Skip to main content
sharethis

องค์กรนายจ้างและแรงงานชี้พร้อมรับรองสัตยาบัน ILO 87 และ 98 ที่ว่าด้วยเสรีภาพการรวมกลุ่ม เจรจาต่อรอง เพราะมีผลดีในเรื่องการค้า สิทธิแรงงาน และรัฐธรรมนูญก็รองรับอยู่แล้ว ด้านกระทรวงแรงงานอ้างต้องศึกษาอย่างถ้วนถี่ ไม่อยากให้เกิด
ผลเสียตามมาจากการเร่งรัดดำเนินการ
 
 
 
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 52 ที่ผ่านมา ที่กระทรวงแรงงาน ได้จัดเสวนาว่าด้วยความคืบหน้าในการรับรองสัตยาบันขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 โดยมีตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้างฯ และ ผอ.สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าร่วมงาน
Tim De Meyer ILO Senior Specialist on International Labour Standards กล่าวว่าทาง ILO มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกขององค์การ และปีนี้ก็ครบรอบ 90 ปี ซึ่งมีน้อยประเทศที่ได้เป็นสมาชิกในรุ่นแรกของ ILO โดยหน้าที่หลักของ ILO จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนให้ข้อแนะนำกับประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่ง ILO ก็ได้เห็นความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกต่างๆ
ทั้งนี้ประเทศไทยเอง ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ ILO มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาและแนะนำทั้งองค์กรนายจ้างและลูกจ้าง และกระทรวงแรงงาน แต่ทั้งนี้ ILO ก็ไม่สามารถตัดสินใจหรือกำหนดให้ประเทศนั้นๆ ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับใดๆ ได้ การเลือกรับหรือไม่รับ เป็นข้อคิดเห็นของประเทศสมาชิกเอง โดยรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานจะต้องเป็นผู้นำหลักที่จะช่วยตัดสินใจร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในประเทศ ซึ่งทาง ILO ก็อยากจะเห็นแรงงานได้ทำงานที่มีคุณค่า มีศักดิ์ศรีในการทำงาน และต้องการเห็นความสมดุลของผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการณ์ ให้ความยุติธรรมต่อกัน
 
อนุสัญญาฉบับที่ 87
ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน
ที่ประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจัดให้มีการประชุมกันขึ้น ณ กรุงซานฟานซิสโก โดยคณะประศาสน์การของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ เป็นการประชุมสมัยที่ 31 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1948ที่ประชุมได้ตกลงกันที่จะรับข้อเสนอในรูปของอนุสัญญา ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ซึ่งบรรจุในวาระที่ 7 ของระเบียบวาระการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาถึงอารัมภบทในธรรมนูญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่กล่าวถึง "การยอมรับในหลักการของเสรีภาพในการสมาคม" ให้นำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุง สภาพทางด้านแรงงานและในการเสริมสร้างสันติภาพ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงประกาศฟิลาเดลเฟีย ซึ่งได้ยืนยันถึง "เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการสมาคม เป็นสิ่งจำเป็นต่อความก้าวหน้าอันยั่งยืน" ที่ประชุมพิจารณาว่าการประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศสมัยที่ 30 นี้ ได้มีมติเอกฉันท์รับหลักการซึ่งควรจะเป็นการวางพื้นฐาน สำหรับข้อบังคับระหว่างประเทศได้พิจารณาเห็นว่า การประชุมใหญ่ของสหประชาชาติในคราวประชุมสมัยที่ 2 ได้ให้ความเห็นชอบกับหลักการเหล่านี้ และได้ร้องขอต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้พยายามทุกวิถีทางในการกำหนดอนุสัญญาระหว่างประเทศขึ้น ได้มีมติเห็นชอบกับอนุสัญญาดังต่อไปนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ.1948 ซึ่งอาจจะเรียกว่า อนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน ค.ศ.1948
ทั้งนี้ใจความสำคัญของอนุสัญญานี้คือมีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ 1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ 2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง 3. องค์กร (สหภาพ) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์
กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี
 
อนุสัญญาฉบับที่ 98
ว่าด้วยการนำเอาสิทธิในการรวมตัวเป็นองค์กรและสิทธิในการเจรจาต่อรองไปปฏิบัติ
ที่ประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้ทำการประชุมที่เจนีวา โดยคณะประศาสน์การของสำนักงานแรงงานระหว่างชาติ ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2496
ที่ประชุมได้ตัดสินใจยอมรับข้อเสนอ ที่เกี่ยวกับการนำเอาหลักการของสิทธิในการรวมตัวขององค์กรและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมไปปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในข้อที่ 4 ของระเบียบวาระการประชุม และที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าข้อเสนอนี้ควรที่จะออกมาในรูปของอนุสัญญาระหว่างประเทศ อนุสัญญาฉบับนี้จึงได้รับการยอมรับในวันที่ 1กรกฎาคม พ.ศ.2492 ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้ถือว่าเป็นอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิในการรวมตัวเป็นองค์กร และสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม พ.ศ. 2492
ทั้งนี้ใจความสำคัญของอนุสัญญานี้คือ 1. คุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 2. องค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกัน ทั้งในการก่อตั้งการปฏิบัติการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง  3.ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาโดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กรนายจ้างกับองค์กรคนงาน
 
สิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่าถ้าพูดถึงอนุสัญญาหลักของ ILOที่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันนั้นก็เหลืออยู่ 3 ฉบับ คือ อนุสัญญาที่ 111 อนุสัญญาที่ 87 และอนุสัญญาที่ 98โดยในทางปฏิบัติ เท่าที่เห็นนั้นเสรีภาพในการสมาคมเราก็มีล้นเหลือ ไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่มีองค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างหลายองค์กร ซึ่งในทางปฏิบัติเราเป็นอยู่แล้ว ส่วนในเสรีภาพในการเจรจาต่อรองนั้นเราก็มี
ทั้งนี้สิริวันกล่าวว่าตนไม่อาจจะพูดแทนสภาองค์กรนายจ้างได้ทั้งหมด แต่ถ้าถามความพร้อมในการลงนามในอนุสัญญา3 อนุสัญญาหลัก ทางสภาองค์กรนายจ้างเองก็มีความพร้อม ถ้าทางรัฐบาลไม่ขัดข้อง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะทำอะไร เหรียญก็มีสองด้านเสมอ ด้านบวกก็คือได้ผลประโยชน์ในเรื่องการค้าแน่นอน เพราะหลายๆ ประเทศอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ก็ให้สัตยาบันไปแล้วและก็ได้รับผลประโยชน์ด้านการค้า แต่ขณะเดียวกันต้องฝากให้รัฐบาล ฝั่งองค์การลูกจ้าง และตัวลูกจ้าง ให้รู้ถึงสิทธิในการดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงาน
"ดิฉันเชื่อมั่นว่าระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ตราบใดที่มีการจับเข่าคุยกันเข้าใจกัน เสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เราจะไม่มีปัญหาเรื่องอนุสัญญา ทั้งนี้รัฐบาลควรมีนโยบายในการส่งเสริมด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างเด่นชัด ทั้งองค์การนายจ้างและลูกจ้างต้องรู้หน้าที่และสิทธิของตัวเอง" สิริวันกล่าว
เสน่ห์ หงส์ทอง ผู้ประสานงานภายในประเทศ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ถามว่าในเรื่องของอนุสัญญาว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานบังคับ ฉบับที่ 29 นั้น ที่เกี่ยวกับปัญหาแรงงานข้ามชาติ หรือการรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในเมืองไทย ตอนนี้ในช่วงวิกฤตนั้น มีผลกระทบอย่างไรบ้าง?
สิริวัน กล่าวว่า แรงงานเหล่านี้หากอยู่ในระบบก็จะได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็คือมีการลักลอบเข้ามา ซึ่งเมื่อไม่ได้อยู่ในระบบก็ไม่สามารถโทษภาครัฐได้ กลไกการตรวจสอบไม่สามารถทำได้ ก็คงต้องหวังให้ภาคปะชาสังคมช่วยกันดูแล แต่ในกฎหมายถึงแม้ว่าพวกเขาจะเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายพวกเขาก็ต้องมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ในระบบการค้าเสรีโลกาภิวัตน์นั้นหากมีการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติในประเทศนั้นๆ ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในการปฏิบัติต่อแรงงานในประเทศทั้งหมด ซึ่งเป็นผลเสียโดยรวมต่อการค้า
ชาลี ลอยสูง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าอนุสัญญา ILO หลัก 3 ฉบับ คือ อนุสัญญาที่ 111 อนุสัญญาที่ 87 และอนุสัญญาที่ 98  ที่ประเทศไทยยังไม่มีการประกาศรับรอง ในส่วนขององค์กรลูกจ้างก็มีการผลักดัน เคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลรับรองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าที่ประชุม ILO ทุกปีเราก็ได้เรียกร้องตลอดเวลา ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าในทางปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้แล้ว แต่ในทางสากลก็จะไม่มีการรับรู้ว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง รวมถึงไม่มีการสอดคล้องกันในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมาย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 ก็ยังมีการแบ่งแยกในการประกาศใช้กฎหมายกันอยู่ เช่น กฎหมาย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 ก็ใช้ในส่วนของลูกจ้างเอกชนเท่านั้น แยกแรงงานภาครัฐวิสาหกิจออกไป ซึ่งเป็นการกีดกันไม่ให้สามารถเข้าไปรวมกลุ่มกันได้ ซึ่งเป็นส่วนที่เห็นได้เด่นชัด
ทั้งนี้ชาลีกล่าวว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจจริงๆ ซึ่งเราก็มีรัฐธรรมนูญรองรับอยู่แล้ว ทำไมเราถึงไม่รับรองสัตยาบันของอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 นี้เสีย ส่วนในเรื่องปัญหาและอุปสรรคที่บอกว่าต้องศึกษาให้ดี และวางกรอบการปฏิบัติเพื่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งก็สามารถทำได้
"แต่วันนี้ผมว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลมากกว่า ที่ไม่อยากไปประกาศรับรอง อนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 หรือแม้กระทั่งฉบับที่ 111 ซึ่งหลายประเทศเป็นสมาชิก ILO ช้ากว่าเราด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังมีการรับรองไปแล้ว เขาได้ในเรื่องหลักสากลไปแล้ว และได้รับการยอมรับในเรื่องการค้าขาย" ชาลีกล่าว
สมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความสำคัญของประเทศไทยกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้ร่วมก่อตั้งองค์กรแห่งนี้ สำหรับปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน นั้นต้องเข้ามาสนับสนุนทั้งองค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้าง โดยการที่จะให้สัตยาบันต่างๆ กับองค์การแรงงานระหว่างประเทศนั้น กระทรวงแรงงานจะต้องเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดประโยชน์ในส่วนนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนหรือกลั่นกรองการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินการตามกฎหมายหลักของประเทศโดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ในส่วนของอนุสัญญาต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ลงนามไปแล้วนั้น ส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง มีความพร้อมต่อการรับผิดชอบต่อการนำเอาอนุสัญญานั้นๆ กับลูกจ้าง นายจ้าง และประเทศสมาชิกอื่นๆ แต่ในส่วนของบางอนุสัญญาที่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้การรับรองนั้น อย่างเช่นอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 นี้ ที่พูดถึงเสรีภาพในการสมาคม เจรจาและต่อรอง เมื่อถามว่าประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างไร จากข้อมูลที่ได้มีการศึกษานายสมชายกล่าวว่าไม่ใช่รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานจะปฏิเสธในส่วนนี้ ถ้าเราดูจริงๆ จะพบว่าในรัฐธรรมนูญได้ให้เสรีภาพในส่วนของประชาชนซึ่งไม่จำกัดเฉพาะผู้ใช้แรงงานและนายจ้างเท่านั้น แต่ยังพูดถึงเสรีภาพของประชาชนไทยที่สามารถตั้งกลุ่ม สมาคม หรือสหภาพต่างๆ ได้
เมื่อกฎหมายหลักอย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญให้สิทธิตรงนี้ หน่วยงานรับผิดชอบต่างๆ ก็ปฏิบัติไปตามกระบวนการของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งบางทีก็ไปด้วยดีหรือบกพร่องบ้าง แต่ทั้งนี้กระทรวงแรงงานก็ผลักดันในส่วนนี้อยู่ ในส่วนที่เป็นกฎหมายนิตินัยก็มีการพยายามส่งเสริมให้ลูกจ้างหรือนายจ้างรวมกันเป็นองค์กร เป็นกลุ่ม เป็นสหภาพ เพราะสิ่งใดก็ตามหากมีการรวมตัวเป็นกลุ่มแล้วก็จะเกิดพลังของความคิด มีความสามัคคี และเป็นพลังที่ค่อนข้างมีความสำคัญ
"การที่ประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 87 และ 98 นี้ ก็ไม่ใช่ว่าละเลย หรือไม่ดำเนินการใดๆ แต่ยังคงดำเนินการศึกษาและสร้างความพร้อมของเราอยู่"
ทั้งนี้สมชายกล่าวต่อไปว่ากระทรวงแรงงานมีความพร้อมที่จะรับรองสัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 นี้ หากเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม แต่ทั้งนี้กระทรวงแรงงานมีความกังวลใจว่าอะไรก็ตามหากเราไม่มีความพร้อมจริงๆ แล้วเราเร่งรัดการดำเนินการ กระทรวงแรงงานกังวลใจต่อผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะอย่าลืมว่าการให้สัตยาบันต่างๆ ของ ILO ก็เหมือนกับเราได้ประกาศกับประเทศสมาชิก ILO ว่ากระทรวงแรงงานมีความพร้อม ประเทศไทยมีความพร้อม แต่ถ้าเร่งรีบดำเนินการไปแล้ว ถ้าผลที่จะต้องดำเนินการต่อมาโดยการตรวจสอบของ ILOหรือการตรวจสอบจากองค์กรเครือข่ายก็ดี สมชายเชื่อว่าประเทศไทยอาจจะพบกับความเสียหายหากเราไม่มีความพร้อมจริงๆ
"ทั้งนี้องค์กรภาคีต่างๆ จะต้องมีการประชุมหารือ และศึกษา ไปพร้อมกันว่าสิ่งที่เราจะตัดสินใจและมีความพร้อมนั้น จะหาช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างไรที่เราจะดำเนินการ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องบอกว่า ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น ที่กระทรวงแรงงานรั้งรอในการดำเนินการถ้าภาคีเครือข่ายมีความพร้อมที่จะดำเนินการ ประเทศไทยก็พร้อมที่จะให้สัตยาบัน" สมชายกล่าว
เสน่ห์ หงส์ทอง ผู้ประสานงานภายในประเทศ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ถามว่าในช่วงวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ ที่มีการเลิกจ้างมากมาย มีการปิดโรงงานอุตสาหกรรมหรือลดชั่วโมงการทำงาน อยากเรียนถามว่าอนุสัญญา ILO ที่มีอยู่สามารถรองรับแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด?
นายสมชายได้ตอบประเด็นนี้ว่า จากการไปร่วมประชุมผู้ประศาสน์การของ ILO เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากมติที่ประชุมได้นำเอาเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก เอามาถกเถียงกัน สิ่งหนึ่งที่ ILO วิตกกังวลก็คือ ปัญหาคนถูกเลิกจ้างจะเป็นปัญหาที่กระจายไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นประเทศต่างๆ ต้องใช้ศักยภาพและความสามารถของประเทศตนแก้ไขตรงจุดนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ประชุมกังวลใจก็คือ สิ่งที่เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจนั้นจะได้รับการปกป้องจากภาครัฐอย่างไร มีการพูดถึงความยุติธรรมทางสังคม พูดถึงความเป็นธรรมที่ลูกจ้างและเครือข่ายต้องได้รับในส่วนนี้ และประเทศต่างๆ ต้องดำรงไว้ซึ่งสัตยาบันที่ได้รับรองไว้ เพราะสิ่งที่สัตยาบันต่างๆ ได้กำหนดไว้เป็นประโยชน์ต่อประเทศในส่วนรวม โดยกระทรวงแรงงานเองก็ต้องประคับประคองผลประโยชน์ร่วมขององค์กรเครือข่ายให้ก้าวพ้นวิกฤต
 
เอกสารเกี่ยวข้อง:
รายละเอียดของอนุสัญญา ILO 87 และ 98
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net