เดินหน้านิคมฯ ปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช : การพัฒนาไร้ประชาชนร่วมกำหนดอีกครั้ง?

 

 

นิคมอุตสาหกรรม จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ยักษ์ภายใต้กรอบการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด และโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือ แลนบริดจ์ ซึ่งเกิดขึ้นตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น ยางพารา ปาล์ม อาหารทะเล อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ

ทว่าโครงการใหญ่ยักษ์เพื่อพัฒนาพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี กำลังจะเดินหน้าต่อไปท่ามกลางความข้องใจและกังวลใจของชาวบ้านในพื้นที่จำนวน มากว่าการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ในการกำหนดอนาคตและทิศทางการพัฒนาเพื่อท้องถิ่นและเพื่อประเทศนี้อยู่ตรงไหน?

เดินหน้าเงียบๆ ผุดนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว สมาคมดับบ้าน ดับเมือง, กลุ่ม ศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นครศรีธรรมราช กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้พยายามผลักดันโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดอย่างต่อเนื่อง โดยบรรจุไว้ในนโยบายข้อ 4.2.2.6 (การ จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้วยอุตสาหกรรมที่มีความ สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด) และภายใต้กรอบเซาเทิร์นซีบอร์ดคาดว่าจะมีหลายโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช แน่นอน

โดยเอกสารของกลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการต่างๆ กำลังดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมรองรับการพัฒนา พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ดังนี้คือ 1. การสำรวจแหล่งน้ำมัน 2. การขุดเจาะน้ำมันและการตั้งแท่นเจาะน้ำมัน 3. การสร้างระบบท่อส่งก๊าซ 4. การตั้งฐานปฏิบัติการบนฝั่ง ประกอบด้วย การสร้างท่าเรือ และการสร้างสนามบิน 5.การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย การสร้างถนนและทางรถไฟ, สร้างเขื่อนเพื่อการจัดหาน้ำ, การจัดหาพลังงานสำหรับนิคมอุตสาหกรรม โดยการสร้างโรงไฟฟ้าและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 6. การสร้างโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ 7. การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรม 8. การดำเนินอุตสาหกรรมปิโตรเคมี/อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ/อุตสาหกรรมการเกษตร

นาย ทรงวุฒิ กล่าวเสริมว่า การริเริ่มโครงการตั้งแต่การวางแผนการศึกษา จนถึงการก่อสร้างอย่างสมบูรณ์แบบ มีขั้นตอนและกระบวนการ รวมทั้งองค์ประกอบค่อนข้างมาก โดยในช่วงปี 2552 นี้ มีองค์ประกอบของโครงการหลัก 4 ส่วน คือ วัตถุดิบ ระบบน้ำ ระบบขนส่ง ระบบโครงสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงปี 2552 นี้ มีการศึกษา เปิดเวทีรับฟังความเห็น และจัดทำผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ ที่รุกหนักมากๆ คือ การขุดเจาะก๊าซและปิโตรเลียม โดยจะสร้างโรงไฟฟ้าทั้งจากก๊าซ การสร้างฐานปฏิบัติการขนส่ง ท่าเรือ และสนามบินเพื่อสนับสนุนการขุดเจาะปิโตรเลียม ของบริษัทเชฟรอน ประเทศไทย จำกัด นอกจากนี้ ในพื้นที่กำลังจะดำเนินการสร้างเขื่อนคลองท่าทนเพื่อใช้น้ำในอุตสาหกรรมอีก ด้วย

นายทรงวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ จ.นครศรีธรรมราช เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คือ 1. มีแหล่งน้ำดิบที่สามารถพัฒนาให้เกิดระบบการจัดการน้ำได้มาก ซึ่งแหล่งน้ำมีศักยภาพพัฒนาเป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำได้ 2. อยู่ใกล้ทะเล จึงเหมาะแก่การขนส่งรวมทั้งการใช้ประโยชน์ทางทะเลในรูปแบบอื่นๆ 3. มีพื้นที่ดินว่างเปล่าซึ่งปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์น้อย รวมทั้งมีเขตป่าสงวนหรือป่าพรุเสื่อมโทรมในขอบเขตพื้นที่จำนวนหลายพันไร่ 4. อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เช่น ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งส่งออก รวมทั้งจะมีการสร้างระบบขนส่งที่สามารถรองรับการพัฒนาในอนาคต และ 5. พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคทั้งตอนบนและตอนล่าง จึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภาคใต้ได้

“จังหวัด นครศรีธรรมราช มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจากภูผาถึงทะเล ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนานี้ ย่อมเชื่อมโยงจากภูเขาและทะเลอย่างแยกไม่ออก หากทำลายต้นน้ำด้วยการสร้างเขื่อน และทำลายทะเลด้วยโรงงานริมฝั่งทะเล ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจะมีมหาศาล เพราะนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว พื้นที่แถบชายฝั่งทะเล ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านนับหมื่นครอบครัว ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ มีพื้นที่ดินวะกัฟ มัสยิด กุโบร์ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรือทำลายพื้นที่เช่นนี้ได้ แต่หากดำเนินโครงการจะต้องมีการอพยพคนออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก คำถามจึงมีว่า จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร?” นายทรงวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ การเดินหน้าของโครงการพัฒนาภายใต้กรอบเซาเทิร์นซีบอร์ดเฉพาะในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในขณะนี้ถือว่าเงียบมาก ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ มีเพียงการเคลื่อนไหวของประชาชนเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น การเดินหน้าของโครงการยังถูกเบี่ยงประเด็นด้วยระยะเวลาว่ายังอยู่แค่การ ศึกษา ในขณะที่ความเป็นจริง มีกลุ่มองค์กรต่างๆ มาลงพื้นที่ค่อนข้างเยอะ เช่น บริษัท กลุ่มคน นักวิชาการ โดยแต่ละองค์กรจะเลี่ยงความเชื่อมโยงของแต่ละโครงการว่าไม่เกี่ยวข้องกัน และมาแบบเงียบๆ รับรู้เฉพาะคนไม่กี่กลุ่ม

ซึ่ง ที่ผ่านมา หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ลงมาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่เป็นการคัดเลือกแกนนำเพียงบางคนเข้าร่วม การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทำให้คนในพื้นที่ไม่สามารถเข้ามีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลเพื่อสะท้อนปัญหา และเสนอข้อเสนอแนะได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ในพื้นที่มีการปั่นราคาที่ดินอย่างเข้มข้น มีการประกาศซื้อขายที่ดิน โดยบริษัททำการประชาสัมพันธ์เชิงบวก และจัดตั้งกองทุนการพัฒนาพื้นที่ด้วย

“แม้ว่า ตอนนี้จะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองระดับชาติ แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้มีผลต่อการเดินหน้าโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดในระดับ หนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะกระบวนการดำเนินการโครงการบางอย่างไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลทั้งหมด และการดำเนินการบางอย่างไม่ต้องผ่านมติ ครม. ดังนั้น เมื่อมาถึงรัฐบาลนี้ แม้ว่าการเมืองยังไม่นิ่ง โครงการก็สามารถดำเนินการตามแผนต่อไปได้ ด้วยกลไกต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว

และตอนนี้ หากมองในเชิงกระแสการพัฒนาโครงการ ผมคิดว่า คนในพื้นที่มีการรับรู้เกือบ 100% แล้ว เพราะมีการเปิดเวที มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่หากลงลึกในรายละเอียดของโครงการ ประชาชนกลับยังไม่มีการรับรู้มากนัก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเป็นต้องติดตามอย่างต่อเนื่องและกระชั้นชิดจริงๆ” นายทรงวุฒิ กล่าว

ด้านนายอับดุลคอลิด พฤกษารัตน์ แกนนำกลุ่มรักษ์ปลายทอน ม. 7 ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็นของคนในชุมชน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีโครงการฯ เพราะตามโครงการจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกซึ่งจะอยู่ในที่อยู่อาศัยของชุมชน ชาวประมงชายฝั่ง ทั้งยังมีบริเวณที่เป็นที่ดินวากัฟ และกุโบร์

นายอับดุลคอลิด กล่าวอีกว่า นโยบายโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่จะมาใช้พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ไม่มีการเปิดเผยกับชุมชนอย่างทั่วถึง เป็นการมาแอบทำ มาแอบศึกษา ทำให้ชุมชนก็ตามไม่ค่อยทันว่ามีการดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว แต่ยังดีที่มีกลุ่มภาคประชาชนเข้ามาทำข้อมูลและศึกษาเรื่องนี้ และบอกข้อมูลกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเริ่มรับรู้ข้อมูลและความเป็นไปของโครงการฯ มากขึ้น ชาวบ้านที่รู้ก็ไม่เห็นด้วยเยอะมาก

“โดย ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการฯ เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะไปตกอยู่กับนายทุน แต่ชุมชนจะได้รับผลกระทบ เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษเหมือนเช่นที่มาบตาพุด หากมีโครงการเกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมทางทะเลจะได้รับผลกระทบ ชาวประมงหาปลาไม่ได้ ชุมชนก็อยู่ไม่ได้ ในขณะที่สิ่งที่เราต้องการทั้งในวันนี้และในวันข้างหน้า คือ การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีวิถีชีวิตที่ดี คนในชุมชนมีระบบความสัมพันธ์ที่ดี แต่นิคมอุตสาหกรรมคุยแต่เรื่องทุนนิยมเป็นหลัก” นายอับดุลคอลิด กล่าว

การพัฒนาที่ไร้ส่วนร่วม หนทางสู่ปัญหาที่แก้ไม่รู้จบ

อาจารย์วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหัวหน้ากลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม จ. นครศรีธรรมราช กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายที่วางแผนก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชายทะเล ที่ราบ และที่สูง ในเขต อ.ขนอม อ. สิชล และ อ.ท่าศาลา ประมาณเกือบ 20,000 ไร่

ซึ่ง การดำเนินโครงการในพื้นที่ดังกล่าว จะมีผลกระทบกับชาวประมงชายทะเลซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ถัดมาก็คือชุมชนพื้นที่ราบและชุมชนที่สูง ซึ่งมีการทำสวนมังคุด ทุเรียน ส่งออกก็มี ทั้งนี้ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะสร้างโครงการชาวบ้านก็ทำเกษตรเลี้ยงตัวเองได้ ส่งลูกไปเรียนข้างนอก ไม่มีปัญหาอะไร

นอก เหนือจากพื้นที่เป้าหมายที่ระบุไว้ว่าจะดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม ยังมีพื้นที่ที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนานิคม อุตสาหกรรม เช่น การสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อนำน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรม ดังนั้นผลกระทบก็จะขยายพื้นที่ออกไปอีก

อีกทั้ง พื้นที่ที่โครงการฯ ครอบคลุมไปถึงบางบริเวณก็เตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานเขานัน ซึ่งที่จริงมีการเตรียมประกาศมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ กำลังจะมาเร่งทำการประกาศเขตอุทยานในช่วงปีนี้ ทำให้ชาวบ้านก็สงสัยว่าเป็นความพยายามจะเอาชาวบ้านออกจากพื้นที่เพื่อให้ เกิดการจัดการง่าย เพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเขื่อนและส่งน้ำไปอุดหนุนให้กับอุตสาหกรรมหรือไม่

อาจารย์ วิทยา กล่าวต่อว่า ถ้าให้ตัดสิน ก็บอกได้ชาวบ้านไม่ได้รับรู้อะไรเลย เพราะที่จริงแล้วฝ่ายนิคมอุตสาหกรรมเดินหน้าเต็มที่แล้ว แต่ฝ่ายชาวบ้านเพิ่งรู้เอาเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ตอนที่โครงการปิดไม่อยู่แล้ว แต่คนนอกกลับรู้ก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะที่ผ่านมามีส่วนของการทำงานแบบลึกๆ ของฝ่ายบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ที่เข้าไปติดต่อกับคนในพื้นที่ที่มีบทบาทเป็นผู้นำในท้องถิ่น ซึ่งสามารถกุมสภาพพื้นที่ได้ พอได้คนกลุ่มนั้นมาก็เหมือนกับว่าคนกลุ่มนั้นมีส่วนได้ประโยชน์กับทางบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ก็เลยช่วยกันปิดไม่ให้ชาวบ้านรู้ว่าโครงการมันดำเนินไปอย่างไร

แต่ พอชาวบ้านเริ่มรู้ข้อมูลแล้วออกมาแสดงความเห็น กลับถูกขู่ และในพื้นที่ยังมีการปล่อยข้อมูล เช่นว่า จะไม่มีการมาสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมหรอก หากจะสร้างก็จะเป็นโครงการเล็กๆ ทำให้ชาวบ้านสับสน ถูกปิดข้อมูล คนภายนอกที่จะเข้าไปในพื้นที่บางช่วงก็ถูกปิดไม่ให้เข้าไป เป็นต้น”

นอกจาก นี้ อาจารย์วิทยา กล่าวเสริมว่า ไม่ว่าจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ไหน ก็ต้องไปฟังความเห็นของชาวบ้านโดยโปร่งใส แต่หากบอกว่าจะเกิดโครงการขึ้นเลยโดยไม่ฟังใคร มันก็ไม่ยุติธรรมกับคนที่จะถูกกระทำ หรือได้รับผลกระทบ

เพราะ โดยพื้นฐานของการดำเนินโครงการต่างๆ ต้องมีความโปร่งใสกับชาวบ้าน ไม่มีเรื่องอิทธิพลมืด หรือหากให้พูดแบบกว้างๆ คือ การให้ชาวบ้านจะมีทางเลือกในการพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ก็ต้องไปทบทวนนโยบายซึ่งเป็นกรอบคิดการพัฒนาของประเทศทั้งหมดเลยว่าเราจะเอา แบบไหน โดยที่เรื่องความเท่าเทียมของคนจนคนรวยจะต้องถูกให้ความสำคัญด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ในการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ต้องมีการผลักดันสองส่วนประกอบกันคือ การผลักดันให้มีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ส่วนชาวบ้านเองก็ต้องสร้างความเข้มแข็งภายในชุมชนด้วย สูตรนี้มันก็ใช้ได้กับทุกที่แต่ในรายละเอียดจะแตกต่างกัน

“หาก ประเทศไทยยังมีแนวคิดการพัฒนาที่แผนของรัฐบาลเป็นตัวตั้ง ก็เหมือนเป็นการบีบไม่ให้ชาวบ้านมีทางเลือกมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะมาพูดด้วยคำหวานอย่างไรแต่โดยเนื้อหาการพัฒนานั้นก็เป็นการ สั่งสมแรงกดดันที่มันมากขึ้น ในที่สุดแล้วมันก็จะระเบิดได้ ฉะนั้น หากไม่สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ ก็เปรียบเสมือนวัวพันหลัก วนไปวนมา ปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นก็ยังอยู่ ไม่แก้สักที” อาจารย์วิทยา กล่าว

โครงการ พัฒนาขนาดใหญ่หลายต่อหลายโครงการเกิดขึ้นมาแล้วโดยที่การเรียกร้องการมีส่วน ร่วมกำหนดของประชาชนถูกเพิกเฉย ทิ้งขว้าง ขณะเดียวกันปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาเช่นนั้น ก็ถูกทับถมไม่ได้รับการแก้ไข และหากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ – นิคมอุตสาหกรรมเมืองนครศรีฯ ยังจะเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลยืนยันการพัฒนาแบบไร้ส่วนร่วมต่อไป ระเบิดที่สุมอยู่ในใจของประชาชนย่อมจะเพิ่มแรงประทุที่รุนแรงยิ่งขึ้นในสัก วัน

เอกสารอ้างอิง
- จับตาการผุดเขตอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่งทะเลนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี โดย กลุ่มศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช, 26 มิถุนายน 2551
- เอกสารกลุ่มศึกษา 2 (กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จ.นครศรีธรรมราช), 6 กุมภาพันธ์ 2552

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท