Skip to main content
sharethis

ที่มา: จดหมายข่าวต้นคิดรายสัปดาห์ ฉบับที่ 1 ประจำเดือน พฤษภาคม 2552          


ผลิตโดย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ


 


 



 


ในจำนวนโรคติดต่ออุบัติใหม่ทั้งหมดนี้ ร้อยละ 60.3 เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มักมีต้นเหตุมาจากสัตว์ป่า และเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 54.3 มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียหรือ ริกเก็ตเซีย แสดงถึงเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาเป็นจำนวนมาก


 


ข่าวการระบาดของ "ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก" หรือในชื่อที่ครึกโครมเมื่อช่วงระยะแรกว่า "ไข้หวัดหมู" ไม่เพียงสร้างความหวั่นวิตกแก่สาธารณชนในฐานะโรคร้ายที่มีผลถึงตาย ซ้ำยังแพร่กระจายเชื้อได้เหมือนการติดหวัดทั่วไป แต่ยังนำไปสู่ความกังวลต่อมรสุมลูกใหม่และใหญ่ยิ่งสำหรับมวลมนุษยชาติ ที่เรียกขานกันว่า "โรคอุบัติใหม่" ที่สาดซัดกระชั้นถี่เข้าทุกที


 


จากรายงานสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ (Emerging Infectious Disease) จาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมสถานการณ์โรคในปัจจุบัน พบว่า แนวโน้มของการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำมีเพิ่มขึ้น และประกอบกับการเป็นยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้การแพร่ระบาดของโรค เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุนในประเทศอีกด้วย


 


ตัวอย่างที่ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา เช่น การเกิดโรคไข้หวัดนกในเอเชีย และการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) และ โรคไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก ซึ่งกำลังระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนการป้องกันและควบคุมโรค ติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำของประเทศให้พร้อมรับและตอบสนองเหตุการณ์ระบาดที่ อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันและเฝ้า ระวังการเกิดโรคดังกล่าวต่อไป


 


 


ความหมาย "โรคติดต่ออุบัติใหม่"


องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้ความหมายของโรคติดต่ออุบัติใหม่ว่าได้แก่ โรคติดต่อที่มีอุบัติการณ์ในมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา หรือมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ และยังหมายรวมถึง โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (New infectious diseases) โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (New geographical areas) และโรคติดต่ออุบัติซ้ำ (Re-emerging infectious diseases) คือโรคติดต่อที่เคยแพร่ระบาดในอดีตและสงบไปนานหลายปีแล้ว แต่กลับมาระบาดขึ้นอีก


 


จากการศึกษาวิจัยวิเคราะห์รูปแบบของโรคติดต่ออุบัติใหม่จำนวน 335 เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2483-2547 พบว่า โรคอุบัติใหม่ได้เกิดขึ้นมากในตั้งแต่ช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา


 


ในจำนวนโรคติดต่ออุบัติใหม่ทั้งหมดนี้ ร้อยละ 60.3 เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มักมีต้นเหตุมาจากสัตว์ป่า เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้เลือดออกอิโบลา เป็นต้น และโรคติดต่ออุบัติใหม่เกินครึ่ง คือ ร้อยละ 54.3 มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียหรือ ริกเก็ตเซีย แสดงถึงเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาเป็นจำนวนมาก


 


มีแนวโน้มว่าโรคต่างๆ นี้มีผลกระทบหรือสัมพันธ์กับสังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และปัจจัยทางนิเวศวิทยาอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ที่อยู่ในพิกัดเส้นรุ้งระดับล่าง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่ที่มีสาเหตุจากสัตว์ป่าหรือแมลงพาหะนำโรค


 


รายงานการวิจัยได้สรุปว่าการกระจายทรัพยากรทั่วโลกในการตอบโต้ต่อโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีความทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักยภาพทางวิทยาการและการเฝ้าระวังโรคในประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะเป็น ต้นกำเนิดโรคอุบัติใหม่มีความเข้มแข็งมากกว่าประเทศเสี่ยงมาก


 


"ต้นคิด" ฉบับนี้ ขอนำกรณีตัวอย่างของโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่ใกล้ตัว 2 โรคมานำเสนอ นั่นคือ โรคไข้หวัดใหญ่ และ โรคไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก


 


 


"ไข้หวัดใหญ่" ภัยถึงตายซ้ำขยายความเสี่ยง


 



 



 


โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal influenza) สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมี 3 ชนิด (type) คือ ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด


 


เชื้อไวรัสชนิด A แบ่งเป็นชนิดย่อย (subtype) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ชนิดย่อยของไวรัส A ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในคนที่พบในปัจจุบันได้แก่ A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ส่วนไวรัสชนิด B ไม่มีแบ่งเป็นชนิดย่อย


 


สถานการณ์ของโรค ในปี พ.ศ.2550 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 18,368 ราย อัตราป่วย 29.19 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าปี พ.ศ. 2549 (ซึ่งเป็นปีที่มีอัตราป่วยต่ำสุดในรอบ 10 ปี)เล็กน้อย (รูปที่ 1) เสียชีวิต 15 รายผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 5 ราย และผู้ใหญ่ 10 ราย พบผู้ป่วยมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยกลุ่มอายุ 0 - 4 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด 54.16 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.08 ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี


 


นอกจากนี้ ฤดูกาลเกิดโรคมีแนวโน้มเปลี่ยนไป คือ พบผู้ป่วยมากในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ แต่ยังพบผู้ป่วยค่อนข้างมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงพฤศจิกายน (รูปที่ 2)


 


 


"ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก" เพชฌฆาตหน้าใหม่จากแดนจังโก้


ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก หรือ Human Swine Influenza เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (มักจะเป็นเชื้อ Influenza type A เป็นส่วนใหญ่) สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้หลากหลายดังเช่นไข้หวัดใหญ่ที่พบทั่วไป สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยคือ H1N1 และสายพันธุ์อื่นๆ เช่น H1N2 H3N1 H3N2 (สายพันธุ์ H3N2 มักจะเกิดจากการแพร่ระบาดจากคนสู่หมู) ในหมูพบว่ามีอัตราป่วย (morbidity rate) ค่อนข้างสูง แต่อัตราตาย (mortality rate) ค่อนข้างต่ำ คือ ร้อยละ 1-4


 


เชื้อก่อโรค คือ Family Orthomyxoviridae ในการระบาดครั้งนี้ พบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ Influenza A/California/04/2009 (H1N1)


 


การติดต่อในหมู ติดต่อทางการหายใจ ติดต่อโดยตรง และทางอ้อม และพบพาหะนำโรค (ไม่แสดงอาการ) ในหมู การติดต่อสู่คน ได้รับเชื้อโดยตรงจากหมูที่ป่วย หรือ เชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม พบว่ามีการรายงานการติดต่อจากคนสู่คน ในกรณีสัมผัสใกล้ชิด (close contacts)


 


ลักษณะอาการ ในคน ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดศีรษะ หนาวสั่น มีน้ำมูก คัดจมูกและ อ่อนเพลีย อาจจะพบอาการท้องเสีย หรืออาเจียนได้ อาจจะว่าผู้ที่รับเชื้อจะไม่มีอาการ แสดงอาการไม่รุนแรง อาการรุนแรง ปอดอักเสบจนถึงเสียชีวิตได้


 


การรักษา พบว่าเชื้อ ไวต่อ Oseltamivir, แต่ดื้อ Amantadine และ Rimantadine


 


ภูมิคุ้มกัน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่สามารถป้องกันโรคได้ แต่พบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรค รวมทั้งสภาพร่างกายและภูมิคุ้มกันในแต่ละบุคคล ทีผลต่อความรุนแรงของโรค


 


สถานการณ์โรค


ในสหรัฐอเมริกา


- พ.ศ.2519 พบผู้ป่วย มากกว่า 200 รายเสียชีวิต 1 ราย


- พ.ศ. 2531 พบผู้ป่วย ที่ วิสคอนซิน 1 รายเสียชีวิต


- พ.ศ. 2548 จนถึง มกราคม 2552 มีการรายงานผู้ป่วย 12 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต


 


สถานการณ์ทั่วโลก (ข้อมูล ณ วัน พุธ ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552)


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานยอดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกจากทั่วโลก รวม 21 ประเทศ และ 1 เขตปกครองพิเศษ ดังนี้


 


- ประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว และผู้เสียชีวิตแล้ว ได้แก่


 


- ประเทศเม็กซิโก เสียชีวิต 152 คน ในจำนวนนี้ยืนยันว่าเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก 20 คน ต้องสงสัยกว่า 1,995 คน อังกฤษ ติดเชื้อ 2 คน แคนาดา ติดเชื้อ 6 คน ต้องสงสัย 10-12 คน สเปน ติดเชื้อ 2 คน ต้องสงสัย 26 คน อิสราเอล ติดเชื้อ 1 คน สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อ 50 คน และนิวซีแลนด์ ติดเชื้อ 11 คน ถือเป็นประเทศแรกในเอเชีย-แปซิฟิกที่ยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เม็กซิโก


 


ประเทศที่มีผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อดังกล่าวมี 14 ประเทศ และ 1 เขตปกครองพิเศษ ได้แก่ ออสเตรเลีย 70 คน ชิลี 8 คน โคลอมเบีย 9 คน เดนมาร์ก 5 คน ฝรั่งเศส 1 คน ไอร์แลนด์ 3 คน สวีเดน 5 คน สวิตเซอร์แลนด์ 5 คน เยอรมนี 3 คน ออสเตรีย 1 คน ฮ่องกง 4 คน เกาหลีใต้ 1 คน สาธารณรัฐเช็ก (ไม่ทราบจำนวน) เบลเยียม (ไม่ทราบจำนวน) และไทย 1 คน


 


คนไทยจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ระลอกล่าสุดอย่างไรจึงจะเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด นั่นคือโจทย์สำคัญในวันนี้


 






มหาภัยไข้หวัดจากแดนแม็กซิกัน...จะป้องกันอย่างไร


 


- สามารถรับประทานเนื้อหมูที่ผ่านการชำแหละ ขนส่งและเตรียมปรุงที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอย่างปลอดภัย


- เชื้อไวรัสจะตายในอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส


- ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และทิ้งกระดาษชำระที่เปื้อนลงถังขยะ


- ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือ แอลกอฮอล์ล้างมือ โดยเฉพาะหลังไอ-จาม


- ป้องกันตนเองเมื่อดูแลหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วย


- หยุดพักเมื่อป่วย ระวังไม่สัมผัสตา จมูก และปาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ


 


 


สมัครสมาชิกจดหมายข่าวต้นคิด หรือติดต่อ "ต้นคิด" ได้ที่


ตู้ ปณ.2 ปณฝ.ประดิพัทธ์ 10404


โทรศัพท์. 082-668-2854 โทรสาร.02-241-0171


อีเมล์ info@tonkit.org เว็บไซต์ www.tonkit.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net