Skip to main content
sharethis

 


รมว.รับข้อเรียกร้อง


เขียนคำไว้อาลัยรำลึก 16 ปีเคเดอร์

10 พฤษภาคม  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  มูลนิธิเพื่อนหญิง  กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ และเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ยื่นข้อหนังสือเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องในวาระครบรอบ 16 ปี โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 หรือเมื่อ 16 ปี ที่ผ่านมา โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งร้ายแรง และถือว่าเป็นกรณีสถานประกอบการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ 188 ศพ และบาดเจ็บกว่า 400 คน คนงานที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกำลังหลักของครอบครัว ผู้เสียหายบางรายไม่สามารถรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ สามีของผู้เสียชีวิตหลายคนต้องจบชีวิตของตนเองลงหลังจากที่ภรรยาของตนเอง เสียชีวิตกับเหตุการณ์ดังกล่าว เด็กจำนวนมากต้องกำพร้าพ่อและแม่ ผู้ที่บาดเจ็บต้องสูญเสียสมรรถภาพร่างกายกลายมาเป็นคนพิการที่ไม่มีอนาคต เป็นภาระให้ครอบครัว

หลัง เกิดเหตุโศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญไปทั่วโลก จนทำให้นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำแรงงาน กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน ได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมาย และวางมาตรการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน แต่สถานการณ์ด้านความปลอดภัยของคนงานก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ดังเช่นกรณี

  • โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม มีผู้เสียชีวิต 153 ศพ บาดเจ็บ 351 คน
  • คนงานโรงงานทอผ้ากรุงเทพ กว่า 400 คน ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย
  • สารเคมีที่ท่าเรือคลองเตยระเบิด ชาวบ้านชุมชน 70 ไร่ ได้รับสารพิษ
  • กรณีโรงงานลำไยระเบิด คนงานเสียชีวิตทันที 36 ราย บาดเจ็บสาหัส 2 ราย
  • นางหนุ่ม แรงงานหญิงชาวไทใหญ่ ถูกคอนกรีตหนักกว่า 300 กิโลกรัม ตกทับร่างกาย
  • กรณีคนงานประสบอันตรายจากงาน ถูกเครื่องจักรตัดนิ้ว ตัดแขน
  • กรณี คนงานป่วยเนื่องจากการทำงาน เช่น โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ฝุ่นหิน โรคจากสารโลหะหนักเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น สารตะกั่ว สารอะลูมินั่ม ฯลฯ

การ ประสบอันตรายและโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานเป็นปัญหาสำคัญ มีอัตราและความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงานและคุ้มครองผู้ป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ประสบอันตราย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบอื่นยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างทั่วถึงและมี ประสิทธิภาพ ทำให้คนงานได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ และครอบครัวต้องสูญเสียผู้ที่เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบสุขภาพความปลอดภัย ที่กำลังเป็นปัญหาวิกฤติขณะนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  มูลนิธิเพื่อนหญิง  กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ และเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ขอยื่นข้อเสนอต่อท่าน เนื่องในวาระครบรอบ 16 ปี โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ดังนี้

1. ให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันผู้ใช้แรงงานในระบบส่วนใหญ่ได้เข้าสู่ระบบการประกันตนในรูปแบบประกันสังคมซึ่ง เป็นการบริการด้านสาธารณสุขที่ดูแลผู้ใช้แรงงานเมื่อเจ็บป่วยไม่ว่าจะ เป็นการเจ็บป่วยปกติ หรือเจ็บป่วยจากโรคและสิ่งแวดล้อมจากการทำงานก็ตาม แต่สภาพความเป็นจริงพบว่าผู้ใช้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้าน สาธารณสุขต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าตรวจในโรงบาลคู่สัญญาแล้วได้รับการบิดเบือนว่าไม่มีการเจ็บป่วยที่สืบเนื่องมาจากการทำงานแม้ว่าในบางกรณีเห็นชัดเจนว่าเกิดจากอุบัติเหตุจากการทำงานก็ยังไม่มีการระบุ

ด้วย เหตุผลดังกล่าวข้างต้นพอสังเขป ทำให้เห็นว่าระบบวินิจฉัยทางการแพทย์มีการบิดเบือน เอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ทำให้เกิดผลเสียและผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อแก้กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงานรัฐต้องจัดตั้งสถาบัน ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

2. ให้กระทรวงแรงงานมีการดำเนินงานต่อในการจัดตั้งอนุสรณ์สถานเตือนใจความปลอดภัยของคนงาน ณ หน้าโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ (เดิม) หรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน และรำลึกต่อโศกนาฏกรรมดังกล่าวที่มีคนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งนี้ในสมัยที่ผ่านมาได้มีการ  หารือกับรัฐมนตรี กระทรวงแรงงานและรับหลักการในการจัดสร้างแล้วระดับหนึ่ง อีกทั้งมีการออกแบบอนุสรณ์สถานฯ ดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงมีงบประมาณจำนวนหนึ่งเป็นทุนประเดิมในการจัดสร้าง ดังนั้นเพื่อให้อนุสรณ์สถานฯ เกิดขึ้นได้ จึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน สั่งการให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ด้วยความต้องการที่จะเห็นสุขอาชีวอนามัยที่ดีของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะส่งผลในทางที่ดีในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภาพรวมของ ชาติต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net