สารคดี "สถานีวิทยุ BBC" : บุกถิ่นแดงในชนบทไทย

 





กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่างรอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ

 

 

ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ

ที่มา: แปลจาก "Seeing red in rural Thailand", By Lucy Ash, BBC Radio 4, Crossing Continents 

http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/8012145.stm

 

 

 

ลูซี่ แอช (Lucy Ash)

วิทยุบีบีซี ช่อง 4, ข้ามทวีป

 

 

 

เมื่อเตรียมตัวที่จะมาร่วมการประท้วงที่ในกรุงเทพเมื่อเร็วๆ นี้ บรรดาผู้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ถูกขับไล่ออกไปได้จัดงานหาทุนและบำรุงขวัญกันที่ภาคอีสาน อันเป็นพื้นที่หลักของกลุ่มเสื้อแดง

 

สนามด้านนอกของสถานีวิทยุมีขนาดใหญ่เท่ากับสองสนามฟุตบอล และอัดแน่นไปด้วยโต๊ะ

 

แน่นอน เป็นโต๊ะสีแดง และผ้าปูโต๊ะสีแดง

 

ประชาชนทยอยกันมา พร้อมกับกระสอบบรรจุข้าวและตะกร้าใบใหญ่บรรจุมะม่วงและพริก ด้านนอกห้องบันทึกเสียง กลุ่มผู้หญิงกำลังช่วยกันหั่นและฝานผักต่างๆ

 

พวกเธอหัวเราะและร้องเพลงไปด้วยขณะทำงาน ดูเหมือนว่าทุกคนกำลังมีความสุข

 

เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน สถานที่นั้นก็คับคั่งไปด้วยผู้คน เกือบทุกคนสวมเสื้อสีแดง บรรยากาศร้อนอบอ้าว แต่บนเวทีนักร้องสาวๆ ในชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไลกร้ากับรองเท้าบู้ท ร้องและเต้นกันอย่างสุดเหวี่ยง

 

 

"สร้างพลัง"ในชนบท

เบื้องหลังพวกเธอคือโปสเตอร์ขนาดใหญ่ มีรูปภาพของสองชาย : ด้านหนึ่งเป็นภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และอีกด้านหนึ่งคือภาพของผู้ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานคืนนั้น "ขวัญชัย ไพรพนา" หัวหน้าสถานีวิทยุชุมชนคนรักอุดร

 

ขวัญชัย, ชายร่างใหญ่เสียงดัง, เป็นพี่ใหญ่ในพื้นที่นี้ - เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลที่สุดของเมืองอุดรธานี เขาเคยเป็นดีเจที่ได้รับความนิยมมาก และเป็นผู้สนับสนุนการออกเทปเพลง "ลูกทุ่ง" ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านของไทย

 

"ผมเป็นเด็กท้องนา" เขาบอก "ผมไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน"

 

เขาบอกฉันว่า เขาเพิ่งก่อตั้งสถานีวิทยุเมื่อสามปีที่แล้วเพื่อโต้ตอบสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อจากขบวนการเสื้อเหลือง เพราะขบวนการนี้กำจัดทักษิณออกไป และจากนั้นก็พยายามกำจัดฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ

 

"ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ทักษิณขึ้นสู่อำนาจ เราพบว่า พวกเราสามารถทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของเราในแบบที่พวกเราไม่เคยทำมาก่อน" เขาบอก

 

"แต่หลังจากที่ทักษิณถูกขับไล่ออกไป สิ่งต่างๆ เริ่มที่จะย้อนกลับไปที่เดิม" เขากล่าวเพิ่มเติม

 

"เรารู้สึกเราถูกจับมัดมืออีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยถูกปล่อยให้เป็นอิสระแล้ว แต่เดี๋ยวนี้คนทั้งประเทศใช้อินเทอร์เนตได้ และชาวบ้านก็เรียนรู้ว่าจะสื่อสารกันได้อย่างไร ขอบคุณทักษิณที่ทำให้คนที่นี่เข้าใจว่าพวกเขามีส่วนร่วมในระบบการเมือง"

 

 

 

มุ่งสู่กรุงเทพฯ

พวกเรากำลังอยู่ในภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย ซึ่งเป็นปลักโคลนหลังบ้านที่ถูกลืมและเป็นนาข้าวที่กว้างไกลจนสุดตา

 

อุดรธานีเป็นจังหวัดที่ไม่มีอะไรน่าสนใจนักสำหรับการท่องเที่ยว แต่ในทางการเมืองนั้น ภาคอีสานมีความหมายมาก

 

ที่นี่เป็นพื้นที่ของฝ่ายเสื้อแดง - เขตอิทธิพลของบรรดาผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่

 

พวกเขาอ้างว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ชอบธรรม ขึ้นมาสู่อำนาจด้วยการประท้วงของกลุ่มเสื้อเหลืองเมื่อปีที่แล้ว

 

พวกเสื้อแดงกล่าวหาด้วยว่า พวกชนชั้นนำของประเทศ - ทหาร, ตุลาการ และบุคคลที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งนั้นทำลายประชาธิปไตยโดยการเข้ามาแทรกแซงการเมือง

 

กลุ่มคนรักอุดรฯ กำลังจัดงานฉลองครบรอบ 3 ปีของการก่อตั้งสถานีวิทยุ และเป็นการจัดหาทุนครั้งใหญ่ด้วย

 

แต่ละโต๊ะมี 10 ที่นั่ง ราคาโต๊ะละ 2,000 บาท (56 เหรียญสหรัฐ) สำหรับหลายๆ คนที่นี่ ราคานี้มีมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้แต่ละเดือนของพวกเขา  อย่างไรก็ตาม โต๊ะจำนวน 430 โต๊ะนั้นขายหมดล่วงหน้าไปแล้ว  ขวัญชัยบอกว่า เงินที่ได้จะนำไปเป็นค่าเช่ารถบัสเพื่อพาคนหลายพันคนมาร่วมประท้วงในกรุงเทพฯ

 

ห่างออกมาจากเวที ฉันพบกับ "นงลักษณ์" ผู้หญิงวัยประมาณ 50 ปีที่ดูขี้อาย เธอกับน้องสาวเดินทางมาไกลเพื่อมาร่วมงานนี้

 

"เราต้องขายข้าวเพื่อเดินทางมาคืนนี้" เธอเล่า "หลังจากนี้ เราอาจไม่มีพอกิน อาจต้องจับกบจับปลากิน แต่เราต้องการสนับสนุนสถานีวิทยุของเรา"

 

"ตอนนี้รัฐบาลดูแลแต่คนรวย - ไม่ได้สนใจคนจนอย่างพวกเรา"

 

ชาวบ้านหลายคนบอกว่า พวกเขาเจ็บปวดที่ได้รับการปฏิบัติราวกับว่าเป็นคนโง่โดยพวก "คนใต้" ในกรุงเทพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาโกรธที่ฝ่ายตรงข้ามบางคนกล่าวหาว่า พวกเขาไม่มีการศึกษาพอที่จะตัดสินว่าใครควรจะบริหารประเทศ

 

"พวกชนชั้นนำคิดว่า ประชาชนที่นี่เป็นมนุษย์ที่ต้อยต่ำกว่า" นายแพทย์เหวง โตจิราการ กล่าว เขาเป็นผู้นำคนหนึ่งของกลุ่มเสื้อแดงที่มาร่วมงาน "พวกเขาถึงเรียกพวกเราว่าควาย"

 

ผู้มาร่วมงานนั้นมีทั้งชาวนาที่ยากจน คนที่ทำงานในโรงงาน รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ นักธุรกิจและนักศึกษา

 

 

 

 

โครงการเงินกู้ยืม

ที่โต๊ะหนึ่ง ฉันได้คุยกับ "พลอย" หญิงสาวที่ใช้ริบบิ้นสีแดงตกแต่งผม

 

เธอเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเธอต้องเก็บตัวไม่เคลื่อนไหวที่นั่น เพราะเป็นคนเดียวในห้องเรียนนั้นที่เป็นฝ่ายเสื้อแดง

 

"หลายคนเกลียดทักษิณและบอกว่าเขาเป็นคนโกง" เธอบอก "แต่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่คืนบางสิ่งบางอย่างให้กับประเทศ"

 

"เขาอาจทุจริต - ฉันไม่รู้ ทุกคนที่อยู่ในอำนาจทุจริต แต่อย่างน้อยเขาทำประโยชน์ให้คนยากจน"

 

เช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่อาสาสมัครหลายสิบคนเริ่มต้นทำความสะอาดสถานที่จัดงานกันขนานใหญ่  นายขวัญชัยพาฉันตระเวนหมู่บ้าน เขาต้องการให้ฉันเห็นว่า โครงการเงินกู้ที่ริเริ่มโดยทักษิณนั้น ทำให้ชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้นอย่างไร

 

"พิชิต พิมา" และชาวนาคนอื่นๆ จำนวนหนึ่งใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสร้างธุรกิจเพาะเห็ดที่ให้ผลตอบแทนดี เขาบอกว่า ตอนนี้เขากำลังค่อยๆ ผ่อนใช้คืนเงินกู้

 

เขาพาฉันเข้าไปในโรงเพาะเห็ดที่สร้างด้วยไม้ไผ่มีหลังคาสังกะสีคลุม ต้นอ่อนๆ ของเห็ดสีน้ำตาลครีมเป็นพันๆ ต้นกำลังแตกหน่ออยู่ในถุงดินชุ่มน้ำ ในประเทศอังกฤษ สินค้านำเข้าชนิดนี้มีราคาสูงในซุปเปอร์มาร์เก็ต

 

"ผมมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ก่อนหน้านี้ ผมอาศัยอยู่ในบ้านแคบๆ และทำงานรับจ้างจิปาถะ ตอนนี้ผมมีบ้านที่มีขนาดเหมาะสมที่จะอยู่ได้ และมีรถยนต์" เขาเล่า

 

พิชิตภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ตอนนี้เขาสามารถส่งบุตรชายเรียนวิศวะในระดับวิทยาลัย ไม่เคยมีใครในครอบครัวของเขาได้เรียนสูงเท่านี้มาก่อน

 

 

ปัจจุบัน หลบอยู่ในที่ซ่อน

มาตรการอื่นที่ริเริ่มโดยรัฐบาลทักษิณ คือโครงการสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ภายใต้โครงการนี้ โรงพยาบาลต่างๆ มีพันธกรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยด้วยค่าบริการรักษาราคาเดียวกันหมดซึ่งน้อยกว่าหนึ่งเหรียญต่อครั้ง

 

ขณะที่ชาวบ้านบางคนบอกว่า โครงการนี้ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ บรรดาผู้ที่ติเตียนอ้างว่า โครงการนี้เป็นความฉาบฉวยของประชานิยมที่ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ล้มละลาย และไม่จัดการบริการการรักษาที่ถูกต้องให้กับคนไข้

 

ข้อโต้เถียงเกี่ยวกับทักษิณ - วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของคนบางคน และคนทุจริตผู้เป็นเผด็จการของบางคนนั้นเป็นภาพสะท้อนของการแบ่งขั้วที่รุนแรงมากของประเทศนี้

 

วันสุดท้ายของฉันในกรุงเทพฯ ฉันพบกับขวัญชัยโดยบังเอิญด้านหลังของเวทีหลักของการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล เขาปลาบปลื้มกับจำนวนผู้สนับสนุน 5,000 คนจากอุดรธานีที่เพิ่งมาถึงตอนรุ่งสาง

 

ท้ายที่สุด ทั้งๆ ที่มีจำนวนคนมหาศาลมาชุมนุมและการใช้วาทศิลป์ปลุกเร้าที่เผ็ดร้อน คนเสื้อแดงไม่อาจบรรลุจุดมุ่งหมายของพวกเขาได้ เมื่อทหารเข้ามาแทรกแซงให้พวกเขายุติการประท้วง

 

ตอนนี้ ผู้นำหลายคนหลบไปอยู่ในที่ซ่อน รวมทั้งขวัญชัยด้วย

 

ส่วนสถานีวิทยุของเขา หลังจากวันที่ทหารปราบปราม ตำรวจได้เข้ามายึดอุปกรณ์การกระจายเสียงไป  อย่างน้อยที่สุด ตอนนี้ "คนรักอุดร" ถูกปิดปากแล้ว

 

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ข้ามทวีป : ประเทศไทยออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซี ช่อง 4 วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ.2552 เวลา 11.00 น. และออกอากาศซ้ำในวันจันทร์ที่ 27 เมษายน เวลา 20.30 น. (British Summer Time- BST)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท