้มีพลวัตและความลักลั่นที่คนไทยควรที่จะได้ศึกษาเป็นบทเรียนทางการเมือง และทำอย่างไรที่จะ "ข้ามพ้น" การเมือง "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" นี้ไปให้ได้ ซึ่งไม่ใช่ทั้งอำมาตยาธิปไตยและไม่ใช่ทั้งทุนนิยมสามานต์ (ซึ่งในความเป็นจริง ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นกลุ่มทุนเช่นเดียวกันนั่นเอง!) นี่คือโจทย์ที่สำคัญที่สุดของการเมืองไทยระยะใกล้

           

การเมืองไทยยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป และคงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว!!!    

 

 

 

...................................


เชิงอรรถ
[1]
โปรดดู Benedict Anderson, "Withdrawal Symptoms," in The Spectre of Comparisons: Nationalism, Southeast Asia and the World (London and New York: Verso, 2000), pp. 139-173.

[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์, รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552), หน้า 45.  

[3] โปรดดู พิชญ พงษ์สวัสดิ์, "ประชาธิปไตยที่ห้ามกิน กับ ประชาธิปไตยที่กินได้" http://www.prachatai.com/05web/th/home/16338.  

[4] โปรดดูงานเช่น Mike Haynes and Jim Wolfreys, eds., History and Revolution: Refuting Revisionism (New York and London: Verso, 2007); Michael Hardt, "Introduction: Thomas Jefferson, or, the Transition of Democracy," in Thomas Jefferson: The Declaration of Independence (London and New York: Verso, 2007); Sheldon Wolin, Politics and Vision: Continuity and Innovation in Western Political Thought, Expanded Edition (Princeton and Oxford: Princeton University Press, 2006); Slavuj Zizek, Revolution at the Gates (London and New York: Verso, 2002) เป็นต้น   

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท