Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม ภาคใต้


สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ


 


 


คนใต้ได้ชื่อว่าเป็นชาติพันธุ์ที่มีความรักพวกรักพ้อง มีความเฉลียวฉลาด ทันคนและไม่กลัวคน รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง จนถูกมองว่าเป็นพวก "หัวหมอ สะตอสามัคคี" หรือเป็น "หัวเมืองบังคับยาก" ในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะคนนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา


 


นอกจากนั้น คนใต้ในบางจังหวัดในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งถือว่าเป็น "ไข่แดงของภาคใต้" เพราะเป็นอู่อารยธรรมของภาคใต้ โดยเฉพาะวิถีพุทธเกษตรยังมีสำนวนโบราณหรือ "คำคนแต่แรก" (แต่แรก หมายถึง สมัยก่อน) ที่บ่งบอกถึงบุคลิกโดยรวมของคนใต้ในพื้นที่นี้ว่า "พัทลุงชังกั้ง สงขลาหมัง ตรังยอน นครรุม"


 


"ชังกั้ง" หรือ "จังกั้ง" หมายถึง มุทะลุดุดัน ไม่ยอมคน "หมัง" หมายถึง ระมัดระวัง ละล้าละลัง ไม่มั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจ "ยอน" หมายถึง ยุยงส่งเสริมและ "รุม" หมายถึง ร่วมมือร่วมใจกันกระทำอีกฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่า หรือเสียเปรียบในลักษณะเป็นการทำร้ายหรือให้ร้าย


 


ดังนั้น หากคนใต้ที่เป็นคน "ลักเลง" หรือ "นักเลง" ในสี่จังหวัดดังกล่าวไปไหนมาไหนด้วยกันแล้วไปมีเรื่องมีราวกับคนจังหวัดอื่น คนพัทลุงจะชิงลงมือก่อน ขณะที่คนสงขลาคอยเตือนสติไม่ให้มุทะลุ คนตรังคอยให้กำลังใจ (ยอนว่า "เอาต้า") และคนนครคอยช่วยเหลือ (เมื่อเห็นว่าได้เปรียบแล้ว) พูดภาษานักมวยหรือภาษาหนังตะลุงว่า "ครบเครื่อง"


 


ในสมรภูมิความขัดแย้งของสังคมไทยปัจจุบัน คนใต้เป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจเป็นพิเศษกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเหตุปัจจัยต่อไปนี้


 


ประการแรก คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายล้วนมีแกนนำระดับสำคัญเป็นคนใต้ กล่าวคือทางฝ่ายเสื้อแดง มี "สามเกลอหัวแข็ง" หรือ "สามเกลอหัวขวด" ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ ชาวสงขลาแต่ไปเป็นใหญ่เป็นโตที่กรุงเทพและพัทลุง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ชาวสุราษฎร์ธานี และนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ชาวนครศรีธรรมราช ฝ่ายเสื้อเหลือง ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสำราญ รอดเพชร ชาวนครศรีธรรมราช นายพิเชฐ พัฒนโชติ ชาวสงขลา ฯลฯ เป็นต้น


 


ประการที่สอง เป้าหมายที่ฝ่ายเสื้อแดงมุ่งโจมตีในขณะนี้คือ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรีก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขและขวัญใจของชาวใต้ มีความผูกพันกับจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และนครราชสีมาเป็นกรณีพิเศษ


 


ประการที่สาม แนวร่วมของกลุ่มเสื้อแดงมีอย่างหนาแน่นในภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน แต่เบาบางอย่างยิ่งในภาคใต้จนแทบจะกล่าวได้ว่า "หาทำยาขี้ไม่ได้"


 


ประการที่สี่ อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของคนใต้คือ "ความรักพวกพ้อง" ดังจะเห็นได้จากการที่คนใต้สวมบทบาทการเป็นแม่ทัพเอกของทั้งสองฝ่าย นำขบวนผู้ขัดแย้งทางความคิดเข้าปะทะห้ำหั่นกันเอง ไม่เว้นแม้แต่เหยื่อของความขัดแย้งที่เป็น "กล่องดวงใจ" ของคนใต้ (หลายคน) อย่าง "ป๋าเปรม" อันนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนใต้ "รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง" อย่างชัดเจน


 


ประการที่ห้า พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้คือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นพรรคการเมืองคู่บารมีของคนใต้ แม้จะมีนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าพรรคเป็นคนกรุงเทพฯ แต่แกนนำคนสำคัญและสมาชิกส่วนใหญ่ในสภาและในทำเนียบเป็นคนใต้


 


ดังนั้น สมรภูมิความขัดแย้งในครั้งนี้จึงกลายเป็นสนามรบของคนใต้โดยแท้ เนื่องจากแม่ทัพคนสำคัญของแต่ละฝ่ายล้วนเป็นคนใต้ ประเด็นการทะเลาะเบาะแว้งกันก็เกี่ยวกับวีรบุรุษ หรือปูชนียบุคคลของคนใต้ รัฐบาลที่ถูกขับไล่ด้วยรังเกียจเดียดฉันท์ก็เป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองใหญ่ของคนใต้ ผลพวงของความขัดแย้งก็ตกแก่คนใต้ชัดเจนกว่าคนภาคอื่น อย่างน้อยๆ ในขณะนี้และอนาคตข้างหน้าจะมีคนใต้หลายคนที่ไม่สามารถจะกลับบ้านที่ปักษ์ใต้ได้อย่างปกติ


 


สิ่งที่สนใจในขณะนี้ก็คือว่า คนไทยและคนใต้ส่วนใหญ่ที่ยังไม่ลง "ประดาบเลือดเดือด" จะวางตัวอย่างไรในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนในทุกอณูของสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักเขียน พระ/นักบวช สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ


 


เพราะประชาชนส่วนใหญ่ถูก "ตีนลึกลับ" ถีบให้เข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีโอกาสได้อธิบาย ทั้งๆ ที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นต่างมีเหตุมีปัจจัยที่แตกต่างกันไปในหลายระดับ แต่กลับถูกทำให้เหมือนกันโดยปริยาย ดังเช่น "คนใต้" ถูกผลักให้เป็นพวกเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ปกป้องพลเอกเปรมฯ เป็นพวกอำมาตยาธิปไตย ฯลฯ ขณะที่คนเหนือและคนอีสานถูกผลักให้เป็นพวก คนรักทักษิณ พวก นปช. ฯลฯ เช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่


 


ความเป็นจริงในขณะนี้ก็คือว่าแต่ละคนแต่ละกลุ่มเข้าสู่สมรภูมิแห่งความขัดแย้งด้วยหลากหลายเหตุหลายปัจจัย และมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป


 


นอกจากนั้น ความขัดแย้ง ต่อสู้กันในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำมาตยาธิปไตยหรือศักดินาอย่างที่ใครบางคนกล่าวอ้าง และพยายามให้สังคมไทยและสังคมโลกมองอย่างนั้น เนื่องจากสังคมไทยและการเมืองไทยยังไม่เคยได้ลิ้มรสประชาธิปไตยในเนื้อหาหรือวิถีชีวิตที่เป็นจริง เป็นได้แต่เพียงประชาธิปไตยในรูปแบบกำมะลอเท่านั้นเอง


 


หากจะถามหาทางออกของความขัดแย้งในวันนี้ดูเหมือนคำตอบจะอยู่ที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินที่ยังพอมีดวงตาเห็นธรรม มีวุฒิภาวะทางการเมืองที่รู้เท่าทันความขัดแย้ง ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของคนในสังคมทุกสังคม หากคนในสังคมมีวุฒิภาวะ มีปัญญาย่อมแสวงหาทางออกหรือทางเลือกที่ดีกว่าได้อย่างแน่นอน แต่หากสังคมไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีปัญญา มีแต่อวิชชา ทิฐิ ย่อมนำสังคมไปสู่หายนะ การทำลายล้าง การสูญเสียเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ และผู้สูญเสียส่วนใหญ่ล้วนคือประชาชนคนนิรนามทั้งนั้น


 


สำหรับนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นภาคไหนพวกเขาสามารถเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ ดังจะเห็นได้ว่าขณะนี้มีเพียงกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มเดียวคือนักการเมืองที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นพวกเขาสามารถรักษาคติพจน์ที่ว่า "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร" สำหรับนักการเมืองไทย


 


เรามีบทเรียนมามากพอแล้วสำหรับความไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีปัญญาของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น "หกตุลามหาโหด" หรือ "พฤษภาทมิฬ" และสำหรับคนใต้ เหตุการณ์ "ถีบลงเขา เผาถังแดง" ในอดีตและ "มิคสัญญี"ใน 3 จังหวัด ยังเป็น "แผลเป็น" และ "แผลสด" ของสังคมอยู่มิใช่หรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net